xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐอเมริกา : ศิลปะแห่งการถ่วงดุล

เผยแพร่:   โดย: ดร.ปิติ ศรีแสงนาม


ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ


หนึ่งใน Global Trend สำคัญของทศวรรษ 2010-2020 คงหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงการคานอำนาจกันระหว่าง 2 มหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลกพญามังกรจีนกับพญาอินทรีสหรัฐอเมริกา โดยเวทีที่ทั้งสองใช้ในการงัดข้อคานอำนาจซึ่งกันและกันก็คงหลีกไม่พ้น ทะเลจีนใต้ เส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่ควบคุมครึ่งหนึ่งของการค้าระหว่างประเทศบนโลกใบนี้

ในขณะที่จีนกำลังเปิดเกมส์สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจผ่านอภิมหาโครงการ 1 แถบ 1 เส้นทางที่จะสร้างความเชื่อมโยงของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนน ระบบราง และเส้นทางการเดินเรือเพื่อวางตำแหน่งจีนให้เป็นจุดศูนย์กลางของความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ยุโรป-เอเซียกลาง-ตะวันออกกลาง-เอเซียใต้-อาเซียน-อาฟริกาตะวันออก รวมทั้งการให้เงินทุนสนับสนุนจำนวนมหาศาลและยังมีสถาบันการเงินใหม่ที่จะมาคานอำนาจองค์กรเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ภายใต้ธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB)

ข้างพญาอินทรีก็ไม่รอช้าพยายามใช้นโยบาย Pivot to Asia โดยการปิดล้อมจำกัดเขตอิทธิพลของจีนโดยการสร้างความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคงและเศรษฐกิจกับประเทศในเอเซีย และยังพยายามวางตำแหน่งตนเองให้กลายเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าผ่านข้อตกลงทางการค้าที่สำคัญอีก 2 ฉบับนั่นคือ Trans-Pacific Partnership Agreement (TPP) และ Trans-Atlantic Trade and Investment Partnership Agreement (TTIP) โดยล่าสุด การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐอเมริกา (US-ASEAN Summit) ครั้งแรกก็เกิดขึ้น ระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2559

คำถามก็คือ อาเซียน มีความสำคัญแค่ไหนสำหรับสหรัฐ แน่นอนว่าหากพิจารณาจากข้อมูลการค้าการลงทุน อาเซียนคือคู่ค้าอันดับที่ 4 ของสหรัฐโดยมีมูลค่าการค้าสูงถึง 254 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2014 หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของมูลค่าการค้ารวมของสหรัฐอเมริกา มูลค่าการค้าอาเซียน-สหรัฐเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าจีน-สหรัฐ (จีนคือคู่ค้าอันดับที่ 1 ของสหรัฐ และก็เป็นคู่แข่งอันดับที่ 1 ในทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน) มูลค่าเงินลงทุนของนักลงทุนสหรัฐกว่า 226 พันล้านดอลลาร์สหรัฐลงทุนอยู่แล้วในอาเซียน โดยมูลค่านี้มากกว่าเงินลงทุนที่นักลงทุนสหรัฐลงทุนในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดียรวมกันเสียอีก เท่านั้นยังไม่พอเพราะเงินลงทุนและมูลค่าการค้ามหาศาลระหว่างสหรัฐและอาเซียนทำให้เกิดการจ้างงานในสหรัฐอีกกว่า 500,000 ตำแหน่งงาน

และถ้าพิจารณาในมิติของสังคม-วัฒนธรรม เราต้องไม่ลืมว่าประชากรราว 4 ล้านคนของสหรัฐเป็นผู้ที่เกิดในประเทศอาเซียน (1.8 ล้านคนจากฟิลิปปินส์ 1.2 ล้านคนจากเวียดนาม) หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของประชาชนสหรัฐอเมริกาที่เกิดในต่างประเทศ นั่นทำให้คนอาเซียนในสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในพลังสำคัญทางการเมืองสหรัฐโดยเฉพาะในหลายๆ พื้นที่ทางตะวันตกของประเทศ

และที่สำคัญที่สุด ในเมื่อทะเลจีนใต้และช่องแคบมะละกาซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของอาเซียน คือบริเวณที่มูลค่าการค้าประมาณครึ่งหนึ่งของโลกต้องใช้เป็นเส้นทางลำเลียง ผลประโยชน์มหาศาลของประเทศคู่แข่งที่สำคัญที่สุดของสหรัฐ นั่นคือประเทศจีนก็เกิดขึ้นอย่างมหาศาลในบริเวณนี้ ดังนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เรดาห์การพิทักษ์ผลประโยชน์ของสหรัฐจะต้องจับตามองบริเวณนี้เป็นอันดับต้นๆ รวมทั้งการปิดล้อมจำกัดเขต (Containment Policy) การขยายอิทธิพลของจีนโดยสหรัฐก็คงไม่ประสบความสำเร็จหากไม่มีอาเซียนเป็นสมาชิก และเมื่อพฤศจิกายน 2015 ที่ผ่านมาระหว่างประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประธานาธิบดีโอบามาเองก็ประกาศจะยกระดับความสัมพันธ์สหรัฐ-อาเซียนให้เป็นระดับ พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) และนั่นเองที่นำไปสู่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ในวันนี้

แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐในครั้งนี้ ฝ่ายสหรัฐมีเป้าหมายหลักในการสร้างและตอกย้ำความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงกับภูมิภาคอาเซียน และในขณะเดียวกันสหรัฐเองก็ต้องการเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้นำและขยายอิทธิพลเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยนักวิเคราะห์หลายๆ สำนักต่างคาดการณ์กันว่า แม้วาระการประชุมจะมีหลากหลายมิติ ตั้งแต่ การค้า การสนับสนุนผู้ประกอบการ การสร้างนวัตกรรมใหม่ ประเด็นในเรื่องภาวะโลกร้อน แต่เชื่อว่าเรื่องใหญ่ๆ ที่ทุกฝ่ายจับตามองท่าทีจากการประชุมในครั้งนี้จะได้แก่ ประเด็นกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ซึ่งสหรัฐเองต้องการเข้ามาแทรกแซงกิจการในบริเวณนี้ ประเด็นการต่อสู้และการบังคับใช้กฎหมายด้านความมั่นคงในการต่อต้านกลุ่มผู้ก่อการร้าย Islamic State ประเด็นเรื่องเกาหลีเหนือและการทดลองขีปนาวุธครั้งล่าสุด รวมทั้งเรื่องการวางตำแหน่งของสหรัฐในการเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าของโลกผ่านข้อตกลง TPP โดยการประชุมในครั้งนี้หลายฝ่ายเชื่อว่าคงไม่ได้มีการลงนามในเอกสารสำคัญๆ ในประเด็นเหล่านี้ หากแต่เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่า สหรัฐสามารถสร้างร่วมมือและหาแนวร่วมในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ได้ และเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างไปสู่ผู้นำจีน

อนึ่ง หากลับมาพิจารณาทางฝ่ายอาเซียน สมาชิกอาเซียนเองก็คงแบ่งอย่างชัดเจนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่พร้อมจะจับมือกับสหรัฐในทุกประเด็นเพื่อถ่วลดุลอำนาจกับจีนในกรณีทะเลจีนใต้อันได้แก่ ฟิลิปปินส์ และเวียดนามภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเหวียนซินหุง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ผู้นำเวียดนามสายโปรสหรัฐ กลุ่มที่สอง คือไทย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ กลุ่มนี้คงจะสงวนท่าที เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกันกับทางฝ่ายจีนและฝ่ายสหรัฐ โดยเฉพาะการที่จีนจะเข้ามาลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้วยจำนวนเงินมหาศาลภายใต้แผนงาน 1 แถบ 1 เส้นทาง แต่ในขณะเดียวกันประเทศกลุ่มนี้ก็มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ผูกพันกับสหรัฐค่อนข้างมีนัยสำคัญ และกลุ่มที่ 3 คือเมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา กลุ่มนี้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับจีนและมีผลประโยชน์มหาศาลร่วมกับประเทศจีน

แน่นอนครับว่าทุกครั้งที่สหรัฐจัดงานอะไรต้องมีประเด็นเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเข้ามาร่วมด้วยเสมอ และนั่นทำให้หลายฝ่ายในไทยกังวลเรื่อง ผู้นำของเราว่าจะมีปัญหาหนักอกหนักใจกับการดำเนินนโยบายกับสหรัฐหรือไม่ ผมขอชี้แจงให้ทราบตรงนี้เลยครับว่า คุณประยุทธ์ไม่ได้เป็นคนเดียวซึ่งมีเรื่องต้องหนักใจครับ และเมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำคนอื่นๆ ของอาเซียนแล้ว ผมเชื่อว่าปัญหาของคุณประยุทธ์เรื่องการขึ้นสู่อำนาจจากการรัฐประหารไม่ใช่เรื่องใหญ่ครับ เพราะกลุ่มเคลื่อนไหวจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่ม Vietnamese American and Laotian American Organization เองก็ออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศของพวกเขาที่ถูกละเมิดโดยรัฐบาลของตนเอง ในขณะที่หลายๆ ฝ่ายก็หนักใจในนายกรัฐมนตรีฮุนเซนที่อยู่ในอำนาจมาอย่างต่อเรื่องยาวนาน และก็มีปัญหาอย่างหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศของเขา เช่นเดียวกับการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม หรือ Sharia ของประเทศบรูไนที่ยังปกครองโดยระบบสุลต่านอยู่ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นเดียวกันครับ และล่าสุดนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัคของมาเลเซียเองก็ยังไม่สามารถเคลียร์ตัวเองได้จากการเข้าไปพัวพันในการคอรัปชั่นจนมีเงินไหลเข้าบัญชีส่วนตัวโดยไม่มีที่มาสูงถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ท้ายที่สุดต้องไม่ลืมนะครับว่าสถานที่จัดงานแห่งนี้คือ Sunnylands ใน Rancho Mirage มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งครั้งหนึ่งในปี 2013 เคยใช้เป็นสถานที่ต้อนรับประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีนมาแล้ว นั่นเท่ากับสหรัฐเองก็ต้องการแสดงศิลปะอย่างหนึ่งในการถ่วยดุลอำนาจว่า ฉันให้เกียรติผู้นำอาเซียนในระดับเดียวกันกับที่ฉันให้เกียรติมหาอำนาจจีนเลยนะ แล้วที่นี้สิ่งที่เราจะต้องจับตาดูต่อไปก็คือ แล้วจีนจะว่าอย่างไรบ้างล่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น