xs
xsm
sm
md
lg

เผยน้ำ 4 เขื่อนต้นทุนลุ่มเจ้าพระยาเหลือใช้งานแค่ร้อยละ 18

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กรมชลฯ เผยน้ำ 4 เขื่อนต้นทุนลุ่มเจ้าพระยาลดลงต่อเนื่อง เหลือใช้งานได้แค่ร้อยละ 18 วอนเกษตรกรงดทำนาปรัง เหตุใช้น้ำเกินแผนจัดสรรมากแล้ว ขอสำรองน้ำไว้ใช้ต้นฤดูฝน-ฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค.

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ส่งไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำรวม 10,056 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 40 ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำใช้การได้ 3,360 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 18 โดยเขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,442 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำใช้การได้ 1,642 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,129 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 43 ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำใช้การได้ 1,279 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 246 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 26 ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำใช้การได้ 203 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 239 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 25 ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำใช้การได้ 236 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ปริมาณ้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ที่สุดของลุ่มน้ำเจ้าพระยาลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยังต้องส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ก่อนจะสิ้นสุดฤดูแล้งช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ ซึ่งยังต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนด้วย โดยการใช้น้ำช่วงฤดูแล้งปี 2556/2557 เฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 7,025 ล้าน ลบ.ม. หรือเป็นร้อยละ 133 ของแผนจัดสรรน้ำ ซึ่งยังคงเกินแผนที่วางไว้

โดยจากการสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง พบว่า ยังคงมีเกษตรกรบางส่วนทำนาปรังอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กรมชลประทานได้ประกาศงดส่งน้ำไปแล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง และความเสียหาย จึงขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง ใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ฤดูฝนปีนี้มีแนวโน้มจะมาช้ากว่าปกติ จึงต้องสำรองน้ำไว้ใช้สำหรับสนับสนุนนาปีช่วงต้นฤดูฝน รวมถึงภาวะฝนทิ้งช่วงเดือนมิถุนายน ถึงกรกฎาคมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น