xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศก้องโลก! “ริสต์แบนด์ล้อมคอก” นี่หรือทางแก้อาชญากรรมนักท่องเที่ยว!!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ริสต์แบนด์ฝังชิปติดตามตัว” คือมาตรการใหม่ที่ออกมาเพื่อแก้หน้า-แก้ปัญหากรณีฆาตกรรมอันโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นกับ 2 นักท่องเที่ยวสัญชาติอังกฤษบนเกาะเต่า เนื่องจากหลังเกิดเหตุร่วมครึ่งเดือนยังสาวไม่ได้แม้แต่เงาของผู้ต้องสงสัย ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จึงประกาศต่อสื่อทั่วโลกด้วยความภาคภูมิใจในไอเดียใหม่นี้ออกไป โดยแทบไม่แยแสต่อเสียงไม่เห็นด้วยของคนในชุมชน




ล้อมคอกเต็มที่! เคอร์ฟิว+ริสต์แบนด์
เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเช็กอินกับทางโรงแรม แผนกต้อนรับจะแจกริสต์แบนด์ที่มีซีเรียลนัมเบอร์ตรงกับเลขไอดีของผู้เข้าพัก พร้อมกับแสดงข้อมูลติดต่อของโรงแรมที่ได้เข้าเช็กอิน เพื่อใช้ในกรณีที่ชาวต่างชาติร่วมงานปาร์ตี้จนดึก เกิดมึนเมาเนื่องจากการสังสรรค์หรือหลงทาง จะได้สามารถช่วยเหลือได้ง่าย และในขั้นต่อไปจะมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวด้วยค่ะ แต่ในขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยถึงขั้นลงรายละเอียดอะไรมากนัก”

“กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยความคืบหน้าล่าสุดเอาไว้กับสำนักข่าวระดับโลกหลายสำนัก และทั้งหมดนี้คือเนื้อหาที่สำนักข่าว “รอยเตอร์” นำเสนอออกไปให้ผู้อ่านจากทั่วทุกมุมโลกได้รับรู้


(ภาพข่าวจาก Reuters พูดถึงความเคลื่อนไหวในเมืองไทย)

หากคนที่ได้ติดตามความคืบหน้าในกรณีนักท่องเที่ยว 2 รายถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมบนเกาะเต่า อ.พะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ในช่วงที่ผ่านมา จะทราบรายละเอียดว่าเหยื่อทั้งสองมาผ่อนคลายในช่วงเทศกาลฟูลมูนปาร์ตี้ กระทั่งเกิดเหตุฆาตกรรมร้ายแรงในครั้งนี้ จึงเป็นเหตุให้ภาครัฐกำลังทบทวนว่าจะประกาศเคอร์ฟิวปาร์ตี้ชายหาดบนเกาะแห่งนี้ พร้อมทั้งกำหนดให้นักท่องเที่ยวทุกรายที่เดินทางไปสวมริสต์แบนด์ โดยจะประเดิมที่ “เกาะเต่า” เกาะที่เกิดเหตุก่อน แล้วอาจขยายการควบคุมด้วยมาตรการเดียวกันนี้ไปสู่ “เกาะพะงัน” และ “เกาะสมุย” ต่อๆ ไป

แว่วมาว่าภายในเดือน 2 เดือนนี้คงได้เห็นความเคลื่อนไหวในมาตรการนี้ออกมาอย่างเป็นทางการเพราะดูเหมือนทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาผู้ซึ่งเป็นเจ้าของไอเดียจะเอาจริง ถึงแม้จะมีคำทักท้วงแสดงอาการไม่เห็นด้วยเกิดขึ้นภายในชุมชนอยู่บ้างก็ตาม หลังจากได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านและประสานงานกับทางโรงแรมหลายๆ แห่ง

“คนส่วนใหญ่เห็นชอบกับแนวคิดนี้ค่ะ แต่ก็มีผู้ประกอบการโรงแรมบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย เพราะไม่คิดว่านักท่องเที่ยวจะยอมสวมริสต์แบนด์นี้”

คำพูดดังกล่าวเป็นเพียงมุมมองของรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เจ้าของมาตรการ “ริสต์แบนด์ล้อมคอก” เท่านั้น แต่ถ้าอยากทราบผลกระทบที่เกิดกับกรณีฆาตกรรมโหดบนเกาะท่องเที่ยวในครั้งนี้ในมุมที่กว้างขึ้น บรรทัดต่อจากนี้ไปคือบทวิเคราะห์และข้อเท็จจริงผ่านสายตาเหยี่ยวข่าวสำนัก “รอยเตอร์”



(เกาะเต่า ปาร์ตี้ และความสูญเสีย)
“อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติอายุน้อยที่ส่วนใหญ่แบกเป้มาเพื่อร่วมฉลองฟูลมูนปาร์ตี้ซึ่งจัดข้ามวันข้ามคืนของไทย ส่วนเรื่องผลกระทบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ไทยยังคงวิตกว่าเหตุฆาตกรรมนักท่องเที่ยวอังกฤษ 2 คนบนเกาะเต่าจะส่งผลต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศเกือบ 10% ของจีดีพี ประกอบกับไทยยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกที่เริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงส่งผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางมาเที่ยวในไทย

นอกเหนือไปจากนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยก็ยังไม่ฟื้นตัวดีจากเหตุประท้วงทางการเมืองร่วมครึ่งปีซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 30 คน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยลดลง 11.9% ในเดือนสิงหาคม ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้านั้น จะพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวหล่นลงไปไม่น้อย คืออยู่ที่ 10.9% ในเดือนกรกฎาคม 2557”

(ภาพล้อเลียนบนอินเทอร์เน็ต เกี่ยวกับกรณีคดีที่ไม่คืบหน้าในไทย)



ดูแล “นักท่องเที่ยว” เหมือนลงโทษ “เด็กแว้น”!
“โอ้โห! ทำไปเพื่ออะไร!!?” คือคำถามที่ “ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข” ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาระบบงานสอบสวนอุบัติเหตุเพื่อการแก้ไขและป้องกันอย่างบูรณาการ ผู้เชี่ยวชาญผู้ทำวิจัยด้านวัฒนธรรมองค์กรตำรวจมากว่า 11 ปี ซึ่งเป็นผู้ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีนี้มาโดยตลอด ขอฝากถามไปที่เจ้าของไอเดียด้วยเสียงกลั้วหัวเราะระคนแปลกใจอยู่ในที เพราะไม่เข้าใจจริงๆ ว่ามาตรการริสต์แบนด์ที่บอกกับสื่อต่างๆ ทั่วโลกขณะนี้จะเกิดประโยชน์อะไร?

“ส่วนตัวแล้วยังมองไม่เห็นออกเลยว่ามันจะเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหากรณีชาวต่างชาติถูกฆาตกรรมตรงไหนยังไง มองไม่เห็นเลยค่ะว่าการกระทำหรือลงทุนแบบนี้มันจะช่วยป้องกันอาชญากรรมตรงไหน และไม่เข้าใจว่าถ้าสวมริสต์แบนด์แล้วเกิดอาชญากรรมขึ้นจริง มันจะช่วยให้ติดตามคนร้ายได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จับถูกต้องถูกตัวได้มากขึ้นตรงไหน?



(มาตรการสวมริสต์แบนด์ เคยประกาศใช้กับเด็กแว้นมาแล้ว!)
กรณีเรื่องแจกริสต์แบนด์นักท่องเที่ยว ถ้ามองมุมสังคมศาสตร์แล้ว กลายเป็นว่าทำให้นักท่องเที่ยวจะได้ความรู้สึกเหมือนถูกจับจ้องตลอดเวลา คิดดูว่าให้ความรู้สึกเหมือนนักโทษมั้ยคะ นักโทษคุมประพฤติก็ถูกฝังชิบเหมือนกัน ที่เคยทำแบบนี้ก็มีเหมือนกันนะคะ กรณีเด็กแว้นนี่แหละ ตอนนั้นทางกรมพินิจฯ ก็บอกให้ใส่กำไลรัดข้อเท้าฝังชิปเด็กแว้นเพื่อแก้ปัญหา ลองไปเสิร์ชข้อมูลดูก็ได้ แล้วมาคราวนี้จะมาทำกับนักท่องเที่ยวอีก คิดดูว่าผลมันจะออกมาเป็นยังไง มันทำให้ทั่วโลกมองภาพประเทศไทยในแง่ลบไปเลยนะคะ มองว่าประเทศไทยเราไม่ปลอดภัยขนาดที่ต้องให้นักท่องเที่ยวใส่กำไลฝังชิปกันเลยเหรอ


(เว็บไซต์ เดอะมิเรอร์ ยังตามคดีนี้ไม่ละเว้น)

เวลาจะทำอะไร เราต้องมองเรื่องผลกระทบให้มันรอบด้านนะคะ มองในแง่ของความรู้สึกด้วย แค่เราเดินไปไหนแล้วเห็นมีแต่ตำรวจแต่งตัวเต็มยศคอยตาม เปิดไฟไซเรนวับวาบ บรรยากาศของสถานที่ท่องเที่ยวตรงนั้นมันจะน่าท่องเที่ยวมั้ย นี่แหละค่ะคือเหตุผลที่ทางการให้ตำรวจท่องเที่ยวขี่จักรยานและไม่ต้องแต่งตัวเต็มยศ ไม่เหมือนตำรวจทั่วๆ ไป

เพราะฉะนั้น จะออกมาตรการอะไรมาต้องมองให้รอบด้านค่ะ เพราะการรับรู้ของคนมันตีความหมายได้หลายอย่างมาก เรื่องริสต์แบนด์นี้ มันไม่ได้ตีความหมายแค่เรื่องความปลอดภัยเท่านั้นนะคะ แต่มันสะท้อนให้คนเห็นว่า เฮ้ย! ที่นี่มันน่ากลัว จะไปไหนก็ต้องระมัดระวัง นักท่องเที่ยวมาเมืองไทยต้องใส่กำไลฝังชิปเลยนะเพราะอาชญากรรมมันสูงมาก จะให้เขามองอย่างนี้น่ะเหรอคะ ต้องเข้าใจนะคะว่าภาพหนึ่งภาพมันแปลความหมายได้เป็นหมื่นเป็นล้านคำ ความรู้สึกคนเรามันอ่อนไหวค่ะ

ส่วนตัวแล้วคิดว่าทางกระทรวงการท่องเที่ยวควรจะหันหน้ามาจับมือกับตำรวจในลักษณะหุ้นส่วนในการสร้างความปลอดภัยในชุมชนซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยวิธีที่เหมาะสม และไม่ไปลิดรอนสิทธิที่พึงมีพึงเป็นของนักท่องเที่ยว หรือไม่ทำให้เขารู้สึกไม่มั่นใจ หวั่นไหว หรือรับรู้ภาพที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง น่าสะพรึงกลัวเกินกว่าเหตุ


(มาตรการริสต์แบนด์ รู้ถึงหูสื่อทั่วโลก)

เหมือนอย่างในอิตาลี ทุกวันนี้คนทั่วไปจะรับรู้ว่าที่นั่นโจรชุมมากจนเป็นที่รู้กันในบรรดานักท่องเที่ยวเลยว่าไปแล้วต้องเดินกอดกระเป๋าให้ดีๆ ถามว่าเราอยากจะเป็นอย่างนั้นเหรอคะ? อยากให้ทั่วโลกเขามองภาพเราแล้วเตือนเรื่องความปลอดภัยแบบนั้นเหรอ? คือตอนนี้ประเทศเรายังดูไม่อันตรายขนาดนั้น แต่ถ้าต่อไปเราประกาศเรื่องใช้ริสต์แบนด์ออกไป นักท่องเที่ยวที่จะมาไทยต้องใส่กำไลมีฝังชิปนะ! คิดว่าภาพการรับรู้ในสายตาชาติอื่นจะออกมาดีอย่างนั้นหรือ?

ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติมีทัวร์ญี่ปุ่นมาไทย ไกด์อาจจะบอกลูกทัวร์ว่าให้เตรียมครีมกันแดดนะ หมวก ชุดว่ายน้ำ แล้วก็ที่ขาดไม่ได้เลยคือ “ริสต์แบนด์ฝังชิป!” คิดว่านักท่องเที่ยวเขาจะมองภาพประเทศเราเป็นยังไงคะ มองว่าประเทศนี้ดีนะ เขาห่วงใยเราหรือเปล่า ที่ทุกวันนี้คนเตือนๆ กันว่าไปอิตาลีให้กอดกระเป๋าให้ดีๆ นี่ก็เป็นความห่วงใยเหมือนกัน แต่อย่าลืมว่าคนเราก็คิดได้หลายมุม และธรรมชาติของมนุษย์ชอบรับรู้มุมลบๆ นะ ไม่ได้ชอบรับรู้มุมบวกๆ นะคะ โห! อิตาลีน่ากลัวแฮะ โห! ประเทศไทยน่ากลัวนะ มันจะออกมาเป็นภาพแบบนี้น่ะสิ


(คดีสยองขวัญที่เกิดกับนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 รายบนเกาะเต่า)


ที่นักท่องเที่ยวเขามาท่องเที่ยวเพราะเขาต้องการจะผ่อนคลาย ต้องการความเป็นอิสระ ต้องการการปลดปล่อยตัวเองจากการถูกควบคุม เขาอาจจะถูกควบคุมมาจากในองค์กร ได้รับแรงกดดันมาจากการทำงาน แล้วนี่ยังจะให้เขามาถูกควบคุมด้วยการใส่ริสต์แบนด์อีกเหรอ ทุกอย่างมันดูตึงเครียดหมดเลย ทุกวันนี้ที่คนละเมิดกฎกันเพราะมันอยู่ตรงข้ามกับความอิสระไงคะ

การที่ผู้ประกอบการเขาไม่ค่อยเห็นด้วยหรือปฏิเสธการใช้ริสต์แบนด์ น่าจะเป็นเพราะผู้ประกอบการเข้าใจความต้องการของนักท่องเที่ยว ต้องบอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐอย่าเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง อย่าคิดแค่ว่าเอาที่ตัวเองทำงานสะดวกเป็นตัวตั้ง ต้องคำนึงถึงตัวนักท่องเที่ยวเป็นตัวตั้งด้วยว่าเขาต้องการอะไร




จับคู่ “บัดดี้” หวังลดอาชญากรรม
ถ้าริสต์แบนด์ดูจะไม่เวิร์ก ก็ยังมีแผนสองรองรับ คือคิดไว้ว่าอาจจะใช้ “ระบบบัดดี้” จับคู่นักท่องเที่ยวกับคนท้องถิ่น คอยเป็นผู้ดูแลตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อป้องกันหรือลดการเกิดอาชญากรรม เจ้าของไอเดียอย่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบอกข้อมูลเอาไว้กับทางเว็บข่าว “เดอะมิเรอร์” สื่อออนไลน์สัญชาติอังกฤษ

ลองให้ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาระบบงานสอบสวนอุบัติเหตุเพื่อการแก้ไขและป้องกันอย่างบูรณาการ ช่วยวิเคราะห์ดูในฐานะที่ศึกษากระบวนการทำงานในเชิงของกรมตำรวจมากว่า 11 ปีว่าวิธีนี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน อาจารย์ปนัดดาตอบทันทีเลยว่า “ถามหน่อยเถอะว่าทำได้จริงหรือเปล่า?” จากนั้นจึงแจงรายละเอียดให้ฟัง


(ผ่านไปครึ่งเดือน ไม่พบแม้เงาผู้ต้องสงสัย)

“ยังไม่ต้องให้บอกว่าเห็นด้วยมั้ยนะคะ แต่ถามว่าทำได้จริงหรือเปล่า เพราะถ้าทำไม่ได้จริงแล้วเราจะไปเห็นด้วยได้ยังไง? เหมือนเราต้องมานั่งตั้งคำถามอีกว่าคิดมาได้ยังไง? คิดดูว่าจำนวนสัดส่วนคนในพื้นที่มีจำนวนมากพอที่จะมาจับคู่บัดดี้ดูแลนักท่องเที่ยวเหรอ ชาวบ้านทุกคนที่นั่นจะมาเป็นบัดดี้ให้นักท่องเที่ยวเหรอ และคุณจะฝึกบัดดี้ให้ดูแลนักท่องเที่ยวยังไง แล้วถามหน่อย วันๆ ชาวบ้านเขาไม่ต้องไปทำอะไรเลยเหรอ ต้องให้มาคอยนั่งดูแลนักท่องเที่ยวอย่างนั้นเหรอ? ยิ่งคิดยิ่งไม่เข้าใจหรือเราอาจจะคิดไม่ทันคนคิดมาตรการนี้ก็ได้ค่ะ

อยากบอกว่าเวลาจะคิดอะไร คิดให้มันทะลุค่ะ อย่าคิดแบบนักวิชาการ คิดอยู่บนหอคอยแล้วทำไม่ได้ ง่ายๆ แค่ขอแรงคนอาสาเก็บขยะบนเกาะท่องเที่ยวที่เป็นคนในท้องถิ่นทุกวันนี้ ยังแทบจะไม่มีใครทำกันเลยค่ะ จะให้มาดูแลนักท่องเที่ยว เป็นบัดดี้กันแบบตัวต่อตัวเลยมันจะเป็นไปได้หรือเปล่าล่ะ”

ถ้าอยากแก้ปัญหาโดยอาศัยความร่วมมือจากคนในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ อาจารย์แนะนำว่าให้ทำอย่างมีหลักการ ทำตามหลักการการทำงานของตำรวจดูก็ได้ จะมีเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในการป้องกันอาชญากรรมกำหนดไว้อยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็มี 2 โครงการที่ใช้หลักการนี้คือ โครงการ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” กับโครงการ “ตำรวจร่วมมวลชนลดอาชญากรรม”


(ภาพจากกล้องวงจรปิด ขณะที่เหยื่อยังมีชีวิต)

“ต้องเข้าใจก่อนว่าทุกวันนี้ตำรวจมีงานล้นมือ มีข้อจำกัดมากมาย จึงต้องไปแสวงหาความร่วมมือจากท้องถิ่นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันและลดอาชญากรรม ทั้งโรงแรม, ชาวบ้าน, ชาวประมง ฯลฯ ทุกคนเป็นหนึ่งในหุ้นส่วน ตำรวจจะเดินเข้าไปหาหุ้นส่วนเหล่านี้ในท้องถิ่นเพื่อทำให้มาตรการนี้เป็นผลซึ่งมันมีหลายเทคนิคมาก ยกตัวอย่างเช่น เทคนิคการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม คนในชุมชนทั้งชาวบ้าน, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ จะบอกตำรวจว่าสภาพแวดล้อมตรงนี้ไม่ดียังไง ไฟไม่สว่างนะ จุดนี้เป็นมุมอับ เป็นที่เปลี่ยว เสร็จแล้วทุกคนก็จะมาร่วมกันเคลียร์พื้นที่ให้สภาพแวดล้อมนั้นเป็นสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่เป็นบ่อเกิดอาชญากรรม

อีกหนึ่งเทคนิคในการประสานงานแก้ปัญหาร่วมกับชุมชนคือ เทคนิคการประสานงาน-แจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ แจ้งข่าวที่รวดเร็ว ให้ชุมชนมีตาสับปะรด และมีอีกหลายเทคนิคมากค่ะที่สามารถทำได้เพื่อให้ชุมชนนั้นเป็นชุมชนที่ไม่มีอาชญากรรม เพราะตำรวจเป็นคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องบ่อเกิดแห่งการเกิดอาชญากรรมเลยเป็นฝ่ายที่ควรให้ความรู้ แล้วให้หุ้นส่วนในชุมชนที่เข้าใจสภาพแวดล้อมที่จะก่อให้เกิดอาชญากรรมแท้จริง ความเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมที่แท้จริง เส้นทางโจรที่แท้จริง กลุ่มเสี่ยงที่แท้จริง ฯลฯ จากนั้นก็มาเริ่มวางแผนและช่วยกันเพื่อให้ชุมชนนั้นปลอดอาชญากรรมค่ะ”



พอใช้คำว่า “หุ้นส่วนในชุมชน” จึงชวนให้คิดถึงคำว่า “ผลตอบแทน” ถามว่าชาวบ้านที่เข้ามาเป็นหุ้นส่วนช่วยเหลือตำรวจอีกแรงจะได้อะไรตอบแทนบ้าง จึงได้คำตอบว่าผลที่ได้ยิ่งกว่าคำว่า “คุ้ม” ถ้าทำได้จริง

มันไม่จำเป็นต้องตอบแทนกันด้วยเรื่องเงินอย่างเดียวค่ะ แต่สำหรับคนในชุมชนมันกินความหมายกว้างกว่านั้นได้ อย่างคนทำบ้านพักตากอากาศอยู่บนเกาะ เขาก็จะได้ค่าตอบแทนจากสังคมปลอดอาชญากรรม ทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวมาพักกันเยอะขึ้น ส่วนชาวบ้านในชุมชนหรือแม้แต่ผู้ใหญ่บ้านที่มาเข้าร่วม เขาก็จะได้ผลตอบแทนจากการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเพราะชุมชนนั้นปลอดอาชญากรรม ไม่จำเป็นว่าตำรวจต้องให้เงินเดือนหุ้นส่วนที่มาช่วยกันค่ะ ถามว่าอยากมีชุมชนปลอดอาชญากรรมมั้ยล่ะ ถ้าชุมชนของคุณปลอดภัย ลูกหลานคุณก็ไม่ติดยา ไม่ลักเล็กขโมยน้อย คนก็อยากจะมาท่องเที่ยว

สุดท้ายทางตำรวจก็ไม่จำเป็นต้องมีภาระงานที่หนักจากปัญหาอาชญากรรม สามารถเอาเวลาไปทำคดีอื่นๆ ได้อีกมากมาย การช่วยกันป้องกันเหตุก็จะกลายเป็นหน้าที่ของหุ้นส่วนในชุมชนโดยมีตำรวจเป็นพี่เลี้ยง และถ้าเกิดคดีอาชญากรรมขึ้นในชุมชน ตำรวจก็จะสามารถเอากำลังพลลงไปเจาะในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พอจับคนร้ายได้เร็วก็ถือเป็นการป้องปรามคนร้ายที่จะกระทำผิดในครั้งต่อๆ ไปได้ด้วย คนร้ายจะเกรงกลัวว่าจะถูกจับกุมได้อย่างรวดเร็ว นี่แหละค่ะจะเป็นวิธีการบริหารทรัพยากรตำรวจที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพ

นี่แหละค่ะคือการสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันอาชญากรรมที่เป็นระบบและยั่งยืน ระดมทรัพยากรร่วมกัน ถ้าทำอย่างที่บอกมาได้ ผลที่ได้ก็จะไม่ไปตกที่นักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวแล้วค่ะ แต่ผลดีจะครอบคลุมไปถึงประชาชนคนไทยด้วย ซึ่งเป็นจุดที่ส่วนตัวแล้วพยายามจะย้ำหนักย้ำหนาค่ะว่า “ทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน” ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติหรือคนไทย

แต่ที่เสนอมาตรการกันอยู่ตอนนี้ มองเห็นแค่ว่ามันคือผลของการคิดอะไรแบบฉาบฉวยค่ะ มันเหมือนการแก้ปัญหาแบบ เป็นสิวแล้วทายาแก้สิวน่ะค่ะ ไม่ได้แก้ปัญหาที่เป็นระบบยั่งยืนเลย แต่แก้ปัญหาแบบเฉพาะจุด ไฟไหม้ฟางไปเรื่อยๆ แค่นั้น หน่วยงานบ้านเราชอบเป็นอย่างนี้ค่ะ ถามว่าคุณคิดรอบคอบแล้วหรือยังถึงให้ข่าวออกไป? คิดรอบด้านแล้วจริงๆ หรือเปล่าถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น?



พวกผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราจะชอบมีปัญหาเรื่องนี้ตลอด คือชอบโชว์ผลงานของตัวเองผ่านการพูด แต่ไม่เคยโชว์ผลงานผ่านการคิดให้รอบคอบและทำอย่างรอบคอบ ถึงตอนนี้จะยังไม่ได้ดำเนินมาตรการริสต์แบนด์ออกมาจริงๆ แต่ก็ถือว่าภาพลักษณ์ประเทศก็เสียหายไปมากนะคะกับการให้ข่าวในครั้งนี้ เพราะสื่อต่างๆ มันเผยแพร่ออกไปเร็วมาก มันส่งผลที่ออกมาเสียหายทั้งต่อตัวคนพูดเอง เสียหายทั้งองค์กร เสียหายทั้งรูปคดี เสียหายทั้งภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งบางความเสียหายมันกู้กลับคืนมายากมากด้วย

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- งามหน้า! ทั่วโลกต่อว่าตำรวจไทย “ไร้ประสิทธิภาพ”
- “รมว.ท่องเที่ยวไทย” ล้อมคอกสังหารโหดเกาะเต่า ออกไอเดีย “ต่างชาติสวมริสแบนด์ตามตัว - เคอร์ฟิวปาร์ตี้ชายหาด”
- หมดกัน! สื่อนอกตีข่าว ตร.ไทยโดนโลกออนไลน์เย้ย หลังคดีเกาะเต่าไม่คืบ
- “อดีตมือปราบสกอต” วิจารณ์ตร.ไทยคดีฆ่านักท่องเที่ยวเกาะเต่า “ผิดพลาดมากอย่างเหลือเชื่อ - ล้าหลังไป 20 ปี”
- In Pics : รูปหวาดเสียว สื่ออังกฤษรายงาน ตร.ไทยไล่ล่า 3 คนร้ายคดีฆ่าเกาะเต่า พบ “ถุงยางอนามัยใช้แล้ว” ตกในที่เกิดเหตุ
- In Pics : สื่ออังกฤษรายงาน ตร.ไทยสอบเค้น-เก็บดีเอ็นเอ “ทีมนักบอลฯ จัดเลี้ยงในเอซีบาร์” ที่สุดท้ายพบ 2นักท่องเที่ยวอังกฤษก่อนโดนฆ่า
กำลังโหลดความคิดเห็น