ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เกษตรกรใน จ.ขอนแก่น ฝ่าวิกฤตแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี เปลี่ยนปลูก “ปอเทือง” พืชทางเลือกใหม่ สร้างรายได้แทนทำนาปรังที่เสี่ยงต่อการขาดทุน เพราะขาดน้ำลำต้นแคระแกรน เผยปลูกปอเทืองใช้ต้นทุนต่ำและทนแล้ง นอกจากเก็บเมล็ดพันธุ์ขายแล้วยังสามารถไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดปรับคุณภาพดินรับการทำนาปีได้เป็นอย่างดี
“ปอเทือง” พืชตระกูลถั่วกำลังได้รับความนิยมจากเกษตรกรในหลายพื้นที่ของ จ.ขอนแก่น หลังจากต้องประสบปัญหาแล้งซ้ำซากทุกปี เกษตรกรเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่กับภาวะแล้งร้อน โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการปลูกข้าวนาปรังหรือพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ที่ฝืนปลูกมาหลายปีท้ายสุดต้องขาดทุน ได้ผลผลิตไม่เต็มที่
ล่าสุดหน้าแล้งปีนี้ ที่ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จแล้ว มีเกษตรกรหันมาปลูกปอเทืองแทนการทำนาปรัง รวมกันแล้วมากกว่า 1,000 ไร่ เกษตรกรเหล่านี้ต่างให้เหตุผลที่เลิกทำนาปรังเหมือนกันว่า หากฝืนทำนาหน้าแล้งต่อมีแต่ความเสี่ยง ได้ผลผลิตข้าวเปลือกน้อย เพราะไม่มีน้ำมากพอ “ปอเทือง” ไม่ต้องการน้ำมาก ไม่ต้องดูแลรักษามาก ให้ผลผลิตดี จึงเป็นพืชทางเลือกใหม่
อ.ชนบท เป็น 1 ใน 19 อำเภอ จาก 26 อำเภอของ จ.ขอนแก่น ที่ทางจังหวัดได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง และขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง เพราะขณะนี้ 8 ตำบล 69 หมู่บ้านกว่า 3,000 ครัวเรือนในอำเภอชนบท ได้รับผละกระทบจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคอย่างหนัก
น.ส.บุญมี ชะทา อายุ 44 ปี เกษตรกร ต.วังแสง อ.ชนบท เล่าว่า หลังจากเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้เก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จสิ้น ตนได้ไปซื้อเมล็ดพันธุ์ปอเทืองมาหว่านในพื้นที่นาทั้ง 6 ไร่ ขณะนี้ปอเทืองได้ออกดอกสีเหลืองสวยงามไปทั่วพื้นที่เพาะปลูก และในราวต้นเดือนเมษายนนี้ จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งพ่อค้า ที่มารอรับซื้อถึงที่ในกิโลกรัมละ 20-22 บาท ซึ่งครอบครัวของตนจะมีรายได้ราว 5,000-6,000 บาทต่อไร่ หากมีพื้นที่ว่างจะขยายพื้นที่การเพาะปลูกในปีถัดไป
เช่นเดียวกับนายทองเปลว ชะทา ผู้ใหญ่บ้านห้วยไผ่ ต.วังแสง อ.ชนบท ที่ได้หันมาปลูกปอเทือง ระบุว่า ตนหันมาปลูกปอเทืองเพื่อนำเมล็ดพันธุ์ไปขาย โดยใช้เวลาในการปลูกและเก็บเกี่ยวไม่นานนัก พอๆ กับการทำนา ที่สำคัญนอกจากเก็บเมล็ดพันธุ์จะขายได้แล้ว ยังได้ประโยชน์หลังเก็บเกี่ยว โดยไถ่กลบต้นปอเทืองถือเป็นปุ๋ยพืชสดชั้นดี ช่วยฟื้นฟูคุณภาพดิน ให้ดินอุดมสมบูรณ์ ปรับสภาพผิวดิน ส่งผลดีต่อการทำนาปีในช่วงเดือนพฤษภาคมได้เป็นอย่างดี
“ปอเทืองเป็นพืชทนแล้งตัวใหม่ที่แทบไม่ต้องใช้น้ำ อาจรดน้ำในช่วงหว่านเมล็ดใหม่ๆเท่านั้น หลังจากนั้นก็ปล่อยทิ้งไว้รอเก็บเมล็ดขายและไถกลบให้เป็นปุ๋ย ประหยัดได้มากไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมี มาใส่นาข้าว การทำนาปรังเลิกไปเลยดีกว่า เพราะแล้งจัดฝืนปลูกไปก็ไม่ได้ผลผลิตข้าว” นายทองเปลวกล่าว
“ปอเทือง” เป็นพืชตระกูลถั่วลักษณะเป็นไม้พุ่ม สูง 100-300 เซนติเมตร เป็นพืชไม่ต้องการน้ำ เพาะปลูกง่าย เพียงหว่านเมล็ดไปตามร่องเกี่ยวข้าว แต่จะต้องให้ดินมีความชื้น เมื่ออายุได้ราว 120 วัน หรือไม่เกิน 4 เดือน ก็สามารถเก็บส่วนของเมล็ดปอเทืองที่เป็นผลผลิตขายได้
ด้าน นายปรีชา ราชนา เกษตรอำเภอชนบท ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการปลูกปอเทืองได้รับความนิยมจากชาวนาค่อนข้างแพร่หลาย และมีแนวโน้มจะขยายการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะการปลูกปอเทืองใช้ต้นทุนต่ำใช้น้ำน้อย ต่างจากการทำนาปรัง ต้องใช้น้ำในปริมาณมากและมีปัญหาแหล่งน้ำ โดยเกษตรกรจะเริ่มปลูกปอเทืองหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จ ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม
นอกจากอำเภอชนบทแล้ว เกษตรกรในพื้นที่อำเภอแวงใหญ่ จ.ขอนแก่น ก็หันมาปลูกปอเทืองแทนการทำนาปรังไม่น้อยเช่นกัน ในหน้าแล้งปีนี้ ในอำเภอแวงใหญ่ มีพื้นที่ปลูกปอเทืองมากกว่า 5,000 ไร่ โดยปลูกกันมากในตำบลโนนทอง ตำบลโนนสะอาด ตำบลคอนฉิม และเนื่องจากความสวยงามของดอกปอเทืองสีเหลืองอร่ามเป็นบริเวณกว้างนั้น ทางอำเภอแวงใหญ่กำลังพยายามประชาสัมพันธ์ให้ทุ่งปอเทืองเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่นักท่องเที่ยวหรือประชาชนทั่วไปสามารถแวะชมและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
โดยเฉพาะในช่วงที่ “ปอเทือง” ออกดอกบานสะพรั่งเต็มที่ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปี จะมีผู้คนแวะเวียนไปเที่ยวชมยลความงามของพืชทนแล้งชนิดนี้เป็นจำนวนมาก