xs
xsm
sm
md
lg

“หาดใหญ่โพล” เผยชาวบ้านหนุนขุด “คอคอดกระ” ค้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน-นิวเคลียร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “หาดใหญ่โพล” เผยผลสำรวจจากแบบสอบถามเรื่อง “โครงการขุดคอคอดกระกับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้” พบประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อการขุดคอคอดกระ จ.ระนอง-จ.ชุมพร เชื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ ขณะที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

วันนี้ (28 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดสงขลาเกี่ยวกับโครงการขุดคอคอดกระกับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชน จำนวน 404 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 23-26 ตุลาคม 2558 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้

กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 63.29) อายุระหว่าง 21-30 ปี (ร้อยละ 32.81) รองลงมา มีอายุระหว่าง 31-40 ปี (ร้อยละ 32.03) และอายุระหว่าง 41-50 ปี (ร้อยละ 16.93) ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานบริษัท/ลูกจ้าง (ร้อยละ 27.34) รองลงมา คือ ประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย นักเรียน/นักศึกษา และมีอาชีพรับจ้างทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 20.00 19.49 และ 12.91 ตามลำดับ

ผศ.ดร.กอแก้ว จันทร์กิ่งทอง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชนในจังหวัดสงขลา สนับสนุนให้มีการขุดคอคอดกระ เพราะจะช่วยให้ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ (ร้อยละ 57.86) โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า การขุดคอคอดกระจะทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจดีขึ้น (ร้อยละ 61.44)

ส่วนความคิดเห็นต่อเส้นทางที่เหมาะสมในการขุดคอคอดกระ พบว่า ประชาชนเห็นว่าเส้นทาง 2A (จังหวัดระนอง-จังหวัดชุมพร) เป็นเส้นทางที่เหมาะสมในการขุดคอคอดกระ มากที่สุด (ร้อยละ 47.07) ส่วนเส้นทางที่เหมาะสมต่อการขุดคลองรองลงมาคือ เส้นทาง 5A (จังหวัดสตูล-จังหวัดสงขลา) (ร้อยละ 25.45) และเส้นทาง 9A (จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช) (ร้อยละ 14.50)

โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการขุดคอคอดกระตามเส้นทาง 5A (จังหวัดสตูล-จังหวัดสงขลา) มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศไทย (ร้อยละ 68.08) และร้อยละ 31.92 เห็นว่าการขุดคอคอดกระตามเส้นทาง 5A (จังหวัดสตูล-จังหวัดสงขลา) ไม่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศไทย นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการใช้นิวเคลียร์บางส่วนในการขุดคอคอดกระ จะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ (ร้อยละ 82.38)

สำหรับผลดีของโครงการขุดคอคอดกระ พบว่า ประชาชนเห็นว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น มากที่สุด (ร้อยละ 28.94) รองลงมา การคมนาคมขนส่งทางทะเล ใช้ระยะเวลาสั้นลง (ร้อยละ 19.19) ได้ประโยชน์จากภาษีเรือผ่านทางคอคอดกระ (ร้อยละ 16.33) และเกิดพื้นที่ในการท่องเที่ยวใหม่ของประเทศ (ร้อยละ16.05) ในขณะที่ผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อการขุดคอคอดกระ ประชาชนจะต้องมีการอพยพย้ายถิ่น มากที่สุด (ร้อยละ 44.55) รองลงมา จะเกิดมลพิษทางเสียง และอากาศ (ร้อยละ 40.35) ทรัพยากรป่าไม้ลดลง (ร้อยละ 34.65) และพื้นที่ชายหาดเปลี่ยนไปเป็นท่าเทียบเรือทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน (ร้อยละ 30.45)

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อการพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล (ร้อยละ 72.54 ) รองลงมา การสร้างรถไฟความเร็วสูง (ร้อยละ 67.84) และการสร้างรถไฟรางคู่ (ร้อยละ 58.29) ตามลำดับ ในส่วนของการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยต่อการดำเนินการในโครงการดังกล่าว ร้อยละ 62.37 และ 50.75 ตามลำดับ
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น