xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯดัดหลังทุนการเมือง ไม่แก้โอเพ่นลิสต์-ที่มาส.ว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากกรณี นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรวบรวมและรับฟังความเห็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แถลงถึง ประเด็นที่จะยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเบื้องต้น 5 ประเด็นหลัก คือ
1. ที่มานายกรัฐมนตรี ตามร่างของกมธ.ยกร่างฯ เปิดช่องให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จะขอแก้ไขเป็น ให้นายกรัฐมนตรีมีที่มาจาก ส.ส.เพียงอย่างเดียว แต่จะเปิดช่องไว้ในบทเฉพาะกาล ให้มีนายกฯ คนนอกได้ในกรณีเกิดวิกฤต โดยต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 จากสมาชิกทั้งสองสภา
2. ให้ยกเลิกระบบการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ ตามร่างกมธ.ยกร่างฯขอให้ยกเลิก โดยให้กลับไปใช้การเลือกตั้งในระบบเดิม โดยอาจจะให้มี ส.ส.ระบบเขตเพียงอย่างเดียว 450 คน หรืแอให้มี ส.ส.ระบบเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวมเป็น 500 คน
3.เรื่องที่มาส.ว. 200 คน จากการสรรหา 123 คน และเลือกตั้ง 77 คน ตามร่างของกมธ.ยกร่างฯ ให้แก้ไขเป็น มี ส.ว.150 คน เป็นส.ว.จังหวัด 77 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง และอีก 73 คน มาจากการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพต่างๆ โดยส่งตัวแทนมาให้ประชาชนเลือกตั้งอีกครั้งในขั้นตอนสุดท้าย
4. ขอให้ตัดทิ้งมาตรา 181 และ 182 เพราะไม่ต้องการให้นายกฯ มีอำนาจเหนือฝ่ายรัฐสภามากเกินไป
5. มาตรา 111 (15) ที่กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า ห้ามผู้เคยถูกถอดถอนหรือถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงเล่นการเมืองนั้น จะขอแก้ไข โดยให้ตัดข้อความใน (15) ทื้ง เพราะการจำกัดสิทธิผู้เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ไม่ให้เล่นการเมืองตลอดชีวิต ถือว่าไม่ถูกต้อง ผิดหลักการ

** ยันโอเพ่นลิสต์-ที่มาส.ว. เหมาะแล้ว

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า หากกมธ.ปฏิรูปการเมืองนำมาเสนอ กมธ.ยกร่างฯ ก็จะให้พวกเขามาชี้แจง และอธิบายเหตุผล ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คน ต้องมาชั่งน้ำหนักถึงข้อดี และข้อเสีย รวมทั้งผลกระทบ คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กมธ.ยกร่างฯ ว่าจะมีความเห็นอย่างไร
ส่วนข้อเสนอที่ให้ยกเลิกการเลือกตั้ง ส.ส.แบบโอเพ่นลิสต์นั้น ต้องอธิบายก่อนว่า วันนี้การเมืองไทยยังมีปัญหา ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการจัดคนลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ไม่ได้จัดตามความสามารถของบุคคล แต่จัดตามความสนิทใกล้ชิด และเงินทุน ดังนั้นที่เราออกแบบโอเพ่นลิสต์ขึ้นมา ก็เพื่อให้ประชาชนช่วยจัดลำดับบัญชีรายชื่อให้ ประชาชนจะสามารถเลือกคนที่เหมาะสม มีความสามารถ และชื่นชอบได้เอง การที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่คัดค้านในประเด็นนี้ ก็เพราะกลัวที่จะต้องหาเสียงแข่งกันเอง ซึ่งก็เป็นปัญหาที่พวกเขาต้องไปจัดการแก้ปัญหากันเอง
"ข้อเสนอที่ให้มีระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบเขตอย่างเดียว คงเป็นไปได้ยาก เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขต ปัญหาหลักคือ การซื้อเสียงที่ทำได้ง่ายกว่าระบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งการเลือกตั้งแบบเขต ส่วนมากผู้ชนะก็ไม่ได้คะแนนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ที่กมธ.ยกร่างฯ ออกแบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม สามารถตอบโจทย์แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แม้จะไม่ทั้งหมด แต่เชื่อว่าจะดีกว่าที่ผ่านมาแน่นอน ส่วนการได้มาของ ส.ว. ที่กมธ.ปฏิรูปการเมือง ต้องการให้กลับไปใช้เหมือนรัฐธรรมนูญปี 50 คงเป็นไปไม่ได้ ที่ผ่านมา ส.ว.สรรหา ถูกโจมตีว่ามาจากกรรมการสรรหาเพียงไม่กี่คน และเลือกแต่คนที่ตนเองชอบ แต่ในระบบใหม่ เราให้เลือกกันเองในแต่ละกลุ่มที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่ระดับบนไปจนระดับล่าง และมีการเลือกตั้งในทุกจังหวัดด้วย การที่มีคนคัดค้านเรื่องนี้ก็เพราะอาจจะยังไม่เข้าใจในระบบ ดังนั้นเราจะพูดคุยอธิบายให้เข้าใจ" โฆษกกรรมาธิการยกร่าง กล่าว
**ซัดพลเมืองเป็นใหญ่แค่วาทกรรม

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึง ร่างรัฐธรรมนูญ ว่า มีการใช้วาทกรรมว่าสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ แต่ความจริง คือ รัฐเป็นใหญ่ เพราะหมวดสิทธิเสรีภาพทั้งหมวด มีปัญหาใหญ่ๆ 5 เรื่อง คือ
1. ทำให้เกิดความสับสนในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ร่างเป็นศัพท์ที่แตกต่าง ระหว่างสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง และคำว่า พลเมือง ในทางหลักสากลสิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมือง คือเรื่องเดียวกัน แต่ร่างนี้กำหนดว่าสิทธิพลเมือง ต้องเป็นคนสัญชาติไทย ขัดหลักการที่มีพันธะกรณีระหว่างประเทศ 7 ฉบับ ในเรื่องการดูแลสิทธิมนุษยชน ต่อจากนี้จะมีปัญหาเช่น คนไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่อยู่ภาคเหนือ ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐ
2 . หมวดสอง ส่วนที่ 1 เริ่มความเป็นพลเมือง และหน้าที่พลเมืองไม่ถูกต้องตามสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นหน้าที่รัฐต้องปกป้องคุ้มครอง แต่ทำแบบนี้ย้อนยุค ทำให้เกิดการบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า อะไรเป็นสิทธิก็เป็นหน้าที่ของประชาชน ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะเป็นหน้าที่รัฐ ประชาชนมีหน้าที่ ไม่มีสิทธิละเมิดบุคคลอื่น
3. ตั้งแต่ มาตรา 46 กำหนดสิทธิพลเมือง เป็นการแบ่งแยก จะดูแลเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น จะเกิดปัญหามากในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางวิชาการจะถูกจำกัด
4. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งเดิมกำหนดไว้ชัดเจน เรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แสดงความเห็น ร้องทุกข์ ฟ้องหน่วยราชการ แต่ขณะนี้เอามารวมใน มาตรา 62 ตัดสิทธิในเรื่องการฟ้องร้องหน่วยราชการ แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 50 ที่เขียนไว้อย่างชัดเจน ในมาตรา 67 ถ้าร่างนี้บังคับใช้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ก็จะไม่สามารถฟ้องศาลปกครองเพื่อระงับโครงการอีก
5. หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตั้งแต่ มาตรา 84-87 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 ถูกตัดทิ้งไป ทำให้รัฐบาลไม่ต้องดำเนินการให้มีนโยบายที่จะต้องแถลงต่อรัฐสภา ว่าจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย การพัฒนา เขตเศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรม จะส่งผลกระทบมากเพราะประชาชนไม่มีสิทธิร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นการเปิดทางที่รัฐจะดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น ปากบารา เป็นต้น
" ที่บอกว่าสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ ไม่จริง เพราะการควบรวมกรรมการสิทธิฯ กับผู้ตรวจ เป็นเรื่องมักง่าย บอกต้องการวันสต็อปเซอร์วิส ทั้งๆ ที่สององค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐต่างกัน นำมารวมกันจะเป็นอุปสรรคในการทำงาน แสดงว่ากรรมาธิการฯรู้ไม่จริง แต่คิดว่าตัวเองรู้ เพราะเป็นการลิดรอนประสิทธิภาพการทำงานของทั้งสององค์กร รวมถึงกระทบความเชื่อมั่นของต่างชาติ ในการยอมรับการทำงานของทั้งกรรมการสิทธิฯ และผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะทำให้ต่างชาติประเมินใหม่ตั้งแต่ศูนย์” นพ.นิรันดร์ กล่าว
** ซัด"กก.สิทธิฯ"อ่านรธน.แบบหาเรื่อง

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชี้แจงกรณีที่ นพ.นิรันดร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ลิดรอนสิทธิประชาชน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิชุมชนในการฟ้องศาลปกครอง ว่า กรรมการสิทธิฯ อ่านแบบหาเรื่อง เพราะในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เราเขียนเกี่ยวกับ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิชุมชนไว้ถึง 3 มาตรา คือ มาตรา 62-64 แม้ว่าใน มาตรา 62 จะไม่ระบุให้สิทธิประชาชนฟ้องหน่วยงานรัฐ แต่ในมาตรา 64 บัญญัติเหมือนกับ มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ทุกอย่าง ดังนั้นรัฐธรรมนูญนี้ จึงเพิ่มสิทธิประชาชนไม่ใช่ลิดรอนสิทธิประชาชน
เมื่อถามว่าใน มาตรา 64 ของร่างรัฐธรรมนูญ ได้เพิ่มคำว่า "ในกรณีที่มีการประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกันด้วย" ซึ่งใน มาตรา 67 ไม่มี เป็นการเพิ่มอำนาจรัฐเหนือประชาชน ในการดำเนินโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชน จนถูกตีความว่า ประชาชน ไม่สามารถฟ้องได้หากสิ่งที่ทำ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ อึ้งไปนิดหนึ่ง ก่อนจะตอบว่า เจตนารมณ์ของกรรมาธิการฯ คือเพิ่มสิทธิชุมชน และทำให้การดำเนินโครงการของรัฐ ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น จึงเพิ่มคำว่า “ยุทธศาสตร์”เข้าไป นั่นหมายถึงว่า การดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ถ้ารัฐทำ ก็ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้วย ซึ่งไม่ใช่การเพิ่มอำนาจรัฐ เพียงแต่บังคับรัฐว่า ต้องทำงานระวังขึ้น เป็นการคุ้มครองสิทธิชุมชนเหนือกว่าที่เขียนไว้ในมาตรา 67 ด้วยซ้ำ นี่คือเหตุผลที่เราเพิ่มคำว่า“ยุทธศาสตร์”เข้าไป
"เข้าใจผิดกันไปเอง ผมไม่คิดว่า คำว่า “ยุทธศาสตร์”ที่เพิ่มเข้าไป จะมีปัญหาทำให้เกิดการตีความว่า การประเมินสิ่งแวดล้อมต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลด้วย จนประชาชนไม่มีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครอง แต่เป็นการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนด้วยซ้ำ จึงคิดว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ไขในเรื่องนี้" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น