xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มน้ำปี 59 มีน้อย ชลประทานอ่างทองเร่ง ปชส.ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายปรีชา พันธุ์วา ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอ่างทอง
อ่างทอง - ชลประทานเร่งประชาสัมพันธ์ และขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดทำนาปรัง หลังแนวโน้มน้ำต้นทุนที่ใช้ในการเพาะปลูกในปี 59 มีน้อย พร้อมจ้างแรงงานเสริมรายได้ในฤดูแล้ง ด้านชาวนายังสู้เสี่ยงทำนาเนื่องจากไม่รู้จะไปทำงานอะไร

วันนี้ (1 ต.ค.) นายปรีชา พันธุ์วา ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอ่างทอง กล่าวว่า สำนักงานชลประทานอ่างทอง ได้ดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รณรงค์ให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงกิจการประกอบอาชีพแทนการปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้ง ปี 2558/59 โดยออกทำความเข้าใจ และสร้างการรับรู้เรื่องสถานการณ์น้ำ และการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก่อนฤดูนาปรัง ปี 2558/59 เพื่อขอความร่วมมือจากเกษตรกรในการงดเพาะปลูกข้าวในช่วงฤดูนาปรังที่จะมาถึง

เนื่องจากสถานการณ์น้ำต้นทุนตามเขื่อนต่างๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีอยู่จำนวนน้อย ซึ่งคาดการณ์ว่า ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2558 ปริมาณน้ำใช้ใน 4 เขื่อนหลักจะเหลือให้ใช้เพียง 3,677 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร รักษาระบบนิเวศ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรกรรม 177 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับทำนาปรังในช่วงเดือน พ.ย.58 ถึง เม.ย.59 ที่เหลือเป็นการสำรองน้ำต้นทุนในช่วง พ.ค.-มิ.ย.59 จำนวน 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีไปแล้วควรงดทำนาปรังในฤดูแล้งนี้ ซึ่งทางกรมชลประทานมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยการจ้างแรงงานเพื่อเสริมรายได้ในช่วงฤดูแล้ง โดยใช้งบรายจ่าย ประจำปี 2559 จำนวน 502 งาน งบประมาณ 1,892,670 ล้านบาท จำนวนแรงงาน 968 คน ค่าจ้างแรงงาน 260,793 ล้านบาท และงบกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลปี 25588 (เพิ่มเติม) จำนวน 163 งาน งบประมาณ 102.96 ล้านบาท จำนวนแรงงาน 1,625 คน ค่าจ้างแรงงาน 46 ล้านบาท รวมถึงลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำ และการให้ความช่วยเหลือตามความรับผิดชอบ พร้อมกับให้เกษตรกรได้เลือกมาตรการให้การช่วยเหลือได้

นายบุญลือ วงสงฆ์ อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 72/1 หมู่ที่ 1 ตำบลศาลาแดง อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ชาวนา กล่าวว่า ตนทำนาอยู่ 80 ไร่เป็นอาชีพตั้งแต่เกิดมา ถ้าหากไม่มีน้ำทำนาก็ต้องเจาะบ่อบาดาลเอาน้ำจากใต้ดินมาช่วยเสริม ซึ่งก็ต้องเสี่ยงทำนาถ้าได้ก็คือได้ แต่ถ้าเสียก็ต้องยอมรับสภาพกันไป โดยตนคาดว่าข้าวในนาจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในต้นปีหน้า จากนั้นก็จะหยุดทำนาแล้วหันไปปลูกพืชผักสวนครัวเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น