xs
xsm
sm
md
lg

ดูเหยี่ยวอพยพนับแสนตัว มหัศจรรย์ทางธรรมชาติเหนือท้องฟ้าชุมพร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ช่วงระหว่างเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม 2558 เป็นเวลา 3 เดือน จังหวัดชุมพร ร่วมกับเทศบาลตำบลบางสน ได้จัด ทศกาลดูเหยี่ยวอพยพประเทศไทย ครั้งที่ 9 ขึ้นที่บริเวณเขาดินสอ ตำบลบางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซึ่งได้มีนักดูนก นักท่องเที่ยวทั้งในจังหวัด ต่างจังหวัด ชาวต่างประเทศ องค์กรต่างๆ ภาครัฐ และเอกชน นักเรียน นักศึกษาได้จัดนิทรรศการเดินทางมาศึกษาดูปรากฏการณ์ธรรมชาตินกล่าเหยื่ออพยพกันตลอดทุกๆ วัน

โดยนกเหยี่ยวที่อพยพหนีความหนาวเย็น และขาดแคลนอาหารในช่วงฤดูหนาว จึงต้องอพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาลจากประเทศรัสเซีย มองโกเลีย จีน เกาหลี และญี่ปุ่น อันเป็นถิ่นอาศัยในฤดูผสมพันธุ์ ลงมาอาศัยในเขตร้อนชื้นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอากาศอบอุ่นและมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ซึ่งบริเวณเขาดินสอ จ.ชุมพร ถือเป็นจุดที่สามารถดูนกล่าเหยื่อ หรือนกเหยี่ยวอพยพได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน เนื่องจากมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 345 เมตร และใกล้ทะเลอ่าวไทยจึงสามารถมองเห็นได้รอบทิศทาง 360 องศา

นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ เลขานุการเครือข่ายนักวิจัยและการอนุรักษ์นกล่าเหยื่อแห่งเอเชีย กล่าวว่า ในทวีปเอเชีย จ.ชุมพร เป็นส่วนที่แคบที่สุด ทิศตะวันออกติดกับทะเลอ่าวไทย ทิศตะวันตกใกล้กับคอคอดกระ ทะเลฝั่งอันดามัน ด้าน จ.ระนอง ดังนั้น ในช่วงเดือนตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคมของทุกปี นกล่าเหยื่อที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นจัดทางตอนเหนือของประเทศไทย จะอพยพหนีหนาวลงมาอาศัยหากินอยู่ในประเทศที่มีอากาศร้อน โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย นกล่าเหยื่อจึงต้องบินผ่านส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทร ดังนั้น จ.ชุมพร จึงมีความหนาแน่นของเหยี่ยวอพยพมากที่สุดในทวีปเอเชีย

นายสัตวแพทย์เกษตร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ตน และนักวิชาการสำรวจนกล่าเหยื่อจากหลายประเทศในเอเชีย ได้เข้ามาทำการสำรวจพบชนิดนกล่าเหยื่ออพยพ 29 ชนิด รวมกับนกล่าเหยื่อประจำถิ่นอีก 10 ชนิด ซึ่งจังหวัดชุมพร ถือเป็นจังหวัดเดียวที่มีนกล่าเหยื่อรวมกันถึง 39 ชนิด ถือได้ว่ามากที่สุดในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงทำให้ จ.ชุมพร มีความสำคัญต่อวงเวียนชีวิตที่สืบทอดมานานนับพันปีของนกล่าเหยื่อที่ต้องอพยพในช่วงฤดูหนาว ส่วนช่วงฤดูร้อนนกล่าเหยื่อทั้งหมดจะอพยพกลับภูมิลำเนาในแถบประเทศถิ่นอยู่อาศัยเดิม ซึ่งในระหว่างเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม นกล่าเหยื่อก็จะอพยพกลับผ่านทางตะวันตกฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งก็ผ่าน จ.ชุมพรเช่นเดียวกันแถวบริเวณสี่แยกปฐมพร และบริเวณมณฑลทหารบกที่ 44 ชุมพร อ.เมืองชุมพร จึงเป็นพื้นที่ซึ่งเหยี่ยวจะอพยพขากลับในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม ของทุกๆ ปีเช่นกัน ทำให้ จ.ชุมพร มีความสำคัญติดระดับ 1 ใน 3 ของโลกที่เป็นจุดดูและนับเหยี่ยวอพยพของทวีปเอเชียเลยทีเดียว โดยแต่ละปีที่นักล่าเหยื่อทยอยอพยพผ่าน จ.ชุมพร ไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัว ถือเป็นมหัศจรรย์ทางธรรมชาติเหนือทองฟ้าของ จ.ชุมพร

สำหรับชนิดของเหยี่ยวอพยพที่สามารถพบได้มากที่สุดใน จ.ชุมพร คือ เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน (Chinese Sparrowhawk) เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น (Japanese Sparrowhawk) เหยี่ยวหน้าเทา (Gray-faced Buzzard) เหยี่ยวผึ้ง (Oriental Honey buzzard) และเหยี่ยวกิ้งก่าดำ (Black Baza) โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการดูเหยี่ยวอพยพจะเป็นช่วงเช้าแดดอ่อนๆ ประมาณ 8.00-11.00 น. ฝูงเหยี่ยวจะบินต่ำสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย ซึ่งนอกเหนือจากความอัศจรรย์ของฝูงเหยี่ยวที่เราจะได้พบแล้ว ก็ยังมีกลุ่มของนกอินทรี ซึ่งหาดูได้ยากในเมืองไทยด้วย เลขานุการเครือข่ายนักวิจัยและการอนุรักษ์นกล่าเหยื่อแห่งเอเชีย กล่าว



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น