พ่อ : นุ่น มารับโทรศัพท์ ย่าเขาอยากคุยด้วย ถามย่าด้วยว่าคุณย่าสบายดีไหม?
ลูกสาว : สวัสดีค่ะคุณย่า คุณย่าสบายดีไหมคะ?
ย่า : ย่าสบายดีจ้ะหลาน แล้วนุ่นล่ะเป็นยังไงบ้างลูก
พ่อ : เล่าให้ย่าฟังสิ ว่าลูกไปเที่ยวตลาดน้ำมา สนุกมากแล้วซื้อชมพู่มาฝากคุณย่าด้วย
ลูกสาว : สบายดีค่ะ ย่าคะนุ่นไปเที่ยวตลาดน้ำมา สนุกมากค่ะ แล้วก็ซื้อชมพู่มาฝากคุณย่าด้วยค่ะ
พ่อ : เล่าให้ย่าฟังด้วย ว่าลูกนั่งเรือไปดูหิ่งห้อยด้วย
ลูกสาว : ย่าคะ หนูได้นั่งเรือไปดูหิ่งห้อยด้วยค่ะ
พ่อ : เราถ่ายวีดิโอมาให้ย่าดูด้วย
ลูกสาว : เราถ่ายวีดิโอมาให้ย่าดูด้วยค่ะ แล้วก็
พ่อ : ตอนเช้าเราก็ไป...
ย่า : นุ่น ให้ย่าคุยกับพ่อหน่อยซิ
ลูกสาว : พ่อคะ คุณย่าขอคุยด้วยค่ะ
ย่า : นี่แกหยุดกำกับความคิดลูกซักทีได้ไหมฮึ! แม่บอกตั้งหลายครั้งแล้ว เลี้ยงคนนะไม่ใช่เลี้ยงนกแก้วนกขุนทอง ลูกถึงต้องพูดต้องคิดตามที่แกบอกทุกอย่าง ปล่อยให้ลูกมีอิสระบ้างสิ ตอนเด็กๆแกก็เคยอึดอัดที่พ่อเขาบังคับแกคิดให้ได้ดังใจเขาไม่ใช่เหรอ???
พ่อ : ผมขอโทษครับแม่ (น้ำเสียงสำนึก) เอ้านุ่น มาคุยกับย่าต่อซิ แล้วอย่าลืมเล่าให้ย่าฟังด้วยนะว่าตอนเช้าเราได้ตักบาตรพระที่พายเรือมาด้วย! อย่าลืมบอกนะลูก!!
• หมอเหมียวชวนคุย
การจะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กกล้าคิด ต้องให้ลูกคิด ผิดหรือถูกไม่เป็นไรค่ะ เมื่อไม่ถูกจำกัดความคิดเด็กจึงจะกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างมั่นใจ คิดได้อย่างอิสระและคิดอย่างมีระบบมากขึ้นค่ะ
• คำถามปลายเปิด...ช่วยเปิดความคิด
เคล็ดลับฝึกลูกให้คิดเก่ง อยู่ที่การตั้งคำถาม!
1. ถ้าให้คิดถึงสีแดง คิดถึงอะไร?
จะพบว่าคำตอบมีมากมาย ขึ้นอยู่กับความคิด อารมณ์ ประสบการณ์ วัยของแต่ละคน
(น้ำแดง สตรอว์เบอร์รี่ องุ่นแดง รูปหัวใจ พระอาทิตย์ กุหลาบแดง เยลลี่ กระเจี๊ยบ วันวาเลนไทน์ เลือด เครื่องหมายกาชาด ไฟแดง ซานตาครอส ไวน์แดง ฯลฯ)
2. เครื่องหมายกาชาดมีสีอะไร?
(สีแดง)
คำถามข้อที่ 1 คือ การตั้งคำถามปลายเปิด เปิดโอกาสให้หาคำตอบได้หลากหลาย และไม่จำกัดคำตอบ
คำถามข้อที่ 2 คือ การตั้งคำถามปลายปิด คือปิดให้คำตอบมีเพียงคำตอบเดียว
เมื่อเจอปัญหา คนเราต้องการความคิดสร้างสรรค์ที่มีคำตอบและวิธีการคิดหลายๆแบบให้เลือก เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาที่มีความยากง่ายแตกต่างกันไป บางปัญหาก็มีความซับซ้อนแก้ด้วยวิธีการเดียวไม่ได้ ต้องใช้หลายๆวิธีเข้าช่วย การฝึกตั้งคำถามปลายเปิดให้ลูกหัดคิดหาคำตอบ เด็กๆจะกระตือรือร้นที่จะคิดหาคำตอบอื่นๆ จะช่วยให้มีทักษะในการคิดหาวิธีการ และแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้ดีขึ้น ข้อสำคัญพ่อแม่ต้องช่วยด้วยการกระตุ้นให้ลูกคิดและชื่นชมที่ลูกพยายามคิด แม้บางครั้งความคิดลูกยังไม่ใช่ ก็อย่ารีบตำหนิและรีบสรุปโดยเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ จะทำให้เด็กไม่มีความมั่นใจในความคิดตัวเอง และไม่กล้าแสดงความคิดเห็น
• ควรทำ
- พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กมีอิสระในการคิด ไตร่ตรองสิ่งที่เกิดขึ้นและพูดออกมาอย่างอิสระ ไม่ต้องกลัวผิดถูก จะเสริมสร้างความมั่นใจในตนเองให้เด็กและยังจะทำให้เด็กรวบรวมความคิดอย่างเป็นระบบได้ดีกว่า เพราะคิดได้ราบรื่นไม่สะดุดเพราะถูกขัดขวาง
- คิดดี คิดถูก คิดรอบคอบ คิดช่วยเหลือคนอื่น ความคิดที่ดีนี้จะนำพาชีวิตเด็กไปในทางที่ถูกต้อง ดีงาม เหมาะสม
- คิดไม่เป็น คิดแต่เรื่องสนุกสนานไร้แก่นสาร คิดผิด คิดง่ายๆ ความคิดนี้จะนำเด็กไปสู่ปัญหาได้ง่าย
- ควรจุดประเด็นคำถามให้เด็กคิดตาม ยิ่งมีหลายคนช่วยกันแสดงความคิดเห็น เด็กจะเรียนรู้ว่าความคิดมีได้หลากหลายมุมมอง เรียนรู้วิธีคิดของกันและกัน สุดท้ายเด็กสามารถที่จะนำความคิดที่หลากหลายมาผสมผสานทำให้เกิดความคิดที่ดีที่สุดได้
- ให้เวลาแก่เด็กให้นานพอที่เด็กจะรวบรวม เรียบเรียงความคิด และเล่าออกมา อย่าบีบคั้นหรือเร่งรัด กดดัน เพราะจะยิ่งทำให้เด็กคิดไม่ออก
- ยอมรับเมื่อลูกแสดงออก แม้จะยังไม่สมบูรณ์แบบ ชม อย่าเพิ่งรีบสอน
• ไม่ควรทำ
- การที่พ่อแม่ ปู่ย่า ตา ยาย คิดแทน ตัดสินใจแทนเด็กและบอกบทให้เด็กทำตามไปหมด เท่ากับตัดโอกาสในการฝึกฝน ทำให้เด็กคิดไม่เป็นซึ่งเป็นเป็นปัญหาของเด็กไทยขณะนี้
* หัวใจการเลี้ยงดู
ฝึกให้ลูกคิดเป็นดีกว่าคิดแทนลูก
จัดทำข้อมูลโดย : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 168 ธันวาคม 2557 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)