xs
xsm
sm
md
lg

อย่าพอใจแค่รัฐธรรมนูญปราบโกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยออกมาแล้ว ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยซึ่งไม่ใช่เรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมาย

ผมไม่ติดใจการมีนายกรัฐมนตรีจากคนนอก เพราะอย่างไรพรรคการเมืองก็ต้องบอกเราก่อนว่า จะเสนอชื่อใครบ้างเป็นนายกฯ ไม่ติดใจเรื่องที่ร่างรัฐธรรมนูญทำให้องค์กรอิสระมีอำนาจเหนือรัฐบาล เพราะองค์กรอิสระจะมีอำนาจเหนือรัฐบาลก็เฉพาะเรื่องที่รัฐบาลทำไม่ถูกต้องหรือส่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ ถ้ารัฐบาลทำตามทำนองคลองธรรมองค์กรอิสระก็ไม่ได้มีความหมายอะไร

ฝ่ายที่เห็นด้วยพยายามชูว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติที่เข้มงวดไม่ให้คนที่มีพฤติกรรมฉ้อฉล ประพฤติมิชอบเข้าสู่อำนาจการเมือง ห้าม ส.ส. ส.ว. และโดยเฉพาะ รมต.เข้าไปกระทำการใดๆ ให้การใช้งบประมาณรายจ่ายมีส่วนเป็นประโยชน์กับตัวเองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมถ้าทำต้องพ้นตำแหน่ง ถ้าผู้ทำเป็น รมต.พ้นตำแหน่งทั้ง ครม. และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ในมาตรา 93 และมาตรา 139

แต่ผมว่า เรื่องที่ห้ามคนไม่ดีเข้าสู่อำนาจนั้นเป็นเรื่องพื้นฐานอยู่แล้ว ไม่ใช่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความโดดเด่นขึ้นมา ไม่เขียนห้ามไม่ให้คนไม่ดีเข้าสู่อำนาจสิถึงจะแปลก ส่วนที่เอางบประมาณไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองนั้นก็เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่ขบวนการโกงของนักการเมืองและข้าราชการประจำนั้นมีวิธีการที่ซับซ้อนตั้งหลายอย่าง ผมไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะปราบโกงได้เลย

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าระบุว่า การจ่ายเงินพิเศษให้แก่ข้าราชการ นักการเมือง เพื่อให้ได้สัญญางาน ลดลงเหลือเพียง 1-15% ของรายรับ ลดลงจากที่สำรวจครั้งแรกปี 2553 จนถึงปี 2556 ที่จ่ายมากถึง 25-35% และสำรวจล่าสุดเมื่อเดือนมิ.ย. 2558 ที่ลดลงเหลือ 5-15% โดยหากคิดจากงบประมาณรายจ่าย งบลงทุนปี 2558 ที่ 1.074 ล้านล้านบาท หากจ่ายพิเศษ 1-15% จะมีมูลค่าความเสียหายจากการคอร์รัปชันที่ 53,715-161,145 ล้านบาท คิดเป็น 0.39-1.18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจากปี 2557 ที่จ่ายเงินใต้โต๊ะ 15-25% หรือราว 150,763-251,272 ล้านบาท หรือ 1.15-1.91% ของจีดีพี

แม้ปีนี้จะโกงลดลงแต่ยังคอร์รัปชันกันอยู่ที่ 53,715-161,145 ล้านบาท นี่อยู่ในรัฐบาลทหารนะครับไม่ใช่นักการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยไปหาหน่อยสิครับว่าใครเอาเงินเป็นแสนล้านนี้ไป

ผมมีความเชื่อว่า รัฐธรรมนูญที่ดีนั้นต้องให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง แต่ถามว่าภาคประชาชนเข้มแข็งแล้วพอไหม ไม่พอหรอกครับ เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่ว่ากันว่า ทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็งก็ยังไม่สามารถป้องกันนักการเมืองที่ฉ้อฉลได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่ดีต้องทำให้ประชาชนควบคุมการทำงานของนักการเมืองได้ ต้องบังคับให้นักการเมืองทำงานรับใช้ประชาชนและปกป้องสิทธิของประชาชน

ลองคิดดูว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่เขียนไว้ให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง นักการเมืองไม่หลงละเลิงในอำนาจยิ่งกว่านี้หรือ

แต่กลายเป็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกวิจารณ์มากกว่าลดทอนสิทธิของประชาชนและสิทธิของชุมชนไป

ในขณะที่ฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญอ้างว่า สิทธิของประชาชนสิทธิชุมชนไม่ได้หายไป แต่ไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ โดยอ้างว่า อันไหนถ้าไม่เขียนห้ามไว้ก็เป็นสิทธิที่รัฐต้องจัดให้

ถามว่าสิทธิของประชาชนที่เขียนไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ 2540 ถึง 2550 นั้น ขนาดเขียนไว้แล้ว ประชาชนจะได้มายังต้องต่อสู้ดิ้นรนได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วถ้าไม่เขียนไว้คิดว่ารัฐจะหยิบยื่นให้หรือ

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นกรณีอ้างว่า สิทธิของชุมชนได้ย้ายไปอยู่ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 53 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนว่า ประชาชนและชุมชนมีสิทธิแค่ “มีส่วนร่วมในการดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว”

ประชาชนไม่มีสิทธิในการแสดงความเห็นที่จะปฏิเสธหรือไม่รับโครงการดังกล่าว ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 67 จะใช้คำว่า “จะดำเนินการมิได้... เว้นแต่ จะ...มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย...ก่อนการดำเนินโครงการ”

ซึ่งดร.เดชรัตชี้ว่า ถ้อยคำสองอย่างนั้นต่างกันมาก เพราะในการรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญเดิม ประชาชนและชุมชนมีสิทธิที่จะเสนอความเห็นที่คัดค้านโครงการดังกล่าว แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประชาชนจะมีสิทธิแค่ร่วมในการ “ดำเนินการ” และได้รับประโยชน์จากการดำเนินการเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนอาจถูกกำหนดให้เข้าร่วมหลังโครงการดำเนินการไปแล้วก็ได้ ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ประชาชนไม่มีสิทธิแสดงความเห็นปฏิเสธเลย

ลองหลับตานึกนะครับว่า ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือเหมืองแร่ทองคำที่ก่อให้เกิดมลพิษจะไปลงใกล้บ้านเราแล้วจะทำอย่างไร ขนาดรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าสิทธิของประชาชนมีอะไรบ้าง สิทธิของชุมชนมีอะไรบ้าง ประชาชนยังไม่อาจต้านทานอำนาจรัฐได้เลย

เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วรัฐมองสิทธิชุมชนเป็นภาพเล็กเป็นคนส่วนน้อยครับ แต่จะอ้างผลประโยชน์ของการพัฒนาเพื่อเรียกร้องให้ชุมชนเสียสละเสมอมา โดยเบื้องหลังคือการรับประโยชน์จากกลุ่มทุน

ถามว่า การเขียนว่า สิทธิของประชาชนมีอะไรนั้นมันเป็นเรื่องที่ยากเย็นอะไร คนที่นั่งร่างรัฐธรรมนูญอยู่ก็เป็นประชาชนไม่ได้ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจเสมอไปตลอดชีวิต ทำไมถึงลดทอนสิทธิของตัวเอง แก้ไขเอาสิทธิประชาชนคืนมาเถอะครับ

เรารู้กันอยู่ว่าระหว่างกลุ่มทุนกับสิทธิของชุมชนรัฐยืนอยู่ข้างไหน ลองมองเหมืองแร่ทองคำที่พิจิตร เพชรบูรณ์สิครับ ลองมองพี่น้องประชาชนที่หาดราไวย์สิครับ

ลองมองว่า ทำไมรัฐต้องยกเลิกกฎหมายผังเมืองและข้อบัญญัติท้องถิ่นให้กับนักลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำไมรัฐถึงยกเลิกกฎหมายเดียวกันนี้ให้กับธุรกิจพลังงาน โรงบำบัดน้ำเสีย และโรงกำจัดขยะ ทั้งที่กฎหมายนี้ปกป้องสิทธิของประชาชนและชุมชน นั่นก็เพราะรัฐคิดถึงกลุ่มทุนมากกว่าชุมชนใช่หรือไม่

ผมคิดว่า ก่อนที่จะตัดสินใจรับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะต้องคิดถึงสิทธิของประชาชนและสิทธิของชุมชนให้มาก เชื่อหรือว่า เมื่อไม่เขียนไว้แต่บอกว่าอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐแล้วรัฐจะทำให้ ในเมื่อเขียนไว้ก็ยังไม่ทำให้เลย

อย่าไปคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ปราบโกง เพราะสิ่งที่เขาเขียนไว้นั้นเป็นสิ่งที่นักการเมืองจะต้องประพฤติปฏิบัติอยู่แล้ว กฎหมาย ป.ป.ช.ก็มีบทบัญญัติที่ลงโทษอยู่แล้ว แต่ไม่เคยป้องกันนักการเมืองโกงได้ ทางที่ดีที่สุดคือ เราต้องปกป้องสิทธิของเราแล้วเลือกนักการเมืองที่ดีเข้าไปปกครองประเทศครับ

อย่าให้มายาคติที่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงมาบดบังการทำลายสิทธิของประชาชนไป

นักการเมืองจะดีหรือเลวอยู่ที่ความเข้มแข็งของประชาชนครับ ไม่ใช่อยู่ที่กฎหมายเขียนไว้ให้เป็นคนดี
กำลังโหลดความคิดเห็น