xs
xsm
sm
md
lg

วิป สนช.ขอศึกษาข้อมูล ร่าง กม.ทวงหนี้ให้ครบถ้วน ก่อนชงให้ที่ประชุมสภาฯ พิจารณา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ (แฟ้มภาพ)
วิป สนช.ไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.ทางถามหนี้ เหตุองค์กรด้านกฎหมาย และ กมธ.มีความเห็นหลากหลาย ขอเลื่อนระเบียบวาระเพื่อศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า การประชุมวิป สนช.เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สำคัญและเร่งด่วนจำนวน 10 ฉบับ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอให้ สนช.พิจารณา โดยร่างกฎหมายเกือบทั้งหมดที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้รับหลักการและตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา มีเพียงร่าง พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ... ที่วิป สนช.เห็นว่าควรเลื่อนวาระการพิจารณาออกไปก่อน แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะถูกบรรจุในวาระการประชุม สนช.ในวันที่ 28 ส.ค.แล้วก็ตาม เนื่องจากพบว่ายังมีปัญหาข้อกฎหมายหลายประการ โดยตัวแทนจากสภาทนายความแห่งประเทศไทย และตัวแทนจากเนติบัณฑิตสภา แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยเห็นว่าขณะนี้มีกฎหมายหลายฉบับที่ครอบคลุมการทวงหนี้อยู่แล้ว ขณะที่ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบก็มีเพียง 78 คดีเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นหนี้อยู่ในระบบสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะควบคุมดูแลอยู่ โดยบางส่วนเห็นว่าควรบรรจุอยู่ในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ กรรมาธิการฯ ก็แสดงความเห็นหลากหลาย โดยเห็นว่าเพื่อความรอบคอบควรเลื่อนระเบียบวาระออกไปเพื่อศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ในฐานะเลขานุการ วิป สนช.เปิดเผยว่า หน่วยงานภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สภาทนายความแห่งประเทศไทย ได้มาให้ข้อมูลต่อที่ประชุมวิป สนช.เมื่อวันที่ 26 ส.ค. โดยส่วนใหญ่เห็นว่ามีรายละเอียดบางอย่างที่ควรไปปรับปรุงและเพิ่มเข้าในร่างกฎหมาย โดยเฉพาะการให้กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมไปถึงการทวงหนี้นอกระบบด้วย จากเดิมที่คุ้มครองเฉพาะกรณีการทวงถามหนี้ในระบบเท่านั้น

“ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้องให้เกิดกฎหมายคุ้มครองลูกหนี้ที่ถูกทวงหนี้จากเจ้าหนี้นอกระบบอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้น เมื่อได้ฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย วิป สนช.จึงเห็นว่าควรนำกฎหมายไปปรับปรุงเพื่อเพิ่มเติมเนื้อหาให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้กำหนดเรื่องของกรอบเวลา แต่จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล และคิดว่าคงไม่ถึงขั้นต้องส่งร่างกฎหมายกลับคืนไปยัง คสช.แต่อย่างใด”


กำลังโหลดความคิดเห็น