ละครดราม่าตลบแตลงเสแสร้งไม่มีเงินใช้ทุนคืนของ ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใกล้อวสานแล้ว เมื่อเจออัยการสูงสุดฟ้องล้มละลาย จากนี้ “ชีวิตดี๊ดีที่ฮาร์วาร์ด” ของนางคงไม่สงบสุขอีกต่อไป นี่ถือเป็นบทเรียนราคาแพงของคนเก่งแต่โกง และสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกทั้งมหิดลและฮาร์วาร์ด ก็พลอยเสื่อมเสียชื่อเสียงเพราะอุ้มชูคนเก่งคุณธรรมต่ำที่สังคมยอมรับไม่ได้
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แถลงชัดได้ส่งเรื่องฟ้องล้มละลายนางสาวดลฤดี ให้สำนักงานอัยการสูงสุดไปตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2558 และอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 จึงไม่มีปัญหาเรื่องคดีที่จะหมดอายุความในวันที่ 15 มีนาคม 2559 ซึ่งจำนวนเงินที่นางสาวดลฤดี จะต้องชดใช้คืน มากกว่า 30 ล้านบาท เพราะต้องบวกดอกเบี้ยร้อยละ 7 นับตั้งแต่ปี 2549 ด้วย
“ดลฤดี” มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? ต้องนึกขอบคุณแรงกดดันอันทรงพลังจากสังคมโซเชียล ที่ไม่เพียงกระชากหน้ากากคนเก่งคุณธรรมต่ำนางนี้ แต่ยังทำ ให้สถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกทั้งมหิดลและฮาร์วาร์ด ที่เกื้อหนุนพาดบันไดให้นางไต่สู่ความมีชื่อเสียงและร่ำรวยโดยไม่แยแสความเดือดร้อนแสนสาหัสของอาจารย์และเพื่อนมิตร ถูกตั้งคำถามถึงเรื่องคุณธรรมขั้นพื้นฐานและต้องกลับมาทบทวนความผิดพลาดกันใหม่
ตีแผ่อุทาหรณ์สอนใจ ระวังคนเก่งแต่โกง
ความหวังดีที่เจ็บปวดใจของผู้ค้ำประกัน กลายเป็นประเด็นร้อนแรง ขึ้นมา เมื่อ ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ ทันตแพทย์เจ้าของคลินิกแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี 1 ใน 4 ผู้ค้ำประกันให้ ทพญ.ดลฤดี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตีแผ่ให้เห็นเป็นอุทาหรณ์ว่าคนที่มีการศึกษาดี มีชาติตระกูล ไม่ได้หมายความว่าจะทำเรื่องอย่างนี้ไม่ได้
และนี่ยังเป็นเรื่องของการเสียโอกาสของประเทศชาติโดยรวมที่ใช้จ่ายภาษีของประชาชนเพื่อลงทุนสร้างมันสมองของประเทศ สมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหันกลับมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แทนที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจนเป็นปกติเหมือนเช่นที่ผ่านๆ มา เพราะกรณีเช่นดลฤดี ไม่ใช่รายแรกและรายสุดท้ายแน่นอน
จุดเริ่มของการสืบสาวราวเรื่องและแชร์กันสนั่นโลกออนไลน์ เกิดจากความอัดอั้นของ ทพ.เผด็จ ที่โพสต์เรื่องลงเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “ทพ.เผด็จ หมอทอม” เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 มีใจความว่า “สิ้นสุดสักทีกับกรรมเก่า ผมได้ชดใช้ให้แล้ว รวมยอดกับที่ต้องชำระให้อีกร่วมล้าน กับการค้ำประกัน นางสาว....อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทย์ ม.มหิดล ผู้ซึ่งรับทุนศึกษาต่อที่อเมริกา โดยมีผมซึ่งเข้ามาเรียนที่มหิดลในฐานะคนรู้จักแต่ด้วยความที่เห็นแก่คณะและวิชาชีพ จึงยอมค้ำประกันร่วมกับอาจารย์และเพื่อนร่วมงานและเพื่อนอีกคนของนางสาว....หวังว่าเขาจะกลับมาทำประโยชน์แก่ส่วนรวม
“แต่สิ่งที่ผมและทุกคนได้รับคือบอกว่า ไม่มีเงิน ทั้งๆ ที่เขาทำงานเป็นนักวิจัยที่ ม.ฮาร์วาร์ด รับเงินเดือนสูง อยู่อพาร์ตเมนต์หรูหราในอเมริกา เขาทำได้แม้อาจารย์ผู้สั่งสอน และสนับสนุนให้ได้เรียน ผู้ร่วมงาน เพื่อน อย่างไม่ละอายแก่ใจ พ่อของเขาและญาติพี่น้องก็ไม่สนใจ เขาเคยโทรหาผมแค่ครั้งเดียวว่าจะไม่ทำให้ผมเดือดร้อน ผมยังต้องส่งเสียลูกอีก 4 คน แต่ผมต้องนำเงินมาชำระแทนเขา จึงขอให้เรื่องนี้เตือนสติแก่ผู้ที่จะค้ำประกันใคร การศึกษาและชาติตระกูลไม่ได้ช่วยอะไร เขาวางแผนล่วงหน้าแล้วให้พ่อเขารับผิดชอบน้อยที่สุดและมาชดใช้ให้หมดแต่ไม่ยอมชดใช้ให้คนอื่น ช่วยแชร์กันนะครับ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ และผู้ที่จะทำธุรกรรมกับคนในครอบครัวนี้หรือบุคคลอื่น แม้ท่านจะปรารถนาดีก็ตาม”
ต่อมา ทพ.เผด็จ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในหลายสื่อ หลายรายการ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน สรุปรวมความได้ว่า ตอนนั้นทพ.เผด็จ เป็นข้าราชการสาธารณสุข ได้ไปค้ำประกันให้กับอาจารย์คน ดังกล่าว ร่วมกับผู้ค้ำประกันอีก 3 ราย เป็นอาจารย์ของนางสาวดลฤดี 2 คน และเพื่อนอีกคนหนึ่ง เพราะเห็นตรงกันว่าหากนางสาวดลฤดี เรียนจบจะได้กลับมารับใช้ประเทศชาติ จึงยอมเซ็นค้ำประกัน แต่เมื่อนางหนีทุนไม่กลับ ผู้ค้ำประกัน ทั้ง 4 ราย ต้องร่วมกันชดใช้หนี้ ที่ต้องใช้เป็นเงิน 30 ล้านบาท แต่ได้ไปทำเรื่องขอต่อรองเหลือจ่ายเงินต้นไม่รวมค่าปรับอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท
ทพ.เผด็จ ยืนยันว่าสิ่งที่ทำลงไปไม่ได้เสียใจ “เราทำด้วยความปรารถนาดี วันที่ผมเซ็นค้ำประกัน ผมไม่ได้รู้จักอะไรเป็นการส่วนตัวกับอาจารย์หญิงคนนี้ เพราะรู้จักผ่านอาจารย์ท่านหนึ่ง แต่ผมทำเพื่อวิชาชีพ เพื่อคณะ ผมมองว่าเป็นกรรมเก่า หากย้อนเวลาไปได้ก็ยังจะเซ็นให้อยู่ดี ตอนผมเซ็นผมมองว่า การศึกษาดี ชาติตระกูลดี ไม่น่าจะทำกันอย่างนี้ ส่วนตัวมองว่า เรื่องอย่างนี้ในวงการอื่นน่าจะมีเหมือนกัน แต่ในวงการแพทย์เราไม่เคยเจอ กล้าทำได้อย่างไร เพราะคนที่ค้ำประกันเป็นถึงอาจารย์ที่ทำเรื่องให้เขาไปเรียน ไม่อยากเชื่อว่าจะกล้าทำเรื่องแบบนี้
“แม้กระทั่งตัวผมเอง อาจารย์ผู้หญิงคนนี้ยังพูดเมื่อ 10 ปีก่อน หลังจากไม่กลับมาใช้ทุนว่า พี่หนูจะไม่ทำให้เดือดร้อน ผมก็ได้พูดว่า “ครับ” เพราะพูดได้แค่นี้ แต่ทำใจไว้แล้ว ก่อนหน้านี้ผมได้ทยอยจ่ายเงินไปเดือนละหมื่นสาม สิ่งที่โพสต์ไม่ได้ต้องการทำร้ายใคร แต่ต้องการระบาย โดยโพสต์ในที่ส่วนตัวไม่ใช่สาธารณะ แต่เรื่องที่เกิดขึ้นถูกคนแชร์ออกไปสู่สาธารณะ ส่วนตัวถือว่าเป็นกรรมเก่าที่สร้างไว้ เรื่องนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ว่า คนที่มีการศึกษาดี ชาติตระกูล ไม่ได้หมายความว่า จะทำเรื่องอย่างนี้ไม่ได้” ทพ.เผด็จ ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะข่าวเด่น ช่อง 3 หลังเรื่องโด่งดังขึ้นมา
นั่นเป็นความรู้สึกของผู้ทำคุณบูชาโทษ แต่นางหาได้สำนึกไม่ ต่อมา ทพ.เผด็จ บอกว่า ได้ตั้งทนายพร้อมส่งจดหมายแจ้งเรื่องดังกล่าวไปถึงอาจารย์ที่เป็นคู่กรณีและมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปรากฏว่าอาจารย์คนดังกล่าวได้ตั้งทนายสู้คดี ทั้งยังข่มขู่ทนายของตนด้วย ส่วนทางด้านมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมีจดหมายตอบกลับมาว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนตัว จึงไม่สามารถเข้ามาช่วยจัดการได้ ทำให้ทพ.เผด็จ กลับมาคิดว่าคงสู้คดีไม่ไหว เพราะต้องบินไปเมืองนอก มีค่าใช้จ่าย และคงไม่ทำอะไรแล้วปล่อยให้เป็นบทเรียนอย่าไปหลงเชื่อใครง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีการศึกษาดีหรือมาจากครอบครัวที่ดีขนาดไหนก็ตาม
ทพ.เผด็จ เคยถามนางว่าเหตุใดไม่กลับมาใช้ทุน เธอบอกว่า รับไม่ได้ที่ระบบขอทุนประเทศเราเอาเปรียบ ให้ชดใช้เงิน 3 เท่า ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการแกล้งโง่ เพราะการขอทุนก็รู้เงื่อนไขกันอยู่ตั้งแต่แรก การมาบอกว่ารับไม่ได้นั้น มันไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน ฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ก็ปัดเรื่องพ้นตัวไปง่ายๆ ว่า นี่เป็นเรื่องส่วนตัว มหาวิทยาลัยช่วยอะไรไม่ได้
ไม่เพียงแต่นางสาวดลฤดี และฮาร์วาร์ด เท่านั้น ที่น่าผิดหวัง แม้แต่ต้นสังกัดเดิมของนางสาวดลฤดี คือ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็สร้างความผิดหวังไม่น้อย ทพ.เผด็จ มองว่า มหิดลไม่ได้จริงจังกับการชำระสะสางปัญหา ขอแต่เพียงได้เงินมาคืนหลวงจากผู้ค้ำประกันเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว และคงไม่ได้ใส่ใจที่จะ รับรู้ว่าผู้ค้ำประกันทุกคนต่างเดือดร้อนถึงขนาดต้องนำบ้านไปจำนองและยื่นกู้ เพื่อนำเงินมาใช้หนี้คืนให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นี้ เพราะหากไม่จ่ายจะโดนยึดทรัพย์
คำถามคาใจต่อมหาวิทยาลัยมหิดลจาก ทพ.เผด็จ ก็คือ เมื่อประมาณ ปี 2547 นางสาวดลฤดี แจ้งมายังมหาวิทยาลัยขอยกเลิกที่จะกลับมาใช้ทุนคืนเพราะมีครอบครัวที่นั่น เมื่อกระทรวงการคลัง เร่งรัดมา มหาวิทยาลัยก็มาติดตามเอากับผู้ค้ำประกันทั้งที่ความจริงมหิดล ควรจะติดตามอย่างจริงจังและ ติดตามอย่างสุดความสามารถจากนางสาวดลฤดี ให้มาใช้คืน
“.... อยากจะตั้งคำถามว่า ฝ่ายกฎหมายมหาวิทยาลัยมีการติดตามทวงหนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก่อนหน้านั้นมหาวิทยาลัยมหิดลก็อนุมัติการลาออกของอาจารย์คนดังกล่าวตามเอกสารที่ก็ยื่นทางแฟกซ์ เพราะหลังจากที่มีการแชร์ข้อความดังกล่าวไปในโลกโซเชียล ทำให้ได้รับข้อมูลว่า พ่อ แม่ ของอาจารย์หญิงคนดังกล่าว แยกทางกันและเมื่อเดือน ก.พ. 2558 อาจารย์หญิงคนดังกล่าวได้กลับมางานศพแม่ที่ประเทศไทย และได้ขายทรัพย์สินทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย หากฝ่ายกฎหมายมหาวิทยาลัยมหิดล ประสานกับสถานกงสุล หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือแจ้งความไว้ว่าอาจารย์คนนี้เบี้ยวหนี้ 10 ล้าน ก็น่าจะมีวิธีการที่จะติดตามได้คืน เพราะการเป็นทันตแพทย์ที่ต่างประเทศค่าตอบแทนมันมากพอที่จะจ่ายทุนคืนได้ก่อนที่จะครบกำหนดชำระหนี้เมื่อเดือน ก.พ.2559 "
“.... อยากถามว่าทางมหาวิทยาลัยมีความจริงใจในการติดตามคุณดลฤดีมากพอหรือไม่ มันมีหลายเรื่องที่ผมอยากให้มหิดลชี้แจง โดยเฉพาะเรื่องการอนุมัติใบลาออกทั้งที่ยังใช้ทุนไม่หมด ยังสงสัยว่าทำไมมหิดลไม่แจ้งความเอาผิดกับคุณดลฤดีในเรื่องหนีทุน หากแจ้งความดำเนินคดีเชื่อว่าเขาจะอยู่ในอเมริกาไม่ได้ เพราะทางอเมริกาคงไม่ต่อวีซ่าให้ แต่มหิดลกลับนิ่งเฉยและมาไล่เบี้ยกับคนค้ำประกันทั้งที่หลายคนก็เป็นคนในองค์กรของมหิดลเอง
“....ขณะนี้สังคมกำลังตั้งคำถามกับฝ่ายกฎหมายและสถาบันการศึกษาแห่งนี้ถึงการดำเนินการติดตามหนี้ดังกล่าวว่ามีประสิทธิภาพ หรือมีวิธีการดำเนินการอย่างไร" ทพ.เผด็จ ตั้งคำถามในการให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนัก
ทพ.เผด็จ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊คของตนเอง ว่า “มหิดลออกแถลงการณ์แบบให้ตัวเองดูดี ทั้งๆ ที่เป็นคนอนุมัติ แต่อ้างว่าติดต่อเค้าไม่ได้ ตลกไหมครับ รู้อยู่แล้วว่าเค้าอยู่ Harvard แต่ปล่อยให้เรื่องยืดยาว ถ้าเค้าจะตามจริงหรือ ประสานกงสุล เราจับดลฤดีได้ตั้งแต่กุมภา 58 แล้ว เค้าเข้ามาเมืองไทย10 กว่าวัน แต่มหิดลไม่รู้เรื่องเลย เค้าบอกช่วยเหลือผู้ค้ำ แต่ผมอยากบอกผู้ค้ำ เป็น คนวิ่งเต้นเอง เดินเรื่องเองถ้า รอมหาลัยคงไม่ได้อะไร เพราะเจ้าหน้าที่โยนกันไปมา แถมตอนท้ายยังบอกว่าเรื่องแบบนี้มีมากแต่ไม่เป็นข่าว แสดงถึงความรู้สึกปกติ ไม่ได้สนใจแต่พอเป็นข่าวก็ต้องออกแถลงการณ์ ผมอ่านแล้วปวดใจมากครับ"
“อยากให้เป็นบรรทัดฐานแก่หน่วยงานราชการให้เห็นแก่ผู้ค้ำ ในกรณีลูกหนี้มีตัวตน มีทรัพย์สมบัติ ควรหาทางจัดการกับเค้าก่อน ไม่ใช่มาจัดการกับผู้คำในประเทศที่ทำง่ายกว่า ที่น่าปวดใจคือ 2 คน ทำงานถวายหัวให้ ม.มหิดล จนเกษียณและอีกคนใกล้เกษียณ แต่ไม่มีมาตรการเยียวยา มีแต่ให้ชำระคืนเท่านั้น ส่วนดลฤดี ซึ่งทำงานให้ต่างประเทศสุขสบาย ผมว่าถึงเวลาที่ควรปรับปรุงการทำงานของฝ่ายกฎหมายให้แข็งแรงขึ้น และจัดการกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นเรื่องปกติแต่ไม่เป็นข่าว ลองพิจารณาดูกันนะครับ"
นั่นสะท้อนว่า มหาวิทยาลัยต้นสังกัดแทบไม่ได้ออกแรงใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้นางกลับมาใช้ทุนแต่อย่างใด เรื่องนี้ ทั้งดลฤดีหนีทุน ทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล และทั้งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จึงต้องตอบคำถามถึงคุณธรรมขั้นพื้นฐานต่อสังคม
เหยื่อดลฤดี เดือดร้อนเพราะเห็นแก่ส่วนรวม
เสียงจากเหยื่ออีกรายของทพญ.ดลฤดี ที่เพิ่งก้มหน้าใช้หนี้กว่า 2 ล้านบาทแทนนางหมดไป คือ “ผศ.ทพญ.ภัทรวดี ลีลาทวีวุฒิ” รองหัวหน้าภาควิชาทันตกรรมเด็ก คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่าที่ต้องมาเจอชะตากรรมเช่นนี้คงเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากเกินไปหน่อย เพราะตัดสินใจเซ็นค้ำประกันให้ทพญ.ดลฤดี ที่มาขอให้ช่วยเซ็นค้ำประกันการขอทุนเนื่องจากเห็นว่าภาควิชาไม่มีบุคลากรที่มีประสบการณ์การศึกษาขั้นสูงสุดเลย ถ้าเขาได้ไปเรียนต่อและกลับมารับใช้ประเทศชาติ จะถือเป็นเรื่องดี แต่วันนี้ต้องมานั่งชดใช้หนี้ให้เขา
ผศ.ทพญ.ภัทรวดี ยังย้ำด้วยว่า ตอนที่ดลฤดี ส่งจดหมายลาออกมา ซึ่งเป็น การลาออกย้อนหลังด้วย ในขณะนั้นเธอยังไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะคิดว่าดลฤดีจะกลับมาชดใช้เงินแน่นอน ตามที่ได้สัญญาเอาไว้ จนกระทั่งระยะเวลาผ่านไป จึงมารู้ตัวว่าไม่กลับมาแล้ว พร้อมกับการหนีทุนเรียน และเธอต้องชดใช้หนี้จากการที่ได้ลงนามค้ำประกันไว้ เมื่อมีจดหมายท้วงหนี้ และหมายศาลฟ้องคดีส่งมาถึงโดยตรง
“ดิฉันไม่รู้ตัวอะไรเลย ทุกอย่างมันเงียบมาก จนกระทั่งมีหนังสือแจ้งท้วงหนี้จากมหิดล ส่งมาถึง และตามมาด้วยหมายศาลฟ้องร้องให้ชำระหนี้ ตอนนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน เพราะวงเงินที่ต้องชดใช้มันมีจำนวนมากเป็นหลักล้าน”
“หลังจากที่รู้ตัวว่าต้องชดใช้หนี้ค้ำประกัน ตอนนั้นกลุ้มใจมาก ทำอะไรไม่ถูก กลัวว่าจะถูกยึดทรัพย์ เพราะวงเงินที่ผู้ค้ำประกันจะต้องชดใช้ร่วมกันมันจำนวนมากถึง 30 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสองเท่าจากเงินทุนที่ใช้ไป แต่ยังดีที่หนึ่งในผู้ค้ำประกัน คือ นายประสิทธิ์ จำลองราษฎร์ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นญาติของ น.ส.ดลฤดี เขาเห็นใจทางฝ่ายเรา เอาข้อมูลมาแจ้งให้ทราบว่ามันมีระเบียบกระทรวงการคลัง และมติครม.อยู่ เพื่อร้องขอความเห็นใจจากเรื่องนี้ เราก็เลยเสนอเรื่องไปตามขั้นตอน จนกระทั่งได้รับการลดวงเงินชดใช้เหลือประมาณ 10 ล้านบาท จากทั้งหมด 30 ล้านบาท”
ผศ.ทพญ.ภัทรวดี ยังอธิบายว่า การค้ำประกัน น.ส.ดลฤดี จริงๆ แล้วมี 3 สัญญา ผู้ที่ต้องรับผิดชอบแบ่งออกเป็นกลุ่ม
สัญญาแรกเป็นสัญญานักศึกษา เพื่อศึกษาวิชาทันตแพทยศาสตร์ เป็นเงินจำนวน 232,975 บาท สัญญานี้ คนที่รับผิดชอบ คือ นายประสิทธิ์ จำลองราษฎร์ แต่ทางฝ่ายพ่อแม่ของ นางสาวดลฤดี เอาเงินมาชำระแทนให้แล้ว
ส่วนสัญญาที่ 2 เป็นสัญญาเรื่องการรับเงินเดือนค่าราชการ คนที่รับผิดชอบ คือ นางอารยา พงษ์หาญยุทธ อาจารย์อีกคนหนึ่งมหิดล
ส่วนสัญญาที่ 3 เป็นสัญญารับทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ มีวงเงินมากที่สุด และคิดรวมการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทด้วย คนที่รับผิดชอบ คือ ตนเอง นายเผด็จ พูลวิทยกิจ และนางสาวพัชนีย์ พงศ์พียะ เพื่อนของนางสาวดลฤดี ซึ่งทุกคนก็ต้องไปพยายามหาเงินมาชดใช้คืนให้ เฉลี่ยคนละประมาณ 2 ล้านกว่าบาท
สำหรับขั้นตอนการหาเงินมาใช้หนี้ในส่วนของตนเองนั้น ผศ.ทพญ.ภัทรวดี กล่าวย้ำระหว่างการพูดคุยหลายครั้งว่า เดือนร้อนมากจริงๆ “ดิฉันไม่ใช่คนร่ำรวยอะไร เงินที่ชดใช้คืนให้กับมหิดลไป มาจากเพื่อนสมัยเรียนเตรียมอุดมฯ ที่สงสารและเห็นใจ ตอนนี้แม้จะชำระหนี้คืนให้กับราชการไปได้แล้ว แต่เราก็ยังต้องหาเงินไปทยอยผ่อนใช้เพื่อนๆ เหมือนเดิม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะหมดสิ้นเมื่อไหร่”
ผศ.ทพญ.ภัทรวดี บอกว่า สิ่งที่หวังอยู่ตอนนี้ คือ ขอให้เขาเห็นใจและเปลี่ยนใจรับผิดชอบปัญหาให้แม้ว่าเขาจะพูดเหมือนเดิมว่ายังไม่มีเงิน
ดลฤดี ชีวิตดี๊ดี ที่ฮาร์วาร์ด
“ดลฤดี หนีทุน” ที่โด่งดังชั่วข้ามคืน เธอเป็นใคร ไม่ใช่เรื่องยากเลยเมื่อนักสืบไซเบอร์ลงมือทำงาน หลายมือไม้ร่วมด้วยช่วยกันแฉ เริ่มจาก เฟซบุ๊คดังอย่าง CSI LA ที่เอารูปของดลฤดี มาเผยแพร่ให้ได้เห็นโฉมหน้า พร้อมกับระบุชื่อและประวัติของเธอเอาไว้ด้วยโดยระบุว่า.. “เผยโฉมเเละประวัติหมอเก่งเเต่โกง เธอชื่อ ดลฤดี จำลอง...(Dolrudee Porche Jumlon.. จบจากรุ่น 46 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ห้อง King 1 อดีต อจ. คณะทันตแพทยศาสตร์ ม. มหิดล ที่ทำงานปัจจุบัน Harvard School of Dental Medicine 188 Longwood Ave, Boston, MA 02115”
เพจ “CSI LA" ยังแฉต่อด้วยว่า “คุณหมอ ดลฤดี จำลองราษฎร์ ได้ซื้อบ้านในเมืองนิวตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 50 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ.2557 เเต่ไม่มีปัญญาจ่ายหนี้ที่ยืมคนอื่นมา 8 ล้านบาท .... นี่คือภาพบ้าน ที่เมือง Newton บ้านหลังนี้มี 4 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ" ซึ่งบ้านสุดหรูหลังนี้ตั้งอยู่ในเมืองนิวตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา"
ยิ่งเหล่านักสืบไซเบอร์ช่วยกันขุดคุ้ย ยิ่งพบความจริงที่ว่าเธอไม่ได้ “ไม่มีเงินใช้ทุน” อย่างที่กล่าวอ้างเอาไว้ เพราะปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาอย่างฮาร์วาร์ด มีรายได้สูงกว่า 8 หมื่นเหรียญต่อปี จากการทำงานเพียงปีเดียว และจะมีรายได้พุ่งสูงเป็น 2 แสนเหรียญต่อปีในปีถัดๆ ไป และเธอยังมีคลินิกทันตแพทย์เป็นของตัวเอง ฟันกำไรปีละ 1 ล้านเหรียญ รวมมูลค่ารายรับทั้งสิ้นตกประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี หักภาษีไปครึ่งหนึ่ง จะเหลือรายได้ประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี! เพียงพอที่จะจ่ายเงินชดใช้ทุนได้เหลือล้น
“ไม่มีเงิน?? คุณหมอดลฤดี จำลองราษฎร์ มีปัญญาซื้อบ้านหลังละ $1,289,000 หรือ 46 ล้านบาทในปี 2014 เเต่ไม่มีปัญญาจ่ายหนี้ที่ยืมคนอื่นมา 8 ล้านบาท” นักสืบออนไลน์ "CSI LA" ถามกลับพร้อมแนบหลักฐานปิดท้าย
“อาจารย์อ๊อด” หรือ รศ.ดร.วีระชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา (CHES) และอาจารย์ภาควิชาเคมีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังโพสต์ข้อมูลลงในเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong ระบุว่า 2 ปีก่อนอาจารย์สาวคนดังกล่าวได้ซื้อบ้านหลังใหม่ในราคาราว 45 ล้านบาท..."มิตรสหายท่านหนึ่ง ที่ USA ให้ข้อมูลการสืบกับ อ.อ๊อด ที่ดีมากครับ ทำให้ทราบว่า ทันตแพทย์ ที่หนีทุนให้เพื่อนใช้หนี้นั้น พึ่งซื้อบ้านใหม่กับสามีชาวอเมริกัน เมื่อปี 2014 ครับ ที่ตั้ง ในชุมชนคนชั้นสูง(ขอปิดย่าน) ราคานี้ คูณอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว 45 ล้านบาทครับ สงสารเพื่อนและอาจารย์ที่ค้ำ 10 ล้านให้เธออย่างมาก"
“ธุรกิจคลินิกทำฟันของเธอ มีรายได้ประมาณปีละ 1 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 36 ล้านบาทต่อปี หากรวมเงินเดือนอาจารย์ ม. ฮาร์วาร์ด (senior Lecturer อยู่ระหว่าง 171,466 - 227,800 เหรียญต่อปี) จะมีรายได้รวมต่อปีประมาณ 1.2 ล้านเหรียญต่อปี หรือประมาณ 42 ล้านบาทต่อปีครับ(ยังไม่หักภาษี)”
อาจารย์อ๊อด โพสต์รายงานความเคลื่อนไหวเอาไว้ พร้อมภาพประกอบอีกโพสต์ เป็นภาพมุมสูงใน google map เผยให้เห็นคฤหาสน์หลังโต กับรถหรูเปิดประทุนอีกหนึ่งคันจอดอยู่นอกโรงจอดรถ สันนิษฐานกันว่าน่าจะยี่ห้อ “Porsche” ชื่อเดียวกับชื่อใหม่ของเธอซึ่งเพื่อนฝรั่งเรียกกัน
หลักฐานที่ปรากฏออกมาล่าสุด ช่างขัดแย้งกับการหนีทุนของด็อกเตอร์รายนี้ราวฟ้ากับเหว เพราะเธอปฏิเสธที่จะชดใช้เงินชดเชยจำนวน 30 ล้าน (จากเดิม 10 ล้าน แต่ปฏิเสธที่จะกลับมาใช้ทุนที่ไทย จึงต้องจ่ายชดเชยเป็น 3 เท่า) อ้างไม่สามารถหาเงินก้อนใหญ่ขนาดนั้นมาใช้คืนได้ แต่กลับนำเงินไปปั้นคฤหาสน์ถึง 45 ล้าน!!
มาตรการแซงชั่นจากสังคมที่รุมกระหน่ำไม่ยั้ง ชนิดกัดไม่ปล่อย โดยเฉพาะแฟนเพจ "CSI LA" ที่ออกมาโพสต์ชักชวนแนะให้กลุ่มคนไทยที่เคยไปประท้วงในหน้าแฟนเพจมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแล้วไม่ได้ผล เปลี่ยนเป็นโทร.สายตรงไปที่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเลย พร้อมแนบแบบฟอร์มร้องเรียนออนไลน์และเบอร์ตรงเอาไว้ในหน้าแฟนเพจ ระบุชัดเจนว่า “มีคนไทยจาก Washington DC ติดต่อมาครับ เขาเเนะนำว่าวิธีจัดการเรื่องคุณหมอดลฤดี จำลองราษฎร์ คนนี้ ให้เราไปติดต่อ Ombuds Office ของ Havard Medical School ครับ หน้าที่ของ Ombuds คือตรวจสอบปัญหาที่มีคนร้องเรียนเกี่ยวกับ พนักงานเเละอาจารย์ของ Harvard Medical School รับรองคุณหมอดลฤดี ไม่รอดครับ
"ข้อมูลของคนถูกโทร.ไปเเจ้งถูกเก็บไว้เป็นความลับ เพราะ Harvard มีกฎว่าพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย มีจริยธรรมเเละความซื่อสัตย์ หากบุคคลภายนอกพบเห็นใครกระทำสิ่งดังกล่าว ก็เชิญเเจ้งได้"
กัดไม่ปล่อยถึงขนาดเชิญชวนให้คนไทยทุกคนส่งโปสการ์ดไปกระตุ้นสามัญสำนึกของ “ด็อกเตอร์หนีทุน” อีกทาง โดยให้ช่วยกันกดดันผ่านตัวอักษร เขียนข้อความส่งตรงไปถึง “Harvard School of Dental Medicine” ที่เธอประจำอยู่ พร้อมให้พิกัดที่อยู่ที่ไปเสาะสืบหามาแนบเอาไว้ด้วย “เตือนสติเธอหน่อย ค่าส่ง Postcard ไม่เเพงครับ ประมาณ 15 บาท อาทิตย์เดียวก็ถึงอเมริกาเเล้ว ที่อยู่ตามนี้ครับ” .....
ทั้งที่เรื่องราวถูกแฉกลายเป็นประเด็นร้อน แต่นางยังทำดราม่าเรียกร้องความเห็นใจได้อย่างไม่น่าเชื่อว่านางจะแหลข้ามโลกได้ถึงเพียงนี้ เมื่อดูจากการตอบอีเมลแสดงความรับผิดชอบอันน้อยนิด ส่งถึงอาจารย์และเพื่อนผู้ค้ำประกัน ผู้โชคร้าย เป็นฉบับภาษาอังกฤษ ของนางที่มีใจความว่า...
“ถ้ามหิดลไม่ต่อเส้นตายออกไปอีก ฉันก็หมดหนทางที่จะหาเงินที่เหลือมาใช้ให้ ถ้าคุณสามารถหาเงินมาจ่ายให้พวกเขาได้ก่อน เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกยึดทรัพย์ ฉันจะหาเงินมาใช้คืนให้ในวันข้างหน้าพร้อมดอกเบี้ย ฉันจะพยายามหาเงินอีกช่วงฤดูร้อน แต่ตอนนี้ ฉันยังไม่มีคุณสมบัติที่จะยื่นกู้เพิ่มได้อีกแล้ว”
นางยืนกรานกระต่ายขาเดียวว่าไม่มีเงิน ยากจนข้นแค้นเหลือประมาณ กระทั่งเมื่อมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 พร้อมกับฟ้องร้องให้นางดลฤดี เป็นบุคคลล้มละลายนั่นแหละนางจึงร้อนรนขึ้นมาบ้าง
ทพ.เผด็จ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวช่วงเช้าของวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 แสดงข้อความจาก ทพญ.ดลฤดี ที่ส่งทางเมล์ถึงเพื่อนที่เป็นผู้ค้ำ ประกัน แปลเป็นไทย ความว่า “อย่างที่เคยบอกไปแล้วหลายครั้งกับพี่ปุ้ย พี่เผด็จ และอาจารย์อารยาว่า ฉันจะจ่ายเงินกู้คืนให้ทั้งหมดพร้อมกับดอกเบี้ย ฉันกำลังหาทางเอาเงินมาจ่ายคืนพวกคุณอยู่ ซึ่งบางทีจะเป็นการดีกว่าถ้าคุณฟังจากฉันโดยตรงเพื่อให้มั่นใจว่าฉันจะทำตามสัญญา ฉันเพิ่งคุยกับพี่ปุ้ย และเธอรับรู้ถึงเจตนาและความจริงใจของฉันช่วยบอกหมายเลขโทรศัพท์และเวลาที่สะดวกให้ฉันติดต่อได้ ... ปอร์เช่”
ทั้งถูกประจาน ทั้งถูกกดดัน ทั้งเจอฟ้องร้องล้มละลาย ทำเอาชีวิตดี๊ดี ของดลฤดีหนีทุน ที่ฮาร์วาร์ด ต้องสั่นสะท้าน
แต่อย่างไรก็ตาม ทพ.เผด็จ ซึ่งเจอลูกไม้ของนางมาเยอะ ยังเชื่อว่านี่เป็นลีลาดึงเรื่องออกไปเพราะเคยพูดทำนองนี้มานานแล้วว่าไม่มีเงิน มีแล้วจะชำระให้ หาใช่มีความจริงใจที่จะใช้หนี้แต่อย่างใด และเป็นความพยายามยื้อเวลาไม่ให้ทางเราฟ้องร้องมากกว่า ถ้าใจอ่อนพอคดีหมดอายุความก็จบเกม ตอนนี้รอดูว่า มหิดลจะสามารถทำอะไรได้มากแค่ไหน ทั้งเรื่องที่จะยื่นฟ้องล้มละลาย ฟ้องดำเนินคดีดลฤดีที่อเมริกา หรือการเฝ้าระวังกับทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองว่าจริงจังมากแค่ไหน
บทเรียนมหิดล - ฮาร์วาร์ด ฉาว อุ้มคนคุณธรรมต่ำ
แรงกดดันจากสังคมออนไลน์ในกรณีดลฤดีหนีทุน สะเทือนถึงชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกทั้งมหิดลและฮาร์วาร์ด กล่าวเฉพาะมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นต้นสังกัดของ ทพญ.ดลฤดี นั้นถูกตั้งคำถามจาก ทพ.เผด็จ ผู้ค้ำประกัน และจากสังคม ว่าเหตุไฉนถึงอนุมัติของ ทพญ.ดลฤดี ลาออก เหตุใดจึงไม่แจ้งความเอาผิดตั้งแต่รู้ว่านางหนีทุน เหตุใดจึงไม่ไปไล่เบี้ยเอากับทุนคืนจากเธอทั้งที่สามารถทำได้
คำชี้แจงจากคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ก็คือ หนึ่ง “การขอลาออกจากราชการกับการชดใช้เงินทุนเป็นคนละกรณีกัน เพราะการให้ข้าราชการลาออกและยังต้องชดใช้ทุนไม่เป็นเหตุให้ยับยั้งการลาออก ตามระเบียบก.พ.ว่าด้วยการลาออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2551”
พูดง่ายๆ ก็คือ ถึงจะยังไม่ชดใช้ทุนก็ลาออกได้ และจะไปยับยั้งก็ไม่ได้ และมหิดล เลือกที่จะอนุมัติให้ลาออก แทนที่จะไล่ออกเพราะหนีทุน
สอง การใช้ทุนคืนขั้นตอนแรกก็ต้องให้ผู้ทำสัญญาและผู้ค้ำประกันใช้หนี้คืน ซึ่งขณะนี้ผู้ค้ำประกันใช้หนี้คือเสร็จสิ้นถือว่าพ้นจากความรับผิดชอบทั้งหมดแล้ว และ สาม การติดตามทวงหนี้จากนางสาวดลฤดี เป็นคดีแพ่งในราชอาณาจักรไม่สามารถดำเนินการนอกประเทศได้ จึงขอให้อัยการสูงสุดฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย เพื่อดำเนินการขั้นตอนการทวงหนี้ข้ามประเทศ
มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยันติดตามทวงถามหนี้คืน โดยขอใช้กรณีนี้เป็นบทเรียน พร้อมขอบคุณ ทพ.เผด็จ ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ กรณีดังกล่าวจะเป็นกรณีศึกษาสำหรับการให้ทุนศึกษาต่างประเทศในภายภาคหน้า
อย่างไรก็ตาม สำหรับนางสาวดลฤดีแล้ว เรื่องนี้ถือว่ายังไม่จบ ยังไม่พ้นหนีทุน เพราะต้องชดใช้คืนเต็มจำนวน 30 ล้านบาท ถ้าชำระเพียง 8 ล้าน ถือว่าเป็นการซิกแซก ขณะที่ผู้ค้ำประกันให้ดลฤดี ชำระหนี้หมดแล้ว
ถึงมหิดล จะทำขึงขังในการติดตามทวงหนี้คืน แต่คำให้สัมภาษณ์ของนายสุทน เฉื่อยพุก ผู้อำนวยการสำนักนิติการ สกอ. กลับบ่งบอกถึงการปล่อยปละละเลย “.... อยากเรียกร้องให้สภาทนายความฯ เข้าไปตรวจสอบการทำงานของฝ่ายกฎหมาย มหาวิทยาลัยมหิดล เพราะน่าจะฟ้องร้องได้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ทำไมไม่ทำอะไร"
นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า กรณีของอดีตอาจารย์คนดังกล่าวรับทุนของรัฐบาล ไม่ใช่ทุนมหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยเป็นตัวกลางในการประสานและเสนอชื่อผู้ค้ำประกันให้ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ตามหลักเกณฑ์ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยให้ทุนอาจารย์ไปเรียนต่อต่างประเทศปีหนึ่งเกือบร้อยทุน เฉพาะทุนด้านสาธารณสุขในกลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล ฯลฯ ประมาณ 50-60 ทุน และมีบ้างที่ไม่ยอมกลับมาทำงานตามกำหนด และเลือกจะใช้ทุนคืนเป็นเงิน แต่ไม่เคยมีกรณีไม่ใช้เงินคืน มีเพียงรายนี้ที่หนีไป ไม่ใช้หนี้และไม่กลับมา
ประเด็นสำคัญคือ การที่รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยกำหนดเงื่อนไขให้ใช้ทุนคืน 3 เท่า เพราะอยากให้คนเหล่านี้กลับทำงานเพื่อประเทศชาติ ไม่ได้อยากได้เงินคืน
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประสานไปยัง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้รับคำตอบกลับมาว่า เป็นเรื่องส่วนตัวที่ต้องประสานไปยังเจ้าตัว ซึ่งอธิการบดี รู้สึกไม่ดีกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอที่ตอบแบบนั้น และไม่แสดงท่าทีอะไร ทั้งที่การรับคนเป็นอาจารย์ควรจะดูเรื่องความมีคุณธรรมประกอบด้วยแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้
มหิดล ทำอะไรฮาร์วาร์ดไม่ได้ แต่สำหรับเหล่านักรบไซเบอร์นั้นลงมือต่อฮาร์วาร์ดแล้ว เพจเฟซบุ๊ก "CSI LA" ได้โพสต์รูปพร้อมข้อความระบุว่ากลุ่มนักเรียนไทยที่มหาลัยฮาร์วาร์ด เริ่มติดป้ายตามสถานที่ต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวดังกล่าว "วันนี้ (2ก.พ.)ไปมหาลัย Harvard มาค่ะ เห็นมีใบปลิวแปะตามบอร์ดแถว Havard yard หลายบอร์ดเลยค่ะ อันนี้เป็นฝั่งมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ฝั่ง Medical school" แต่คิดว่าน่าจะมีคนติดไปทั่วเเล้วค่ะ"
ขณะเดียวกัน ในแฟนเพจ Harvard University ซึ่งเป็นเพจทางการของมหาลัยฮาร์วาร์ดนั้น ยังคงมีได้มีคนไทยเข้าไปโพสต์เรื่องราวของทันตแพทย์หญิงคนดังกล่าว พร้อมเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ ทพ.เผด็จ สิ้นสุดกันสักทีกับกรรมเก่า แต่สำหรับ ทพญ.ดลฤดี กรรมกำลังตามไล่ล่าไปตลอดชีวิต