astvผู้จัดการ/มุมจีน - ในช่วงรอบปีที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่ากระแสธารความตื่นตัวของเส้นทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือที่เรียกกันสั้นๆ จนติดปากว่า ‘เออีซี’ (AEC: ASEAN Economic Communities) ที่กำหนดไว้สิ้นปีนี้นั้นแรงกล้าไม่ต่างจากแสงตะวันกลางเดือนเมษายนสักเท่าไร
เราได้เห็นบรรดาหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพากันประโคมนำเสนอข้อมูลความรู้เกี่ยวกับภาษา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ฯลฯ ของชาติสมาชิกที่เหลือทั้งเก้าแห่งซึ่งกอปรรวมเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) ด้วยจุดมุ่งหมายสร้างความเข้าใจร่วมกันอันจะเป็นประโยชน์ในอนาคตข้างหน้า
ทว่าความเป็นจริงเหนือจากปฏิสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นแล้ว ก็ยังมีอีกหลายประเทศนอกอาเซียนที่แม้ตั้งอยู่ห่างไกลกันในทางภูมิศาสตร์แต่เราก็มิอาจมองข้ามผ่านไปได้ เพราะอิทธิพลทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ ได้ขจรขจายแผ่เข้ามามีบทบาทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นย่อมหนีไม่พ้นยักษ์ใหญ่อย่าง “จีน” อดีตมังกรที่กลับมาผงาดง้ำสำแดงเขี้ยวเล็บอีกคราในทศวรรษนี้
“สิ่งสำคัญของการตั้งรับจีนคือ อาเซียน ‘รู้และเข้าใจจีน’ มากน้อยแค่ไหน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวระหว่างบรรยายหัวข้อ ‘บทบาทจีนที่อาเซียนพึงพินิจ’ ซึ่งจัดโดยภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อช่วงต้นเดือนก่อน
ประเทศจีนในวันนี้นั้นแตกต่างจากจีนในวันวานอยู่มากมาย ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมในปี 1978 ของผู้นำร่างเล็ก เติ้ง เสี่ยวผิง ที่แหวกม่านไม้ไผ่ปลุกมังกรหลับใหลทะยานสู่โลกกว้าง ผลักดันจีนจนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลก
ด้านชนชั้นนำจีนรุ่นปัจจุบันนำโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ซึ่งเข้ามาสานอำนาจต่อจากหู จิ่นเทา และเวิน จยาเป่า ในช่วงต้นปี 2556 ก็มุ่งเดินหน้าขยับขยายมรดกที่ผู้นำรุ่นก่อนได้ทิ้งไว้ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป
ดังเช่นล่าสุดทางการจีนชูธงนโยบาย “ความฝันของจีน” (China Dream) มีเป้าหมายสร้างสรรค์ประเทศให้เป็นปึกแผ่น ประชาชนอยู่ดี กินดี สังคมเป็นเอกภาพ นำไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Country) ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าแอบแฝงความปรารถนาส่วนลึกที่ต้องการเรียกคืนความภาคภูมิใจที่จีนเคยมีในอดีตกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
จีนจึงพยายามสร้างสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศที่จะช่วยสร้างผลประโยชน์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยอาเซียนถือเป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญ ที่จีนหันมาให้ความสนใจมากขึ้นตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา เกิดการเจรจาหารือข้อตกลงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างกันเป็นมูลค่าจำนวนมหาศาล
แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจสร้างผลกำไรและเม็ดเงินให้มากมาย แต่ก็เกิดปัญหาหลายประการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ขึ้นมา อาจารย์วรศักดิ์ได้สะกิดบางประเด็นที่น่าสนใจออกมา โดยแรกเริ่มกล่าวถึง “ความขัดแย้งเชิงวัฒนธรรม” ที่กำลังปรากฏเป็นที่วิพาษ์วิจารณ์หนาหูอยู่ในเวลานี้
การไหลบ่าของแรงงานจีนหรือซินอี้หมิน (新移民) และ ‘นักท่องเที่ยวจีน’ ได้กลายเป็นปัญหาที่หลายชาติในอาเซียนพากันปวดเศียรเวียนเกล้า ด้วยช่องว่างความต่างทางแนวคิดและวัฒนธรรมประเพณี ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตอาจวิ่งสลับสวนทางกันจนสร้างความไม่พออกพอใจให้กับเจ้าบ้าน
อาจารย์วรศักดิ์ได้อธิบายจุดนี้ให้ได้คิดต่อว่า “คนจีนรุ่นใหม่นั้นอาจเป็นชาว ‘วัฒนธรรมพันธุ์ทาง’ ที่ไม่เหมือนกับคนจีนรุ่นบรรพบุรุษ โดยมีลักษณะเด่นคือ ไม่ได้เคารพนับถือลัทธิขงจื่ออันเป็นรากเหง้าของสังคมจีนโบราณ และไม่ได้ปฏิบัติตนตามวัฒนธรรมสากล”
นอกจากนั้นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ "ความขัดแย้งเชิงอำนาจ" โดยเฉพาะกรณีข้อพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพาราเซล เกาะสแปรตลีย์ และพื้นที่ส่วนอื่นๆ ในทะเลจีนใต้ (South China Sea) ระหว่างจีนกับ 4 ชาติอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม บรูไน ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหายังคงประสบภาวะชะงักงัน โดยอาเซียนเสนอการเจรจาแบบพหุภาคี แต่จีนต้องการพูดคุยในระดับทวิภาคีเท่านั้น
“อาเซียนต้องพึงระมัดระวังไม่ดึงประเทศที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาทะเลจีนใต้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือหมากตัวใหม่อย่างอินเดีย” อาจารย์วรศักดิ์กล่าว โดยเสริมว่าทางที่ดีที่สุดคือการยึดมั่นปฏิบัติตาม ‘ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้’ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) และระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct) ที่จะสร้างขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้อาจารย์วรศักดิ์เน้นย้ำว่า “ความสมัครสมานสามัคคีของชาติสมาชิกอาเซียน” เป็นพลังสำคัญที่จะใช้รับมือกระแสจีนซึ่งคงจะถาโถมเข้ามามากขึ้นหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการใันวันที่ 31 ธันวาคม 2558 นี้