ผู้จัดการรายวัน360- "ไพบูลย์" ยื่นผู้ตรวจฯ ตีความ ม. 7 พ.ร.บ.สงฆ์ เชื่อเป็นอำนาจนายกฯ มส. เริมเองไม่ได้ พร้อมยื่น "สุวพันธ์" เบรกเรื่องก่อนชงนายกฯ ด้าน ดีเอสไอ เข้าตรวจสอบตามคำเชิญวัดปากน้ำภาษีเจริญเรื่องรถหรู คาดตรวจสอบ 1 เดือน พระธรรมทูตไทยและกลุ่มชาวพุทธไทยในยุโรปฯออกแถลงการณ์ ระงับกลุ่มที่คุกคาม “สมเด็จช่วง”
วานนี้ (19 ม.ค.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อมด้วย นพ. มโน เลาหวณิช อดีตศิษย์วัดพระธรรมกาย เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมาย ม.7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 หมวดสมเด็จพระสังฆราช ว่า หน่วยงานใดมีอำนาจในการเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากเห็นว่า มาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ บัญญัติว่า
"นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จราชาคณะที่มีอาวุโสทางสมณะศักดิ์สูงสุด..." ซึ่งเท่ากับกฎหมายมีเจตนารมณ์ ให้นายกฯเป็นผู้ริเริ่มในการพิจารณา และเสนอนามของสมเด็จราชาคณะที่มีอาวุโสทางสมณะศักดิ์สูงสุด ต่อมหาเถรสมาคม เพื่อให้ความเห็นชอบดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แล้วจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล ไม่ใช่มหาเถรสมาคม จะเป็นผู้ริเริ่มหยิบยกขึ้นพิจารณาเสนอนามและลงมติเลือกเอง แล้วจึงเสนอนายกฯให้ทำหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าเท่านั้น
ทั้งนี้เทียบเคียงได้กับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่บัญญัติว่า หัวหน้า คสช.โดยความเห็นชอบของ คสช. มีอำนาจในการออกคำสั่ง ซึ่งย่อมหมายความว่า หัวหน้า คสช. ต้องเป็นผู้ริเริ่มเสนอเรื่องต่อ คสช. เพื่อให้ความเห็นชอบ หรือกรณี พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน หรือกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติว่า นายกฯโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี การดำเนินการก็ต้องนายกฯ เป็นผู้ริเริ่มนำเรื่องเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ ดังนั้นการที่มหาเถรสมาคมมีการประชุมวาระพิเศษ เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา และมีการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ที่มีอาวุโสทางสมณะศักดิ์สูงสุดขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอน และไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจาณาปัญหาการปฏิบัติตามข้อกฎหมายของสำนักพระพุทธศาสนา ในฐานะเลขานุการของมหาเถรสมาคม ที่นำมติดังกล่าวเสนอต่อนายกฯ ว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
“หลายฝ่ายมักจะอ้างประเพณีปฏิบัติ แต่บทบัญญัติมาตรา 7 เขียนไว้อย่างชัดเจนเรื่องขั้นตอน ดังนั้นจะอ้างประเพณีปฏิบัติคงไม่ได้ ซึ่งผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดำเนินการดังกล่าวของมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ และเพื่อให้เรื่องนี้ไม่เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้ผมก็ได้มีหนังสือไปถึงนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีการชะลอการส่งมติดังกล่าวให้นายกฯไว้ก่อน เพราะผู้ตรวจกำลังวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวอยู่
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงการนำรายชื่อสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ขึ้นทูลเกล้าฯว่า ได้หารืออย่างไม่เป็นทางการกับผู้อำนวยการพศ. เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งได้สั่งให้ทาง พศ.ไปรวบรวมข้อมูลคำร้องคัดค้านและส่วนที่เห็นด้วยเพื่อส่งกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ว่ามีความครบถ้วนหรือไม่
ส่วนเรื่องร้องเรียนและการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เกี่ยวกับรถหรูของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญนั้น จะต้องรอให้มีการสรุป ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง จะต้องรวบรวม รวมถึงกรณีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อย่างไร หรือไม่ ขอยืนยันว่า เรื่องนี้ดำเนินการตามขั้นตอน ไม่มีการเตะถ่วงอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้ทำรายงานให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อที่จะใช้ในการตัดสินใจ
***"นายกฯ" ขอรับ ปมร้อน ตั้ง "สังฆราช"
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงกรณีเกิดความเห็นต่างในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ว่า ในการประชุมครม. ไม่ได้หารือในเรื่องดังกล่าว แต่เรื่องพระพุทธศาสนาถือเป็นเรื่องร่มเย็น วันนี้คนในประเทศนำทุกอย่างไปผูกพันกับการเมืองแม้กระทั่งเรื่องของพระสงฆ์ ดังนั้น การจะตั้งหรือไม่ตั้ง จะมีปัญหาทั้งสิ้นดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงรู้สึกว่า การจะสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญๆ หลายประการ ทั้ง การประกอบพิธีในสถานที่สำคัญ ในวโรกาสสำคัญ เมื่อยังไม่ถึงกาลโอกาสสำคัญ ประกอบกับ รัฐบาลไม่ต้องการผลักภาระไปให้สถาบัน นายกฯ จึงจะขอรับไว้เอง อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วยว่า มีความเร่งด่วนหรือไม่
***** ดีเอสไอตรวจรถหรู
วานนี้ (19 ม.ค.) พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เดินทางไปที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พร้อมด้วย ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ เดินทางเข้าตรวจสอบรถยนต์โบราณของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) ตามคำเชิญของวัดปากน้ำที่ต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยมีนายดำเกิง จินดาหรา ไวยาวัจกรวัดปากน้ำภาษีเจริญ ร่วมตรวจสอบ
พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ทั้งนี้รถคันดังกล่าวเป็น 1 ใน 5,000 คันที่ดีเอสไอต้องตรวจสอบ แต่เมื่อช่วงปี 2558 พุทธะอิสระได้ยื่นหนังสือเพื่อเร่งรัดให้ตรวจสอบ 17 ประเด็น ซึ่ง 1 ใน 17 ประเด็นมีเรื่องของการตรวจสอบรถดังกล่าว โดยขั้นตอนหลังจากนี้คณะพนักงานสอบสวนจะตรวจสอบเอกสารของรถคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ส่วนเรื่องการครอบครองรถเป็นอีกกรณีไป
*** ชาวพุทธในยุโรปแถลงการณ์
ส่วนทางด้านเครือข่ายพระธรรมทูตไทย และกลุ่มชาวพุทธไทยในยุโรป และสหราชอาณาจักร ออกแถลงการณ์ด่วน ฉบับที่ 1 ลงนามโดย พระโสภณพุทธิวิเทศ ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายพระธรรมทูตไทยฯ วันที่ 19 ม.ค. เรื่องขอเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธาน คสช. มีคำสั่งให้ดีเอสไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มแอบอ้างทั้งหมดให้ยุติการข่มขู่ คุกคาม ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช โดยทันทีว่า ขอเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรี แห่งรัฐบาลไทย ได้โปรดพิจารณาและดำเนินการ สั่งการ เป็นการด่วน ดังนี้
1.สั่งการให้ดีเอสไอ ยุติการใช้กำลังเข้าไปข่มขู่ และคุกคามต่อ พระมหาเถระผู้นำสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ถึงภายในวัด
2.ดำเนินการให้ความอารักขาและคุ้มครอง ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และกรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูปอย่างสูงสุด
3.สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ดำเนินการยุติ ยับยั้ง และปราม กลุ่มผู้เคลื่อนไหวสุดโต่งข้างต้นให้ ยุติโดยทันที เพื่อป้องกันความแตกแยกของสถาบันพระพุทธศาสนาในประเทศไทยก่อนที่จะสายเกินแก้
4.ให้ใช้อำนาจรัฐถาธิปัตย์ ตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องและคุ้มครองพระพุทธศาสนา อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
5.มีคำสั่งให้ข้าราชการไทยทุกภาคส่วนทุกระดับ อย่าได้เลือกปฏิบัติ หรือให้ความร่วมมือกับผู้ทำผิดกฎหมายบ้านเมืองกลุ่มข้างต้นเหล่านี้โดยเด็ดขาดนับจากนี้ไป เครือข่ายฯจะได้ติดตามสถานการณ์ และผลการดำเนินการของนายกรัฐมนตรี และติดตามเฝ้าสังเกตเหตุการณ์ข่มขู่ คุกคาม ทำลายล้าง พระพุทธศาสนาในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะยกระดับการเคลื่อนไหวสู่ระดับสากลต่อไปโดยทันที
***"นายกฯ" ขอรับ ปมร้อน ตั้ง "สังฆราช"
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงกรณีเกิดความเห็นต่างในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ว่า ในการประชุมครม. ไม่ได้หารือในเรื่องดังกล่าว แต่เรื่องพระพุทธศาสนาถือเป็นเรื่องร่มเย็น วันนี้คนในประเทศนำทุกอย่างไปผูกพันกับการเมืองแม้กระทั่งเรื่องของพระสงฆ์ ดังนั้น การจะตั้งหรือไม่ตั้ง จะมีปัญหาทั้งสิ้น เพราะมีผู้สนับสนุนให้ตั้ง และไม่ให้ตั้ง หากรัฐบาลดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งจะมีการเคลื่อนไหว
ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงรู้สึกว่า หากเรื่องศาสนาเป็นเรื่องร่มเย็นแล้ว จะทำอย่างไรให้บ้านเราไม่มีความขัดแย้ง อะไรที่ทำให้บ้านเมืองร่มเย็นได้ ก็จะพยายามทำ และการจะสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญๆ หลายประการ ทั้ง การประกอบพิธีในสถานที่สำคัญ ในวโรกาสสำคัญ เมื่อยังไม่ถึงกาลโอกาสสำคัญ ประกอบกับ รัฐบาลไม่ต้องการผลักภาระไปให้สถาบัน นายกฯ จึงจะขอรับไว้เอง อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วยว่า มีความเร่งด่วนหรือไม่