xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายอาณาจักร : กลไกเกื้อหนุนศาสนจักร

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระกิมพิละได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหรือเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่ตั้งอยู่ยั่งยืน ในเมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว” “ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ไม่เคารพยำเกรงกันและกันนี้แล กิมพิละเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว”

พระกิมพิละ ได้กราบทูลถามต่อไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แล้วอะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว “ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในพระธรรมวินัยนี้ เคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา เคารพยำเกรงกันและกันนี้แลกิมพิละ เป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว

ทั้งสองคำตอบดังกล่าวข้างต้น คือ พุทธพจน์ซึ่งมีที่มาปรากฏในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ 22

โดยนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น ได้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาจะตั้งอยู่ได้นานไม่นาน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของบุคคล 4 ประเภทคือ

1. ภิกษุ คือนักบวชชาย ผู้มีศีล 227 ข้อเป็นวัตรปฏิบัติ

2. ภิกษุณี คือนักบวชหญิงผู้มีศีล 311 ข้อ เป็นวัตรปฏิบัติ และจะต้องอุปสมบทจากสงฆ์สองฝ่ายคือบวชจากภิกษุณี-สงฆ์ก่อน แล้วจึงบวชในภิกษุสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง เป็นการตอกย้ำศรัทธา และความรอบคอบในการอนุญาตให้สตรีเพศบวชได้

3. อุบาสก คือผู้ชายที่เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และมีศีล 8 ข้อเป็นวัตรปฏิบัติ

4. อุบาสิกา คือผู้หญิง ผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และมีศีล 8 ข้อเป็นวัตรปฏิบัติ

จากพุทธพจน์ข้อนี้จะเห็นได้ชัดว่า พระพุทธองค์มิได้ฝากฝังพระสัทธรรมคำสอนของพระองค์ไว้กับนักบวชเพียงฝ่ายเดียว แต่ได้ฝากไว้กับคฤหัสถ์ด้วย

ดังนั้น ในอดีตที่ผ่านมา ทุกครั้งที่คำสอนของพระพุทธองค์ถูกบิดเบือน และถูกจาบจ้วง ทั้งฝ่ายนักบวช และฝ่ายคฤหัสถ์ซึ่งมีอำนาจในการปกครองประเทศ จะร่วมมือกันจรรโลงพระพุทธศาสนา ด้วยการทำสังคายนาขจัดมารศาสนา และขจัดความบกพร่องผิดพลาด ทั้งในด้านคำสอน และวิธีการสอนให้หมดไปแล้วรวบรวมคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ โดยพิธีกรรมที่เรียกว่า การทำสังคายนาพระธรรมวินัย ดังจะเห็นได้จากการทำสังคายนา โดยเฉพาะในครั้งที่ 1-3 ซึ่งจะนำมาเสนอเป็นตัวอย่างโดยสังเขปดังนี้

ครั้งที่หนึ่ง กระทำกันที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพตใกล้กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย พระมหากัสสปะ เป็นประธาน และเป็นผู้สอบถาม พระอุบาลี เป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระวินัย พระอานนท์ เป็นผู้ตอบข้อซักถามทางธรรม มีพระอรหันต์ประชุมกัน 500 รูป กระทำกันอยู่ 7 เดือนจึงสำเร็จ

ในการนี้พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์โดยมีเหตุจูงใจให้ทำสังคายนาคือ ถ้อยคำของภิกษุชื่อ สุภัททะ ผู้บวชเมื่อแก่ที่ห้ามมิให้ภิกษุทั้งหลายเศร้าโศกเสียใจเมื่อทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า โดยให้เหตุผลว่า เพราะต่อแต่นี้ไปจะทำอะไรได้ตามใจแล้ว ไม่มีใครมาคอยชี้ว่านี่ผิด นี่ถูก นี่ควร นี่ไม่ควรต่อไปอีก

ครั้งที่สอง กระทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย พระยสกากัณฑบุตร เป็นผู้ชักชวน โดยมีพระเถระผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งเขาร่วมด้วย

ในการนี้ พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบปัญหาพระวินัยที่เกิดขึ้น มีพระสงฆ์เข้าร่วมสังคายนาครั้งนี้ 700 รูป กระทำอยู่ 8 เดือนจึงสำเร็จ

เหตุจูงใจในการทำสังคายนาในครั้งนี้ก็คือ การปฏิบัติย่อหย่อนทางพระวินัย 10 ประการของภิกษุพวกวัชชีบุตร เช่น การถือว่าการเก็บเกลือไว้ในเขนง (เขาสัตว์) เพื่อเอาไว้ฉันได้ ตะวันชายเกินเที่ยงไปแล้ว 2 นิ้ว ควรฉันอาหารได้ ควรรับเงิน และทองได้ เป็นต้น

ครั้งที่สาม กระทำที่อโศการาม กรุงปาฏลีบุตร ประเทศอินเดีย พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นหัวหน้า มีพระสงฆ์เข้าร่วมด้วยจำนวน 1,000 รูป กระทำอยู่ 9 เดือนจึงสำเร็จ

เหตุจูงใจในการทำสังคายนาในครั้งนี้ก็คือ พวกเดียรถีย์หรือนักบวชศาสนาอื่น มาปลอมบวชแล้วแสดงลัทธิ ศาสนา และความคิดเห็นของตนว่าเป็นของพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้ขอความอุปถัมถ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ชำระ สอบสวน กำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นจากพระธรรมวินัย จึงสังคายนาพระธรรมวินัย

การทำสังคายนา 3 ครั้งที่นำมาเป็นตัวอย่าง เพื่อชี้ให้เห็นสาระสำคัญ 3 ประการคือ

1. มีมูลเหตุจูงใจจากการกระทำผิดพระวินัย และการบิดเบือนคำสอน รวมไปถึงการจาบจ้วงคำสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมเสื่อม และนำไปสู่การล่มสลายได้

2. แสดงให้เห็นความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายสงฆ์กับฝ่ายคฤหัสถ์ โดยเฉพาะคฤหัสถ์ผู้มีอำนาจรัฐเพื่อขจัดมารศาสนาให้พ้นไปจากพระธรรมวินัย

3. เพื่อให้เห็นแนวทางหรือแบบอย่างในการปกป้องพระศาสนาที่ควรจำดำเนินการตามแนวทางที่พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระกิมพิละ

วันนี้และเวลานี้ พระพุทธศาสนาในประเทศไทยได้รับผลกระทบในทางลบจากการบิดเบือนพระธรรมวินัย เพื่อหวังให้เกิดลาภสักการะรวมไปถึงพฤติกรรมดื้อด้าน จะเห็นได้จากการที่มีการล่วงละเมิดพระวินัยถึงขั้นปาราชิกแล้ว พยายามใช้แง่ทางกฎหมายมาอ้างในลักษณะพวกมากลากไป โดยอาศัยอำนาจเงิน และอำนาจทางการเมืองเข้าแทรกแซงวงการสงฆ์ กรณีของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมในเรื่องนี้ และเปรียบได้กับมูลเหตุจูงใจให้มีการทำสังคายนาครั้งที่ 3

ดังนั้น ถ้าไม่มีการชำระสะสางวงการสงฆ์ และปล่อยไปโดยยึดคติที่ว่า ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ นานเข้าจะเข้าข่ายเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนในฐานะชาวพุทธนอกจากจะเชื่อกฎแห่งกรรมที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หว่านพืชชนิดใดไว้ ย่อมได้ผลชนิดนั้น แล้วยังเชื่อในศักยภาพของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีบางท่านเฉกเช่น พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นต้นว่าจะร่วมมือกับพระที่ดีมีวินัยใส่ใจปฏิบัติธรรม ขจัดพวกบ่อนทำลายศาสนาให้หมดไป โดยอาศัยพระธรรมวินัยและกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ฉบับ 2505 มาตรา 26, 27 และ 29

ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการโดยด่วน เพราะขืนปล่อยนานไปจะมีการปลุกกระแสต้าน โดยใช้วิธีพวกมากลากไปเพื่อต่อรอง และบีบคั้นกดดันรัฐบาลดังที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น