xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จีนรุกไทยขุดคอคอดกระ เพิ่มอำนาจมั่นคง-มั่งคั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -มีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งเมื่อ ซีซีทีวี สื่ออย่างเป็นทางการของมหาอำนาจจีน เผยแพร่รายงานพิเศษ “เส้นทางสายไหมสู่อนาคต ตอนที่ 2 (Silk Road to the Future)” พร้อมลุยขุดคอคอดกระ โดยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งด้านการก่อสร้างและเงินทุน นับเป็นการโยนหินถามทางประเมินกระแสเสียงหนุน-ค้านอภิมหาโปรเจกต์ที่จีนอยากให้ฝันนี้เป็นจริง และดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ไม่ได้ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง

เนื้อหาสาระสำคัญที่ซีซีทีวี เผยแพร่ ระบุว่า การขุดคลองกระ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “คอคอดกระ” เพื่อให้เรือเดินสมุทรสามารถตัดผ่านจากมหาสมุทรอินเดียข้ามไปยังอ่าวไทยได้อย่างสะดวก โดยร่นระยะทางได้กว่า 3 วัน

“ทุกวันนี้มีการขนส่งน้ำมันกว่า 16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งน้ำมันที่ขนผ่านช่องแคบมะละกานี้คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของน้ำมันที่จีนใช้อยู่ในปัจจุบัน จีนต้องการแน่ใจว่ามีทางเลือกและคลองกระถือว่าสอดคล้องกับนโยบาย 1 Belt 1 Road ของจีนที่หวังจะพัฒนาเส้นทางการค้าในเอเชียและโลก”

ที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่งก็คือ ซีซีทีวี ระบุด้วยว่า คลองกระจะถูกสร้างขึ้นในเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นหนึ่งของการริเริ่มเบลธ์แอนด์โรด (Belt and Road) ที่จะช่วยร่นระยะทางเดินเรือในปัจจุบันจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งได้กว่า 1,200 กิโลเมตร โดยจีนกำลังเป็นผู้นำในการทำการศึกษาข้อเสนอเพื่อก่อสร้างและให้เงินสนับสนุนโครงการ

ปัจจุบันมีการศึกษา ทางเลือกความเป็นไปได้ในการขุดคอคอดกระจำนวน 13 เส้นทาง โดยเส้นทางที่จะใช้งบประมาณมากที่สุดนั้น ใช้งบสูงถึง 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1 ล้านล้านบาท หากโครงการก่อสร้างดังกล่าวได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการจริง ก็ต้องใช้เวลาการก่อสร้างนานถึง 10 ปี

ในความเห็นของสื่อทางการจีน มองว่า การขุดคลองกระนั้นอาจมีความสำคัญกับโลกพอๆ กับเมื่อครั้งมีการขุดคลองสุเอซในอียิปต์ และคลองปานามาในปานามา เลยทีเดียว

นี่ถือเป็นการรุกเพื่อสานฝันเส้นทางสายไหมของจีนให้เป็นจริง เป็นการหยั่งท่าทีในห้วงเวลาที่คณะผู้นำของประเทศไทย มีสัมพันธภาพกับจีนอย่างแน่นแฟ้นอย่างยิ่งและวางยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยโอนเอียงมาข้างจีนอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น โอกาสที่ไทยจะตอบรับความต้องการของจีนจึงไม่ใช่ว่าจะไม่มี

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังจากรายงานพิเศษชิ้นดังกล่าวของซีซีทีวี เผยแพร่ออกสู่สาธารณะว่าเห็นเพียงข่าวในหนังสือพิมพ์ ยังไม่ทราบว่ามีใครเสนอเรื่องนี้ ต้องรอให้รัฐบาลจีนเสนอเข้ามาก่อน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากรัฐบาลจีนเสนอเข้ามาก็จะมีการพิจารณาใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า ต้องรอหารือกันก่อนว่ามีข้อดีข้อเสียอะไร โดยเฉพาะในเรื่องของความมั่นคง จะมองแต่ประโยชน์ด้านเดียวไม่ได้ ต้องดูด้วยว่าโทษมีอะไรบ้าง ซึ่งประเด็นความมั่นคงที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปว่าหากแบ่งแยกดินแดนออกเป็น 2 ตอน จะคุ้มค่าหรือไม่ และจะควบคุมดูแลได้มากน้อยอย่างไร

ต้องขีดเส้นในคำตอบที่ว่า “ต้องรอให้รัฐบาล(จีน)เสนอเข้ามาก่อน” และ “ต้องหารือกันก่อนว่ามีข้อดีข้อเสียอะไร....” อ่านสัญญาณได้ว่า ไม่ได้ปิดประตูตายแบบหมดโอกาส แต่แง้มประตูรออยู่ มาคุยกัน ประเมินข้อดีข้อเสียกันก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ

แรงผลักดันโครงการขุดคอคอดกระของจีนในคราวนี้ ต้องเรียกว่า ไม่ใช่เพียงแค่โยนหินถามทางแต่อยากไปให้ไกลกว่านั้นหากสังเกตจากข่าวที่ปล่อยออกมา ซึ่งไม่ใช่มีแต่ซีซีทีวี เท่านั้น สำนักข่าวโอเรียนทัล เดลี่ ของฮ่องกง ก็รายงานข่าวดังกล่าวในท่วงทำนองเดียวกัน

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 “โพสต์ทูเดย์” เผยแพร่ข่าวของสำนักข่าวโอเรียนทัล เดลี่ ของฮ่องกง ว่า ทางการจีนและไทยเห็นพ้องต้องกันที่จะพัฒนาโครงการขุดคอคอดกระ บริเวณพื้นที่ จ.ระนอง เรียบร้อยแล้ว โดยมุ่งหมายให้คอคอดกระเป็นช่องทางขนส่งทางน้ำสำคัญ เชื่อมระหว่างอ่าวไทยและทะเลอัน ดามัน ซึ่งจีนผู้เป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันโครงการดังกล่าว มุ่งใช้ประโยชน์ของเส้นทางใหม่นี้พัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ

น่าสังเกตว่า “โอเรียนทัล เดลี่” ถึงกับรายงานว่า “ทางการจีนและไทยเห็นพ้องต้องกัน” หากข่าวนี้ไม่คลาดเคลื่อนคงมีอินไซด์แบบลึกสุดๆ

สื่อของฮ่องกง รายงานด้วยว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปตามเจตนารมณ์ของจีน นำโดย ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ต้องการพัฒนาเส้นแนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล โดยโครงการคอคอดกระคือเป้าหมายสำคัญในการพัฒนา ข้อมูลเบื้องต้นเส้นทางน้ำคอคอดกระมีระยะทาง 102 กม. กว้าง 400 เมตร ลึก 25 เมตร โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างเร็วๆ นี้ ใช้เวลาก่อสร้างราว 10 ปี ด้วยงบประมาณราว 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หากแล้วเสร็จโครงการนี้จะเป็นเส้นทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญของเอเชีย

ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ชี้ว่า จีนจะได้รับประโยชน์ด้านเศรษฐกิจหลายประการ เนื่องจากเส้นทางคอคอดกระจะสร้างความแข็งแกร่งในความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของจีนกับชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากจีนเป็นผู้ลงทุนหลัก และไม่ต้องพึ่งพาเส้นทางช่องแคบมะละกาซึ่งเป็นของมาเลเซียอีกต่อไป ช่องทางคอคอดกระยังช่วยลดค่าใช้จ่ายมหาศาล ย่นระยะทางเรืออย่างน้อย 1,200 กม. และระยะเวลาเดินทางประมาณ 2-5 วัน ระหว่างจีนไปยังคู่ค้าในตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ที่สำคัญคือ ลดความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากเหตุโจรสลัดชิงปล้นสินค้าและน้ำมันทางช่องแคบมะละกา ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ป้องกันได้ยาก และกระทบต่อแหล่งพลังงานของจีน เนื่องจากจีนนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางและแอฟริการาว 80% ของน้ำมันทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ

ขณะที่ด้านความมั่นคง นักวิเคราะห์ด้านกองทัพในฮ่องกง มองว่า คอคอดกระจะช่วยเพิ่มอำนาจและประสิทธิภาพของกองทัพจีน โดยจีนจะพร้อมรับมือกับสถานการณ์นอกประเทศได้มากขึ้น และมีอิทธิพลเหนือพื้นที่นอกอาณาเขต เพราะมีอำนาจในการอนุญาตหรือคัดค้านการเดินทางผ่านช่องทางนี้ ซึ่งเป็นอิสรภาพสำคัญของจีน จากที่ผ่านมาจีนต้องหวาดระแวงว่า ความขัดแย้งกับสหรัฐ อาจนำไปสู่การปิดช่องแคบมะละกา ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับจีนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี ข้อเสียที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นคือ บรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน และสหรัฐ กับไทยที่ตึงเครียดมากขึ้น จากความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นกับจีน ซึ่งมีข้อพิพาทกับชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหรัฐ ด้วย

เวลานี้ ทางการไทยและจีน ต่างยังไม่ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าว จะมีก็แต่เพียงผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เท่านั้นที่แย้งซีซีทีวี ว่ามีการนำเสนอข้อมูลคลาดเคลื่อน

รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีนฯ ระบุว่า ได้ตรวจสอบรายงานข่าวดังกล่าวกับผู้ผลิตรายการให้ซีซีทีวีแล้วพบว่ามีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนโดยเฉพาะประเด็นเรื่องที่กล่าวอ้างว่ารัฐบาลจีนกำลังเป็นผู้มีบทบาทนำในการศึกษาข้อเสนอต่างๆ เพื่อให้เงินสนับสนุนและก่อสร้างโครงการขุดคอคอดกระ รวมทั้งจุดที่ระบุในเนื้อข่าวว่า จีนจะดำเนินโครงการขุดคอคอดกระในเร็วๆ นี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ One Belt One Road โครงการเชื่อมต่อจีน และภูมิภาคเอเชีย กับภูมิภาคส่วนอื่นๆ ของโลก

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวซินหัวของจีน เคยรายงานการเปิดเผยของ นายหง เหลย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ว่า รัฐบาลจีนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับโครงการขุดคอคอดกระ ตามที่เป็นข่าว ฝ่ายสารนิเทศสถานทูตไทยประจำจีน ก็ยืนยันว่า สองฝ่ายที่ลงนามข้อตกลงดังกล่าวเป็นหน่วยงานภาคเอกชน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐในปัจจุบัน เพียงแต่หารือความเป็นไปได้ของโครงการความร่วมมือนี้เท่านั้น

ที่ผ่านมา ฝ่ายหนุนโครงการขุดคอคอดกระ มองเห็นประโยชน์จากการสร้างงาน สร้างกำไรให้ประเทศไทยที่จะมีเรือใหญ่ผ่านด่านจำนวนมากและเป็นชุมทางทะเลดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น แต่ฝ่ายคัดค้านหวั่นเกรงประเด็นการแบ่งแยกดินแดน ทำลายระบบนิเวศน์ และต้องลงทุนมหาศาล ขณะที่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คัดค้านโดยมีสิงคโปร์เป็นแกนนำ โดยหลายร้อยปีที่ผ่านมา สิงคโปร์มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ โดยอาศัยช่องแคบมะละกา พัฒนาเศรษฐกิจและขยับขึ้นที่เป็นศูนย์การค้าปิโตรเลียมที่ใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากกรุงลอนดอนและนครนิวยอร์ก

ดูท่าแล้ว อภิมหาโครงการคอคอดกระ ยังต้องฝ่าด่านแรงต้านทั้งในและนอกประเทศอีกยาวนาน แม้ว่าโครงการนี้ จะช่วยเสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับไทยและจีนมหาศาลก็ตาม



กำลังโหลดความคิดเห็น