xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ โต้ กสม. ปัดตัดสิทธิชุมชนฟ้องศาล แย้มแยกบางมาตราเป็น กม.ลูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
“เลิศรัตน์” ตอบโต้ “หมอนิรันดร์” อ่านร่าง รธน.หาเรื่อง ปัดลิดรอนสิทธิชุมชนฟ้องศาลปกครอง โวคุ้มครองสิทธิเหนือ รธน.50 มีอึ้งเจอซักยัดไส้ยุทธศาสตร์ประเมินสิ่งแวดล้อม ทำรัฐเหนือชุมชน แจงเจตนาให้รัฐระวัง ไม่สนหากถูกตีความบิดเบือน รับเหตุผลดีพร้อมแก้ร่าง รธน. ย้ำเลือกตั้งสัดส่วนตอบโจทย์การเมืองไทยชัด เชื่อ ถูกตัดไม่ถึง 50 มาตรา อาจแยกบางมาตราเป็น กม.ลูก

วันนี้ (10 พ.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวนิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงกรณีที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญลิดรอนสิทธิประชาชน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิชุมชนในการฟ้องศาลปกครอง ว่า กรรมการสิทธิอ่านหาเรื่องเพราะในร่างรัฐธรรมนูญใหม่เราเขียนเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชนไว้ถึง 3 มาตรา คือ มาตรา 62-64 แม้ว่าในมาตรา 62 จะไม่ระบุให้สิทธิประชาชนฟ้องหน่วยงานรัฐ แต่ในมาตรา 64 บัญญัติเหมือนกับมาตรา 67ของรัฐธรรมนูญปี 50 ทุกอย่าง ดังนั้นรัฐธรรมนูญนี้จึงเพิ่มสิทธิประชาชนไม่ใช่ลิดรอนสิทธิประชาชน

เมื่อถามแย้งว่าในมาตรา 64 ของร่างรัฐธรรมนูญได้เพิ่มคำว่า “ในกรณีที่มีการประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกันด้วย” ซึ่งในมาตรา 67 ไม่มี เป็นการเพิ่มอำนาจรัฐเหนือประชาชนในการดำเนินโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชน จนถูกตีความว่า ประชาชนไม่สามารถฟ้องได้หากสิ่งที่ทำสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์อึ้งไปนิดหนึ่งก่อนจะตอบว่า เจตนารมณ์ของกรรมาธิการฯ คือ เพิ่มสิทธิชุมชน และทำให้การดำเนินโครงการของรัฐต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น จึงเพิ่มคำว่า “ยุทธศาสตร์” เข้าไป นั่นหมายถึงว่า การดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนถ้ารัฐทำก็ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้วย ซึ่งไม่ใช่การเพิ่มอำนาจรัฐ เพียงแต่บังคับรัฐว่าต้องทำงานระวังขึ้น เป็นการคุ้มครองสิทธิชุมชนเหนือกว่าที่เขียนไว้ในมาตรา 67 ด้วยซ้ำ นี่คือเหตุผลที่เราเพิ่มคำว่า “ยุทธศาสตร์” เข้าไป

“เข้าใจผิดกันไปเอง ผมไม่คิดว่าคำว่า “ยุทธศาสตร์” ที่เพิ่มเข้าไปจะมีปัญหาทำให้เกิดการตีความว่าการประเมินสิ่งแวดล้อมต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลด้วย จนประชาชนไม่มีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครอง แต่เป็นการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนด้วยซ้ำ จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไขในเรื่องนี้” พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 67 บัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนดำเนินการดังกล่าว

สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่มาตรา 64 ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กรรมาธิการยกร่างฯอ้างว่าเหมือนกับมาตรา 67 นั้น มีการเพิ่มถ้อยคำใหม่เข้าไป คือ “...ในกรณีประเมินสิ่งแวดล้อม ในระดับยุทธศาสตร์ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกันด้วย” ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเพิ่มอำนาจรัฐอยู่เหนือสิทธิชุมชนโดยให้คำนึงถึงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลก่อนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะกลายเป็นการตัดสิทธิประชาชนในการฟ้องต่อศาลปกครองไปโดยปริยาย แม้จะกำหนดว่าสามารถฟ้องหน่วยงานรัฐไว้ได้ก็ตาม

พล.อ.เลิศรัตน์ยังกล่าวถึงกรณีที่ กมธ.ปฏิรูปการเมือง เตรียมยื่นคำขอเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็นว่า หาก กมธ.ปฏิรูปการเมืองนำมาเสนอ กมธ.ยกร่างฯ เราก็จะให้พวกเขามาชี้แจงและอธิบายเหตุผล ซึ่งกมธ.ยกร่างฯทั้ง 36 คนต้องมาชั่งน้ำหนักถึงข้อดีและข้อเสีย รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกมธ.ยกร่างฯแต่ละคนว่าจะมีความเห็นอย่างไร ในส่วนข้อเสนอที่ให้ยกเลิกการเลือกตั้งส.ส.แบบระบบโอเพ่นลิสต์ ต้องอธิบายก่อนว่าวันนี้การเมืองไทยยังมีปัญหา ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการจัดคนลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคไม่ได้จัดตามความสามารถของบุคคลแต่จัดตามความสนิทใกล้ชิดและเงินทุน ดังนั้นที่เราออกแบบโอเพ่นลิสต์ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนช่วยจัดลำดับบัญชีรายชื่อให้ ประชาชนจะสามารถเลือกคนที่เหมาะสม มีความสามารถและชื่นชอบได้เอง ที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่คัดค้านเพราะกลัวที่ต้องหาเสียงแข่งกันเองซึ่งก็เป็นปัญหาที่พวกเขาต้องไปจัดการปัญหาเหล่านั้นเอง

“ข้อเสนอที่ให้มีระบบเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขตอย่างเดียว คงเป็นไปได้ยาก เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขตปัญหาหลัก คือ การซื้อเสียงที่ทำได้ง่ายกว่าระบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งการเลือกตั้งแบบเขตส่วนมากผู้ชนะก็ไม่ได้คะแนนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ที่ กมธ.ยกร่างฯ ออกแบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมสามารถตอบโจทย์แก้ปัญหาเหล่านี้ได้แม้จะไม่ทั้งหมดแต่เชื่อว่าจะดีกว่าที่ผ่านมาแน่นอน ส่วนการได้มาของ ส.ว.ที่ กมธ.ปฏิรูปการเมืองต้องการให้กลับไปใช้เหมือนรัฐธรรมนูญปี 50 คงเป็นไปไม่ได้ ที่ผ่านมา ส.ว.สรรหาถูกโจมตีว่ามาจากกรรมการสรรหาเพียงไม่กี่คนและเลือกแต่คนที่ตนเองชอบ แต่ในระบบใหม่เราให้เลือกกันเองในแต่ละกลุ่มที่มีความหลากหลายตั้งแต่ระดับบนไปจนระดับล่างและมีการเลือกตั้งในทุกจังหวัดด้วย ที่มีคนคัดค้านเพราะอาจจะยังไม่เข้าใจในระบบดังนั้นเราจะพูดคุยอธิบายให้เข้าใจ”

ส่วนกรณีที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญอาจจะถูกหั่นทิ้งถึง 50 มาตรานั้น พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า คงจะไม่ถูกตัดมากถึงขนาดนั้น หากตัดไป 50 มาตรารัฐธรรมนูญอาจจะอ่านไม่รู้เรื่อง แต่ทาง กมธ.ยกร่างฯมีความเห็นตรงกันว่า จะต้องมีการพิจาณาหาแนวทางตัดทอนร่างรัฐธรรมนูญให้สั้นลงอีก โดยบางมาตราอาจจะตัดทิ้งแล้วไปบัญญัติไว้เป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแทน ส่วนที่เหลือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์จะมีการปรับตัวอักษรให้สั้นกระชับลง แต่ทั้งนี้ไม่อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับความสั้นหรือยาวของรัฐธรรมนูญ ควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบที่อ่านแล้วจะต้องเข้าใจและครอบคลุม

พล.อ.เลิศรัตน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ กมธ. ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เตรียมยื่นคำขอเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น ว่า หาก กมธ. ปฏิรูปการเมืองนำมาเสนอ กมธ. ยกร่างฯ เราก็จะให้พวกเขามาชี้แจงและอธิบายเหตุผล ซึ่ง กมธ. ยกร่างฯ ทั้ง 36 คนต้องมาชั่งน้ำหนักถึงข้อดีและข้อเสีย รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กมธ. ยกร่างฯ แต่ละคนว่าจะมีความเห็นอย่างไร ในส่วนข้อเสนอที่ให้ยกเลิกการเลือกตั้ง ส.ส. แบบระบบโอเพ่น ลิสต์ ต้องอธิบายก่อนว่า วันนี้การเมืองไทยยังมีปัญหา ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการจัดคนลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคไม่ได้จัดตามความสามารถของบุคคลแต่จัดตามความสนิทใกล้ชิดและเงินทุน ดังนั้นที่เราออกแบบโอเพ่น ลิสต์ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนช่วยจัดลำดับบัญชีรายชื่อ โดยประชาชนจะสามารถเลือกคนที่เหมาะสม มีความสามารถและชื่นชอบได้เอง การที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่คัดค้านเพราะกลัวที่ต้องหาเสียงแข่งกันเองซึ่งก็เป็นปัญหาที่พวกเขาต้องไปจัดการปัญหาเหล่านั้นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น