ม็อบพระปะทะทหาร "บิ๊กป้อม" ต้องนิมนต์ "พระเมธีธรรมาจารย์" เข้าทำเนียบฯ ยุติศึก รับข้อเรียกร้องตั้ง”สมเด็จช่วง” เป็นพระสังฆราช ก่อนสลายการชุมนุม ด้าน"สุวพันธ์" รับตอบยากตั้งสมเด็จพระสังฆราชได้เมื่อไร “ไพบูลย์” ร้องดีเอสไอ ตรวจสอบความสัมพันธ์ “สมเด็จช่วง-ธัมมชโย”
วานนี้ (15 ก.พ.) บริเวณลานหน้าองค์พระ พุทธมณฑล จ.นครปฐม พระเมธีธรรมาจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้นำพระสงฆ์และฆราวาส ในนามเครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศ (คสพ.) รวมตัวปักหลักชุมนุมเพื่อต่อต้านกรณีที่ พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม และนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เคลื่อนไหวคัดค้านมติมหาเถรสมาคม กรณีพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก กรณีพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี รวมทั้งเรียกร้องให้บรรจุศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ และ แต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ทันที โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารช่างที่ 9 กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี และตำรวจสถานีตำรวจภูธรพุทธมณฑล ดูแลความสงบเรียบร้อย
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านั้น เมื่อเวลา 08.00 น. ทหารและตำรวจ สภ.พุทธมณฑล ได้สั่งปิดประตูทางเข้า ด้านถนนพุทธมณฑล สาย 4 ไม่ให้รถยนต์ทุกชนิดเข้าไปด้านในพุทธมณฑล และชี้แจงทำความเข้าใจเพื่อร้องขอไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม เนื่องจากเป็นการขัดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่พระสงฆ์ และฆราวาส ใช้วิธีเดินเท้าเพื่อเข้าไปด้านในองค์พระแทน อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวดังกล่าว จะเริ่มต้นชุมนุมในเวลา 13.00 น. เป็นต้นไป และจะออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนในช่วงเย็น
พระล็อกคอทหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่พุทธมณฑลว่า หลังมีการแชร์ข้อความนัดชุมนุม จึงมีพระสงฆ์-พุทธศาสนิกชน จำนวนมากเดินทางมาร่วมชุมนุม พร้อมทั้งเตรียมอุปกรณ์ในการพักค้างคืนมาด้วย แต่ทางทหาร และตำรวจได้นำแผงเหล็กมากั้นทางเข้าไปยังองค์พระประธานพุทธมณฑล เพื่อไม่ให้รถชนิดต่าง ๆ เข้าไปส่งผู้ที่จะเข้าร่วมงานในบริเวณการจัดงานได้ แต่อนุญาตให้เดินเท้าเข้าไปในงานเท่านั้น ทำให้กลุ่มพระสงฆ์ ที่มาถึงก่อนได้ออกมาล้อมกรอบทหาร
ช่วงนี้ ทำให้เกิดเหตุชุลมุน เกิดการปะทะกันระหว่างทหารกับพระสงฆ์ โดยพระบางรูปเข้าล็อกคอทหาร พยายามเคลื่อนย้ายรถทหารที่ขวางทางเข้า ท่ามกลางเสียงห้ามปรามไม่ให้มีเรื่องกัน ซึ่งทหารไม่ได้ตอบโต้แต่อย่างใด พยายามไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้หลังเหตุการณ์ชุลมุนผ่านไปพักใหญ่ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ทหารก็ยอมให้มีการนำรถยนต์เข้าไปในพุทธมณฑลได้
ขณะที่วัดพระธรรมกาย ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นายเสริมวิทย์ สมบัติ ปลัดอำเภอคลองหลวง นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและทหารเข้าตรวจสอบทางเข้าวัด เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวภายในวัด หลังพบว่ามีการนัดหมายไปชุมนุมที่พุทธมณฑลทางโซเชียลมีเดีย แต่ไม่พบว่าทางวัดมีการนัดหมายนำพระหรือฆราวาสไปร่วมชุมนุมที่เคลื่อนไหว จึงได้เดินทางกลับ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ถนนพหลโยธิน อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ก็ได้มีทหารเฝ้าสังเกตการณ์อีกด้วย
แกนนำม็อบพระยื่นหนังสือบิ๊กป้อม
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. กล่าวถึงกรณีมีการเผชิญหน้ากันระหว่างพระสงฆ์และทหารที่ไปดูแลความเรียบร้อยบริเวณพุทธมณฑล ว่าล่า สุดฝ่ายทหาร ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่ายปกครอง ได้หารือกับพระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับปากว่า จะไม่มีการค้างคืน แต่ขอไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในฝ่ายความมั่นคง สนับสนุนให้การนำเสนอความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะต่างๆ ผ่านช่องทางที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เห็นว่าการรวมตัวของพระสงฆ์ครั้งนี้ อาจเป็นการแสดงออกถึงความขัดแย้ง ซึ่งไม่อยากให้เกิดภาพแบบนี้ เพราะประเทศชาติอยู่ในช่วงเดินหน้า และปฏิรูปประเทศ
ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ไปตั้งด่านบริเวณปากทางเข้าพุทธมณฑล ก็เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย โดยอนุญาตให้เดินเท้าเข้าไปได้ แต่ไม่อนุญาตรถขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด และกระทบกระทั่งกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าต่อมา พล.อ.ประวิตร พร้อมด้วย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ได้เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อรอรับหนังสือจากแกนนำพระสงฆ์
ม็อบพระยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ
ต่อมาเมื่อเวลา 18.15 น. พล.อ.ประวิตร พร้อมด้วย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.ได้เดินทางเข้ามายังทำเนียบรัฐบาล หลังจากได้รับการรายงานจากนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรณะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า กลุ่มเครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศ (คสพ.) ประสานเข้ายื่นหนังสือถึงรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ นำโดย พระเมธีธรรมจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย หลังเกิดเหตุการกระทบกระทั่งระหว่างพระสงฆ์ กับเจ้าหน้าที่ทหาร ที่พุทธมณฑล ทั้งนี้การเดินทางมาของคณะสงฆ์ มี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ร่วมนั่งรถมาในคันเดียวกัน
จากนั้น พระเมธีธรรมาจารย์ ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ประกอบด้วย
1. ห้ามหน่วยงานภาครัฐ เข้ามาก้าวก่ายเรื่องทางสงฆ์ ขอให้ทำหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ตามแบบอย่างบรรพบุรุษไทย
2. ขอให้รัฐบาลยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงาม ที่กระทำสืบกันมา คือการดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ ทางรัฐบาลจะต้องปรึกษา และได้รับความเห็นชอบจากมหาเถระสมาคม (มส.)ก่อน
3. ขอให้นายกฯ ยึดถือดำเนินการตามมติ มส. ที่มีการเสนอสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เป็นสมเด็จพระสังฆราช
4. ขอให้ทางรัฐบาลสั่งเป็นนโยบายให้หน่วยราชการปฏิบัติต่อคณะสงฆ์ด้วยความเคารพ เอื้อเฟื้อ ไม่ข่มขู่คุกคามคณะสงฆ์ด้วยการใช้กฎหมาย
5. ขอให้บรรจุพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ
พระเมธีธรรมาจารย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า รัฐบาลรับปากว่าจะดูแลและประสานรายงานเรื่องนี้ไปยังนายกฯ หลังกลับจากสหรัฐอเมริกา การชุมนุมทางกลุ่มพร้อมยุติ แต่จะสงวนดูท่าทีรัฐบาลก่อน ยืนยันว่า การชุมนุมครั้งนี้มาด้วยความสงบ มาเพื่อแสดงสังฆมติ และหากมีการพูดคุยกันแต่แรก ก็จะไม่มีเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้น
"เราเป็นพระไม่ดื้อดึง ไม่เรื่องมากอยู่แล้ว และไม่ได้เป็นการมากดดัน มาด้วยความสงบ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากทหารนิมนต์พระมาตามปกติ จะไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ดังนั้นอยากให้ถามฝ่ายรัฐบาลดูว่า เหตุการณ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร พระเองก็คำนึงพระธรรมวินัย กฎหมายบ้านเมือง จารีต ประเพณี ทั้งนี้ อาจจะต้องมีการพูดถึงกระทำของสงฆ์ด้วยอาตมาเคยพูดหลายครั้งแล้วว่า คงต้องให้เวลารัฐบาลอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้อง แต่ทั้งนี้ พระสงฆ์ ยังมีความรู้สึกตรงกันว่า จะต้องกลับมาอีก หากข้อเรียกร้องที่ได้รับปากไปนั้น ไม่บรรลุเป้าหมายตามที่ได้รับปาก" พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าว
ด้านพล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆว่า จบแล้วเรียบร้อย พระได้ให้สัมภาษณ์แล้ว
ขณะที่นายสุวพันธ์ เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวรัฐบาลประสานไปยังคณะสงฆ์ ขอให้ยุติการชุมนุมและเดินทางมายื่นหนังสือ เพื่อพูดคุยแก้ไขปัญหาที่ทำเนียบรัฐบาล เบื้องต้นคาดว่า การจัดสัมนาดังกล่าวอาจจะยังไม่ได้ขออนุญาต คสช.ไว้ก่อน จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
ทั้งนี้ การยื่นหนังสือทางพระธรรมเมธีธรรมาจารย์ ยืนยันกับ พล.อ.ประวิตร ว่า จะยุติการชุมนุม และข้อเสนอที่ยื่นก็ไม่ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาให้กับรัฐบาล แต่ตนจะทำให้เร็วที่สุด แต่ มส.ก็ควรได้รับความเคารพ ไม่ให้ถูกดูหมิ่น ส่วนหนึ่งในข้อเรียกร้องจะมีนัยยะต่อการเร่งรัดแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่นั้น เรื่องนี้ตอบยาก แต่จะทำให้เร็วที่สุด และ ขึ้นอยู่กับเหตุผล
“ไพบูลย์” ร้องดีเอสไอ ตรวจสอบ
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.30 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง วรปุญฺโญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และประธานกรรมการมหาเถรสมาคม กรณีที่ปฏิเสธดำเนินการให้พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต้องอาบัติปาราชิก
นายไพบูลย์กล่าวว่า มติของมหาเถรสมาคมที่แถลงการณ์ออกมาเป็นความพยายามบ่ายเบี่ยง หลบเลี่ยงพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร อดีตสมเด็จพระสังฆราช ที่ให้พระธัมมชโยให้อาบัติปาราชิกตามกฎหมาย โดยการโยงคดีที่คฤหัตถ์ 2 คนเป็นโจทก์ฟ้องพระธัมมชโยฐานบิดเบือนคำสอน อวดอุตริ ยักยอกทรัพย์ ฉ้อโกง และหลอกลวงประชาชน ซึ่งคดีนี้สิ้นสุดในคณะผู้พิจารณาชั้นต้นแล้ว มารวมเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นในวันนี้จึงมาขอให้ดีเอสไอตรวจสอบและรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ
นอกจากนี้ยังขอให้ตรวจสอบความสัมพันธ์ของสมเด็จช่วงกับพระธัมมชโย ตามที่มีข่าวปรากฏออกมาก่อนหน้านี้ว่ามีความสัมพันธ์เชิงลึก และมีผลประโยชน์แอบแฝงกันหรือไม่ สืบเนื่องจากคดียักยอกทรัพย์ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่มีการยักย้ายถ่ายโอนทรัพย์สินออกไป
ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกดีเอสไอ เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ พร้อมเปิดเผยว่าเบื้องต้นดีเอสไอจะรับเรื่องไว้ตรวจสอบ และจากนั้นจะรอหนังสือชี้แจงจากมหาเถรสมาคมที่ดีเอสไอเคยยื่นขอให้ชี้แจงว่าจัดการกับพระลิขิตของอดีตสมเด็จพระสังฆราชอย่างไรบ้าง ซึ่งเดิมจะต้องส่งหนังสือมาตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (12 ก.พ.) แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับหนังสือชี้แจงดังกล่าว ซึ่งหากได้รับหนังสือชี้แจงเมื่อไหร่ก็จะนับมาพิจารณารวมกับเอกสารที่ได้รับเพิ่มเติมมาวันนี้ว่ามีมูลข้อเท็จจริงหรือไม่