xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ผ่านวาระแรก กม.ทวงหนี้ ตั้งกฎเข้ม ชง กมธ.ให้ครอบคลุมหนี้นอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุม สนช.ส่วนใหญ่หนุน พ.ร.บ.ทวงหนี้ ย้อนที่ผ่านมาละเมิดสิทธิมาก ผู้ท้วงหนี้ทำผิดรับโทษน้อย แนะปรับให้ร้องเรียนสะดวก ครอบคลุมหนี้นอกระบบ ก่อนผ่านความเห็นชอบไร้ปัญหา ตั้ง กมธ.แปรญัตติ 7 วัน ร่าง กม.มีรายละเอียดสำคัญ ห้ามเจ้าหนี้ขู่ละเมิดสิทธิ ทวงหนี้โหด ลดปัญหาผู้มีอิทธิพล ให้ตามทวงได้ 9 โมง-2 ทุ่ม ฝ่าฝืนเจอคุกสูงสุด 5 ปี ปรับ 5 แสนบาท

วันนี้ (29 ส.ค.) การประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ ฉบับ พ.ศ... ที่เสนอโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยสมาชิกส่วนใหญ่ ได้อภิปรายสนับสนุนร่างดังกล่าว แต่ควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนชั้นกรรมาธิการให้คลอบคุมไปถึงหนี้นอกระบบด้วย เช่น นายตวง อันทะไชย สนช.กล่าวว่า เห็นด้วยกับกฎหมายนี้เพราะที่ผ่านไม่มีมาตรการในการทวงหนี้และนำมาซึ่งการทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินแก่ลูกหนี้และคนใกล้ชิด และยังละเมิดสิทธิต่างๆ มากมายของลูกหนี้ และที่ผ่านก็พบผู้ที่ใช้กฎหมายในการทวงหนี้เป็นผู้กระทำผิดเสียเองและยังได้รับโทษที่น้อยเกินไป นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยต่อคณะกรรมการที่รับเรื่องการทวงหนี้จำเป็นจะต้องกระจายไปที่ภูมิภาค เพราะในร่างกฎหมายดังกล่าวนี้เจาะจงไว้ในส่วนกลาง ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถเดินทางเข้าถึงสิทธิ์นี้ได้ แต่หากจะให้ชาวบ้านไปแจ้งเรื่องที่สถานีตำรวจ ก็ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายนี้

นายสุธรรม พันธุศักดิ์ สนช.เห็นด้วยต่อการออกกฎหมายนี้ โดยกล่าวว่าแม้จะยังไม่ครอบคลุมกับหนี้นอกระบบซึ่งขณะนี้หนี้นอกระบบมีจำนวนสูงมาก 80 เปอร์เซ็นต์ คนยากจนได้กู้หนี้ยืมสินมาทำการค้าขาย มีการเก็บดอกเบี้ยถึงร้อยละ 20 ต่อวัน การทวงถามมีลักษณะการขู่เข็ญรุนแรงที่อาจก่อให้เกิดอาชญากรรมได้ เมื่อมีการออกกฎหมายมาควบคุมและกำหนดบทลงโทษกับผู้ทวงถามถือเป็นส่วนดี แต่ต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง และจำกัดผู้มีอิทธิพลไม่ให้คุกคามประชาชน ส่วนมากหนี้นอกระบบจะใช้นักเลงในการทวงถามหนี้ เพื่อบังคับให้ลูกหนี้ใช้หนี้ด้วยความกลัวว่าจะถูกทำร้าย นอกจากนี้ ควรปรับปรุงกรรมการส่วนกลางในการรับร้องเรียนการทวงถามหนี้ให้สะดวกแก่ประชาชน

ด้านตัวแทนกระทรวงการคลังชี้แจงว่า กรณีวิธีการทวงถามหนี้มีการพัฒนารูปแบบออกไป ซึ่งร่างกฎหมายก็ได้กำหนดลักษณะการแจ้งความเป็นหนี้ในลักษณะเปิดเผยที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ไม่ว่าจะเปิดเผยทางใดก็อยู่ในการครอบคลุม อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้อำนาจคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้สามารถประกาศเพิ่มเติมภายหลังได้ เพื่อให้ครอบคลุมทั่วถึง ส่วนรูปแบบการร้องเรียนคณะกรรมการสามารถออกแบบวิธีการในการร้องเรียนต่างๆ โดยอาศัยกลไกภาครัฐที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ส่วนการบังคับใช้กฎหมายจะพยายามทำให้เกิดรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างกฎหมายนี้ด้วยคะแนนเสียงจำนวน 168 คนงดออกเสียง 4 คน และตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา จำนวน 25 คน กำหนดเวลาแปรญัตติ 7 วัน

ทั้งนี้ รายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าวมีสาระหลักดังนี้ มาตรา 3 “ผู้ทวงถามหนี้” หมายถึงผู้ให้สินเชื่อ หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้สินเชื่อผู้รับอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ “สินเชื่อ” สินเชื่อที่ให้บุคคลธรรมดาโดยการให้กู้ยืมเงิน การให้บริการบัตรเครดิต การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลิสซิ่ง ธุรกรรมแฟกเตอริง และสินเชื่ออื่นที่มีลักษณ์ทำนองเดียวกัน “ลูกหนี้”บุคคลธรรมดา ที่มีภาระผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ รวมทั้งผู้ค้ำประกันสินเชื่อด้วยมาตรา 6 (3) ห้ามใช้ข้อความ หรือเครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ในหนังสือหรือสื่ออื่นใดในการติดต่อสอบถาม ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงหนี้สินของลูกหนี้ มาตรา 7 (2) การทวงถามหนี้ ให้ปฏิบัติโดยติดต่อทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือบุคคล ได้ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. หากไม่สามารถติดตามได้ให้ติดตามช่วงเวลาอื่นที่เหมาะสม เป็นตามเงื่อนไขที่กำหนดของคณะกรรมการฯ มาตรา 7 (3) ผู้ทวงหนี้จะต้องแจ้งชื่อ และนามสกุล ในส่วนของผู้รับมอบอำนาจทวงหนี้จะต้องมีหลักฐานมอบอำนาจแสดงให้ลูกหนี้ทราบด้วย

มาตรา 8 ผู้ทวงถามหนี้ ต้องแจ้งชื่อและยอดจำนวนหนี้ให้ทราบ และลูกหนี้ชำระเงินแล้ว ต้องออกหลักฐานการชำระหนี้คืนให้ด้วย มาตรา 9 ผู้ทวงหนี้ห้ามกระทำดังต่อไปนี้ การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง และการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น ห้ามใช้วาจา หรือภาษีดูหมิ่น ถากถาง หรือเสียดสีลูกหนี้ และผู้อื่น ห้ามเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงหนี้ได้ทราบ ห้ามติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก หรือโทรสารให้ทราบว่าเป็นการทวงหนี้

มาตรา 10 ผู้ทวงถามหนี้ห้ามกระทำการเป็นเท็จให้เข้าใจว่า เป็นการทวงหนี้ของศาล เจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือเข้าใจว่าเป็นทนายความ สำนักงานทนายความ หรือสำนักกฎหมาย และการติดต่อทวงหนี้ห้ามให้เข้าใจว่าเป็นบริษัทข้อมูลเครดิต หรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต รวมทั้ง ข้อความที่แสดงลูกหนี้จะถูกดำเนินคดี หรือถูกยึดหรือายัดทรัพย์หรือเงินเดือน

มาตรา 11 ห้ามผู้ทวงถามหนี้เก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเกินกว่าที่คณะกรรมการประกาศ และห้ามให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้ว่าไม่สามารถชำระเงินได้

มาตรา 19 หากลูกหนี้ถูกผู้ทวงถามหนี้กระทำฝ่าฝืนกฎหมายนี้สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการฯ ได้ ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนทั้ง ทางปกครอง และอาญา โดยโทษทางปกครอง มาตรา 24 สั่งให้ผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการตามกฎหมายที่ถูกต้องแต่หากไม่ปฏิบัติตามมีคำสั่งให้ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนโทษอาญา มาตรา 29 หากบุคคลใดฝ่าฝืนต้องจำคุกไม่เกิน 1-5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่ฐานการกระทำผิด























กำลังโหลดความคิดเห็น