ผ่าประเด็นร้อน
ถ้าบอกว่านี่คือเรื่องบังเอิญก็ต้องเป็นความบังเอิญอย่างร้ายกาจทีเดียว กับกำหนดการสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่บังเอิญว่าในช่วงวันที่ 2-4 กรกฎาคมนี้ เขามีกำหนดเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 ที่กรุงโตเกียว
ที่บอกว่าบังเอิญก็คือในวันที่ 4 กรกฎาคม ตรงกับวันชาติของสหรัฐอเมริกาพอดี ซึ่งหากเป็นดังนี้ก็ต้องถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำของไทยไม่ได้เข้าร่วมงานดังกล่าวมาสองปีแล้ว แม้ว่างานแบบนี้จัดกันในสถานทูตหรือตามโรงแรมหรูเป็นการเฉพาะ แต่อย่างน้อยก็ต้องเชิญรัฐบาล หรือผู้นำไปร่วมงาน ซึ่งในที่สุดแล้วก็อาจมีการส่งระดับรัฐมนตรีเป็นตัวแทนไปร่วมงาน แต่ที่ผ่านมากลับไม่ปรากฏว่ามีใครเป็นตัวแทนระดับรัฐบาลไปร่วม ที่เห็นปรากฏเมื่อปีที่แล้วกลับมีแต่บรรดานักการเมือง อดีตรัฐมนตรีฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แกนนำคนเสื้อแดง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนตัวแทนของฮิวแมนไรต์ในประเทศไทย “ไปชูสามนิ้ว” ต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติกันในงานเลี้ยงกันหน้าสลอน
สาเหตุที่ทำให้ทราบว่าทางสหรัฐฯ ยังไม่มีหนังสือเชิญรัฐบาลไทย มาจากกรณีที่เกิดเรื่อง “ไร้มารยาท” เกิดขึ้นระหว่างที่มีหนังสือเชิญ ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระไปร่วมงานฉลองวันชาติสหรัฐอเมริกาในวันที่ 4 กรกฎาคม แต่ดันไประบุว่าเป็น “พวกต่อต้านทักษิณ ชินวัตร” จนทำให้ต้องมีการขอโทษจากทูตสหรัฐฯ คนใหม่ แพทริก เมอร์ฟีย์ อย่างไรก็ดี น่าสังเกตก็คือ คำถามแบบเค้นคอเพื่อให้ได้คำตอบจาก ดร.ปราโมทย์ว่า “คุณ (สหรัฐฯ) เชิญ พล.อ.ประยุทธ์หรือเปล่า” ถามย้ำไปตั้งสามรอบ แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบชัดเจน ทำให้คาดหมายกันอีกว่าในปีนี้คงไม่มีตัวแทนรัฐบาล คสช.ไปร่วมงานอีก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็คงเป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ดี ปรากฏบรรยากาศตรงกันข้ามไปอีกแบบหนึ่งนั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เดินทางไปร่วมงานฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน ครบรอบ 40 ปี ที่ทางสถานทูตจีนในประเทศไทยจัดขึ้นที่ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยสุนทรพจน์ตอนหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ย้ำว่า เขาและรัฐบาลยินดีที่จะร่วมมือกับรัฐบาลจีนอย่างใกล้ชิด บนพื้นฐานของความผูกพันฉันพี่น้องและความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวง รวมถึงต้องได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่ายช่วยสานต่อความสัมพันธ์ พร้อมได้ขอส่งความปรารถนาดีและคำอำนวยพรไปยังผู้นำจีนและประชาชนชาวจีน ขอให้ความสัมพันธ์ฉันมิตรแน่นแฟ้นและเกื้อกูลกันอย่างยั่งยืนตลอดไป
เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกันตลอดไป ซึ่งบรรยากาศต่างกับสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย อย่างไรก๋ดีแม้ว่าในงานเลี้ยงฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีนดังกล่าวจะมีการเชิญนักการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งไปร่วมด้วย เช่น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกและนี่คือมารยาททางการทูต
แม้ว่าภาพที่ปรากฏดังกล่าวอาจจะไม่ใช่เป็นตัวชี้วัดความสัมพันธ์เปรียบเทียบระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้งสองได้ แต่ในสถานการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคที่คุกรุ่นแบบนี้ อีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับการที่เราถูกบีบให้ต้องเลือกข้าง
ที่ผ่านมารับรู้กันว่าท่าทีของสหรัฐอเมริกาได้ให้การหนุนหลัง “ระบอบทักษิณ” อย่างออกนอกหน้าและน่าเกลียดกันเลยทีเดียว น่าเกลียดจนชนิดที่เรียกว่า “ไร้มารยาท” ซึ่งแน่นอนว่าหากใครที่ติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องก็ย่อมทราบดีว่าเบื้องหลังเรื่องดังกล่าวมาจากผลประโยชน์ที่แลกเลี่ยนกันอย่างลงตัว เช่น เรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงาน และการได้รับอนุญาตให้ใช้สนามบินอูตะเภา ที่อ้างบังหน้าว่าเพื่อศึกษาทางวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ แต่ในบรรยากาศความขัดแย้งในภูมิภาคทะเลจีนใต้ ทำให้จีนมองเรื่องแบบนี้อย่างไม่สบายใจ
ในสถานการณ์ความขัดแย้งของมหาอำนาจแบบนี้ ไทยก็สามารถใช้ความสัมพันธ์แบบ “ถ่วงดุล” ได้อย่างลงตัว เพราะหลังจากที่เรากระชับความสัมพันธ์กับจีนแบบพี่น้องไปแล้ว ถัดมาวันรุ่งขึ้นก็ไปกระชับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีญี่ปุ่นเป็นแกนนำด้านการลงทุนหลัก มันก็ถึงเวลาที่ต้องให้สหรัฐฯได้คิดเหมือนกันว่าจะเลือกเป็นมิตรกับไทยแบบไหนกันแน่!!