xs
xsm
sm
md
lg

มุ่งสู่เส้นทางสายไหมจีน-อาเซียน ในยามโลกวิกฤติสงครามระอุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เกรียงไกร

นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง (คนกลาง) โบกมือทักทายขณะเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา (ภาพรอยเตอร์ส)
ซินหัว/ MGR Online - ผู้เชี่ยวชาญต่างยอมรับว่าสถานการณ์ยุโรปและหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งกำลังเผชิญภัยก่อการร้าย วิกฤติคลื่นผู้อพยพลี้ภัยสงครามเข้าเมือง พร้อมไปกับเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นคืน เช่นเดียวกับสงครามระหว่างชาติต่างๆ ก็เริ่มระอุขึ้นแล้วนี้ คงจะเรื้อรัง ก่อความสูญเสียระยะยาวกับทุกชาติที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรง และโลกโดยรวม ขณะที่ภูมิภาคอาเซียนจะยังมีอนาคตรุ่งเรืองกับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม อีไต้อีลู่ หรือ “One Belt One Road”

ความคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจที่ชี้ว่า ภูมิภาคเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่ยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 แทนมหาอำนาจเดิม และเศรษฐกิจโลกก็คงต้องพึ่งพลังขับเคลื่อนของภูมิภาคนี้ ซึ่งมีจีนเป็นผู้นำนี้ดูจะมีน้ำหนัก และพูดให้แคบกว่านั้นคือมีความหวังจากจีนกับอาเซียนมากกว่าที่ใด

วิสัยทัศน์ของผู้นำจีน สี จิ้นผิง ที่วางยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมอีไต้อีลู่ หรือ “One Belt One Road” สร้างสมานฉันท์ ในศตวรรษใหม่นี้ มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ประกาศเมื่อปีพ.ศ. 2556 และมีความมั่นใจได้ว่าจะเป็นเส้นทางสายไหมการค้าแรกๆ ที่บรรลุผลดังหวัง นอกเหนือจากเส้นทางสายยุโรป และแอฟริกา

ด้วยความที่จีนเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับเส้นทางสายเอเชียนี้มากกว่าเส้นทางอื่นๆ จึงเป็นที่มาของความพยายามมุ่งสร้างแผนการค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ล่าสุด ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 20-22 พ.ย. ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย บรรดาผู้นำอาเซียนยังได้ร่วมประกาศว่าจะจัดตั้งชุมชนเศรษฐกิจอาเซียน 10 ชาติภายในปลายปีนี้

นอกจากนโยบายอีไต้อีลู่ ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2556 นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง ยังได้ย้ำและขยายผลความร่วมมือในกรอบความร่วมมือ 2+7 ให้เป็นนโยบายในการพัฒนาความสัมพันธ์กับอาเซียนของรัฐบาลชุดใหม่ของจีน ซึ่งได้แก่ แนวทางการเมืองระหว่างประเทศ 2 ประการคือ เพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างพื้นฐานแห่งการพัฒนาความร่วมมือที่แข็งแกร่ง และมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ ขยายการเอื้อประโยชน์แก่กัน ได้รับชัยชนะร่วมกันมากขึ้น เช่นเดียวกับแยกย่อยครอบคลุมความร่วมมือใน 7 ส่วน ตั้งแต่ สนธิสัญญาว่าด้วยความสัมพันธ์ฉันมิตรประเทศและความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน, ยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน, เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, กระชับความร่วมมือด้านการเงิน, ส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลอย่างสม่ำเสมอ, กระชับร่วมมือด้านความมั่นคง และ กระชับการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ซ่ง จุ่นอิง นักวิจัยจากสถาบันศึกษาระหว่างประเทศ กล่าวกับซินหัวว่า ความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน จะทำให้ทุกชาติได้รับผลประโยชน์ร่วม และยังสร้างโอกาสจากแรงผลักดันเศรษฐกิจใหม่ๆ ในภูมิภาคนี้

เช่นเดียวกับ นายสู ปู้ เอกอัครราชทูตจีนประจำอาเซียน ที่กล่าวกับ อีโคโนมิก เดลี่ ว่า เป็นความร่วมมือที่มีแต่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย พร้อมกับเสริมว่า ในการที่จะเชื่อมถึงกันนี้ ชาติอาเซียนจำเป็นต้องพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน และเพื่อการนี้ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย และกองทุนเส้นทางสายไหมจะร่วมสนับสนุนการเงินทั้งระยะยาวและระยะสั้นให้แก่กลุ่มชาติอาเซียน

"ด้วยความใกล้เคียงทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ทั้งการแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจ ความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับการเมือง การไปมาหาสู่ระดับประชาชน จะส่งผลดีต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ โดยทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมมือกันผ่านนิคมอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ดึงดูดผู้ประกอบการจีนให้มาลงทุนในอาเซียนและเชื่อมวงจรเศรษฐกิจการค้า การผลิตต่างๆ ทั้งระบบอุตสาหกรรมและห่วงโซ่มูลค่า พร้อมๆ ไปกับยกสถานะชาติอาเซียนให้เป็นระดับโลก" นายสู ปู้ กล่าว

ความสำเร็จของการเยือนเวียดนามและสิงคโปร์ครั้งล่าสุดของผู้นำจีน สี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 5 - 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ ความสำเร็จในการเยือนมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง ยิ่งย้ำเน้นความยอมรับไว้วางใจทางการเมืองระหว่างกัน

นายสู ปู้ กล่าวว่า ในด้านเศรษฐกิจนั้น ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับหนึ่งของอาเซียนมาตลอด ขณะที่ อาเซียนก็เขยิบขึ้นมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของจีนแล้ว ปีที่สี่ติดต่อกัน มีมูลค่าการค้ากว่า 4.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงทุนสองฝ่ายก็ทะลุ 1.2 แสนล้านฯ

การเจรจาระดับทวิภาคีในภาคการผลิตล้วนกำลังเป็นไปอย่างราบรื่นและลึกซึ้ง ทั้งในส่วนโครงการรถไฟธรรมดาในลาวกับประเทศไทย และรถไฟความเร็วสูงในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะเชื่อมกรุงจาการ์ต้า และบันดุง ระยะทาง 150 กิโลเมตร โดยคาดว่าโครงการก่อสร้างซึ่งจะเริ่มในเดือนนี้ และเสร็จสมบูรณ์ภายในกำหนดเวลา 3 ปี

สำหรับรถไฟในลาวนั้น ซินหัวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่่ผ่านมา รัฐบาลจีนและลาวได้ลงนามข้อตกลงสร้างทางรถไฟข้ามชายแดนฯ ระยะทาง 418 กิโลเมตร เชื่อมเมืองทางใต้ของจีนกับบ่อเต็น และเมืองหลวงเวียงจันทน์

ส่วนในประเทศไทยนั้นก็ได้มีการทำบันทึกความเข้าใจในโครงการร่วมสร้างทางรถไฟรางคู่ เส้นทางจังหวัดหนองคาย กับกรุงเทพ และระยอง เช่นกัน

เจ้าหน้าที่กิจการต่างประเทศจีน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย. จีน กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม ได้มีความตกลงร่วมกันในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำล้านช้าง หรือหลานชางเจียง Lancang-Mekhong (LMC) ในการประชุม LMC ที่จิ่งหง (เชียงรุ่ง) ทางใต้ของมณฑลยูนนาน

ปีหน้า พ.ศ. 2559 ซึ่งจะเป็นปีแรกของการดำเนินแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ครั้งที่ 13 ของจีน และเป็นครั้งแรกของการก่อตั้งชุมชนเศรษฐกิจจีน-อาเซียนนั้น นายเจียง รุ่ยผิง รองประธานามหาวิทยาลัยกิจการต่างประเทศจีน กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนนั้น จะสร้างพลวัตรเศรษฐกิจใหม่ๆ และนายสู ปู้ ย้ำมั่นใจว่า จีนกับอาเซียนจะให้ความสำคัญกับการพัฒนา 5 ด้าน ทั้งการสื่อสารสัมพันธ์ การสร้างเส้นทางคมนาคมไปมาหาสู่ ปูโอกาสการค้า อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน และความเข้าใจระหว่างประชาชน ด้วยเชื่อมั่นว่าจะเป็นหนทางแห่งประโยชน์ร่วม ทั้งในสันติสุข เสถียรภาพความมั่นคงและการพัฒนาเพื่ออนาคตของภูมิภาคนี้
“อาเซียน” เพชรเม็ดงามใกล้ตัว
“อาเซียน” เพชรเม็ดงามใกล้ตัว
“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ถิ่นฐานของประเทศไทยเรานั้นเป็นภูมิภาคที่หลอมรวมความแตกต่างเข้าด้วยกัน ทั้งทางเชื้อชาติ ภาษา การเมือง สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจแล้ว กลุ่มประเทศอาเซียนสามารถร่วมมือและสัมพันธ์กันได้อย่างดี และจะยิ่งดีขึ้น เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เปิดตัวเป็นทางการในสิ้นปีนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจก็จะแน่นแฟ้นเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น การเคลื่อนย้ายสินค้า แรงงาน และเงินทุน จะเป็นไปอย่างเสรี เปรียบประหนึ่งหัวรถจักรขับเคลื่อนขบวนเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เติบใหญ่ขยายตัวเป็นทวีคูณ
กำลังโหลดความคิดเห็น