xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จาก “เทสโก้” ถึง “คาสิโน กรุ๊ป” ศึกไฮเปอร์มาร์เก็ตพลิกโฉม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่ว่าจะเป็นการประกาศขายหุ้น “บิ๊กซี ประเทศไทย” ของ “คาสิโน กรุ๊ป” บิ๊กรีเทลสัญชาติฝรั่งเศส หรือกระแสข่าวโละกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ของกลุ่มค้าปลีกข้ามชาติจากสหราชอาณาจักร ซึ่งยืดเยื้อยาวนานมากกว่า 1 ปีและยังไร้ข้อสรุปที่แน่ชัด “ขาย-ไม่ขาย” ยิ่งตอกย้ำถึงภาวะ “ดาวน์เทรนด์” ของไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ที่สำคัญ ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่จะอยู่รอดได้ ต้องสร้างเครือข่ายหลากหลายรูปแบบ เพื่อเจาะตลาดทุกเซกเมนต์ ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เน้นสินค้าราคาถูก ปรับจากไฮเปอร์มาร์เก็ต เพิ่มแม็กเน็ตกลายเป็น “ไลฟ์สไตล์มอลล์” และไม่ใช่มีแค่ซูเปอร์มาร์เก็ต ต้องเพิ่มฟู้ดฮอลล์ ในบางทำเลต้องเน้นมินิไซส์เป็น “มินิซูเปอร์มาร์เก็ต” รองรับชุมชนเกิดใหม่ ขณะที่คอนวีเนียนสโตร์ต้องเพิ่มพื้นที่คาเฟ่สไตล์ “แฮงก์เอาต์” สนองคนรุ่นใหม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นเกมที่ทุนค้าปลีกไทยกำลังเร่งวางยุทธศาสตร์แข่งขันยึดตลาดอย่างเข้มข้น

ขณะเดียวกัน ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่มีผลต่อกำลังซื้อยังบีบให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความหลากหลายต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้ หากดูข้อมูลของบริษัท กันตาร์ เวิลด์พาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจการวิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โดยวิจัยพฤติกรรมการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2542-2558 จากกลุ่มตัวอย่าง 4,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ทั้งเขตเมืองและต่างจังหวัด ซึ่งสามารถใช้เป็นตัวแสดงผลพฤติกรรมการซื้อของประชากรทั่วประเทศกว่า 23 ล้านครัวเรือน

พบว่าในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยและผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง พฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่หันไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านโชวห่วยและคอนวีเนียนสโตร์ใกล้บ้านมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยเห็นว่าสินค้าอุปโภคบริโภค 50% ที่จำหน่ายในร้านโชวห่วยและคอนวีเนียนสโตร์ไม่แตกต่างจากไฮเปอร์มาร์เก็ต

การเข้ามาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านโชวห่วยและคอนวีเนียนสโตร์ที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ส่งผลให้กลุ่มคอนวีเนียนสโตร์มีอัตราการขยายสาขาสูงสุด ทั้งเซเว่น อีเลฟเว่น, เทสโก้ เอ็กซ์เพรส, แฟมิลี่ มาร์ท, 108 ช็อป และ มินิ บิ๊กซี

ส่วนร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ต ชะลอตัวลง แถมเสียส่วนแบ่งจำนวนลูกค้าปริมาณการซื้อต่อครั้ง และจำนวนกลุ่มสินค้าให้ช่องทางร้านโชวห่วย คอนวีเนียนสโตร์ รวมถึงกลุ่มร้านสเปเชียลสโตร์อีกหลายแบรนด์ เช่น ร้านขายยาและสินค้าสุขภาพความงาม ซูรูฮะ โอเกนกิ วัตสัน และบูทส์ ร้านจำหน่ายสินค้าภายในบ้านราคาเดียวอย่าง “ไดโซะ” ร้านจำหน่ายอาหารสดอย่างซีพีเฟรชมาร์ท

แน่นอนว่า ภายใต้สงครามการแข่งขันที่รุนแรงและมีปัจจัยเสี่ยงมากมายส่งผลให้กลุ่มทุนค้าปลีก ทั้งคาสิโน กรุ๊ปและเทสโก้ โลตัส ต้องปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทั้งสองกลุ่มพยายามเสริมกลยุทธ์และทุ่มเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะปี 2558 ถือเป็นปีที่มีการลงทุนเม็ดเงินสูงสุด เพื่อฝ่าวิกฤตกำลังซื้อของคนไทย ทั้งการขยายสาขา ปรับพื้นที่พลิกโฉมสาขาเดิม และทุ่มแคมเปญตัดราคาสินค้า

สำหรับ “เทสโก โลตัส” ปัจจุบันมีสาขารวมทั้งหมดมากกว่า 1,800 สาขาทั่วประเทศ ใน 5 รูปแบบคือ ดีพาร์ตเมนต์สโตร์, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, พลัสมอลล์, เอ็กซ์ตร้า, ตลาด และเอ็กซ์เพรส ซึ่งตามแผนลงทุนปี 2558 ต่อเนื่องถึงปี 2559 กลุ่มเทสโก้จะขยายสาขาขนาดใหญ่ 5 แห่งกระจายทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพื่อให้บริการลูกค้าในหัวเมืองต่างจังหวัดที่กำลังเติบโต เช่น จังหวัดสุรินทร์, นครศรีธรรมราช และเปิดร้านเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส อีก50 สาขา เพื่อรองรับพฤติกรรมของลูกค้าที่เริ่มนิยมจับจ่ายซื้อสินค้าใกล้บ้านมากขึ้น โดย 80% เป็นการเปิดในต่างจังหวัดทั่วทุกภาค อีก 20% จะเปิดในกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ปรับพื้นที่ในสาขาเดิม เพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ เช่น เพิ่มโซน “ศูนย์การค้า” และเพิ่มสินค้าแบรนด์ต่างประเทศ กลุ่มอุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้า หลังทดลองทุ่มเม็ดเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ปรับโฉมสาขาบางใหญ่ เปิดตัวศูนย์การค้า “พลัส มอลล์ บางใหญ่” ลดพื้นที่ “เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์ตร้า” เหลือ 8,000 ตร.ม. จากโมเดลเดิมที่มีขนาดใหญ่ถึง 12,000 ตร.ม. และเติมแม็กเน็ตต่างๆ ภายใต้แนวคิด “Food, Fun and Family” ได้แก่ ร้านค้าและบริการต่างๆ โรงภาพยนตร์ เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ระดับพรีเมียม 8 โรง สวนน้ำ ‘Water Playground’ และดึง ‘Kidzoona’ จากญี่ปุ่น เข้ามาเปิดโซนเครื่องเล่นสำหรับเด็ก

ผลปรากฏว่า พลัสมอลล์บางใหญ่สามารถสร้างรายได้จากพื้นที่เช่าและเพิ่มยอดลูกค้าสูงขึ้น ซึ่งตามแผน เทสโก้โลตัสตั้งเป้าขยายสาขาพลัสมอลล์และเพิ่มโซนศูนย์การค้าในสาขาเดิม อย่างน้อย 20 แห่ง ภายใน 3-5 ปี เพื่อสร้างจุดขายใหม่ “การเป็นห้างระดับพรีเมียม”

แหล่งข่าวในวงการค้าปลีกระบุว่า ทีมผู้บริหารของเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยต้องพยายามสร้างรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้บริษัทตัดขายกิจการ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบสาขาทั่วโลกแล้ว เทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยเป็นเครือข่ายสาขาที่สร้างยอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของเทสโก้ โลตัส ทั่วโลก รองจากเกาหลีและอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ในมุมกลับกัน เทสโก้ โลตัส ประเทศไทย จะเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยมีการประเมินว่า หากตัดขายกิจการจะมีมูลค่าสูงถึง 250,000-300,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถฟื้นฟูฐานะทางการเงินของบริษัทได้
การตัดสินใจ “ขาย-ไม่ขาย” จึงไม่มีข้อสรุปแน่ชัด

ส่วนค่าย “บิ๊กซี” ถือว่ามีความชัดเจน เนื่องจากคาสิโน กรุ๊ป ประกาศผ่านเว็บไซต์ groupecasino.fr ว่า หลังประกาศขายกิจการที่เวียดนาม มีผู้แสดงความสนใจจำนวนมากที่จะซื้อหุ้นบิ๊กซี ประเทศไทยด้วย จึงตัดสินใจขายหุ้นที่ดำเนินกิจการในเมืองไทยไปพร้อมๆ กัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาราคาและผู้ยื่นข้อเสนอ

จริงๆ แล้ว แรกเริ่ม “บิ๊กซี” เกิดจากการจับมือร่วมกันของเครือเซ็นทรัลและเครืออิมพีเรียลเมื่อปี 2536 โดยก่อตั้งบริษัท เซ็นทรัล ซูเปอร์สโตร์ จำกัด และเปิดห้าง “บิ๊กซี” สาขาแรกบนถนนแจ้งวัฒนะในปี. 2537 ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ในปี 2538

ต่อมาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง “ ปี 2540 ส่งผลให้ “บิ๊กซี” เปิดทางให้บริษัท Casino Guichard-Perrachon ผู้ประกอบการค้าปลีกอันดับสองของฝรั่งเศส เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 530 ล้านหุ้น และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปี 2542

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 Casino Guichard-Perrachon ชนะการประมูลกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทย ด้วยราคาซื้อขาย 686 ล้านยูโร หรือประมาณ 35,500 ล้านบาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ส่งผลให้สาขาของบิ๊กซีพุ่งพรวดทันทีเป็น 105 สาขา จากเดิม 60 สาขา และตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยเหลือคู่แข่งเพียง 2 เจ้าใหญ่ คือ เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ซึ่งกิจการควบรวมกันเสร็จสิ้นในเดือนมกราคม 2554

ปี 2556 บิ๊กซีปรับปรุงห้างคาร์ฟูร์ทั้งหมด 41 สาขา กลายเป็นบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 25 สาขา, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า 15 สาขา, บิ๊กซี จัมโบ้ 1 สาขา และปรับปรุงร้านคาร์ฟูร์ มาร์เก็ต 18 สาขา รวมถึงรีแบรนด์บิ๊กซี จูเนียร์ เป็น บิ๊กซี มาร์เก็ต และปรับปรุงร้านคาร์ฟูร์ ซิตี้ เป็นมินิบิ๊กซี ครบทุกสาขา หลังจากนั้นมีการขยายสาขาทุกปีและทดลองโมเดลใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันบิ๊กซีมีสาขาร้านค้าเกือบ 700 แห่ง แบ่งเป็น บิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ต 124 สาขา บิ๊กซีมาร์เก็ต 44 สาขา มินิบิ๊กซี 368 สาขา และร้านขายยาเพรียวอีก 161 สาขา โดยตามแผนปี 2559 จะขยายสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตเพิ่ม 6 สาขา มาร์เก็ต 3 สาขา มินิ 75 สาขา และเพรียว 3 สาขา โดยประเมินกันว่า ดีลซื้อกิจการบิ๊กซีน่าจะสูงถึง 200,000 ล้านบาท

ฉากต่อไปของสงครามช่วงชิง “บิ๊กซี” และอาจรวมถึง “เทสโก้โลตัส” ด้วย ที่มีตัวละครหน้าเดิมอย่าง “เซ็นทรัล” ของกลุ่มตระกูลจิราธิวัฒน์ เครือซีพีของกลุ่มตระกูลเจียรวนนท์ และทีซีซีกรุ๊ปของกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ไม่ว่าผู้ชนะเป็นใคร สงครามไฮเปอร์มาร์เก็ตพลิกโฉมทั้งสิ้นและเปลี่ยนจากยุค “ค้าปลีกต่างชาติ” เป็นของทุนไทยมากขึ้น

ล้อมกรอบ

17 ปี บิ๊กซี ถึงเวลาเอาคืน

๐ ปี 2356“บิ๊กซี” เปิดฉากธุรกิจซูเปอร์เซ็นเตอร์หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยเครือเซ็นทรัลและเครืออิมพีเรียลจับมือกันก่อตั้งบริษัท เซ็นทรัล ซูเปอร์สโตร์ จำกัดและเปิดห้างสาขาแรกบนถนนแจ้งวัฒนะในปี 2537
๐ ปี 2542 บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับกลุ่มบริษัท คาสิโน กรุ๊ป (Casino Group) จากประเทศฝรั่งเศส โดยคาสิโน กรุ๊ป เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน 530 ล้านหุ้น และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หลังจากเพิ่มทุนดังกล่าว
๐ ปี 2548ทดลองเปิดร้านบิ๊กซีในรูปแบบกะทัดรัด พื้นที่ค้าปลีกเฉลี่ย 6,000 ตารางเมตร
๐ ปี 2550เปิดตัวสินค้า ตราบิ๊กซี
๐ ปี 2551เปิดตัวสินค้าแฮปปี้บาท
๐ ปี 2552เปิดตัว บัตรสมาชิกรูปแบบใหม่ “บิ๊กการ์ด”
๐ ปี 2553บิ๊กการ์ด มีสมาชิกบัตรกว่า 5 ล้านคน
เปิดร้านขนาดเล็ก “บิ๊กซีมาร์เก็ต” และเปิดตัวสินค้าตราบิ๊กซีกลุ่มพรีเมียม
๐ ปี 2554บิ๊กซีซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทยและ เปิดตัวร้านค้ารูปแบบใหม่ “บิ๊กซีจัมโบ้”
๐ ปี 2555จับมือกับ บมจ. บางจากปิโตเลียม นำ “มินิบิ๊กซี” เปิดให้บริการในสถานีบริการน้ำมันบางจากทั่วประเทศ
๐ ปี 2557เปิดศูนย์กระจายสินค้าและเร่งการพัฒนาธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ
๐ ปี 2558เกิดกระแสข่าว คาสิโน กรุ๊ป ประกาศขายหุ้นบิ๊กซีในประเทศไทย
๐ ปี 2559คาสิโน กรุ๊ป ประกาศผ่านเว็บไซต์ groupecasino.fr ว่า หลังประกาศขายกิจการที่เวียดนาม มีผู้แสดงความสนใจจำนวนมากที่จะซื้อหุ้นบิ๊กซี ประเทศไทยด้วยจึงตัดสินใจขายหุ้นบิ๊กซีในไทยพร้อมๆ กัน ซึ่งครั้งนี้มีทุนไทยเสนอตัวซื้อกิจการ 3 รายใหญ่ คือ เครือเซ็นทรัล เครือซีพี และทีซีซีกรุ๊ป หากดีลนี้จบ บิ๊กซีจะกลับมาเป็นของทุนค้าปลีกไทยอีกครั้ง หลังถูกต่างชาติยึดครองกิจการมานานถึง 17 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น