xs
xsm
sm
md
lg

สี จิ้นผิงประกาศ ลงทุนในเอเชียจะฟู่ฟ่า หลัง‘แบงก์ AIIB’ผงาดให้บริการ

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์/เอเอฟพี/เหรินหมินรึเป้า

China’s Asian Infrastructure Investment Bank opened for business
By Asia Unhedged /AFP/ People’s Daily
16/01/2016

การรอคอยสิ้นสุดลงในที่สุด ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) สถาบันการเงินพหุภาคีแห่งแรกที่จีนเป็นผู้ริเริ่มขึ้นมา ทำพิธีเปิดดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 มกราคม โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศว่า แบงก์แห่งนี้จะช่วยเร่งขยายการลงทุนในเอเชีย และช่วยให้การดูแลควบคุมเศรษฐกิจโลกมีความเป็นธรรมมากขึ้น

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศว่า ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย หรือ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) จะช่วยเร่งขยายการลงทุนในเอเชีย พร้อมกับจะช่วยให้การดูแลควบคุมเศรษฐกิจโลก “มีความเป็นธรรมมากขึ้น” ทั้งนี้ เป็นคำกล่าวในพิธีเปิดการดำเนินกิจการของแบงก์ AIIB อย่างเป็นทางการในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันเสาร์ที่ 16 มกราคม 2016

สถานภาพของธนาคาร AIIB ที่มีจีนเป็นผู้หนุนหลังหลักและมี 57 ชาติร่วมเป็นสมาชิก ได้รับการวางชื่อชั้นว่าจะเป็นคู่แข่งรายสำคัญของธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

“การให้ทุนสนับสนุนและการสถาปนาธนาคาร AIIB จะส่งเสริมความเฟื่องฟูด้านการลงทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในเอเชียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธนาคารจะแสดงบทบาทเป็นช่องทางดึงดูดทรัพยากรได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดึงวาณิชธนกิจเข้าสู่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นานา” สี จิ้นผิงประกาศ

จีนเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่สุดของธนาคาร AIIB โดยถือหุ้นมากที่สุดด้วยสัดส่วน 30% ซึ่งเท่ากับว่าจีนมีอำนาจวีโต้อยู่ในมือ ทั้งนี้เป็นไปตามกรอบความตกลงที่ลงนามกันในระหว่างชาติสมาชิกก่อนตั้งธนาคารเมื่อเดือนมิถุนายน 2015

สำหรับสปอนเซอร์รายใหญ่อันดับ 2 และ 3 ที่ร่วมลงทุนจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาน้องใหม่รายนี้ ได้แก่ อินเดีย และรัสเซีย

โดยที่มีทุนจดทะเบียนสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ จึงคาดกันว่าธนาคาร AIIB จะอนุมัติเงินกู้สำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ระลอกแรกได้ภายในกลางปีนี้ สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานไว้อย่างนั้น ทั้งนี้ แม้ยังต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการจัดทำรายละเอียดแผนการทำงานของธนาคาร AIIB แต่แบงก์เจ้าใหม่ที่แสนจะฮอตนี้ตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อระลอกแรกให้ได้ภายในไตรมาสที่ 2 หรือไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยจะมีสินเชื่อที่อนุมัติออกไปให้ได้ในปีแรกนี้รวมประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ ในการนี้ นาย จิน ลี่ฉุน ประธานแบงก์ AIIB กล่าวถึงเป้าธุรกิจไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2015 ว่า AIIB จะปล่อยสินเชื่อให้ได้ปีละ 10,000 – 15,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากนั้น ผู้บริหารระดับสูงของ AIIB กล่าวด้วยว่าจะสร้างความร่วมมือกับธนาคารโลกที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน และสร้างความร่วมมือกับธนาคาร ADB ที่ตั้งฐานในกรุงมะนิลา

ด้านธนาคาร ADB ที่มีสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนหลัก ประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ที่ 9 มกราคม ว่า ADB จะทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับแบงก์น้องใหม่แห่งนี้

“ADB กำหนดโครงการที่คาดว่าจะร่วมปล่อยกู้กับทาง AIIB ไว้แล้ว โดยอยู่ในแวดวงของการขนส่ง พลังงานทดแทน การพัฒนาเมือง และการพัฒนาแหล่งน้ำ” คำแถลงของ ADB ระบุไว้อย่างนั้น

ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ประธาน ADB นายทาเกฮิโกะ นาคาโอะ กล่าวว่าตนไม่เชื่อว่า AIIB จะมาทำให้ ADB หดตัว เพราะทั้งสององค์กรนี้ “สามารถเสริมกันและกัน”

ด้าน จิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลกเปิดเผยความหวังที่จะได้เห็น AIIB มีบทบาทสำคัญในการลดปัญหาความยากจนในเอเชีย ทั้งนี้ ประธานธนาคารโลกกล่าวว่าผู้ที่มีความเป็นห่วงต่อประเด็นความยากจนและความไม่เท่าเทียมภายในประเทศกำลังพัฒนา ย่อมจะยินดีกับความสำเร็จในการจัดตั้งสถาบันการเงินระหว่างประเทศแบบนี้ เพราะ AIIB จะช่วยประเทศกำลังพัฒนามีศักยภาพในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ พร้อมกับการสร้างงานใหม่ๆ

ในบทสัมภาษณ์พิเศษที่ให้แก่หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า หลี่ จั้วฮุย (Li Zhuohui) ประธานมูลนิธิอาเซียน หรือ ASEAN Foundation ให้ข้อมูลว่า อินโดนีเซียเป็นชาติหนึ่งที่มีความต้องการเร่งด่วนที่จะต้องมีหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศอย่างธนาคาร AIIB ดังนั้น เขาจึงเชื่อว่า AIIB จะสนับสนุนเต็มที่แก่โครงการก่อสร้างใหม่ๆ รวมทั้งการกระตุ้นให้ชาติต่างๆ ใช้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของตนภายในภูมิภาคเอเชีย

จีนประกาศความริเริ่มว่าด้วยธนาคาร AIIB เมื่อเดือนตุลาคม 2013 แต่ปรากฏว่าสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 1 และ 3 ของโลก อีกทั้งเป็นผู้ถือหุ้นรายหลักใน ADB ได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมลงขันในโครงการจัดตั้งธนาคาร AIIB อย่างไรก็ตาม ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในยุโรปตบเท้าเข้าร่วมขบวน อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ

สำนักข่าวเอเอฟพีตั้งข้อสังเกตว่า การจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชียเป็นโครงการความริเริ่มของจีนในอันที่จะแผ่อิทธิพลทางการเงินในเอเชีย และได้ส่งผลให้เกิดคำถามขึ้นมาถึงเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการสถาบันการเงินระหว่างประเทศเจ้าใหม่รายนี้

อย่างไรก็ตาม สี จิ้นผิงพูดไว้ตอนหนึ่งในคำกล่าวในพิธีเปิดตัวแบงก์ AIIB ว่ามาตรการที่เตรียมไว้จะทำให้มั่นใจได้ว่า AIIB “จะเป็นสถาบันระหว่างประเทศที่มีมาตรฐานสูง และดำเนินการบนพื้นฐานของกฎระเบียบในทุกแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของโครงสร้างด้านธรรมาภิบาล นโยบายการปฏิบัติงาน นโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารทรัพยากรมนุษย์”

ปักกิ่งได้เสาะหาทางที่จะขยายอิทธิพลมาก่อนหน้านี้แล้วในโครงการความริเริ่มเชิงนโยบายต่างประเทศอันลือลั่นของสี จิ้นผิง ที่เรียกกันว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ One Belt One Road อันเป็นแผนการลงทุนมูลค่ามหาศาลที่มุ่งจะขยายเส้นทางให้จีนหยั่งเท้าลงไปอย่างเปี่ยมยุทธศาสตร์ จากภูมิภาคเอเชียกลาง ไปจนถึงยุโรป ผ่านการอนุมัติเงินกู้เพื่อสร้างเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง

ความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ถูกนำไปขนานนามว่าเป็นการฟื้นคืนชีพของเส้นทางสายไหมอันเป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศของจีนโบราณ ความริเริ่มดังกล่าวนี้จึงเป็นการย้ำถึงความทะเยอทยานของจีนที่จะใช้อำนาจเชิงภูมิรัฐศาสตร์ให้เต็มที่กับพลังทางเศรษฐกิจของตน

เสียงที่สะท้อนความไม่ไว้วางใจในจีนปรากฏอยู่ไม่น้อย เช่น นายเรย์ยาน ฮัสซัน กรรมการบริหารของเอ็นจีโอชื่อดังในฟิลิปปินส์ นามว่า Forum on ADB ตั้งข้อสังเกตว่า แบงก์ AIIB อาจจะทำได้แค่เป็นสถาบันปล่อยสินเชื่อธรรมดารายหนึ่ง แทนที่จะได้เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา

“มันมีช่องว่างใหญ่มากอยู่ในกลไกของสถาบัน” ฮัสซันกล่าวอย่างนั้นกับสำนักข่าวเอเอฟพี พร้อมให้ความเห็นว่า “ผมไม่คิดว่าได้เคยมีการหารือตัวต่อตัวกับภาคเอกชนมาก่อน ซึ่งนั่นถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเอาเลย” เขาตั้งประเด็นเอาไว้อย่างนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น