เมื่อ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าพ่อน้ำเมาและธุรกิจหลากหลายในไทย ประสบความสำเร็จในเบื้องต้น เข้าซื้อกิจการ “บิ๊กซี” ในไทย ด้วยการเจรจาเป็นที่เรียบร้อยในการซื้อหุ้นจาก “กลุ่มคาสิโน” ที่ถือหุ้นใหญ่ใน “บิ๊กซี” โดย “ทีซีซีซี คอร์ปอเรชั่น” ในเครือของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่เข้าซื้อและขายหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมใน “บิ๊กซี” จาก “กลุ่มคาสิโน” รวมทั้งสิ้นจำนวน 483,077,600 หุ้น คิดเป็นจำนวนหุ้น 58.56% ของหุ้นที่ออกแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ในราคาต่อหุ้นเท่ากับ 252.88 บาท
ประเด็นที่น่าสนใจจากนี้คือ 1. “บิ๊กซี” จะเดินหน้าอย่างไร? ปรับเปลี่ยนอย่างไร? ซึ่งต้องมีแน่นอน ภายใต้อุ้งมือของ “เสี่ยเจริญ” ที่ต้องการสร้างอาณาจักรค้าปลีกในไทยและในเอเชียให้ได้ ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จก็แทบกระอักเลือด เพราะต้องผิดหวังมาก่อนหน้านี้หลายดีล ตั้งแต่การแย่งซื้อ “คาร์ฟูร์” การแย่งซื้อ “แม็คโคร” จนถึงกับต้องข้ามน้ำข้ามฟ้าไปเทกโอเวอร์ค้าปลีก “กลุ่มเมโทร” ที่ประเทศเวียดนามแทน
การเข้าซื้อ “บิ๊กซี” ได้สำเร็จในครั้งนื้จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มสัดส่วนการครอบครองตลาดค้าปลีกในไทยที่มีอยู่ในมือและในเครือของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ได้เป็นอย่างดีและมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของบริษัทสินค้าผู้บริโภครายใหญ่อย่าง “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” อยู่แล้ว ขณะที่ก่อนหน้านี้ บริษัท ทีซีซี กรุ๊ป ก็ได้บรรลุข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการของ “เมโทรกรุ๊ป แคช แอนด์ แคร์รี” บริษัทธุรกิจค้าส่งในเวียดนามด้วยมูลค่า 655 ล้านยูโร หรือประมาณ 25,656 ล้านบาท
อีกประเด็นคือ แล้ว “กลุ่มจิราธิวัฒน์” เจ้าของ “กลุ่มเซ็นทรัล” ในกลุ่มค้าปลีกภายใต้การนำของ “ทศ จิราธิวัฒน์” จะทำอย่างไรต่อไป? เมื่อกลายเป็นผู้ถือหุ้นรอง ทั้งๆ ที่ตัวเองก็มีศักดิ์ศรีความใหญ่ไม่แพ้กัน
เพราะถ้าหากรุก ก็ต้องรุกแบบเป็นรอง!
แต่ถ้าหาก “จิราธิวัฒน์” ถอย ด้วยการค่อยๆ เฟดเอาต์ หรือทยอยขายหุ้นออกไปในอนาคตก็ต้องคิดหนัก เพราะ “เซ็นทรัล” จะไม่มีธุรกิจไฮเปอร์มาร์เกตอยู่ในมืออีกแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ “คาร์ฟูร์” ก็ตกไปอยู่ในมือของ “บิ๊กซี” แล้ว สถานภาพเช่นนี้ย่อมกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแน่ จึงน่าจับตาเกมรับของ “จิราธิวัฒน์” ครั้งนี้ว่าจะเป็นอย่างไร?
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “กลุ่มเซ็นทรัล” มีธุรกิจค้าปลีกที่หลากหลายทั้งในไทยและในต่างประเทศ ยังคงเร็วไปที่จะวิเคราะห์ หรือมองว่า “กลุ่มเซ็นทรัล” จะทิ้งหรือไม่ทิ้งหุ้นใน “บิ๊กซี” หรือไม่ในอนาคต เพราะการถอนตัวออกไปนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะจะมีผลกระทบตามมาเช่นกัน เพราะธุรกิจเซกเมนต์ไฮเปอร์มาร์เกตนี้ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทำเงินได้ดี และเจาะกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย หากไม่มีเซกเมนต์นี้ “เซ็นทรัล” คงคิดหนัก และที่สำคัญเป็นแบรนด์และธุรกิจที่สร้างขึ้นมาเองกับมือก่อนที่จะตกอยู่ในมือต่างชาติอย่าง “คาสิโนกรุ๊ป” สามารถสร้างให้แข็งแกร่งถึงขนาดเหลือเพียง 1 ใน 2 แบรนด์ในเซกเมนต์นี้แล้วในไทยอีกรายคือ “เทสโก้ โลตัส” ด้วยเหตุนี้โอกาสที่ “เซ็นทรัล” จะสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเทียบชั้นอีกคงยากแล้วในสถานการณ์เช่นนี้
อย่างไรก็ตาม มีมุมมองคนในวงการอย่าง “สมชาย พรรัตนเจริญ” นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ให้ความเห็นถึงกรณีนี้ว่า กรณีที่ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ของประเทศไทยซื้อหุ้นใน “คาสิโนกรุ๊ป” ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ในนาม บริษัท ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ “ทีซีซี กรุ๊ป” ว่า อาจไม่มีผลต่อการยกระดับวงการธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งไทยให้สูงขึ้นนัก เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกไทยในปัจจุบันเริ่มอยู่ในภาวะทรงตัวอันเนื่องมาจากการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว
การซื้อกิจการ “บิ๊กซี” ของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการขยายอัตราส่วนช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ในเครือ “ไทยเบฟ” ให้กระจายสู่ผู้บริโภคมากขึ้น โดยคาดว่า “กลุ่มเซ็นทรัล” ซึ่งจะยังคงเหลือถือหุ้นบางส่วนใน บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จะยังคงรักษาการครอบครองหุ้นไว้เช่นเดิม เนื่องจากเป็นการเอื้อผลประโยชน์ในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งที่ “กลุ่มเซ็นทรัล” ยังคงต้องการรักษาความเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีกเอาไว้ให้ได้
“รูปแบบการดำเนินธุรกิจของบิ๊กซีในอนาคต คาดว่าจะมีการขยายสาขาต่อเนื่องจากปัจจุบันที่มีประมาณ 700 สาขา เพื่อให้มีจำนวนใกล้เคียงกับ เทสโก้ โลตัส ซึ่งมีกว่า 1.8 พันสาขาในทุกรูปแบบ ทั้งยังอาจมีการต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่ๆ ที่เทสโก้ โลตัส มีการดำเนินการจนประสบความสำเร็จ เช่น ประกันภัย รวมถึงบัตรเครดิต และอื่นๆ โดยคาดว่าผู้ผลิตสินค้า หรือซัปพลายเออร์ อาจต้องมีการปรับตัวเรื่องตัวเลขด้านยอดขายเพิ่มมากขึ้น” นายสมชายกล่าว
และแน่นอนที่สุดว่า เรื่องค่าจีพี หรือเงื่อนไขในการทำธุรกิจคงต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจาก บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีก “เทสโก้ โลตัส” กล่าวเพียงว่า บริษัทฯ ยังไม่มีความเห็นใดต่อกรณีนี้ เนื่องจากเพิ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและยังไม่ทราบความชัดเจนด้านนโยบายในอนาคตของ “บิ๊กซี” แต่ “เทสโก้ โลตัส” จะยังคงดำเนินกิจกรรมการตลาด พร้อมทั้งแคมเปญและโปรโมชันต่างๆ เพื่อมอบผลประโยชน์สูงสุดให้ลูกค้า ในฐานะที่เป็นผู้ค้าปลีกอันดับ 1 นอกเหนือจากบริษัทแม่ในประเทศอังกฤษ
ก่อนหน้านี้เว็บไซต์ของ “วอลล์สตรีท เจอร์นัล” ได้รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า บริษัท ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ “ทีซีซี กรุ๊ป” ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี จะเข้าซื้อหุ้น 58.6% ที่ “คาสิโน กรุ๊ป” ถือใน “บิ๊กซี” ด้วยราคา 252.88 บาทต่อหุ้น (7.10 เหรียญสหรัฐ) หรือประมาณ 3,460 ล้านเหรีญสหรัฐ หรือประมาณ 119,024 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการประกาศข้อตกลงนี้ก่อนตลาดหุ้นเอเชียเปิดซื้อขายรอบเช้าวันจันทร์ (8 ก.พ. 59)
การขายหุ้นของ “คาสิโน กรุ๊ป” ครั้งนี้นับเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญในการพยายามลดภาระหนี้สินของตน โดยยักษ์ใหญ่ค้าปลีกฝรั่งเศสรายนี้เพิ่งประกาศแผนลดหนี้ให้ได้ 4,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 156,680 ล้านบาทในปีนี้ รวมถึงการขายหุ้นใน “บิ๊กซี” และสินทรัพย์ค้าปลีกในเวียดนามด้วย
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ล่าสุดนี้ “กลุ่มเซ็นทรัล” ก็ยังคงเดินหน้ากับแผนงานเดิมที่วางไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดย นางสาวรำภา คำหอมรื่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน และรองประธานฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจาก “กลุ่มคาสิโน” ประกาศขายกิจการของ “บิ๊กซี” เวียดนามเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา และเริ่มได้ทราบถึงความสนใจระดับหนึ่งในการเข้ามาครอบครองหุ้นของ “บิ๊กซี” ประเทศไทย ล่าสุดบริษัทฯ ได้รับแจ้งจาก “กลุ่มคาสิโน” ว่า Géant International BV ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญาขายหุ้นกับ บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อและขายหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัทรวมทั้งสิ้นจำนวน 483,077,600 หุ้น คิดเป็นหุ้นจำนวน 58.56% ของหุ้นที่ออกแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ในราคาต่อหุ้นเท่ากับ 252.88 บาท ซึ่งราคาหุ้นอาจจะมีการปรับลงตามจำนวนเงินปันผล โดยผู้ขายอาจได้รับจากบริษัทฯ ตามมติที่ประชุมสามัญประจำปี 2559 ของบริษัทฯ และคาดว่าจะเสร็จสิ้นธุรกรรมการขายหุ้นไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2559 โดยภายหลังการเสร็จสิ้นธุรกรรมการขายหุ้น ผู้ซื้อจะต้องดำเนินการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯ ภายใต้ประกาศที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และกฎเกณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาก่อนที่จะดีลการซื้อขายหุ้นเสร็จสิ้น บริษัทฯ ได้ประกาศแผนดำเนินธุรกิจเน้นการขยายสาขาแห่งใหม่ในรูปแบบต่างๆ ไว้แล้ว คือ ขยายสาขาในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เกต จํานวน 6 สาขา ขยายสาขาในรูปแบบบิ๊กซีมาร์เก็ต จํานวน 3 สาขา และขยายสาขาในรูปแบบร้านมินิบิ๊กซี จํานวน 75 สาขา รวมถึงแผนการปรับปรุงพื้นที่เช่าและพื้นที่ขายของไฮเปอร์มาร์เกตให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 จํานวน 7 สาขา ซึ่งในจํานวนนี้รวมสาขาลพบุรีและสาขาบางพลีซึ่งได้เริ่มดําเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 เป็นต้นมา
ปัจจุบันบิ๊กซีมีจำนวนไฮเปอร์มาร์เกต 125 สาขา (บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า และบิ๊กซี จัมโบ้) บิ๊กซี มาร์เก็ต 55 สาขา มินิบิ๊กซี 394 สาขา และร้านขายยาเพรียว 146 สาขา
ศึกครั้งนี้ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เซ็นทรัลกรุ๊ป ของจิราธิวัฒน์ จะเดินหน้ารับมือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างไร?
เมื่อ “Big C” ต้องกลายเป็นของ “Big Charoen” หรือ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ไปแล้ว!