ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันก่อนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ครั้งที่ 1/2559 ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล
ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น พล.อ.ประวิตร ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ได้หารือถึงการจัดระเบียบการจราจรซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงพื้นที่จอดรถ พื้นที่ทางเท้า การจราจร และการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ที่ประชุมได้อนุมัติหลักการในการก่อสร้างอาคารจอดรถบริเวณริมน้ำสวนนคราภิรมย์ (ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตพระนคร) ซึ่งสามารถจอดรถได้ 700 คัน และจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ส่วนเรื่องงบประมาณต้องพิจารณาเพิ่มเติมอีกครั้งว่าจะใช้งบจากตรงไหน จำนวนเท่าไหร่
"การจัดระเบียบต่างๆและการอำนวยความสะดวกขณะนี้ก็ได้เริ่มต้นไปแล้ว โดยขณะนี้ได้ให้รถทัวร์รถโดยสารขนาดใหญ่จอดที่สายใต้ใหม่ ส่วนรถเล็กที่มาส่งนักท่องเที่ยวนั้นก็ให้มาส่งและรับ โดยต้องวนไปหาที่จอด ขณะนี้ก็กำลังจะทำอาคารจอดรถสำหรับรถเก๋ง รถตู้ ส่วนรถรับจ้างๆต่างๆก็มีจุดจอดรับ-ส่ง ซึ่งได้มอบหมายให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกทม.พิจารณาว่าควรจะไปจอดที่ไหน เพราะทุกวันนี้ก็มีการไปจอดเกะกะแถวถนนศรีอยุธยา ก็ต้องหารือกัน" พล.อ.ประวิตร กล่าวพล.อ.ประวิตร และระบุว่า ในช่วงเร่งด่วนนี้ ก็ให้ก่อสร้างที่ “สวนนคราภิรมย์” ก่อน เพราะคณะกรรมการฯได้พิจารณาแล้วว่าหากไปสร้างที่สนามหลวงมีผู้คัดค้านจำนวนมาก เพราะเป็นสถานที่ประกอบพิธีต่างๆที่สำคัญของประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความไม่สะดวกก็ให้ไปพิจารณาร่วมกับทางกรุงเทพมหานคร
“สวนนาคราภิรมย์”อยู่ตรงไหน คนกรุงเทพฯ น้อยคนคงรู้จัก แต่ถ้าบอกว่า “สวนท่าเตียน”หลายคนคงร้องอ๋อ!!
สวนแห่งนี้เปิดให้ประชาชนเข้ามาพักผ่อนเมื่อเดือนกันยายน 2553 เป็นพื้นที่ ที่ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร พัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท้ายพระบรมมหาราชวัง ริมถนนมหาราช ให้เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ริมแม่น้ำ มีอาณาเขต ทิศเหนือติดสโมสรข้าราชบริพาร ทิศใต้ติดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกติดถนนมหาราช ทิศตะวันตกติดแม่น้ำเจ้าพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ซึ่งแต่เดิม พื้นที่ตรงนี้ เป็นที่ตั้งของ “กรมการค้าภายในเดิม” และ “องค์การคลังสินค้า” โดยทางกรมศิลปากรพิจารณาตอนนั้น เห็นว่า อาคารดังกล่าวไม่มีคุณค่าเชิงศิลปะ สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ ไม่ถือว่าเป็นโบราณสถาน จึงได้ดำเนินการรื้อถอนอาคารและปรับภูมิทัศน์ให้เป็นพื้นที่โล่งสีเขียว เพื่อเปิดมุมมองสู่พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)จากฝั่งพระนคร และเปิดมุมมองสู่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) จากฝั่งธนบุรี ตามมติของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า และตามแผนแม่บทและพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ของรัฐบาลในอดีต
โดยพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ร่วมระหว่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และกรมธนารักษ์ (ที่ราชพัสดุ) มีพื้นที่รวม 3 ไร่ 3 งาน 65.90 ตารางวา แบ่งเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 2 ไร่ 0 งาน 25.90 ตารางวา และของกรมธนารักษ์ 1 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา ซึ่งได้พัฒนาพื้นที่ตรงนี้เป็นสวนสาธารณะในแนวราบพร้อมห้องน้ำสาธารณะ ไม่มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ส่วนพื้นที่ริมน้ำจะจัดทำแนวกั้นน้ำให้เต็มพื้นที่
และขอพระราชทานนามสวนสาธารณะแห่งนี้สำหรับใช้เรียกขานอย่างเป็นทางการ โดยตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2552พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “สวนนาคราภิรมย์” อันหมายความว่า สวนเป็นที่น่ารื่นรมย์ยิ่งของชาวพระนคร
ภายในสวนนาคราภิรมย์แห่งนี้ มีการจัดตกแต่งภูมิทัศน์ที่สวยงามด้วยแมกไม้นานาพรรณ และลานกิจกรรมอเนกประสงค์ เพื่อให้ชาวกรุงเทพฯได้มาพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ เพิ่มสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่เมืองและสร้างทัศนียภาพอันงดงามทางสายตาแก่ผู้พบเห็นแล้ว
“สวนนาคราภิรมย์” ถูกออกแบบให้เป็นสวนเปิดโล่งเปิดมุมมองอันสวยงามริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สามารถมองเห็นความสง่างามของสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ มองเห็นความงามของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระบรมมหาราชวังในฝั่งพระนคร และภาพความสวยงามของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม พระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตาราม ตลอดจนอาคารราชนาวิกสภา ที่ดูสวยงามโดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี
“สำหรับแผน ก่อสร้างอาคารจอดรถบริเวณริมน้ำสวนนคราภิรมย์ ล่าสุด กรุงเทพมหานครได้รับการประสานจากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้ทำการศึกษาการปรับปรุงพื้นที่ “สโมสรข้าราชบริพารริมแม่น้ำเจ้าพระยา” ข้างพระบรมมหาราชวัง เพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะต่อเนื่องไปจนถึง “สวนนาคราภิรมย์”
โดย ได้มีการรื้อถอนสโมสรฯ ซึ่งทางสำนักทรัพย์สินฯ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณเพื่อปรับภูมิทัศน์ให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว เพราะ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก และเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายปรับภูมิทัศน์ของกทม.
ที่ผ่านมา แผนจอดรถใต้ดินในจุดดังกล่าว มีการตั้งเป้าว่า จะสามารถรองรับรถยนต์ได้ถึง 1,000 คัน สำหรับข้าราชการสำนักพระราชวัง 500 คัน และสำหรับประชาชนทั่วไป 500 คัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อแก้ปัญหาการจราจร อย่างไรก็ตามในการศึกษาเบื้องต้นจะต้องทำการขุดเจาะลงไปลึกประมาณ 40 เมตร เพื่อไม่ให้กระทบกับโบราณวัตถุที่อาจอยู่ใต้ดินในความลึกระยะ 20 เมตร แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้มีการสแกนผิวดินตรวจหาแล้ว และไม่พบว่ามีวัตถุโบราณอยู่ใต้ดินก็ตาม
นอกจากนี้ในอนาคตจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งจะมีการก่อสร้างสถานีบริเวณถนนราชดำเนินกลาง และจุดอื่นๆ ในเกาะรัตนโกสินทร์ โดย รฟม.ก็จะออกแบบตัวสถานีให้มีการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับทราบ เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ชาติไทย
ส่วนแผนโครงการ “สร้างจุดจอดรถใต้สนามหลวง” กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศไปนานแล้วว่า “ไม่สร้างแน่แล้ว”เหตุเพราะว่า หากมีการขุดเจาะพื้นดินอาจจะไปกระทบกระเทือนโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ที่มีอยู่ใต้ท้องสนามหลวง โดยเฉพาะกำแพงวังหน้าฝั่งสำนักพระราชวัง ซึ่งมีโบราณสถานจำนวนมาก
ส่วนหากไปสร้างบริเวณสนามหลวงฝั่งที่ติดกับสะพานปิ่นเกล้า อาจจะมีผลกระทบกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้ม บริเวณสถานีสนามหลวง และหากมีการก่อสร้างที่จอดรถใต้ดินที่บริเวณสนามหลวงอาจจะมีผลกระทบต่อวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และพระบรมมหาราชวังด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กทม. ได้กำหนดหาแนวทางการสร้างที่จอดรถใต้ดิน ไว้ในพื้นที่ 2 แห่ง ได้แก่
ส่วนที่ 1 บริเวณสวนรมณีนาถ สามารถขุดเจาะพื้นใต้ดิน ประมาณ 3 - 4 ชั้น ที่จอดรถได้ เพราะพื้นที่มีความแข็ง อีกทั้งไม่มีโบราณสถาน หรือโบราณวัตถุ อยู่ในบริเวณนี้จำนวนมากเหมือนที่สนามหลวง ประกอบกับบริเวณสวนรมณีนาถ จะเป็นทางขึ้นลงของรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีวังบูรพา ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวได้อย่างครบวงจร ขณะเดียวกัน ประชาชนสามารถจอดรถที่สถานีวังบูรพา เพื่อไปเที่ยวชมเกาะรัตนโกสินทร์ได้ โดยบริเวณสวนรมณีนาถสามารถรองรับจำนวนรถได้ 1,200 คัน
ส่วนที่ 2 บนถนนราชดำเนินนอก เนื่องจากบริเวณถนนราชดำเนินนอกเป็นจุดที่เป็นทางเข้าเกาะรัตนโกสินทร์ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่สะพานผ่านฟ้า สำนักการจราจรและขนส่ง จะมีบริการรถชัตเตอร์บัสรับนักท่องเที่ยวมายังเกาะรัตนโกสินทร์ได้ อีกทั้งนักท่องเที่ยวจะสามารถเดินหรือปั่นจักรยานเข้ามาเที่ยวชมเกาะรัตนโกสินทร์ โดยเริ่มตั้งแต่ถนนราชดำเนินชั้นในได้เช่นกัน
แต่ที่ประชุม เห็นว่า การก่อสร้างอาคารจอดรถบริเวณริมน้ำสวนนคราภิรมย์ (ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตพระนคร) เป็นเรื่องที่เร่งด่วนกว่า!!!