xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

Big C “เจริญ” แล้ว เมื่อ “เจ้าสัว” ประกาศศักดา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเข้าซื้อธุรกิจบิ๊กซีในประเทศไทย ของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ด้วยการส่งบริษัท ทีซีซี คอร์เปอเรชั่น จำกัด เข้าซื้อหุ้นของ คาสิโน กรุ๊ป ที่ถือหุ้นผ่านทาง Géant International BV ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 58.56% ถือเป็น “ซูเปอร์ดีล” ครั้งประวัติศาสตร์เพราะมีมูลค่ารวมประมาณ 3,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น เงินไทยไม่น้อยกว่า 1.22 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

ทั้งนี้ แม้มูลค่าเม็ดเงินที่ใช้จะน้อยกว่าเมื่อช่วงปี 2556 ที่ ซีพีกรุ๊ป ของเสี่ยธนินท์ เจียรวนนท์ ส่งซีพีออลล์ เข้าซื้อแม็คโครในประเทศไทย ด้วยมูลค่ากว่า 1.88 ล้านล้านบาท ก็ตาม แต่ก็เป็นเกมความเคลื่อนไหวที่สำคัญของ เจริญ อย่างมาก และสามารถสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นการประสบความสำเร็จเบื้องต้นของ “เจริญ” ที่สามารถขยายอาณาจักรค้าปลีกในไทยแบบเรียนลัด ได้อย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกเสียที หลังจากที่มีความพยายามมานานหลายปีและหลายดีลแล้ว นับตั้งแต่ ดีลคาร์ฟูร์ที่ขายกิจการ ในไทยซึ่งสุดท้ายทางคาสิโนกรุ๊ปผู้ถือหุ้นใหญ่ในบิ๊กซี คว้าไปด้วยมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท และดีลแม็คโครที่สุดท้ายก็ตกไป อยู่ในมือของกลุ่มซีพีด้วยมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท โดยที่เจริญได้แต่เสียดาย และรอวันแก้มือ

อีกทั้งเกมนี้จะเป็นปรากฏการณ์ที่พลิกโฉมหน้าวงการค้าปลีกในไทยอีกครั้ง เป็นการสร้างอำนาจการต่อรองของธุรกิจในเครือของเจริญได้มากขึ้น รวมทั้ง ความเคลื่อนไหวนี้ยังเป็นการรุกคืบสร้าง ภาวะผูกขาดในธุรกิจค้าปลีก ของผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่กี่รายชนิดที่ปฏิเสธไม่ได้

รวมทั้งยังเป็นประหนึ่งภาพสะท้อนเค้าลางของการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ ทั้งในระบบธุรกิจไทยและธุรกิจนานาชาติ โดยเฉพาะในห้วงยามที่อาเซียนกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจ AEC ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากจังหวะก้าวภายใต้ยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ว่าด้วย C-ASEAN และ Vision 2020 ที่เป็นประหนึ่งธงนำในการขยายอาณาจักรธุรกิจของบริษัทในเครือทีซีซี และไทยเบฟเวอเรจ แล้วการได้ครอบครอง Big C ถือเป็นประหนึ่งข้อต่อชิ้นสำคัญ ที่ทำให้ภาพจิ๊กซอว์ขนาดมหึมาเกินจินตนาการของอาณาจักรแห่งนี้สมบูรณ์และพรั่งพร้อมที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าตามเข็มมุ่งที่วางไว้อย่างลงตัว

ก่อนหน้านี้ เจริญได้ตั้งบริษัทลูกคือ ทีซีซี โลจิสติกส์ แอนด์ แวร์เฮ้าส์ จำกัด ขี้นมาเพื่อให้บริการร้านค้าปลีกและค้าส่ง แบรนด์ เอ็มเอ็มเมก้ามาร์เกต ไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้สร้างความน่ากลัวแต่อย่างใด เพราะเพิ่งเริ่ม โดยเปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้าอัศวรรณ ชอปปิ้งคอมเพล็กซ์ จังหวัดหนองคาย และมีแผนจะขยายเพิ่มอีกรวม 15สาขาภายใน5 ปีนี้ ซึ่งรูปแบบธุรกิจของเอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เกต คือการผสมผสานรูปแบบค้าปลีกชำระเงินสดกับการบริการตัวเองเข้าด้วยกัน

หรืออีกแบรนด์หนึ่งคือ โอเกงกิ เป็นร้านสเปเชียลตี้สโตร์ แบบขายสินค้าสุขภาพและความงาม ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทดลองทำมาได้ 2-3 ปีแล้ว แต่ทั้งหมดนี้ ก็ยังไม่ใช่เครือข่ายที่เจริญต้องการอย่างเช่นบิ๊กซี

เมื่อบิ๊กซีเข้ามาอยู่ในเงื้อมมือของเจริญ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเทกโอเวอร์ซื้อ ทุกอย่างที่ขวางหน้าที่เขาต้องการ ย่อมเป็นการต่อยอดและต่อจิ๊กซอว์ให้ ธุรกิจของเขาแข็งแกร่งและครบวงจรมากขึ้น ที่เรียกกันว่า ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
เพราะมีทั้งธุรกิจผลิตสินค้า จำหน่ายสินค้า มีสินค้าของตัวเองมาก

แต่เชื่อได้ว่า งานใหญ่ชิ้นนี้ ยังคงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร ที่รวดเร็วและใหญ่โตแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือในระยะสั้นนี้แน่นอน เพราะต้องใช้บุคคลากรที่เชี่ยวชาญค้าปลีกโดยเฉพาะ ซึ่งต้องยอมรับว่า ค่ายเจริญยังไม่ใช่ระดับเซียนในเซ็กเมนต์นี้

มองดูกรณีของ บิ๊กซีที่เข้าซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในไทยในอดีต ก็ยังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 - 3 ปีเลยทีเดียว ในการจัดการและแก้ไข และปรับเปลี่ยนคาร์ฟูร์มาเป็นบิ๊กซีได้ชนิดสมบูรณ์แบบ

กลุ่มธุรกิจของเจริญหลักๆคือ

1.อาหารและเครื่องดื่ม ทั้งแอลกอฮอล์ นอนแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มน้ำอัดลม เสริมสุข เอฟแอนด์เอ็น ไทยเบฟ โออิชิ เป็นต้น และแต่ละบริษัทในเครือ ก็มีระบบโลจิสติกส์ ที่แข็งแกร่งทั้งสิ้น

2.กลุ่มอุตสาหกรรมและการค้า อย่างเช่น บีเจซี หรือเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ซึ่งมีสินค้าอุปโภคและบริโภคมากมายหลายแบรนด์ ทั้งที่เป็นสินค้าของตัวเองและที่นับจัดจำหน่าย

3.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก ที่มีทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน พลาซ่า เป็นต้น 4 .กลุ่มธุรกิจประกันภัยทั้งชีวิต วินาศภัย

และอื่นๆ 5.กลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรม

แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่แบบนี้โดยเฉพาะ ไฮเปอร์มาร์เกตที่ทีซีซีเองอาจจะยังไม่ค่อยเชี่ยวชาญในไทย ในเบื้องต้นคงจำเป็นต้องใช้บุคลากรและทีมงานเดิมบริหารต่อไปก่อนแน่นอนเพราะธุรกิจค้าปลีกเดิมที่มีอยู่ จะเป็นคนละแนวกับบิ๊กซี ไม่ว่าจะเป็น เอเชียธีค ริเวอร์ฟร้อนท์ , เกตเวย์, เซ็นเตอร์พอยท์ออฟสยามสแควร์, ศูนย์การค้าไอทีชื่อพันธ์ทิพย์พลซ่า บ๊อกซ์สเปซ เดอะสตรีทรัชดาภิเษก

ทั้งนี้ แผนการพัฒนาแบรนด์เหล่านี้ ภายในช่วงปี 2558 - 2562 มีประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งยังน้อยมากเทียบกับมูลค่าการซื้อบิ๊กซี

ทั้งหมดนี้เป็นแนวพลาซ่ากับศูนย์การค้าที่เน้นขายและเช่าพื้นที่ แต่บิ๊กซีคือค้าปลีกแนวไฮเปอร์มาร์เกตที่ขายสินค้า

ดังนั้น บิ๊กซีคือตัวที่จะมาต่อยอดธุรกิจค้าปลีกให้ครบวงจรนั่นเอง ซึ่งจะถือเป็นช่องทางจำหน่ายหรือเรียกว่า มาร์เกตติ้งอาร์ม ( marketing arm) ที่ทรงพลังของเจริญ ที่สร้างความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ ไม่แพ้ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกกลุ่มเซ็นทรัลที่มีครบวงจรเช่นกัน ทั้ง ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล โรบินสัน คอนวีเนียนสโตร์แฟมิลี่มาร์ท บีทูเอส เพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ตและอีกสารพัดแบรนด์ค้าปลีก

เฉกเช่นเดียวกับค่ายซีพี ที่ปูพรมไปทุกหย่อมหญ้าเลยทีเดียว ในกลุ่มค้าปลีก เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น ซีพีเฟรชมาร์ท ทรูคอฟฟี่ แม็คโคร เทสโก้โลตัส เป็นต้น เพราะมีทั้งสินค้าของตัวเอง โลจิสติกส์ตัวเอง และช่องทางการขายของตัวเองครบหมด

สิ่งเหล่านี้สามารถจัดการบริหารสร้างอำนาจต่อรองกับซัปพลายเออร์ได้อย่างดีแท้

เจริญจึงใช้ บิ๊กซีนี้เป็นตัวต่อยอดสร้างอำนาจต่อรองได้ดี เพราะใครก็ต้องการนำสินค้าของตัวเองเข้ามาขายผ่านทางบิ๊กซี ไม่แพ้เทสโก้โลตัส แม็คโคร หรือเซเว่นอีเลฟเว่น

ด้วยความได้เปรียบและมีอำนาจต่อรองมากขนาดนี้ จากการที่บิ๊กซีมีสาขาทุกโมเดลรวมกันในไทยไม่ต่ำกว่า 700-800 แห่ง แล้วคือ บิ๊กซีมีจำนวนไฮเปอร์มาร์เกต 125 สาขา (บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้าและบิ๊กซี จัมโบ้) บิ๊กซี มาร์เกต 55 สาขา มินิบิ๊กซี 394 สาขา และร้านขายยาเพรียว 146 สาขา กระจายอยู่ทั่วประเทศ อาจจะ เป็นรองก็แค่เซเว่นอีเลฟเว่น กับคู่แข่งทางตรงอย่างเทสโก้โลตัส

สินค้าย่อมต้องเข้าถึงมือผู้บริโภคเป้าหมายได้มากขึ้น ผลดีต่อยอดขายก็ตามมา

นั่นหมายความว่า บิ๊กซี ย่อมมีอำนาจเหนือซัพพลายเออร์เจ้าของ สินค้าที่ต้องการเข้ามาค้าขายในบิ๊กซีแน่นอน ซึ่งจากนี้ไป เงื่อนไขการค้าขาย รวมทั้ง การเก็บค่าจีพี หรือการเก็บค่าเช่า คงต้องมีการปรับเปลี่ยน หรือไม่อย่างไร
ยังส่งผลสะเทือนต่อซัพพลายเออร์ในอีกมุมหนึ่ง เพราะสินค้าเฮาส์ แบรนด์ของบิ๊กซีและของค่ายเจริญจะเกิดขึ้นมามากขึ้น เพราะในเมื่อมีแขนขาช่องทางของตัวเองแล้ว จะต้องไปกังวลเรื่องใด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า มูลค่าการซื้อขายบิ๊กซีครั้งนี้ค่อนข้างที่จะแพง เมื่อเทียบเท่า P/E Foward ปี 2528 ที่ 29 เท่า ซึ่งยังแพงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 26 เท่า และกลยุทธ์ที่ทางกลุ่มจะได้รับก็อยู่ที่บริษัทลูกในเครือที่เป็นผู้ผลิตสินค้าอย่างเบอร์ลี่ยุคเกอร์​เพราะจะมีอำนาจต่อรองขายสินค้าได้มากขึ้น

ข้อมูลยังระบุด้วยว่า กรณีที่มีการอิงรายได้ส่วนเพิ่มจากการขาย ของให้บิ๊กซี เพิ่มทุก 1% ของต้นทุนการขายแต่ละปีของบิ๊กซี คาดเกิดกำไรส่วนเพิ่มต่อเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ประมาณ 20 ล้านบาท ( คิดเป็น EPS 0.01 บาทต่อหุ้น) หรือคิดเป็นราคาเป้าส่วนเพิ่มประมาณ 003 บาทต่อหุ้น จากปัจจุบันที่ 44.5 บาท

อีกมุมมองหนึ่งจาก นางสาวสุรีย์พร ทีวะสุเวทย์ นักวิเคราะห์ จาก บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส ที่ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า การซื้อบิ๊กซี เป็นประโยชน์โดยตรงกับทาง “ทีซีซี กรุ๊ป” ที่ต้องการมีหน้าร้านค้าปลีก และมีการแสวงหามาตลอด แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จนกระทั่งมาได้ “บิ๊กซี” เข้ามาช่วยตอบโจทย์ในเรื่องช่องทางจำหน่ายให้กับธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าทั้งอุปโภคบริโภคอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งเอฟแอนด์เอ็น เสริมสุข โออิชิ รวมทั้งธุรกิจแอลกอฮอล์ และนอนแอลกอฮอล์ ซึ่งทีซีซีมีระบบ โลจิสติกส์ที่แข็งแรงมากในการกระจายสินค้า จะขาดก็แต่ช่องทางค้า ปลีกที่จะกระจายไปถึงผู้บริโภคโดยตรงเท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะก่อให้เกิดการ Synergy กับ “บีเจซี” บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภค และต้องพึ่งพิงร้านค้าปลีก เมื่อได้บิ๊กซี จะทำให้บีเจซีลดต้นทุนในการวางจำหน่ายสินค้า เช่น ค่าธรรมเนียมใน การวางจำหน่ายสินค้าน่าจะถูกลง และสร้างอำนาจต่อรองในการขาย สินค้ามากขึ้นอีกประเด็นที่น่าติดตามก็คือโอกาสของสินค้าในเครือ ของเจริญเอง ก็จะมีมากขึ้นและง่ายขึ้นในการที่จะเข้าไปจำหน่าย ในบิ๊กซีนี้

โดยเฉพาะสินค้าบริโภคอุปโภคที่เป็นคู่แข่งโดยตรงกับสินค้าในกลุ่มของเจริญทั้งหมด คงออกอาการผวากันเป็นแถว

หลายคนพุ่งเป้ามองไปที่เบียร์ค่ายสิงห์ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ เบียร์ช้าง ของเจริญ มาตลอด

งานนี้สิงห์จะโดนกดดันหรือไม่ สินค้าสิงห์จะถูกเรียกเก็บค่า ธรรมเนียมสูงขึ้นหรือไม่ สินค้าค่ายสิงห์จะถูกสินค้าคู่แข่งเบียดบัง ด้วยทำเลดีบนเชลฟ์หรือไม่ สินค้าของค่ายสิงห์จะถูกจำกัดวงจำหน่าย หรือไม่ และอื่นๆอีกสารพัดที่คิดกันไปต่างๆ นานา

แต่ประเด็นนี้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำกัน และเจริญซึ่งมีความเก๋าเกมในแง่ธุรกิจ ก็รู้ดีอยู่แล้วว่า ทำเช่นนั้นสุ่มเสี่ยงต่อภาพลักษณ์และการต่อต้านด้วยการที่เสี่ยเจริญกระโดดเข้าสู่ค้าปลีกเซกเมนต์ไฮเปอร์มาร์เกตนี้ ในไทย ก็เพราะว่า ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ครอบคลุมทั้งประเทศ และในตลาดนี้ มีเพียง 2 รายเท่านั้นเองในประเทศไทย คือ เทสโกโลตัสกับบิ๊กซี ซึ่งง่ายในการแข่งขัน ส่วนแม็คโครนั้นถือเป็นอีกเซ็กเมนต์หนึ่งคือ แคชแอนด์แคร์รี่ แต่ก็แข่งขันกันในทางอ้อม

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เกตในไทย แม้ว่าที่ผ่านมาจะเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งยอดขาย จำนวนพื้นที่ขาย จำนวนสาขา แต่ว่าในช่วงหลังอยู่ในภาวะที่ทรงตัว โดยทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2556 ไฮเปอร์มาร์เกต เติบโต3.5% แต่พอปี2557เติบโต 2.6% มาถึงปี 2558 เติบโตเพียง 1.85% เท่านั้น และในปี2559 นี้คาดการณ์ว่าจะเติบโต 1.5-2%

เนื่องจากไฮเปอร์มาร์เกตนี้จับกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงล่างกำลังซื้อของ กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากปัจจัยลบต่างๆ ทั้งภาวะหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตร ยังตกต่ำ

อีกทั้งไฮเปอร์มาร์เกต ยังคงต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากคู่แข่งด้วยกันเอง และทางอ้อมจากค้าปลีกที่ข้ามเซกเมนต์มาชนกันอย่าง คอนวีเนียนสโตร์ และซูเปอร์มาร์เกต เป็นต้น

แต่ เจริญไม่สนใจเพราะวัฎจักรของธุรกิจย่อมมีขึ้นมีลงอยู่แล้ว และเขาเองก็มองไปไกลกว่านั้น

กล่าวในแง่ของตลาดรวม บรรดาคู่แข่งโดยตรง หรือแม้แต่ใน วงการค้าปลีก ซัปพลายเออร์ ต่างคงต้องปรับกลยุทธ์ ปรับตัว ปรับเกม ในการรับมือกับเการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนมือของบิ๊กซีครั้งนี้

ถึงแม้ว่า บิ๊กซี จะไม่ใช่ผู้นำตลาดหรือรายใหญ่สุดในค้าปลีกไทย แต่ด้วยกลเม็ดและฝีมือพร้อมเงินทุนของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” รวมไปถึงเครือข่ายสินค้า ช่องทางจำหน่าย และธุรกิจต่างๆของ เจริญ แล้ว มีศักยภาพที่น่ากลัวมาก

นี่คือฉากต่อไปในไทยหลังจากเจริญฮุบบิ๊กซีได้แล้ว

ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือ บิ๊กซีในเวียดนาม ก็เป็นเค้กอีกชิ้นท่ามกลางคนใจมาก และเป็นประเทศที่มีศักยภาพประเทศหนึ่งในกลุ่มเออีซี และเจริญเองก็จ้องตาเป็นมันเหมือนกัน โดยก่อนหน้านี้เจริญให้บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “บีเจซี” ที่อยู่ภายใต้การบริหารของอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ลูกเขยอีกคนของเจริญ ปักหมุดค้าปลีกในเวียดนาม ด้วยการซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อ “แฟมิลี่มาร์ท” ในเวียดนามและเปลี่ยนแบรนด์เป็น บี'สมาร์ท (B'smart) รวมทั้งวางแผนเข้าซื้อกิจการต่อเนื่องในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม)

ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า การคว้าชัยในดีล Big C ของเจริญ สิริวัฒนภักดีในครั้งนี้ เป็นการคว้าชัยที่มีนัยความหมายมากกว่าที่จะเป็นเพียงการได้มาซึ่งเครือข่ายค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้เท่านั้น หากยังเป็นการสกัดกั้นคู่แข่งขันรายสำคัญอีกรายอย่างเซ็นทรัลกรุ๊ป ไม่ให้สามารถขยายตัวตามยุทธศาสตร์ธุรกิจที่กำลังสัประยุทธ์โรมรันกันอยู่นี้ได้ในคราวเดียวกันด้วย

ขณะเดียวกันจังหวะก้าวของเจริญ สิริวัฒนภักดี ภายใต้ยุทธศาสตร์ภาพใหญ่ในครั้งนี้ ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ค่ายมหาอาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่อีกแห่งอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ของตระกูล เจียรวนนท์ กำลังเผชิญกับภาวะเสื่อมถอยด้านความน่าเชื่อถือและขาดธรรมาภิบาลจากกรณีผู้บริหารระดับสูงพัวพันกับเรื่องอื้อฉาวในวงการตลาดทุนว่าด้วยดีล CP ALL และ แม็คโคร ในช่วงก่อนหน้านี้

ยังไม่นับรวมกรณีของ True อีกหนึ่งบริษัทในมหาอาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งแม้จะเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ จากผลของยอดการประมูลเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอนกับอนาคตทางธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมที่คาดว่าจะเต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างหนักหน่วงที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า

การจบดีล Big C โดยเครือข่ายของเจริญ สิริวัฒนภักดี ในครั้งนี้ จึงเป็นประหนึ่งการต่อจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญและเป็นสัญญาณเริ่มต้นการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกครั้งใหม่ของเครือข่ายธุรกิจไทยที่ถูกครอบงำโดย 3 ตระกูลหลักนี้

บิ๊กซีจะรุกตลาดแบบไหน เกมช่วงชิงเค้กค้าปลีกของเจริญ จะเป็นอย่างไร จะมีผลต่อวงการค้าปลีก มากน้อยเพียงใด ศึกครั้งนี้ต้องจับตาดูชนิดกะพริบตาไม่ได้

เมื่อ Big C เป็นของ Big “C”haroen
ค้าปลีกไทยก็คงสะเทือนถึงดวงดาว

ล้อมกรอบ

ผ่าอาณาจักรอสังหาฯในมือเจ้าสัว “เจริญ”

กลุ่ม บริษัททีซีซีแลนด์ กรุ๊ป บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ร่มเงาของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าของธุรกิจน้ำเมา ได้แผ่ขยายออกมาอย่างก้าว กระโดดในห้วงเวลาเพียงไม่กี่ปี ด้วยการซื้อกิจการหรือเทกโอเวอร์บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การซื้อหุ้นเพียงบางส่วน

ธุรกิจอสังหาฯของเจ้าสัวเจริญ เริ่มจากการลงทุนในที่ดินเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา จนกลายมาเป็น 6 สายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ “ทีซีซีแลนด์ กรุ๊ป” ที่ครบวงจร และกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มทีซีซีแลนด์ กรุ๊ป ได้เดินหน้าขยายอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ อย่างจริงจังเมื่อปี 2550 ด้วยการที่บริษัท อเดลฟอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ในกลุ่มทีซีซีแลนด์ กรุ๊ป เข้าซื้อกิจการของบริษัทยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบัน ยูนิเวนเจอร์ ได้ขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครอบคลุมการพัฒนาอาคารชุดพักอาศัยเพื่อขาย ภายใต้บริษัทแกรนด์ ยูนิตี้ ดีเวลล๊อปเม้นต์ จำกัด และโครงการอาคารสำนักงานปาร์คเวนเจอร์ อีโคเพล็กซ์ และโรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ และต่อมาในปี 2555 ยูนิเวนเจอร์ ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด (มหาชน)

กระทั่งในปี 2556 การเจรจาซื้อหุ้นบริษัทยักษ์ใหญ่ เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (F&N) มูลค่า 3.4 แสนล้านบาท ของบริษัท ไทย เบฟเวอเรจ (ไทยเบฟ) และบริษัท ทีซีซี แอสเซท ของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นผลสำเร็จ ยังผลให้กลุ่มของเจ้าสัวเจริญ กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทกรุงเทพบ้านและที่ดิน จำกัด (มหาชน) หรือ เคแลนด์โดยปริยาย ซึ่งเคแลนด์ เป็นบริษัทพัฒนาคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยวระดับไฮเอนด์ ถือหุ้นรวม 79.78%

ทั้งนี้ การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าสัวเจริญ เริ่มเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา จนกลายมาเป็น 6 สายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ “ทีซีซีแลนด์ กรุ๊ป” ที่ครบวงจร และกำลังขยายตัวอย่าง แผ่กิ่งก้านสาขาอย่างเติบโตและมั่นคง โดยกลุ่ม ทีซีซี เริ่มเข้าสู่กิจการโรงแรมเต็มตัวเมื่อลงทุนในกิจการโรงแรมเครืออิมพีเรียล และจัดตั้งบริษัท ทีซีซี โฮเทลส์ กรุ๊ป เพื่อพัฒนาธุรกิจและขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ

ทำให้ปัจจุบันมีโรงแรมและรีสอร์ทที่อยู่ภายใต้การบริหารถึง 51 แห่งใน 11 ประเทศ มีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 ห้อง ทีซีซี โฮเทลส์ กรุ๊ปยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรกับกลุ่มผู้บริหารโรงแรม ระดับโลกที่มีเครือข่ายการตลาดและแบรนด์ที่เข้มแข็ง ให้ดำเนินการบริหารโรงแรมเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของแต่ละกลุ่มลูกค้าในทำเลที่ต่างกัน

นอกจากนี้ กลุ่มทีซีซี แลนด์ยังดำเนินธุรกิจด้านอาคารสำนักงานของผู้บริหารพื้นที่สำนักงานให้เช่าบนใจกลางย่านธุรกิจ (CBD) ของกรุงเทพมหานครมีพื้นที่รวมกว่า 1 ล้าน 5 แสน ตารางเมตร โดยมุ่งที่จะพัฒนาให้ทุกอาคารมีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล อีกทั้ง มุ่งมั่นในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้เป็นโครงการชั้นนำในแต่ละกลุ่มลูกค้า ควบคู่ไปกับคุณภาพและทำเลที่ดีที่สุดเพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน

ส่วนบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจการบริหารศูนย์การประชุมแห่งแรกของประเทศไทย ได้แก่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเจ้าสัวเจริญ ได้มีนโยบายให้บริษัทในเครือนำที่ดินที่มีอยู่รวมกันกว่า 3 แสนไร่ไปพัฒนาหรือบริหารจัดการ เพื่อก่อให้เกิดรายได้ให้บริษัทและส่งเสริมให้ชุมชนมีความก้าวหน้า ทั้งในภาคธุรกิจการเกษตร อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น ส่งผลให้ผู้บริหารในแต่ละกลุ่มธุรกิจต่างศึกษาและเตรียมนำเสนอแผนการพัฒนาและลงทุนธุรกิจในระยะยาว

สำหรับแผนลงทุนในระยะ 5 ปี (ปี 2558-2562) จากเดิมที่จะใช้งบลงทุน 5 พันล้านบาท มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อการขยายสาขาเพิ่มใน 3 แบรนด์ ได้แก่ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ 3 - 3.5 พันล้านบาท สำหรับขยายเอเชียทีค เจริญกรุง เฟส 2 และการขยายสาขาใหม่ที่เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน ภูเก็ต และสมุย , เกตเวย์ 5 พันล้านบาท สำหรับการขยายสาขาเพิ่มอีก 3 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และบ๊อกซ์ สเปซ 1.5 พันล้านบาท สำหรับการขยายสาขาในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดอีก 3-4 แห่ง

ขณะเดียวกันบริษัทยังต้องศึกษาและพัฒนารูปแบบค้าปลีกใหม่ๆ ตลอดเวลาเพื่อรองรับการลงทุนเพิ่ม ขณะที่การรีโนเวตเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ และพันธุ์ทิพย์อีก 4 แห่งจะใช้งบแยกต่างหาก

...ดังนั้น จะเห็นได้ว่า อาณาจักรเจ้าสัวเจริญ ยังคงไม่หยุดนิ่ง เติบโตและก้าวข้ามคู่แข่ง เพื่อมุ่งสู่ความเป็นอินเตอร์ในระดับโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น