อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/
อาทิตย์ก่อนบังเอิญได้รู้เรื่องหลานชายได้ไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่สหรัฐอเมริกา แล้วกลับมาเล่าให้พ่อแม่ฟังว่าที่โน่นในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้เรียนวิชาการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) ซึ่งสอนเด็กนักเรียนในเรื่องใกล้ตัวที่นักเรียนต้องเอาไปใช้ ตั้งแต่จะวางแผนทางการเงินอย่างไรสำหรับการศึกษา ถ้าเข้ามหาวิทยาลัยจะต้องกู้เงินเรียนไหม จะต้องเรียนอะไร เพื่อที่จะได้มีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา จะทำอย่างไรให้ได้ทุนการศึกษา ถ้าไม่ได้ทุนการศึกษาจะต้องหางานอะไรทำเพิ่ม และลดภาระการกู้ยืมเงินทางการศึกษาเท่าไหร่
นอกจากนี้ยังมีการจับฉลากสมมติให้นักเรียนมีแฟนที่มีอาชีพแตกต่างกันซึ่งจะมีรายได้แตกต่างกันมาก และให้วางแผนทางการเงินสำหรับการแต่งงาน หากจะมีลูกจะต้องเตรียมเงินไว้สำหรับการศึกษาของลูกมากน้อยเพียงใด มีการสอนในเรื่องการลงทุน การออม สอนให้คิดดอกเบี้ยทบต้น ถ้าจะซื้อบ้านจะต้องมีรายได้เท่าใดจึงจะพอที่จะผ่อนส่ง ต้องมีเงินดาวน์เท่าใด หากมีรายได้จะวางแผนภาษีอย่างไร จะคำนวณภาษีเงินได้อย่างไร จะเสียภาษีอย่างไร หากเจ็บป่วยมาจะทำอย่างไร ควรวางแผนเรื่องการประกันสุขภาพหรือไม่ อย่างไร และเตรียมพร้อมสำหรับการตกงาน ต้องมีเงินเก็บเท่าใดเป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิต ถ้าจะทำมาค้าขายหรือ Start-up จะหาแหล่งเงินทุนจากไหน จะวางแผนการทำธุรกิจได้อย่างไร หากต้องเกษียณอายุจะมีเงินเพียงพอไหมสำหรับการใช้จ่ายในบั้นปลายชีวิต
หลานชายเล่าให้พ่อกับแม่ของเขาฟังด้วยความสนุกสนานมาก แล้วบอกว่าทุกคนในคลาสเรียนด้วยความสนุกสนาน เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัวและได้นำไปใช้จริงในอนาคตอันใกล้ พ่อแม่ของหลานชายก็เล่าให้ฟังว่าหลังจากเรียนวิชานี้หลานชายคิดรอบคอบมากขึ้น วางแผนชีวิตมากขึ้น และใช้เงินเป็นมากขึ้น ทำให้หลานชายวางแผนว่าจะเรียนต่อวิชาเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ สถิติ และคณิตศาสตร์ เห็นคุณค่าของวิชาคณิตศาสตร์ขึ้นมาทันที ทั้งๆ ที่สมัยที่เรียนที่เมืองไทยไม่ได้เรียนคณิตศาสตร์ได้ดีเท่าไหร่นัก กลับเห็นคุณค่าของวิชาคณิตศาสตร์ว่าสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้จริงๆ และมีผลกับอนาคตของตัวเอง
ผมเองเคยศึกษาและใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกามาหลายปี ไม่แปลกใจกับประสบการณ์ของหลานชาย และทราบมานานแล้วว่าในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้สอนคณิตศาสตร์ชั้นสูงหรือที่ยากๆ มากนักในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ไปสอนในระดับมหาวิทยาลัย แต่เน้นสอนคณิตศาสตร์ที่ต้องนำไปใช้จริงๆ ผมเองก็ยอมรับว่าความรู้เนื้อหาคณิตศาสตร์มัธยมปลายที่ผมเรียนที่เมืองไทยนั้นไม่ได้นำไปใช้ทุกเรื่อง เช่น เรื่องจำนวนจินตภาพ (Imaginary number) แม้ผมจบปริญญาเอกและปัจจุบันสอนทั้งระดับปริญญาเอกและปริญญาโท ผมก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้อะไรจนทุกวันนี้ (เรียนมาแล้วไม่ได้ใช้เลย ทั้งๆ ที่สอนในสาขาวิชาที่ใช้คณิตศาสตร์มาก)
ส่วนวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นในสหรัฐอเมริกา สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลายก็ไม่ได้สอนเน้นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macro-economic theory) ที่เรียนในประเทศไทยอย่างเข้มข้น ผมเองก็เรียนมาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เช่น ทฤษฎีอุปสงค์-อุปทาน ความยืดหยุ่นของราคา (Price elasticity of demand) ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศและผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product and Gross National Product: GDP & GDP) ความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic growth) การกระจายรายได้อย่างยุติธรรม (Fair distribution of income) ความเหลื่อมล้ำ (Disparity) ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ และความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ (National competitive advantage) เป็นต้น ซึ่งเป็นการสอนโดยไม่ได้ใช้คณิตศาสตร์หรือกราฟมากนัก (ซึ่งยกไปสอนในระดับมหาวิทยาลัย) และสอนทฤษฎีโดยเน้นการบรรยาย และก็ไม่ค่อยได้เอาไปใช้ในชีวิตจริงมากนัก เพราะเป็นเรื่องใกลตัว มีโอกาสที่จะเอาไปใช้งานจริงน้อยกว่าที่สอนการเงินส่วนบุคคลแบบในสหรัฐอเมริกา
เมื่อเดือนก่อน ผมเห็นนักวิชาการระดับศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และสำเร็จปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์หลายๆ คน (รวมถึงคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐเก่าแก่ของประเทศไทย) ออกมาโพสต์ Facebook บ่นว่าไม่สามารถสอนลูกตัวเองที่กำลังเรียนเศรษฐศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ ข้อสอบ ONET และ ANET ก็ยากเกินหรือคลุมเครือจนตัวเองไม่สามารถตอบได้ หลายๆ คำถามควรเป็นงานวิจัยระดับชาติและเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกในทางเศรษฐศาสตร์
ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ควรปฏิรูปการเรียนการสอนสังคมศึกษาในส่วนเนื้อหาวิชาเศรษฐศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และน่าจะสอนในสิ่งที่เป็นประโยชน์นำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เพิ่มเติมเนื้อหาวิชาการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) สามารถบูรณาการคณิตศาสตร์เข้ามาในการสอน จะช่วยให้นักเรียนเรียนได้สนุกมากขึ้น เกิดทัศนคติที่ดีในการเรียนทั้งเศรษฐศาสตร์ การเงิน และคณิตศาสตร์ ตลอดจนสังคมศึกษา
ปัญหาใหญ่คือประเทศไทยยังไม่ได้ทำหลักสูตรการเงินส่วนบุคคลสำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ครูอาจารย์ก็อาจจะยังไม่มีความรู้เพียงพอที่จะสอน ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะร่วมมือกันในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ผลการสำรวจความแตกฉานทางการเงิน (Financial Literacy) ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับ OECD ได้ร่วมกันสำรวจมาล่าสุดก็ชี้ชัดแล้วว่าประเทศไทยต้องแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยด่วน น่าจะถือว่าเป็นวาระแห่งชาติสำหรับการปฏิรูป เพราะการเปลี่ยนนิสัยหรือยกระดับความรู้เรื่องการเงิน จะช่วยประเทศได้หลายประการ เช่นทำให้คนไทยพยายามสร้างมูลค่าเพิ่ม วางแผนรายได้และการเงินดีมากขึ้น ทำให้คนไทยน่าจะมีนิสัยในการออมและการลงทุนดีขึ้น เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุซึ่งเป็นปัญหาหลักของประเทศไทยในปัจจุบัน