ASTVผู้จัดการ รายงานการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ 4” (The 4th Thai - Chinese Strategic Research Seminar) ระหว่างวันที่ 25 - 29 กรกฎาคม 2558 ณ เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้หัวข้อเรื่อง “จีน - อาเซียนสร้างประชาคมร่วมกัน ในศตวรรษที่ 21” ซึ่งจัดร่วมกันโดยศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียว สาธารณรัฐประชาชนจีน (Huaqiao University,HQU) สถาบัน China Society for Southeast Asian Studies และ สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน
ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หรือสภาวิจัยแห่งชาติ อันเป็นหน่วยงานหลักการพิจารณาระบบวิจัยของชาติและเป็นที่ปรึกษานโยบายจัดวางยุทธศาสตร์ต่างๆ ในความสัมพันธ์ไทย-จีน ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการวิจัยเกี่ยวกับไทย-จีนว่า
"ประเทศจีนเป็นประเทศคู่ค้า มีบทบาทสำคัญบนเวทีโลกอย่างมาก และมีผลกระทบโดยตรงกับไทย เมื่อจีนพัฒนาเร็วขึ้น จึงมีนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้น และส่วนหนึ่งนั้นก็มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในอาเซียน ประเทศไทยเราจึงจำเป็นต้องศึกษาให้ลึกซึ้งผ่านกระบวนการสร้างความรู้ หาความรู้ถึงแนวคิดเชิงนโยบายของจีนว่า จริงๆ นั้น จีนตั้งเป้าหมายอย่างไร และเชื่อมโยงให้เห็นว่า หากจะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ต้องเป็นหุ้นส่วนกัน เพราะแน่นอนที่สุด จีนเองก็มองว่า ถ้าจะพัฒนาคงไม่สามารถไปได้คนเดียว ฉะนั้นต้องไปด้วยกัน"
ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ กล่าวถึงบทบาทของสภาวิจัยแห่งชาติและปัจจัย 2 ประการ เกี่ยวกับงานวิจัยไทย-จีน ว่า สภาวิจัยแห่งชาติมีบทบาทหน้าที่ในการวางนโยบายและยุทธศาสตร์ เป็นแหล่งให้ข้อมูลกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เห็นภาพการเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จของจีนในอนาคต
"ระหว่างไทยกับจีนนั้น ถึงแม้เราจะมีการติดต่อสัมพันธ์กันมายาวนาน แต่เรายังขาดหลายเรื่อง เรื่องแรกเลยคือเรารู้เรื่องจีนยังไม่มากพอ คำว่ารู้เรื่องคือรู้เรื่องจริง รู้โดยภาพรวม ถึงแม้เราจะคิดว่าไทย-จีนไม่ใช่อื่่นไกล พี่น้องกัน คนไทยจำนวนมากก็มีเชื้อสายจีน แต่เรารู้เรื่องจีนน้อยมาก รู้ภาษาฯ ก็ถือว่ายังน้อย"
"เรื่องที่สอง คือความสนใจ เรายังไม่ได้ให้ความสนใจจีนมากเท่าที่ควร ในอดีตเราจะสนใจประเทศแถบตะวันตก หรือกระทั่งในเอเชียเราก็ยังสนใจญี่ปุ่นมากกว่าจีน ซึ่งตอนนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ผมคิดว่าเราค่อนข้างจะสนใจตรงนี้ เนื่องจากจีนก้าวไปเร็วมาก การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ หรือจากฐานข้อมูลเดิมนั้นไม่เพียงพอแล้ว เราจำเป็นต้องศึกษาในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้กระทั่งในรัฐบาลของจีน ที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นยุคสมัย เค้าก็มีนโยบายในแต่ละยุคสมัยฯ
"ยุคนี้ท่านสี จิ้นผิง มีนโยบายเช่น One Belt One Road จีนมีความคิดที่ลึกซึ้งมากในการมองเห็นภาพเส้นทางค้าขาย แต่ไม่ใช่เป็นเส้นทางค้าขายเพียงอย่างเดียว เขาอาจจะมีแนวคิดที่เปลี่ยนดุลอำนาจให้มีความสมดุลกันระหว่างประเทศตะวันตกและประเทศเอเชีย ซึ่งตรงนี้จีนทำคนเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าไทยเราเองได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง เราจะรู้ว่าจุดไหนที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วม และการศึกษาวิจัยเช่นนี้ ทำให้เกิดความคิดของการวางแผนฯ"
ความร่วมมือทางวิชาการด้านงานวิจัยยุทธศาสตร์ไทย - จีน ของหน่วยงานระดับมันสมองฯ นี้ ได้วางวัตถุประสงค์เพื่อสร้างงานวิจัยฯ ภายใต้ขอบข่ายหัวข้อที่กำหนด และนำผลการวิจัยไปพัฒนาเป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างกัน โดยเป็นบทความทางวิชาการภาคบรรยายของนักวิจัยไทยและจีนรวม 65 บทความ นักวิจัยจากไทยนำเสนอ 25 บทความ นักวิจัยจีนและประเทศอื่นที่มาร่วมนำเสนอ 40 บทความ ภายใต้ 8 หัวข้อหลัก ดังต่อไปนี้ 1. ความร่วมมือด้านความมั่งคง 2. การค้า การลงทุนและการเงิน 3. การคมนาคมขนส่ง การเกษตร วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและทะเล 4.การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการศึกษา 5. เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 และชนกลุ่มน้อยจีน 6. ความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 40 ปี ไทย-จีน 7. การยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน 8. คลองกระ
"ในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สภาวิจัยแห่งชาติ ได้เริ่มกระบวนการศึกษาวิจัย เพื่อนำมาสู่ข้อมูลและฐานความรู้ฯ แต่ด้วยความลึกซึ้งในเชิงภาษาจีนของนักวิจัยไทยยังไม่เพียงพอ เราจึงอาศัยนักวิจัยจีนให้ศึกษา จีนเองก็ต้องการมาวิจัยไม่ว่าจะเรื่องธุรกิจ เส้นทางทั้งหลายเช่นกัน เขาต้องการศึกษาเชิงลึกและอาศัยนักวิจัยไทย เราจึงได้ทำงานร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ นำมาสู่การจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน" เลขาธิการ วช. กล่าวและย้ำถึงงานวิจัยฯ ที่ทุกฝ่ายเข้าถึงได้ประโยชน์อย่างแท้จริงว่า
"มีหลายประเด็นวิจัยฯ ที่จริงๆ แล้วจะเกิดประโยชน์ และขณะนี้ได้ทำแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เราบอกว่าสินค้าไทยที่จะขึ้นไปสู่จีนนั้น รายการหนึ่งคือข้าว แต่การขนส่งข้าวจากประเทศไทยเข้าสู่ประเทศจีนนั้น ถ้าอยู่ที่จุดเดียว เช่น กวางโจว ก็เป็นผลทำให้ส่งสินค้าล่าช้า หากเราวิจัยเส้นทางโลจิสติกใหม่ ขนส่งจากทางเหนือของไทยขึ้นสู่เหนือเช่น มณฑลเสฉวน ฯลฯ โดยตรง ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายไปมาก"
ศ.นพ. สุทธิพร ยกตัวอย่างว่า ถ้าจีนจะพูดถึงนโยบายที่เรียกว่า การลงสู่ใต้ฯ เส้นทางลงสู่ใต้นั้น ถ้าจีนจะลงสู่อาเซียน ไทยคือเส้นทางผ่านที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้ต้องมองเห็นภาพว่าเขามองภาพอะไร และเราต้องการอะไร ประเด็นปัญหา เช่น การค้า ก็จะมีเรื่องศุลกากร ภาษี เส้นทางคมนาคมขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ ตรงนี้เราต้องศึกษาให้ดี"
"เมื่อสองปีที่แล้ว การดำเนินการของเราเป็นส่วนทำให้ไทยสามารถเปิดตลาดข้าวกับทางภาคใต้ของจีนได้อย่างมาก ถือเป็นสิ่งที่ดี และขณะนี้กำลังเริ่มกระบวนการอื่นๆ อีก ที่จะทำให้เห็นภาพว่า เราจะมีโอกาสร่วมมือทำอะไรกันบ้าง ทั้งในด้านของกฎหมาย ตลอดจนกระบวนการของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่สภาวิจัยฯ ให้ความสำคัญอยู่"
การสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ 4 ในปีนี้ นับว่าประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยทางยุทธศาสตร์ไทย-จีนที่มีคุณภาพ และสามารถนำไปใช้ในระดับนโยบายฯ ซึ่งเนื้อหาของบทความวิจัยต่างๆ นั้น ASTV ผู้จัดการ (มุมจีน) จะได้เรียบเรียงนำเสนอเป็นลำดับถัดไปในตอนหน้า