xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ซัด กมธ.ยกร่างฯ อ้างพลเมืองเป็นใหญ่ไม่จริง ชี้ไร้อนาคตให้รวมผู้ตรวจฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
“หมอนิรันดร์” ย้อน กมธ.ยกร่างฯ อ้างวาทกรรมพลเมืองเป็นใหญ่ไม่จริง ชี้ ความจริงรัฐเป็นใหญ่ เหตุหมวดสิทธิเสรีภาพมีปัญหา ทำสับสนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิ แบ่งแยกการดูแล ปิดช่อง ปชช.ฟ้องศาล ปค.ระงับโครงสร้าง ไร้สิทธิร่วมตัดสินใจ ซัดให้ควบรวมผู้ตรวจฯ มักง่ายไม่รู้จริง กระทบความเชื่อมั่น ตปท. แนะปรับปรุงองค์เก่าแทนสร้างองค์กรใหม่ ไร้อนาคต

วันนี้ (10 พ.ค.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า มีการใช้วาทกรรมว่าสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ แต่ความจริงคือรัฐเป็นใหญ่ เพราะหมวดสิทธิเสรีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า มีการใช้วาทกรรมว่า “สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่” แต่ความจริง คือ “รัฐเป็นใหญ่” เพราะหมวดสิทธิเสรีภาพทั้งหมวดมีปัญหาใหญ่ๆ 5 เรื่อง คือ 1. ทำให้เกิดความสับสนในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ร่างเป็นศัพท์ที่แตกต่างระหว่างสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง และคำว่า “พลเมือง” ในทางหลักสากลสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองคือเรื่องเดียวกัน แต่ร่างนี้กำหนดว่าสิทธิพลเมืองต้องเป็นคนสัญชาติไทย ขัดต่อหลักการที่มีพันธกรณีระหว่างประเทศ 7 ฉบับในเรื่องการดูแลสิทธิมนุษยชน ต่อจากนี้จะมีปัญหาเช่น คนไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่อยู่ภาคเหนือ ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐ

2. หมวดสอง ส่วนที่ 1 เริ่มความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมืองไม่ถูกต้องตามสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นหน้าที่รัฐต้องปกป้องคุ้มครอง แต่ทำแบบนี้ย้อนยุคทำให้เกิดการบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า อะไรเป็นสิทธิก็เป็นหน้าที่ของประชาชนซึ่งความจริงไม่ใช่เพราะเป็นหน้าที่รัฐ ประชาชนมีหน้าที่ไม่มีสิทธิละเมิดบุคคลอื่น 3. ตั้งแต่มาตรา 46 กำหนดสิทธิพลเมือง เป็นการแบ่งแยกจะดูแลเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นจะเกิดปัญหามากในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางวิชาการจะถูกจำกัด

4. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนซึ่งเดิมกำหนดไว้ชัดเจนเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แสดงความเห็น ร้องทุกข์ ฟ้องหน่วยราชการ แต่ขณะนี้เอามารวมในมาตรา 62 ตัดสิทธิในเรื่องการฟ้องร้องหน่วยราชการ แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 50 ที่เขียนไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 67 ถ้าร่างนี้บังคับใช้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็จะไม่สามารถฟ้องศาลปกครองเพื่อระงับโครงการอีก และ 5. หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตั้งแต่มาตรา 84-87 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 ถูกตัดทิ้งไป ทำให้รัฐบาลไม่ต้องดำเนินการให้มีนโยบายที่จะต้องแถลงต่อรัฐสภาว่าจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย การพัฒนา เขตเศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรม จะส่งผลกระทบมากเพราะประชาชนไม่มีสิทธิร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นการเปิดทางที่รัฐจะดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น ปากบารา เป็นต้น

“ที่บอกว่าสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ไม่จริง เพราะการควบรวมกรรมการสิทธิกับผู้ตรวจเป็นเรื่องมักง่ายบอกต้องการวันสต๊อปเซอร์วิส ทั้งๆ ที่สององค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐต่างกัน นำมารวมกันเป็นอุปสรรคในการทำงาน แสดงว่ากรรมาธิการฯ รู้ไม่จริงแต่คิดว่าตัวเองรู้ เพราะเป็นการลิดรอนประสิทธิภาพการทำงานของทั้งสององค์กร รวมถึงกระทบความเชื่อมั่นของต่างชาติในการยอมรับการทำงานของทั้งกรรมการสิทธิฯ และผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะทำให้ต่างชาติประเมินใหม่ตั้งแต่ศูนย์”

นพ.นิรันดร์แสดงความเห็นว่า ควรปรับปรุงองค์กรเก่า แทนการสร้างองค์กรใหม่ที่ยังมองไม่เห็นอนาคตและไม่ควรจัดระเบียบหรือสร้างกฎเกณฑ์ที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักสากลและสิทธิมนุษยชน เพราะจะทำให้ความเป็นธรรมทางสังคมเกิดปัญหา เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาคือหลักการถ่วงดุลและตรวจสอบของภาคประชาชน จึงควรสรุปบทเรียนองค์กรอิสระที่ไม่อิสระกลายเป็นองค์กรของข้าราชการที่เกษียณแล้ว จะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร คำตอบไม่ใช่การเพิ่มองค์กรแต่อยู่ที่สิ่งที่มีอยู่จะแก้ไขปรับปรุงอย่างไรให้ดีขึ้น แต่การควบรวมตัดตอน สร้างองค์กรใหม่ ทำลายองค์กรเก่า โดยที่องค์กรใหม่ก็ไม่เห็นว่าจะได้อะไรเป็นมรรคเป็นผล มองไม่เห็นอนาคต เพราะร่างรัฐธรรมนูญนี้ทำให้การปกครองย้อนกลับไปสู่ระบบที่อยู่ภายใต้ราชการ อำนาจรัฐ ไม่ใช่พลเมืองเป็นใหญ่ เพราะอำนาจของประชาชนถูกจัดระเบียบและวางกรอบให้การทำงานแคบลง วาทกรรมที่อ้างว่าสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ไม่ใช่ความจริง แต่เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนมากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น