xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-จีน มุ่งมั่นกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกฯ ต้อนรับ “หยู เจิ้งเซิง” ขอบคุณจีนเข้าใจไทยอยู่ระหว่างปฏิรูปประเทศ ขอให้จีนพิจารณาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หนุนแนวคิดเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล เสนอเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างจังหวัดของไทยกับจีน เพื่อเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวระหว่างกัน

วันที่ 21 ก.ค. เวลา 15.00 น. นายหยู เจิ้งเซิง (Yu Zhengsheng) ประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย ในฐานะแขกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายหลังการหารือ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและยินดีที่สถาบันนิติบัญญัติของทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานและมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ โดยในปีนี้ครบรอบความสัมพันธ์ 40 ปีทางการทูตไทย-จีน และยังมีความสำคัญเนื่องจากปีนี้ไทยและจีนจะร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษาด้วย

ความสัมพันธ์ไทย-จีน

ภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน ความสัมพันธ์ไทย-จีนนับว่ามีพัฒนาการที่ก้าวหน้าอย่างโดดเด่น มีการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน มีการขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะกระชับความสัมพันธ์กับจีนให้แน่นแฟ้นขึ้น เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ และของภูมิภาคโดยรวม และ เชื่อมั่นว่าภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จีนจะมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น และสามารถบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ “ความฝันของจีน” (Chinese Dream) ในการพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ภายในปี 2563

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสนับสนุนแนวคิดของจีนเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม (Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสอดรับกับการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางด้านคมนาคมของไทยในฐานะเป็นศูนย์กลางอาเซียน

สถานการณ์ในประเทศไทย

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณจีนที่เข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่ผ่านมา ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างปฏิรูปประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นไปตามโร้ดแม็ปที่ได้วางไว้

ความร่วมมือทางการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว

ทั้งสองยินดีที่การค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด เป็นตลาดส่งออก และแหล่งนำเข้าใหญ่ที่สุด รวมทั้งเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างจังหวัดต่างๆของไทย กับมณฑลต่างๆของจีน เพื่อเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยจีนกำชับที่จะดูแลและให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นด้วย

ความร่วมมือระบบราง

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่การประชุมร่วมไทย - จีน เพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ของไทยมีความคืบหน้า มีการประชุมกันแล้วถึง 5 ครั้ง ซึ่งเส้นทางรถไฟนี้จะช่วยเชื่อมระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับจีน และสอดคล้องกับแนวคิดเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเลของจีน จึงเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทย-จีน และต่อภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีคาดว่า เส้นทางรถไฟที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทย-จีนจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้

ความร่วมมือด้านการเกษตร

จีนยืนยันที่จะซื้อสินค้าการเกษตรของไทย โดยเฉพาะข้าวและยางพารา แม้ว่า ตลาดจีนจะมีความอิ่มตัว อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีได้ขอให้จีนช่วยสร้างความเข้มแข็งด้านเกษตรกรรมให้แก่ภูมิภาคอาเซียนนี้ด้วย เนื่องจากจีนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและมีอำนาจต่อรองในตลาดโลกสูงกว่า

ความร่วมมือด้านความมั่นคง

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะมีความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศและการแพทย์ทางการทหารต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้จีนพิจารณาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หรือ ศูนย์ซ่อมบำรุงของจีนในภูมิภาคนี้ด้วย

สำหรับกรณีชาวอุยกูร์ จีนได้ให้ความมั่นใจแก่ไทย ว่าชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับจากไทยไปยังประเทศจีนนั้นมีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน โดยทางการจีนได้คัดแยกบุคคลที่ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมออกมาและส่งเสริมให้คนเหล่านั้นไปประกอบอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนกลุ่มที่มีหลักฐานว่าเคยเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมหรือการก่อการร้ายในประเทศจีน จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน

ด้านการศึกษา

นายกรัฐมนตรีได้ขอให้มีการยกระดับความร่วมมือด้านการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ ระบบการเรียนรู้ การวิจัยและพัฒนา และการศึกษาด้านวิชาชีพ ตลอดจน ด้านอวกาศและดาวเทียมซึ่งจีนมีความก้าวหน้า

ความร่วมมือในระดับภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีเห็นว่า จีนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของอาเซียน และขอให้จีนคงบทบาทที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อาเซียนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น