xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ย่างเข้าสุดสัปดาห์ไปเป็น “ชาวนาวันหยุด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุภชัย ปิติวุฒิ ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจ ชาวนาวันหยุด
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ในเครือข่ายโซเชียลมีเดีย ตั้งต้นโดยเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ชาวนาๆ วันหยุด” ในวันธรรมดาพวกเขาอาจจะเป็นมนุษย์เงินเดือนในสายอาชีพที่ต่างกันไป พร้อมๆ กับหันมาผูกมิตรกับวิถีเกษตรปลอดสารพิษ ลงทุนลงแรงปลูกข้าว โดยใช้เวลาเฉพาะในช่วงวันหยุดควบคู่งานประจำ

แน่นอน ไม่ใช่โหนกระแสสโลไลฟ์ หรือตั้งขึ้นมาเพิ่มความคูลแบบฮิปเตอร์

สุภชัย ปิติวุฒิ เป็นชาวนาวันธรรมดามันง่ายไป

“เกษตรกรในเครือข่ายชาวนาวันหยุดแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก ลูกหลานชาวนาในต่างจังหวัดที่เข้ามาใช้เข้ามาใช้ชีวิตเมืองศิวิไลซ์ และกลุ่มที่สอง คนรุ่นใหม่ ที่มีความสนใจอยากทดลองเริ่มปลูกข้าวปลอดสารเคมีไว้สำหรับบริโภค”

นั่นเป็นคำบอกเล่าจาก สุภชัย ปิติวุฒิ ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจ ชาวนาวันหยุด ซึ่งมีมีผู้ติดตามกว่า 70,000 ไลค์

หลังเรียนจบทางด้านเศรษฐศาสตร์ เขาเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นพนักงานประจำในบริษัทแห่งหนึ่ง ต่อมา เริ่มสนใจและและศึกษาข้อมูลการทำนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งพยายามหาเหตุของความยากจนในกลุ่มชาวนาเมืองไทย ที่ยังเผชิญกับวิกฤติปัญหาเดิมๆ ก่อนเข้าสู่ภาคปฏิบัติลงมือหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวในแปลงนา โดยวิธีการปลูกแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ต้นทุนต่ำ ประหยัดน้ำ ที่ปฏิบัติได้จริงให้ผลผลิตอย่าง เต็ม เม็ดเต็มหน่วย และแชร์องค์ความรู้ต่างๆ ในเพจชาวนาวันหยุด

แอดมินเฟซบุ๊ก ชาวนาวันหยุด เล่าเจตนารมณ์ว่า ต้องการให้กลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะลูกหลานชาวนา หันมาเห็นคุณค่าของการทำนาอาชีพของบรรพบุรุษที่สามารถสร้างผลผลิตและผลกำไร โดยนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในการปลูกข้าวและลงแรงเป็นชาวนาในวันหยุดด้วยตนเอง

“เมื่อก่อนมันมีวาทกรรม พ่อค้าคนกลาง ชาวนาปลูกข้าวไปให้โรงสีกดราคา คำถามผม คือ พ่อค้าคนกลางหรือโรงสีผิดไหม? ทุกคนทำธุรกิจซื้อถูกขายแพงกันทั้งนั้น แต่คำถามคือ ชาวนาปลูกข้าวแล้วก่อนปลูกก็ต้องสิว่าคุณขายใครให้ได้ราคาดี ลูกชาวนาก็เหมือนกันคุณต้องรู้ว่าพ่อแม่ควรปลูกข้าวขายใครขายให้ได้กำไร คุณต้องกลับมาแก้ปัญหาให้พ่อแม่ด้วย ไม่ใช่ว่าไปด่าโรงสี พ่อค้าคนกลาง ด่านักการเมือง มันไม่ใช่

“คนรุ่นลูกเขาไม่สนใจเขาเรียนจบมามีงานทำก็ไม่ได้กลับไปแก้ปัญหาของครอบครัวชาวนา คือมันมีทั้งเรื่องของการเมือง เรื่องของผลประโยชน์ กลุ่มทุนต่างๆ ผมก็เลยเริ่มไปศึกษาหาความรู้และก็ลงมือทำ เริ่มมาแชร์ในโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก ชาวนาวันหยุด, ยูทิวบ์, เว็บบล๊อก ฯลฯ ก็เริ่มมีคนเข้ามาสนใจ คือคนที่เข้ามากลุ่มแรกๆ เรียกว่าเป็นลูกหลานชาวนาเลยหละครับ ที่เริ่มเห็นว่ามันมีวิธีการทำนาแบบนี้ด้วย แล้วเริ่มกลับไปคุยกับพ่อแม่ แต่ว่าปัญหาคือรุ่นลูกไม่เคยทำ เขารู้แต่ไม่เคยทำ เราก็เลยท้าทายให้คนรุ่นใหม่ลงมือทำกับครอบครัว”

หลายปีมานี้ เริ่มมีคนรุ่นใหม่สมัครใจเป็นเกษตรกรทำนาปลูกข้าวกันเพิ่มมากขึ้น ทั้งในกลุ่มลูกหลานชาวนาเอง และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจ

“พอคนรุ่นใหม่ทำ เดี๋ยวนี้ด้วยค่านิยมนะ ทำแล้วก็โชว์แล้วก็แชร์ บางส่วนยืนระยะได้ไม่นาน บางทีผมก็ถามคนที่เข้ามานะ คือเข้ามาเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง หรือตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจด้วย คือถ้าตอบสนองความต้องการของตัวเอง เรื่องเงินอาจจะไม่จำเป็นไงครับ แต่ว่าเอาจริงๆ ส่วนใหญ่มีเรื่องของประเด็นทางเศรษฐกิจเข้ามา ผมทำตั้งแต่ช่วงที่ไม่มีคนทำ แล้วมันเป็นแนวทางเรื่องของการลดต้นทุน มันก็ทำให้คนที่นำไปใช้มีกำไร แต่ผมไม่ได้บอกให้มนุษย์เงินเดือนมาทำนา ผมมองว่าทำคู่ขนานกับงานประจำ เอาวันหยุดวันเสาร์อาทิตย์เนี่ยเป็นตัวเชื่อมต่อ”

องค์ความรู้เครือข่ายชาวนาวันหยุดสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติได้ครบสูตร สถานการณ์ภัยแล้งวิกฤติจนรัฐบาลวิงวงชาวนางดทำนาปรัง แต่พวกเขาสามารถรับมือได้ซึ่งเป็นผลจากการเสาะแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ

“โดยพื้นฐานเราเชื่อมั่นในศักยภาพของชาวนา เพียงแต่ว่าเรื่องของพวกนโยบายประชานิยมทำให้อ่อนแอ ทำให้คนกลุ่มนี้เหมือนโดนเลี้ยงไข้ เราดูแล้วเหมือนไปลดลดทอนศักยภาพความเป็นมนุษย์ลง เราไม่อยากเห็นภาพแบบนั้นเพราะมันไม่ใช่ ถ้าเราจะแก้ปัญหาประเทศ ควรที่ทำให้ทุกคนรู้จักหน้าที่ของตัวเอง” สุภชัยแสดงความคิดเห็นทิ้งท้ายถึงวิถีชาวนารุ่นใหม่
ภาวัต พุฒิดาวัฒน์
ภาวัต พุฒิดาวัฒน์ โปรแกรมเมอร์วันธรรมดา ชาวนาวันหยุด

เมื่อคนรุ่นใหม่เริ่มสมัครใจเป็นเกษตรกร คำขึ้นต้นด้วยอาชีพหลักในวันธรรมดา ถูกนำมาล้อกับคำว่า 'ชาวนาวันหยุด' พ่วงท้ายอย่างดาษดื่นในโซเชียลมีเดีย รวมถึง ภาวัต พุฒิดาวัฒน์ โปรแกรมเมอร์ดีกรีปริญญาโท ผู้เติบโตจากครอบครัวชาวนา เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ 'โปรแกรมเมอร์วันธรรมดา ชาวนาวันหยุด'

เขายิ้มร่ายอมรับว่าเคยพยายามเลี่ยงทำนาเพราะเห็นว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ลำบาก ก็เลยขวนขวายร่ำเรียนด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ จนสร้างเนื้อสร้างตัวได้ ซึ่งศึกษาเรื่องการทำนาไป ด้วยเพราะโตมาจากครอบครัวชาวนา ต่อมาก็อยากให้ครอบครัวใน จ.พิจิตร มาอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ ทว่า ชีวิตคนเมืองคงไม่ใช่วิถีที่พ่อแม่ซึ่งเป็นเกษตรกรจะมีความสุข ต่อมาติดตามเพจชาวนาวันหยุด ทราบว่ามันมีการทำนาแบบลดต้นทุน ซึ่งเป็นแรงขับให้เขากลับบ้านไปเป็นชาวนาวันหยุด

“ก่อนหน้านั้นผมก็ศึกษาการทำเกษตรอินทรีย์มาเยอะ 3ปีได้ครับ ชวนที่บ้านทำ ซึ่งเขาไม่เชื่อว่าจะได้ผลผลิตที่ดียังเชื่อในวิธีการเดิมๆ ที่ใช้ยาฆ่าแมลง เพื่อให้ข้าวสมบูรณ์ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยาเยอะๆ ผมก็ทำให้เขาเห็นขอแปลงนาจำนวน 8 ไร่ แล้วเริ่มลงมือปลูกโดยวิธีเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว รูปแบบเกษตรอินทรีย์ และกลับบ้านไปทำเองทุกอาทิตย์ ปรากฏว่าผลผลิต8 ไร่ เฉลี่ยแล้วได้ไร่ละ 1 ตัน แค่ฤดูกาลแรกนะ ปกติได้ 600 - 700กิโลกรัม พอท่านเห็นก็เริ่มเปลี่ยนวิธีการเป็นแบบนี้ทั้งหมด เพราะว่าฤดูกาลนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าได้ผลผลิตที่ดี ตอนนี้เราหนีตลาดโรงสีได้แล้ว เมื่อเรารูวิธีการเปียกสลับแห้งแกล้งข้าวมันทำให้เราได้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ก็เลยขายข้าวให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ข้าวและเราไม่ต้องเข้าโครงการจำนำข้าวเลย เมล็ดพันธุ์ดีและสวย มีคนมาเหมาหน้าแปลงขอไปทำเมล็ดพันธุ์เลย ตอนนี้ก็ดีใจที่ได้กลับไปช่วยที่บ้านครับ”

การที่เติบโตจากครอบครัวชาวนาทำให้เขาเห็นถึงปัญหาอย่างชัดเจน และการกลับไปทำนาวันนี้เขาพิสูจน์ให้เห็นศักยภาพชาวนารุ่นใหม่

“ผมรู้สึกว่าชาวนาไม่มีความสุขในการทำนา เพราะว่าน่าจะพอทราบกันว่าสถานการณ์ชาวนาในบ้านเป็นอย่างไร มีข่าวขายนาทิ้ง ผูกคอตาย เป็นหนี้แล้วก็ราคาข้าวค่อนข้างตกลง แล้วก็ผมเห็นแล้วละว่ามันมีโครงการที่รับจำนำข้าว คือเราก็พอรู้ว่าถ้าเกิดมีนโยบายนี้ต่อไป อะไรที่จะตามมาเพราะว่าเนื่องจากโครงการนี้ไปเบียดเบียนกลไกของตลาด แล้วเป็นการทำให้ชาวน่าไม่พัฒนาโปรดักต์ของตัวเอง เพราะว่ารอแต่เงินของภาครัฐ คิดว่าได้เงินจำนำอยู่แล้วก็ไม่ได้ไปดูแลเอาใจใส่พัฒนาอะไร เมล็ดพันธ์ที่สมบูรณ์มากขึ้น ผมคิดว่าถ้าเกิดเขามีโครงการนี้ต่อไปต้องมีอะไรเกิดขึ้นแน่ๆ

“ผมกลับไปช่วยที่บ้านทันพอดี ชาวนาต้องลดต้นทุนให้ได้เขาถึงมีความสุขแบบผม ผมอยากให้ทุกคนที่เป็นลูกหลานชาวนารู้มากเลย เขาเหมือนมีสมบัติอยู่หน้าบันไดบ้านแต่เขากลับไปช่วยคนอื่นขุดสมบัติในเมืองกรุง เพียงแต่ว่าต้องรู้วิธีการ เพราะว่าข้าวเป็นพืชที่ทนมาก แต่ว่าเราถูกสอนว่าข้าวต้องใส่ปุ๋ยใส่ยาฆ่าแมลง แต่จริงๆ ไม่ใช่เลยฮะ ข้าวมีศักยภาพของมัน ซึ่งได้เรียนรู้จากเพจชาวนาวันหยุด”

หนุ่มโปรแกรมเมอร์วันธรรมดาชาวนาวันหยุด ทิ้งท้ายว่า การทำนาไม่ใช่เรื่องยากถ้ามีการศึกษาอย่างจริงจัง “โลกของเราแบ่งเป็น 3 ยุค ยุคแรกเป็นยุคของอุตสาหกรรม ยุคของเราคือยุคอินฟอร์เมชั่น ยุคถัดไปเป็นยุคของอาหารปลอดภัย จะเป็นยุคที่พื้นที่การทำการเกษตรจะน้อยลง เนื่องจากการสภาพอากาศทำให้แต่ละพื้นที่ไม่สามารถปลูกพืชได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้น ในยุคถัดไปใครที่มีที่ดินแล้วเริ่มปฎิวัติตัวเองตั้งแต่ยุคนี้พอไปถึงยุคหน้าจะสบายมากเลย คือเรามีที่อยู่แล้วทำไมเราไม่กลับไปช่วยพ่อแม่เราทำ ถ้ากลับไปตอนเราใกล้เกษียณ มันไม่ทันแล้ว”
ดร.มนต์อมร ปรีชารัตน์
ดร.มนต์อมร ปรีชารัตน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยวันธรรมดา ชาวนาวันหยุด

คนรุ่นใหม่ผู้ก่อร่างสร้างความฝันในวัยเด็กให้เป็นรูปเป็นร่าง ดร.มนต์อมร ปรีชารัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจอาจารย์มหาวิทยาลัยวันธรรมดา ชาวนาวันหยุด เล่าว่า การเป็นเกษตรกรปลูกข้าวทำไร่นาเป็นการเติมเต็มความฝันที่อยากเป็น “เจ้าของฟาร์ม” และ “ครู” ซึ่งวันนี้ได้ทำอาชีพที่เธอรักควบคู่กันไป

เริ่มศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง จนกระทั่งไปติดตามเพจชาวนาวันหยุด องค์ความรู้ที่รวบรวมไว้และสามารถปฏิบัติได้ ทั้ง วิธีการปลุกข้าว การจัดการแหล่งน้ำ รับมือวิกฤติภัยแล้ง ฯลฯ ก่อนเริ่มลงแรงปลูกข้าว โดยใช้ที่ดินของครอบครัวทดลองทำนาใน จ.ลำพูน ปลูกข้าวอินทรีย์ ไรซ์เบอรี่ ระบบการทำนาแบบประณีต (SRI - System of Rice Intensification)

“ใช้เวลาค้นหาตัวเองอยู่สักพักหนึ่งว่าสิ่งที่เราอยากจะให้มันเป็นแบบไหน คำตอบคือเราจะมาทำนาปลูกข้าว เพราะจริงๆ เรามีที่นาอยู่แล้ว คือเรามองภาพรอบๆ ตัว ในสังคมทุกวันนี้คนมักจะเจ็บป่วย ล้มป่วยก่อนวัยอันควร รอบข้างของเราอายุ 20 - 30 ปี ก็เจ็บป่วยกันแล้ว บวกกับคุณพ่อเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยมาก ก็เริ่มตระหนักขึ้นว่านอกจากการออกกำลังให้สุขภาพแข็งแรงแล้วนั้น มันก็น่าจะมาจากอาหาร แล้วความที่ชอบท่องเที่ยวมานั่งคิดผสมกันว่าทำไมชาวบ้านที่อยู่ต่างจังหวัดเขาถึงมีสุขภาพที่ดี จนได้คำตอบว่าสิ่งที่เราอยากจะทำคือการปลูกข้าวปลอดสารเคมี”

ความที่เป็นมือใหม่มาก ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้แม้แต่นิดเดียว มีความกังวลไม่น้อยว่าจะไหวหรือเปล่าเพราะจบด้านฟิสิกส์มา แต่ในที่สุดแปลงนาก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาโดยการศึกษาด้วยตัวเอง และประสบการณ์ความรู้ที่ได้รับการแบ่งปันจากเครือข่าวชาวนาวันหยุด

“พอทำแล้วเราก็มองว่ามันมีหลายๆ คนได้ประโยชน์ในหลายๆ มิตินะ เราไม่ได้ปลูกแค่ข้าว แต่เป็นแรงบันดาลใจให้คนเมืองมาตระหนักอีกด้วย ในเรื่องของการเลือกรับประทานอาหารที่ปลอดสารพิษมากขึ้น เป็นแรงบันดานใจให้คนต่างจังหวัดหลายๆ คนที่เข้ามาหางานทำในเมือง ที่เป็นลูกหลานชาวนา ในฐานะคนเมืองเราสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย และเราสามารถเอาความรู้กลับไปช่วยที่บ้านได้

“บวกกับทำงานด้านวิทยาศาสตร์ เอาเข้าจริงๆ ของพวกนี้มันแยกกันไม่ได้ ก็เลยอยากเป็นตัวกลางเชื่อมโยงโลกวิทยาศาสตร์กับโลกเกษตรกรรม ถ้าเราลงไปตรงนี้อาจจะได้เจอปัญหาทางด้านการเกษตรกรรมเก็บมาเป็นโจทย์วิจัยแชร์ให้กับเพื่อนๆ ในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รับทราบและอาจจะมีไอเดียในการทำงานเพื่อกลับมาแก้ไขให้กับชาวนามากขึ้นก็ได้”

เริ่มแรกนั้นต้องการปลูกข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน แต่การที่ได้ผลผลิตจำนวนมากซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อไปว่าจัดการอย่างไร

“ตั้งใจปลูกไว้กินเอง เรารู้สึกว่าข้าวอินทรีย์มันแพง ข้าวปลอดภัยมันหายาก ราคากิโลกรัมละเป็นร้อย เราไม่อยากเสียเงิน แล้วเราจะได้ค้นหาด้วยว่าจริงๆ แล้วต้นทุนมันเท่าไหร่ เราทำได้ไหม และเราก็เริ่มเข้าใจระบบ เราอยากให้ครอบครัวเริ่มต้นด้วยตัวเราหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน หันมาตระหนักเรื่องนี้ อย่างน้อยเราก็มีข้าวไว้กิน แต่ตอนการทำนาเราไม่ได้ปลูกเป็นแอเรียเล็กๆ เพราะว่ามันทำไม่ได้ ด้วยความสมดุลทางพื้นที่และการจัดการแรงงาน หลายๆ อย่าง ต้องทำระดับ 1 ไร่ขึ้นไป และพบว่าสมมุติครอบครัวนึงมีสมาชิก4 คน เดือนนึงจะกินข้าวแค่ 10 กิโลกรัมเอง ปีนึงครอบครัวต้องการประมาณ 100 กิโลกรัม แต่ปรากฏว่าผลผลิตข้าวของ1 ไร่ ได้ประมาณ 500 กิโลกรัม - 1 ตันเลยทีเดียว ก็ทำให้เริ่มคิดว่าเรามาถึงจุดที่ต้องแบ่งปันสู่เพื่อนบ้านและชุมชนบ้างแล้ว”

ประชากรชาวนาวันหยุดเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ศึกษาภาคทฤษฏีในโซเชียลมีเดียก่อนเข้าสู่ภาคปฏิบัติหว่านเมล็ดพันธุ์ดีรอรับผลกำไรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แน่นอนว่า กลุ่มชาวนาวันหยุดซึ่งอีกพาร์ทหนึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือนได้พิสูจน์ให้เห็นถึงผลิตผลงองงามโดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือในกรอบแนวคิดเกษตรอินทรีย์

…............
ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ชาวนาวันหยุด, โปรแกรมเมอร์วันธรรมดา ชาวนาวันหยุด และ อาจารย์มหาวิทยาลัยวันธรรมดา ชาวนาวันหยุด


กำลังโหลดความคิดเห็น