“ปานเทพ” แจงเวทีถาม - ตอบพลังงานรอบก่อน ฝ่ายทุนพลังงานตั้งกติกาห้ามภาคประชาชนอภิปราย จึงเกิดข้อจำกัดในการตั้งคำถาม หวังจัดรอบ 2 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.ย. นี้ เปิดโอกาสให้อภิปรายได้ เชื่อฝ่าย ปตท. ยอมร่วมเวที เหตุ “ประยุทธ์” ค้านนโยบายพลังงาน ด้าน “อิฐบูรณ์” ย้ำท่อก๊าซได้มาโดยด้วยอำนาจมหาชนของรัฐ ต้องโอนกลับมาเป็นของรัฐเท่านั้น จะแยกไปเป็นเอกชนไม่ได้
วันที่ 10 ก.ย. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมสนทนาในรายการ “ปฏิรูปประเทศไทย” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง “นิวส์ วัน”
โดย นายปานเทพ กล่าวถึงงานเสวนาถาม - ตอบ เรื่องการปฎิรูปพลังงาน ที่ทางสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จัดขึ้นในวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา ว่า การถามตอบคราวก่อนไม่ใช่การประชาพิจารณ์ และไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นต่างกันระหว่างภาครัฐ กับประชาชน กลุ่มพลังงานและข้าราชการกระทรวงพลังงานได้มีกติกาในการยอมเข้าร่วม คือ ให้เวทีเป็นรูปแบบตอบคำถามจากประชาชน โดยที่ประชาชนไม่มีสิทธิอภิปราย ทั้งที่ภาคประชาชนอยากอภิปรายแต่เวทีไม่เอื้ออำนวย ไม่เช่นนั้นข้าราชการกระทรวงพลังงานกับ ปตท. คงไม่ยอมเข้าร่วมหากเป็นในลักษณะให้ภาคประชาชนอภิปราย เพราะมีการเชิญชวนให้มาพูดคุยกันหลายครั้ง แต่อีกฝ่ายก็ไม่ตอบรับ
นายปานเทพ กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่กลุ่มทุนพลังงานเข้าหาหลวงปู่พุทธะอิสระ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คมช. ปฏิเสธหลายนโยบายของซูเปอร์บอร์ดที่เกี่ยวกับพลังงาน จึงเป็นสภาพบังคับให้กลุ่มทุนพลังงานต้องจัดเวทีคล้ายๆ กับเปิดรับฟังประชาชนให้เสร็จก่อน ค่อยกลับไปเสนอประธาน คสช. ใหม่ เจตนาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธนโยบายซูเปอร์บอร์ด 2 ครั้ง หากมองในแง่ร้ายอาจเพียงต้องการให้ผ่านพิธีกรรม สร้างความชอบธรรม แต่มองในแง่บวก พล.อ.ประยุทธ์ อาจคำนึงถึงกระแสสังคมก็ได้ ถ้าจำได้ซูเปอร์บอร์ดเคยเชิญภาคประชาชนไปพูดคุย แต่ผลลัพธ์ออกมากลายเป็นเอาท่อก๊าซมาแปรรูป เลยไม่แน่ใจว่าการรับฟังประชาชนเป็นเพียงพิธีกรรมหรือเปล่า
นายปานเทพ กล่าวอีกว่า เวทีถามตอบที่ผ่านมา บางคนอาจมองว่าสะเปะสะปะ แต่นั่นก็เพราะกรอบกติกาคือภาคประชาชนได้แค่ซักถามด้านเดียว โดยไม่ให้ประชาชนอภิปราย ฉะนั้น เราจึงต้องจัดระเบียบคำถาม ในลักษณะที่ประชาชนจะได้มีโอกาสเห็นชัดที่สุด เพื่อเอาคำตอบที่ได้ไปต่อยอดอภิปรายในอนาคต จึงตัดเป็น 3 หัวข้อหลัก คือ 1. เรื่องท่อก๊าซ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สุด เสียดายคนมาเตรียมคำถามไม่ได้อยู่ด้วยกัน เพราะอยู่ในการควบคุมของ คสช. เช่น นายวีระ สมความคิด นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา และ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม จึงไม่ได้มีการสื่อสารเตรียมการกันล่วงหน้า 2. เรื่องผลประโยชน์ปิโตรเคมี และ 3. เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์
ภาพรวมออกมาหลายคนไม่เข้าใจถามเพื่ออะไร แต่เพราะเราต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำไปต่อยอด เราไม่มีโอกาสแม้แต่จะอภิปรายว่าถามไปเพื่ออะไร
นายปานเทพ ยังกล่าวอีกว่า คราวที่แล้ว ปตท. อาจไม่ได้ตั้งตัวมากตามที่เขาคิดไว้ เพราะหลวงปู่พุทธะอิสระปรับเวทีใหม่กลางงานเลย จากเดิม ปตท. กระทรวงพลังงาน จะอยู่บนเวทีฝ่ายเดียว แล้วให้ประชาชนอยู่ด้านล่าง แต่หลวงปู่ฯปรับให้ประชาชนไปอยู่บนเวทีอีกซีกนึง ซึ่งการจัดเวทีรอบ 2 วันที่ 24 ก.ย. เราอยากได้โอกาสอภิปราย ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด
นายอิฐบูรณ์ กล่าวถึงการจัดเวทีเสวนาถาม - ตอบพลังงานรอบที่ 2 ที่จะมีขึ้นวันที่ 24 ก.ย. นี้ ว่า คำถามสำคัญที่จะไปถาม คือเรื่องท่อก๊าซ มันสมควรหรือที่ให้แยกท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกมาจาก ปตท. แล้วให้อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทเอกชนซึ่งมี ปตท. ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ แม้ ปตท. มีรัฐถือหุ้นอยู่ 51 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อแยกไปเป็นบริษัทลูกแล้ว หุ้นรัฐจะถูกลดทอนไปเรื่อยๆ
หากยึดตามหลักการคำวินิจฉัยของศาล สิ่งใดได้มาโดยด้วยอำนาจมหาชนของรัฐ ผ่านปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ต้องโอนกลับมาเป็นของรัฐเท่านั้น
นายอิฐบูรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า ความจริงเรื่องปิโตรเลียมโดยเฉพาะท่อก๊าซจบไปแล้ว หลวงปู่ฯจะคุยเรื่องพลังงานหมุนเวียน แต่ก็มีคนขอให้มีครั้ง 2 เพราะเขายังคาใจ รู้สึกว่าพลาดพลั้งไปเรื่องท่อก๊าซในทะเล