ไม่มีเงินใช้ทุนคืนประเทศ 30 ล้าน แต่มีเงินทุ่มซื้อคฤหาสน์หลังโตในต่างแดนมูลค่า 45 ล้าน!! ซ้ำยังปล่อยให้อาจารย์และเพื่อนผู้ค้ำประกัน เป็นผู้ชดใช้หนี้(กรรม)ให้แทน ในขณะที่ตนเองใช้ชีวิตหรูอย่างหน้าชื่นตาบานในอีกซีกโลก โดยไม่มีแม้คำขอโทษมอบให้... นี่ไม่ใช่กรณีแรกที่นักเรียนทุนโกง แต่อาจเป็นบทเรียนครั้งประวัติศาสตร์ ที่จะทำให้คนจงใจโกงอยู่ไม่สุข เพราะบทลงโทษที่สังคมขอมอบให้!!
30 ล้านไม่ชดใช้ แต่เอาไปซื้อคฤหาสน์ 45 ล้าน!!
[ถูกขุดคุ้ยออนไลน์หมดเปลือกว่า มีตังค์แต่ไม่อยากใช้ทุน!]
“มิตรสหายท่านหนึ่งที่ USA ให้ข้อมูลการสืบกับ อ.อ๊อด ที่ดีมากครับ ทำให้ทราบว่า ทันตแพทย์ที่หนีทุน ให้เพื่อนใช้หนี้นั้น เพิ่งซื้อบ้านใหม่กับสามีชาวอเมริกัน เมื่อปี 2014 ครับ ที่ตั้งในชุมชนคนชั้นสูง(ขอปิดย่าน) ราคานี้ คูณอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว 45 ล้านบาทครับ สงสารเพื่อนและอาจารย์ที่ค้ำ 10 ล้านให้เธออย่างมาก”
อาจารย์อ๊อด หรือ รศ.ดร.วีระชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา (CHES) และอาจารย์ภาควิชาเคมีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์รายงานความเคลื่อนไหวเอาไว้ผ่านเฟซบุ๊ก "Weerachai Phutdhawong" พร้อมภาพประกอบอีกโพสต์ เป็นภาพมุมสูงใน google map เผยให้เห็นคฤหาสน์หลังโต กับรถหรูเปิดประทุนอีกหนึ่งคันจอดอยู่นอกโรงจอดรถ สันนิษฐานกันว่าน่าจะยี่ห้อ “Porsche” ชื่อเดียวกับชื่อใหม่ของเธอซึ่งเพื่อนฝรั่งเรียกกัน
หลักฐานที่ปรากฏออกมาล่าสุด ช่างขัดแย้งกับการหนีทุนของด็อกเตอร์รายนี้ราวฟ้ากับเหว เพราะเธอปฏิเสธที่จะชดใช้เงินชดเชยจำนวน 30 ล้าน (จากเดิม 10 ล้าน แต่ปฏิเสธที่จะกลับมาใช้ทุนที่ไทย จึงต้องจ่ายชดเชยเป็น 3 เท่า) อ้างไม่สามารถหาเงินก้อนใหญ่ขนาดนั้นมาใช้คืนได้ แต่กลับนำเงินไปปั้นคฤหาสน์ถึง 45 ล้าน!!
หนักกว่านั้น หลังเรื่องแดง กลายเป็นประเด็นเดือดในสังคมไทย ทั้งยังก่อให้เกิดการประจานให้ว่อนโลกออนไลน์ ทันตแพทย์หญิงเจ้าของหนี้ ผู้หายเข้ากลีบเมฆไปเสวยสุขอยู่บนกองเงินอยู่กว่า 10 ปี จึงออกมาตอบอีเมลแสดงความรับผิดชอบอันน้อยนิด ส่งถึงอาจารย์และเพื่อนผู้ค้ำประกันผู้โชคร้าย เป็นฉบับภาษาอังกฤษ มีใจความว่า...
"ถ้ามหิดลไม่ต่อเส้นตายออกไปอีก ฉันก็หมดหนทางที่จะหาเงินที่เหลือมาใช้ให้ ถ้าคุณสามารถหาเงินมาจ่ายให้พวกเขาได้ก่อน เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกยึดทรัพย์ ฉันจะหาเงินมาใช้คืนให้ในวันข้างหน้าพร้อมดอกเบี้ย ฉันจะพยายามหาเงินอีกช่วงฤดูร้อน แต่ตอนนี้ ฉันยังไม่มีคุณสมบัติที่จะยื่นกู้เพิ่มได้อีกแล้ว"
[ทพ.เผด็จ ผู้ค้ำประกันผู้ต้องแบกรับหนี้สินและชำระแทน]
ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ หนึ่งใน 4 ผู้ค้ำประกันที่ต้องใช้หนี้แทน ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กอัปเดตปฏิกิริยาครั้งล่าสุดเอาไว้ผ่านเฟซบุ๊ก "เผด็จ พูลวิทยกิจ" พร้อมบรรยายความในใจเอาไว้ว่า
“ขอบคุณทุกท่านครับ กระแสSocial ทำให้นางตอบมาแล้วครับ บอกยืนยันคำเดิม จนจัง ให้จ่ายไปก่อนนะ จริงๆ ก็จ่ายไปแล้ว และนางไม่มีสำนึกที่จะขอโทษที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเลย คงยากที่ She จะคิดได้ ขนาด Social แรงแล้วนะ”
[อีเมลตอบกลับครั้งล่าสุด อ้างยังไม่มีเงินจ่ายจริงๆ]
ที่เจ้าของหนี้ตัวจริงออกโรงมาตอบสนองเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระแสกดดันท่วมโลกออนไลน์ หลังกรณีหนีทุนกลายเป็นประเด็นร้อน ชาวไทยกลุ่มใหญ่ต่างก็พากันไปโพสต์ร้องเรียนถึงแฟนเพจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอย่างท่วมท้น ขอให้ช่วยจัดการกับทันตแพทย์หญิงผู้หนีทุน ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ที่นั่น ระบุว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรง เพราะคือการ “โกง” และทางมหาวิทยาลัยควรมีมาตรการลงโทษเพื่อกระตุ้นสามัญสำนึกของเธอ แต่ข้อความที่ได้รับตอบกลับมาจากฝั่งนู้นคือ “กรณีนี้ถือเป็นเรื่องส่วนตัวของทันตแพทย์หญิงดลฤดีกับทางราชการไทย ทางมหาวิทยาลัยคงไม่สามารถเข้าไปจัดการอะไรได้”
[คำนวณเงินเดือน ใช้คืนทุนได้สบายๆ]
แม้จะได้รับคำตอบจากต้นสังกัดปัจจุบันของ “ด็อกเตอร์หนีทุน” เอาไว้เช่นนั้น แต่เหล่าคนไทยผู้รักความยุติธรรมก็ยังไม่หมดกำลังใจเพียงเท่านั้น ล่าสุด ทางแฟนเพจ "CSI LA" ผู้ขึ้นชื่อว่าตามสืบทุกคดีหนักหน่วงผ่านโลกออนไลน์อย่างกัดไม่ปล่อย ได้ออกมาโพสต์ชักชวน แนะให้กลุ่มคนไทยที่เคยไปประท้วงในหน้าแฟนเพจมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแล้วไม่ได้ผล เปลี่ยนเป็นโทร.สายตรงไปที่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเลย จะตรงจุดมากกว่า พร้อมแนบแบบฟอร์มร้องเรียนออนไลน์และเบอร์ตรงเอาไว้ในหน้าแฟนเพจ ระบุชัดเจนว่า
“มีคนไทยจาก Washington DC ติดต่อมาครับ เขาเเนะนำว่าวิธีจัดการเรื่องคุณหมอดลฤดี จำลองราษฎร์ คนนี้ ให้เราไปติดต่อ Ombuds Office ของ Havard Medical School ครับ หน้าที่ของ Ombuds คือตรวจสอบปัญหาที่มีคนร้องเรียนเกี่ยวกับ พนักงานเเละอาจารย์ของ Harvard Medical School รับรองคุณหมอดลฤดี ไม่รอดครับ
ข้อมูลของคนถูกโทร.ไปเเจ้งถูกเก็บไว้เป็นความลับ เพราะ Harvard มีกฎว่าพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย มีจริยธรรมเเละความชื่อสัตย์ หากบุคคลภายนอกพบเห็นใครกระทำสิ่งดังกล่าว ก็เชิญเเจ้งได้”
กัดไม่ปล่อยถึงขนาดเชิญชวนให้คนไทยทุกคนส่งโปสการ์ดไปกระตุ้นสามัญสำนึกของ “ด็อกเตอร์หนีทุน” อีกทาง โดยให้ช่วยกันกดดันผ่านตัวอักษร เขียนข้อความส่งตรงไปถึง “Harvard School of Dental Medicine” ที่เธอประจำอยู่ พร้อมให้พิกัดที่อยู่ที่ไปเสาะสืบหามาแนบเอาไว้ด้วย
[เชื้อเชิญให้ส่งโปสการ์ดไปฮาร์วาร์ด เพื่อกระตุ้นจิตสำนึก]
“เตือนสติเธอหน่อย ค่าส่ง Postcard ไม่เเพงครับ ประมาณ 15 บาท อาทิตย์เดียวก็ถึงอเมริกาเเล้ว ที่อยู่ตามนี้ครับ”
ที่ทำให้เหล่านักผดุงคุณธรรมเดือดกันขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยิ่งช่วยกันขุดคุ้ย ยิ่งพบความจริงที่ว่าเธอไม่ได้ “ไม่มีเงินใช้ทุน” อย่างที่กล่าวอ้างเอาไว้ เพราะปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาอย่างฮาร์วาร์ด ซึ่งมีรายได้สูงกว่า 8 หมื่นเหรียญต่อปี จากการทำงานเพียงปีเดียว และจะมีรายได้พุ่งสูงเป็น 2 แสนเหรียญต่อปีในปีถัดๆ ไป
นอกจากนี้ เธอยังมีคลินิกทันตแพทย์เป็นของตัวเอง ฟันกำไรปีละ 1 ล้านเหรียญ รวมมูลค่ารายรับทั้งสิ้นตกประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี หักภาษีไปครึ่งหนึ่ง จะเหลือรายได้ประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี! เพียงพอที่จะจ่ายเงินชดใช้ทุนได้เหลือล้น ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมอ้างว่า ไม่มีเงิน
“ไม่มีเงิน?? คุณหมอดลฤดี จำลองราษฎร์ มีปัญญาซื้อบ้านหลังละ $1,289,000 หรือ 46 ล้านบาทในปี 2014 เเต่ไม่มีปัญญาจ่ายหนี้ที่ยืมคนอื่นมา 8 ล้านบาท” นักสืบออนไลน์ "CSI LA" ถามกลับพร้อมแนบหลักฐานปิดท้าย
ผู้ค้ำประกัน = ผู้รับกรรมที่ไม่ได้ก่อ
[สิ่งที่ ทพ.เผด็จ และอีก 3 รายต้องแบกรับแทน ในฐานะผู้ค้ำประกัน]
“สิ้นสุดสักทีกับกรรมเก่า ผมได้ชดใช้ให้แล้ว รวมยอดกับที่ต้องชำระให้อีกร่วมล้าน กับการค้ำประกัน นางสาวxxx อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทย์ ม.มหิดล ผู้ซึ่งรับทุนศึกษาต่อที่อเมริกา โดยมีผมซึ่งเข้ามาเรียนที่มหิดลในฐานะคนรู้จัก แต่ด้วยความที่เห็นแก่คณะและวิชาชีพจึงยอมค้ำประกันร่วมกับ อาจารย์และเพื่อนร่วมงานและเพื่อนอีกคนของ นางสาวxxx หวังว่าเขาจะกลับมาทำประโยชน์แก่ส่วนรวม
แต่สิ่งที่ผมและทุกคนได้รับคือบอกว่าไม่มีเงิน ทั้งๆ ที่เขาทำงานเป็นนักวิจัยที่ ม.xxx รับเงินเดือนสูง อยู่อพาร์ทเมนต์หรูหราในอเมริกา
เขาทำได้แม้อาจารย์ผู้สั่งสอนและสนับสนุนให้เขาได้เรียน ผู้ร่วมงาน เพื่อน อย่างไม่ละอายแก่ใจ พ่อของเขาและญาติพี่น้องก็ไม่สนใจ เขาเคยโทรหาผมแค่ครั้งเดียวว่าจะไม่ทำให้ผมเดือดร้อน ผมยังต้องส่งเสียลูกอีก4คน แต่ผมต้องนำเงินมาชำระแทนเขา เลยขอให้เรื่องนี้เตือนสติแก่ผู้ที่จะค้ำประกันใคร การศึกษาและชาติตระกูลไม่ได้ช่วยอะไร
เขาวางแผนล่วงหน้าแล้วให้พ่อเขารับผิดชอบน้อยที่สุดและมาชดใช้ให้หมดแต่ไม่ยอมชดใช้ให้คนอื่น ช่วยแชร์กันนะครับ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ และผู้ที่จะทำธุรกรรมกับคนในครอบครัวนี้หรือบุคคลอื่น แม้ท่านจะปรารถนาดีก็ตาม”
นี่คือโพสต์ต้นเรื่องจาก ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ ที่กลายมาเป็นประเด็นเดือดในสังคมตอนนี้ โพสต์ที่เขียนถึงอุทาหรณ์ครั้งใหญ่ในชีวิตเอาไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังต้องชดใช้เงินค้ำประกันเกือบ 2 ล้านบาท แทนอดีตอาจารย์คณะทันตแพทย์ ม.มหิดล รายหนึ่ง ซึ่งขอทุนไปเรียนต่อปริญญาโท ยาวไปจนถึงปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เป็นเวลาถึง 10 ปี ส่งให้ยอดหนี้บานปลายถึง 10 ล้านบาท
และผลสุดท้าย กลับจบลงตรงที่ว่า ทันตแพทย์หนีทุนรายนั้นปฏิเสธจะเดินทางกลับมารับราชการเพื่อใช้ทุนในไทย หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเรียบร้อยแล้ว แถมยังบอกปัดที่จะจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวน 3 เท่าของทุน (30 ล้านบาท) ตามที่กฎหมายระบุเอาไว้ จึงกลายมาเป็นภาระของผู้ค้ำประกันทั้ง 4 ราย ให้ต้องเป็นผู้ชดใช้(กรรม)แทน มิเช่นนั้น ผู้ค้ำประกันทั้งหมดจะถูกยึดทรัพย์! หลังเจรจาต่อรอง ขอลดหย่อนต่อศาลแล้ว จึงเหลือจำนวนเงินที่ต้องชดใช้แทนทั้งสิ้น 8 ล้าน 6 แสนบาท!!
[เจ้าตัวสุขสบาย มีสังคมที่ดีอยู่ต่างแดน]
"หลังเรียนจบ ปี 2547 เขาก็แจ้งกลับมาที่มหิดลว่า เขาไม่สามารถกลับมาเมืองไทยได้แล้ว เนื่องจากว่าเขาต้องทำวิจัยต่อที่ฮาร์วาร์ดและยังไม่มีกำหนดที่จะเสร็จ ส่วนทางมหิดลก็อนุมัติให้ลาออก ด้วยเหตุผลว่าขอไปศึกษาต่อ แถลงการณ์ทางมหาวิทยาลัยก็ออกมาว่าไม่สามารถติดต่อเขาได้ เป็นเหตุผลให้ทางต้องมาดำเนินคดีกับตัวผู้ค้ำประกัน ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าจริงๆ แล้ว มหิดลรู้อยู่แล้วว่าเขาไม่กลับแน่ๆ และเขาก็ยังมีตัวตนอยู่ตรงนั้น แต่ทำไมทางมหิดลถึงไม่ทำอะไรเลย
จริงๆ แล้ว ถ้าทางมหิดลแจ้งไปที่กรมการกงสุล หรือแจ้งไปที่ ตม.ว่าถ้าคนคนนี้เข้ามาเมืองไทยเมื่อไหร่ สามารถล็อกตัวได้ แต่เขาไม่ทำอะไรเพราะเขามองว่ายังไงเขาก็เอาเงินคืนจากผู้ค้ำประกันได้ครับ เพราะผู้ค้ำประกันมีตัวตน สามารถสอบถามได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว คุณหมอท่านนี้ (ทันตแพทย์ผู้หนีทุน) เคยเข้ามาเมืองไทยอีกครั้งเมื่อปี 2558 เข้ามาอยู่เป็น 10 วัน มาจัดการเรื่องงานศพคุณแม่เขา ซึ่งไม่มีใครสนใจและไม่มีใครรู้ด้วย
ในเมื่อทางมหิดลทราบอยู่แล้วว่าคนคนนี้ไม่กลับมาใช้ทุน ทำไมไม่เฝ้าระวังล่ะครับ แต่กลับพยายามมาไล่บี้กับผู้ค้ำประกัน และผู้ค้ำประกันก็ต้องเป็นคนที่ไปวิ่งเต้นทุกอย่างเอง และปล่อยให้เจ้าของหนี้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน
แถมตอนท้าย ในแถลงการณ์มหาวิทยาลัยมหิดลยังระบุอีกว่า เรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นทั่วไปแต่ไม่ได้เป็นกระแสข่าวขึ้นมา สะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่ได้มองเห็นว่ามันเป็นเรื่องน่าเดือดร้อนอะไร เพียงแต่เรื่องนี้กลายเป็นกระแสก็เท่านั้นเอง ซึ่งผมมองว่าถ้าหน่วยงานราชการทุกที่คิดแบบนี้ ผู้ค้ำประกันก็แย่หมดแหละครับ เพราะเขาไม่ไปไล่บี้กับคนที่ตามตัวยาก แต่เลือกมาไล่บี้กับคนที่อยู่เมืองไทย
กรณีที่ลูกหนี้มีตัวตนขนาดนี้ คุณต้องไล่บี้เขาให้ถึงที่สุด ต้องเฝ้าระวังเขา ถ้าเขาเข้ามาเมืองไทย คุณต้องจัดการเขาแล้ว ตรงนี้ผมอยากให้เป็นบรรทัดฐานใหม่ของระบบราชการไทยเลยครับ"
[ภาพล้อเลียนกรณีเดือด/ ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "อีเจี๊ยบ เลียบด่วน"]
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754