ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชเร่งบริหารน้ำใช้ให้เพียงพอหน้าแล้ง แม้ 5 เขื่อนใหญ่ปริมาณน้ำเหลือมาก แต่พื้นที่นอกเขตชลประทานน่าห่วง ผู้ว่าฯ สั่งงดทำนาปรัง ชี้ อ.พิมายเจอแล้งรุนแรงสุดหลังน้ำท่วมหนัก ด้าน ปภ.จังหวัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจแก้ปัญหาแล้ง 24 ชม. ขณะชลประทานฯ เผยน้ำในเขื่อนใหญ่และกลางเหลือ 88% ของความจุ แต่ขอความร่วมมือ ปชช.ใช้น้ำประหยัด
วันนี้ (17 ก.พ.) นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.นครราชสีมาว่า ล่าสุดปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 5 เขื่อน โดยภาพรวมยังเหลืออยู่ปริมาณมาก ฉะนั้นพื้นที่ในเขตชลประทานไม่น่าห่วงและไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่นอกเขตชลประทานและประชาชนทำนาปรังก็เริ่มมีปัญหา ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลและจะเรียกประชุมเพื่อวางมาตรการในการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ส่งเสริมให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย รวมถึงการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้มีน้ำดื่มน้ำใช้ โดยเน้นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมาเป็นอันดับแรก และน้ำเพื่อการเกษตรเป็นอันดับรองลงมา
ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้แจ้งเตือนให้งดทำนาปรัง ขอให้ปฏิบัติตามคำเตือนของทางราชการด้วยเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ส่วนพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงและประสบภัยแล้งรุนแรงในขณะนี้คือ อ.พิมาย แม้จะเป็นพื้นที่รับน้ำและเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากไม่มีพื้นที่เก็บน้ำจึงทำให้ประสบภาวะภัยแล้งและขณะนี้นาปรังของเกษตรกรกำลังได้รับความเสียหาย
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ จ.นครราชสีมายังไม่มีการประกาศพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้ง ตอนนี้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการช่วยเหลือได้ในวงเงินตามอำนาจของท้องถิ่น หากเกินความสามารถจะเสนอมายังจังหวัดเพื่อประกาศพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้งต่อไป และขณะนี้ได้มีการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ปัญหาภัยแล้งขึ้นในทุกอำเภอแล้ว
ด้าน นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ปภ.จังหวัดได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งขึ้นที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ถ.สุรนารายณ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและรวบรวมข้อมูลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และดำเนินการตามแผนป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด โดยประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งเตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกล รถบรรทุกน้ำ ให้พร้อมเพื่อปฏิบัติงานการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยแล้งอย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ หากประชาชนในพื้นที่ จ.นครราชสีมาได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถแจ้งเหตุสาธารณภัยได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา หมายเลขโทรศัพท์ 0-4424-2230, 0-4424-2131, 0-4424-2280 หรือสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่สำนักงานชลประทานจังหวัดนครราชสีมารายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของ จ.นครราชสีมา ว่า ขณะนี้เขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 โครงการมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 844.99 ล้าน ลบ.ม. หรือ 90.07% ความจุที่ระดับเก็บกักรวม 938.12 ล้าน ลบ.ม. เช่น เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำ 243.77 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77.51 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 22 โครงการ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 180.804 ล้าน ลบ.ม. หรือ 79.79% ความจุที่ระดับเก็บกักรวม 226.74 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 1,025.89 ล้าน ลบ.ม. หรือ 88.07% ความจุที่ระดับเก็บกักรวม 1,164.86 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาผู้ประสบภัยในช่วงฤดูแล้งปี 2557 นั้น ทางชลประทานจังหวัดได้เตรียมประชุมหารือ วางแผนเพื่อบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งตามเกณฑ์ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า และจัดจราจรทางน้ำ รวมถึงประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในภาพรวม รายงานโดยศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำสำนักชลประทานที่ 8 และสนับสนุนเครื่องจักรกลได้แก่ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เป็นต้น