xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก "คอคอดกระ" ผ่านประเด็นร้อน ขุดหรือไม่ขุดดี?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริเวณที่เรียกว่า คอคอดกระ ริมแม่น้ำกระบุรี
ในขณะนี้ข่าวที่รัฐบาลจีนจะมาศึกษาการขุดขยาย "คอคอดกระ" ในเมืองไทย ตามนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ โดยชี้ว่าจะสามารถลดระยะทางเดินเรือได้ 3 วัน หรือกว่า 1,200 กม. จีนจึงประกาศหนุนทั้งเงินและการก่อสร้าง แม้ต้องใช้เวลาถึงสิบปีและใช้เงินกว่า 1 ล้านล้านบาทก็ตาม ข่าวนี้กำลังอยู่ในกระแสความสนใจของคนไทยไม่น้อย เพราะประเด็นในเรื่องของการขุดหรือไม่ขุดนั้น เป็นที่ถกเถียงกันมายาวนานมากแล้วในสังคมไทย

สำหรับ "คอคอดกระ" นั้น ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ www.ranong.go.th และป้ายข้อมูลบริเวณจุดชมวิวคอคอดกระระบุว่า "คอคอดกระ" หมายถึงพื้้นที่แคบที่สุดของแหลมมลายู อยู่ในเขตอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง กับอำเภอสวี จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นชายแดนไทย-พม่าฝั่งตะวันตก ประมาณกิโลเมตรที่ 545 ของทางหลวงหมายเลข 4 ห่างจากเขตเทศบาลเมือง 66 กิโลเมตร โดยระยะทางตั้งแต่อำเภอกระบุรีทางด้านมหาสมุทรอินเดียมาจดอ่าวไทยที่จังหวัดหวัดชุมพรที่เรียกว่า "คอคอดกระ" นั้น เป็นส่วนที่แคบที่สุดคือมีความกว้าง 44 กิโลเมตร เท่านั้น และได้ขนานนามที่ตรงนี้ตามชื่อของเมืองกระบุรี หรือตามชื่อของแม่น้ำกระบุรี
มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาชมและถ่ายรูปเสมอๆ
ประเทศไทยสนใจเรื่องคอคอดกระมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ต้องการขุดคลองเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเคลื่อนกองทัพเรือจากฝั่งอ่าวไทยไปฝั่งทะเลอันดามัน เป็นการขยายความเข็มแข็งของราชอาณาจักรในยุคสมัยนั้น และเพื่อให้การค้ากับต่างประเทศไม่ต้องเสียเวลาเดินเรืออ้อมไปผ่านช่องแคบมะละกา
บริเวณจุดชมวิวคอคอดกระ
พื้นที่ด้านตะวันตกของบริเวณคอคอดกระ ตั้งอยู่ในเขตปกครองของเมืองตระมาแต่เดิม ผืนแผ่นดินส่วนที่แคบที่สุดระหว่างทะเลตะวันตกและทะเลตะวันออกแห่งนี้มีภูเขาสลับซับซ้อน มีทางลัดผ่านช่องเขาเพียงสายเดียว ในสมัยโบราณคอคอดกระ มีความสำคัญเป็นเส้นทางที่สำคัญทางเดียวที่พม่าใช้เป็นเส้นทางเดินทัพยกมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งทะเลตะวันออก เมื่อฝรั่งเศสคิดจะขุดคลองกระจากเมืองตระไปออกเมืองชุมพรเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินเรือจากยุโรปไปเมืองจีนในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) คอคอดกระจึงมีความสำคัญมากขึ้น เพราะหากสามารถขุดคลองได้สำเร็จ เรือเดินทะเลจากยุโรปจะผ่านคลองไปเมืองจีนได้โดยไม่ต้องอ้อมแหลมมลายู ผลประโยชน์ทางการค้าของอังกฤษทางเมืองปีนังและสิงคโปร์ และความจำเป็นทางด้านการทหารของอังกฤษ คงมีผลให้ไทยต้องเสียดินแดนทางแหลมมลายู ด้วยเหตุดังกล่าว ประกอบกับการขุดคลองกระจำเป็นต้องขุดแม่น้ำกระบุรีซึ่งเป็นเส้นกั้นพรมแดนไทยกับพม่าของอังกฤษให้กว้างลึกเข้าไปในดินแดนอันอยู่ในอำนาจของอังกฤษด้วย เมื่ออังกฤษไม่ยอมจึงขุดคลองคอคอดกระไม่ได้ ความคิดที่จะขุดคลองกระจึงล้มเลิกไป อังกฤษจึงได้กำหนดเป็นข้อผูกพันไว้ในสนธิสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษมิให้ไทยขุดคลองดังกล่าวโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากของอังกฤษก่อน
มีป้ายข้อมูลอธิบายถึงลักษณะของคอคอดกระ
การขุดคลอง ณ บริเวณคอคอดกระ มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง แต่กระทบต่อความมั่นคง ของชาติทางด้านการทหาร บริเวณคอคอดกระเหมาะสมแก่การขุดคลองเพียงไร คุ้มค่าในการลงทุนแค่ไหนเป็นเรื่องที่ควรแก่การศึกษา คอคอดกระจึงยังอยู่ในความสนใจทั้งทางราชการและประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน

คอคอดกระมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับจังหวัดระนอง เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันเป็นเอกลักษณ์แห่งหนึ่งของจังหวัด และอยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น