กลางเดือนที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศจีนได้จัดโครงการพาคณะผู้สื่อข่าวจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปเยี่ยมเยือนสองมณฑลของจีน คือ มณฑลอวิ๋นหนัน หรือที่ชาวไทยคุ้นเคยในสำเนียง ยูนนาน กับมณฑลกว่างซี เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจบทบาทในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ของสองมณฑลนี้ ภายใต้กรอบงานและยุทธศาสตร์การพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าใหม่ของจีน ที่มีชื่อว่า หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road)
ในวันแรก (30 พ.ย.2015) ทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการเอเชีย กระทรวงต่างประเทศจีน ได้นำคณะผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วมประชุมทางวิชาการในนครคุนหมิง โดยมี นาย หวัง เหว่ย ผู้ช่วยอธิบดีของสำนักงานกิจการระหว่างประเทศแห่งรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลอวิ๋นหนัน มาบรรยายในหัวข้อการพัฒนามณฑลอวิ๋นหนันภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง ผู้เขียนขอนำเสนอสารัตถะจากการบรรยาย และประมวลข้อมูล เกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าว ดังต่อไปนี้
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน มีความสำคัญยิ่งยวดกับจีน ไม่เพียงเป็นจุดยุทธศาสตร์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ระหว่างสองมหาสมุทร อีกทั้งยังมีตลาดขนาดใหญ่ 600 กว่าล้านคน จีดีพีสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก จีนได้ดำเนินนโยบายสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานนับสิบปี มีการบุกเบิกโครงข่ายการคมนาคมทั้งถนนทางหลวง เส้นทางรถไฟ เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขง และการเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างจีน-อาเซียน ซึ่งนับเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ในช่วงสิบปีมานี้ถือเป็นปีทองแห่งความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย การค้าระหว่างจีน-อาเซียน ขยายตัวเป็นสิบเท่า โดยแต่ละปีมีอัตราขยายตัวเพิ่มเฉลี่ย ราวร้อยละ 23.6 สถิติล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2557 การค้าจีน-อาเซียนอยู่ที่ 4801.25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 8.23 จีนกลายเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุดของอาเซียนต่อเนื่องมาหลายปี ขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับที่สามของประเทศจีน
อวิ๋นหนันกับภารกิจใหญ่ภายใต้ยุทธศาสตร์ หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง
กลุ่มผู้นำจีนเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์อยู่เสมอ ในยุคโบราณที่จีนเป็นอู่อารยธรรมยิ่งใหญ่ สร้างยุคทองการค้าทั่วโลก โดยมีเส้นทางการค้าอันเลื่องลือ ที่เรียกว่า “เส้นทางสายไหม” โดยแบ่งเป็น เส้นทางสายไหมสายเหนือ (Nortern Silk Road) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากนครซีอัน ทอดผ่านเอเชียกลาง เอเชียตะวันตก ไปยังยุโรป และเส้นทางสายไหมสายใต้ (Southern Silk Road) เริ่มจากมณฑลเสฉวน ทอดผ่านอวิ๋นหนัน เมียนมาร์ อินเดีย ปากีสถาน ไปถึงตะวันออกกลาง
เมื่อเดือนต.ค. ปีค.ศ. 2013 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาใหม่ ที่เรียกว่า หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง โดยจะสร้าง“เส้นทางสายไหมเขตเศรษฐกิจทางบกและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” ( Silk Road Economic Belt and the 21st Century Maritime Silk Road) เพื่อผลักดันเขตเศรษฐกิจการค้าที่เชื่อมโยงเขตต่างๆทั่วโลก จากแผ่นดินใหญ่ลงสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก ตะวันออกกลาง และยุโรป
มณฑลอวิ๋นหนัน ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เป็นทางแยกระหว่างประเทศจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ความยาวถึง 4,060 กิโลเมตร โดยพรมแดนด้านตะวันตกติดกับประเทศเมียนม่าร์ พรมแดนทางใต้ติดต่อกับประเทศลาวและเวียดนาม และห่างจากประเทศไทยก็เพียง 250 กิโลเมตรเท่านั้น
นอกจากนี้จีนบริเวณมณฑลอวิ๋นหนันยังเชื่อมโยงโดยตรงกับกลุ่มประเทศอาเซียนโดยผ่านแม่น้ำโขง ทั้งนี้ แม่น้ำโขงความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยไหลผ่านที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตในจีน โดยลำน้ำตอนบนไหลผ่านจีน ความยาวถึง 2,130 กิโลเมตร มีชื่อว่า หลันชาง ลำน้ำตอนล่างที่ชื่อว่า แม่น้ำโขง ไหลผ่านประเทศกัมพูชา เมียนมาร์ ลาว ไทย และเวียดนาม
ด้วยจุดที่ตั้งภูมิศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น อวิ๋นหนันจึงเป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นทางสายไหม” และเป็นเขตที่ผ่านประสบการณ์เปิดสู่โลกภายนอกมาแต่อดีตโบราณ เมื่อผู้นำจีนประกาศ หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง สร้างเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษใหม่นี้ ก็ได้มอบหมายภารกิจใหญ่แก่มณฑลอวิ๋นหนัน ใช้จุดได้เปรียบด้านที่ตั้งภูมิศาสตร์อย่างเต็มที่ที่สุด เพื่อพัฒนามณฑลเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยเพิ่มบทบาทในการเปิดสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ด้วย ในด้านอาเซียนจะขยายความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และความร่วมมือที่ครบวงจรและลงลึกมากขึ้น พร้อมกับผลักดันความคืบหน้าในการเชื่อมโยงกับเอเชียใต้
ในต้นปีนี้ (2558) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้มาเยี่ยมตรวจการ ณ มณฑลอวิ๋นหนัน และเสนอให้พัฒนามณฑลเป็นแกนหมุนเปิดไปสู่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน และเอเชียใต้ ถือเป็นทิศทางใหม่ในการพัฒนามณฑลอวิ๋นหนัน โดยจะดำเนินการพัฒนาด้านหลักดังต่อไปนี้
-ขจัดอุปสรรคในการผลักดันการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆให้ลุล่วงตามเป้าหมาย อาทิ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ ยกระดับถนนหนทางเพื่อสัญจรเข้าถึงกัน ขยายความร่วมมือโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ศูนย์กลางเครือข่ายเชื่อมโยงด้านการสื่อสาร เครือข่ายเหล่านี้จะเชื่อมโยงภายในและภายนอก คือจะเชื่อมโยงมณฑลตอนในของจีน เช่น ทิเบต เสฉวน ฉงชิ่ง กว่างซี และกว่างโจว อีกด้านก็จะเชื่อมโยงสู่เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ และอินเดีย
-เป็นศูนย์กลางมุ่งสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ โดยเป็น “ศูนย์กลางบัญชาการใหญ่”ในความร่วมมือเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และ ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมาร์-อินเดีย-บังกลาเทศ รวมทั้งระเบียงเศรษฐกิจระหว่างประเทศภายในคาบสมุทร (หนันหนิง-สิงคโปร์) (Pennisula international Economic Corridor (Nanning -Singapore) Cooperation)
-มุ่งพัฒนาความร่วมเขตชายแดน ขณะนี้ อวิ๋นหนันได้บรรลุการสร้างกลไกความร่วมมือทวิภาคีกับเวียดนาม ลาว เมียนมาร์ ไทย และอินเดีย อีกทั้งสร้างเวทีความร่วมมือระดับภูมิภาคได้แก่ งานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ (China-South Asia Expo) ประจำปี ที่นครคุนหมิง
ทั้งนี้ ในไม่กี่ปีมานี้ อวิ๋นหนันได้วางแผนและดำเนินการปรับปรุงโครงข่าวโครงสร้างพื้นฐาน ทางหลวง ทางรถไฟ เส้นทางบิน และเส้นทางเดินเรือ เป็นต้น เพื่อเป็นการบุกเบิกทางสร้าง “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21” แล้ว ดังนี้
เส้นทางระหว่างประเทศ 3 สาย ที่มุ่งสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางถนนสายตะวันตก ได้แก่ ถนนเชื่อมอวิ๋นหนัน-เมียนมาร์ ถนนเชื่อมจีน-อินเดีย และทางรถไฟคุนหมิง-ต้าลี่ ก็จะนำไปสู่มิตจีนา (Myitkyina) ในรัฐกะฉิ่นของเมียนมาร์ บาโม (Bhamo) ลาเสี่ยว (Lashio) ไปถึงเมืองร่างกุ้ง
จากเมืองมิตจีนาก็จะเข้าไปถึงเมืองเลโด (Ledo) ในประเทศอินเดีย ทั้งนี้เมืองเลโดเป็นศูนย์กลางโครงข่ายรถไฟอินเดีย ที่อาจเชื่อมสู่จุดหมายปลายทางต่อไปคือ ดากา และจิตตากอง (Chittigong) ในบังคลาเทศ และกัลกาตา (Kolkata) ในอินเดีย
สำหรับเส้นทางสายหลักที่จะเข้าสู่ เมียนมาร์ ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขง ทางหลวงคุนหมิง-ต่าลั่ว ทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ และสนามบินสิบสองปันนา
สำหรับทางเส้นสายตะวันออก มีเส้นทางสายเก่าคือ ทางรถไฟอวิ๋นหนัน-เวียดนาม ทางหลวงคุนหมิง-ฮานอย และเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำแดง ซึ่งจำเป็นต้องมีการสำรวจอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะเชื่อมไปยังฮานอย ไฮฟองเมืองท่าทางเหนือสุดของเวียดนาม และภาคใต้ของเวียดนาม
ข้อมูลมณฑลอวิ๋นหนัน
อวิ๋นหนัน เป็นมณฑลใหญ่ มีพื้นที่ 394,000 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศจีน แต่ประมาณร้อยละ 93 ของพื้นที่ เป็นเขตภูเขาและที่ราบสูง มีพื้นที่เพาะปลูกเพียงร้อยละ 7 มีประชากรมากถึง 47.139 ล้านคน จากข้อมูลสถิติปี 2557 ถือว่ามากเป็นอันดับที่ 12 ของประเทศจีน
อวิ๋นหนันมีศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น จากการสร้างอุตสาหกรรมยาสูบ อุตสาหกรรมน้ำตาลที่มีคุณภาพและใหญ่เป็นอันดับสองของจีน อีกทั้งอุตสาหกรรมที่โดดเด่นมีชื่อเสียงระดับโลก อย่างชาผูเอ่อร์และยาแผนโบราณ ยูนนานไป๋เย่า ด้วยความเป็นแหล่งวิวัฒนาการมนุษย์ดึกดำบรรพ์ ย้อนยุคถึง 1.7 ล้านปี ถิ่นที่อยู่หลากหลายชนชาติ 25 ชนชาติ ดินแดนแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ อวิ๋นหนันก็สร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากแหล่งธรรมชาติ และวัฒนธรรม มีมรดกโลก 5 แห่ง ได้แก่ เมืองเก่าลี่เจียง (มรดกโลกทางวัฒนธรรม 1997) สบน้ำสามสาย(มารดกโลกทางธรรมชาติ 2003) ป่าหิน (มรดกโลกทางธรรมชาติ 2007) แหล่งฟอสซิลในเฉิงเจียง (มรดกโลกทางธรรมชาติ 2007) และทุ่งนาขั้นบันไดในแคว้นปกครองตัวเองหงเหอแห่งชนาติส่วนน้อยฮาหนี (มรดกโลกทางวัฒนธรรม 2013)
จากข้อมูลสถิติปี 2557 ระบุการเติบโตเศรษฐกิจยูนนาน มีมูลค่า เท่ากับ 1.281 ล้านหยวน ปีต่อปี คิดเป็นอัตราขยาย ร้อยละ 8.1 เปอร์เซ็นต์ และคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.7 สูงกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศ รายได้ต่อหัวประชากร เพิ่มร้อยละ 7.5 หรือ 2,181 ถึง 27,264 หยวน การพัฒนาเขตเมือง สูงร้อยละ 41.73 หรือ 1.25 สูงกว่าปีก่อนหน้า