xs
xsm
sm
md
lg

ล้มโครงการ สร้างจุดจอดรถใต้สนามหลวง “ยุคชายหมู”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ล้มโครงการ สร้างจุดจอดรถใต้สนามหลวง “ยุคชายหมู” เหตุ บอร์ดอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ชุด “บิ๊กป้อม” ไม่เห็นด้วย หวั่น กระทบโบราณสถาน - โบราณวัตถุ รอบกำแพงวังหน้า ฝั่งสำนักพระราชวัง เผย เป็นนโยบาย ผู้ว่าฯ กทม. ทุกสมัยมีสเปกรองรับ 300 - 1,000 คัน เปิดโครงการ กทม. เล็ง “บริเวณสวนรมณีนาถ - ถนนราชดำเนินนอก” เผยมติ ครม. มิถุนายน 2558 ให้รองนายกฯประวิตร เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรรอบเกาะรัตนโกสินทร์

วันนี้ (22 พ.ย.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ภายหลัง กทม. มีแผนจะจัดทำที่จอดรถใต้ดินที่บริเวณสนามหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรรอบเกาะรัตนโกสินทร์ และเพื่อรองรับรถจำนวน 1,000 คัน สำหรับข้าราชการบริเวณนั้น 500 คัน และสำหรับประชาชนทั่วไป 500 คัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อแก้ปัญหาการจราจร รวมถึง กทม. ได้มีการศึกษาเบื้องต้นว่า จะดำเนินการ เป็นแผนระยะที่ 3 หรือ แผน ระยะยาว โดย กทม. จะก่อสร้างจุดจอดรถยนต์ใต้ท้องสนามหลวง เพื่อรองรับรถโดยสารที่จะเข้ามาในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์

ล่าสุด สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้หารือกับ คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าแล้ว โดยได้พิจารณาแล้วว่าการขุดเจาะพื้นดินอาจจะไปกระทบกระเทือนโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ที่มีอยู่ใต้ท้องสนามหลวง โดยเฉพาะกำแพงวังหน้าฝั่งสำนักพระราชวัง ซึ่งมีโบราณสถานจำนวนมาก

ส่วนสนามหลวงฝั่งที่ติดกับสะพานปิ่นเกล้า อาจจะมีผลกระทบกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้ม บริเวณสถานีสนามหลวง และหากมีการก่อสร้างที่จอดรถใต้ดินที่บริเวณสนามหลวงอาจจะมีผลกระทบต่อวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และพระบรมมหาราชวังด้วย จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด

จากผลการศึกษาของ กทม. ได้กำหนดหาแนวทางการสร้างที่จอดรถใต้ในพื้นที่ 2 แห่ง ได้แก่

ส่วนที่ 1 บริเวณสวนรมณีนาถ สามารถขุดเจาะพื้นใต้ดิน ประมาณ 3 - 4 ชั้น ที่จอดรถได้ เพราะพื้นที่มีความแข็ง อีกทั้งไม่มีโบราณสถาน หรือโบราณวัตถุ อยู่ในบริเวณนี้จำนวนมากเหมือนที่สนามหลวง ประกอบกับบริเวณสวนรมณีนาถ จะเป็นทางขึ้นลงของรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีวังบูรพา ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวได้อย่างครบวงจร ขณะเดียวกัน ประชาชนสามารถจอดรถที่สถานีวังบูรพา เพื่อไปเที่ยวชมเกาะรัตนโกสินทร์ได้ โดยบริเวณสวนรมณีนาถสามารถรองรับจำนวนรถได้ 1,200 คัน
ส่วนที่ 2 บนถนนราชดำเนินนอก เนื่องจากบริเวณถนนราชดำเนินนอกเป็นจุดที่เป็นทางเข้าเกาะรัตนโกสินทร์ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่สะพานผ่านฟ้า สำนักการจราจรและขนส่ง จะมีบริการรถชัตเตอร์บัสรับนักท่องเที่ยวมายังเกาะรัตนโกสินทร์ได้ อีกทั้งนักท่องเที่ยวจะสามารถเดินหรือปั่นจักรยานเข้ามาเที่ยวชมเกาะรัตนโกสินทร์ โดยเริ่มตั้งแต่ถนนราชดำเนินชั้นในได้เช่นกัน

มีรายงานว่า ขณะนี้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ยกเลิกสัญญาเช่าอาคารตั้งแต่ถนนราชดำเนินชั้นในทั้งสองฝั่ง ที่อยู่ตลอดแนวถนนราชดำเนิน เพื่อปรับปรุงอาคาร ก่อนจะทำเป็นอาคารราชวงศ์จักรี ซึ่งจะมีพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 - 9 รวมทั้งนิทรรศการพระราชกรณียกิจของราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ต่อแผ่นดินไทย โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่อาคารที่ติดกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ตลอดแนวทั้งสองฝั่ง

“ซึ่งการยกเลิกสัญญาเช่าอาคารจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2559 จากนั้นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 คาดว่า จะใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับที่ กทม. ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารกองสลาก เพื่อจัดทำเป็นอาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย”

มีรายงานว่า ส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้ามหานครสายสีส้ม บริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่จะมีการทำทางขึ้นลงบนพื้นผิวจราจร แต่คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้ไม่สวยงาม อีกทั้งลดความกว้างของทางเท้า จึงเสนอให้ทางขึ้นลงไปอยู่ด้านหลังอาคารดังกล่าว ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวใช้รถไฟฟ้าเข้ามาเที่ยวชมเกาะรัตโกสินทร์จะต้องเดินผ่าน หรือแวะชมอาคารราชวงศ์จักรี ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวให้ครบวงจร โดยขณะนี้ได้ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ไปปรับปรุงแบบทางขึ้นลง เพื่อนำเสนอคณะกรรมการได้พิจารณาต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ได้มีการสั่งการให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่พิจารณาแนวทางในการก่อสร้างสถานที่จอดรถในบริเวณพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ โดยให้พิจารณาความเป็นไปได้และเสนอแนวทางในการก่อสร้าง โดยอาศัยกรณีศึกษาจากต่างประเทศที่สามารถดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ที่มีคุณภาพสูง เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

“ซึ่งการทำโครงการก่อสร้างที่จอดรถบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์นี้ อาจจะเป็นการนำโครงการสร้างที่จอดรถใต้ท้องสนามหลวงขึ้นมาดำเนินการพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากครั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่าอยู่แล้วเป็นผู้ดำเนินการ จึงมีความเป็นไปได้ว่าโครงการน่าจะมีการอนุมัติได้ง่ายขึ้น เพราะประธานคณะกรรมการอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ฯเป็นผู้พิจารณาเอง”

“อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จึงทำให้รูปแบบก่อสร้างนั้นมีการศึกษาไว้ก่อนหน้านี้แล้วหลายรูปแบบหาก ครม. อนุมัติโครงการก็น่าจะดำเนินการได้อย่างรวดเร็วอีกโครงการหนึ่ง” รายงานว่าระบุ

สำหรับโครงการที่จอดรถบริเวณใต้ท้องสนามหลวง เคยเป็นนโยบายหาเสียงของ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่ปี 2543 โดยเสนอว่าเป็นโครงการที่จะแก้ปัญหาจราจรบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์และพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเพื่อให้มีที่จอดรถที่เหมาะสม โดยมีขนาดเนื้อที่ 30 ไร่ ก่อสร้างทางด้านทิศเหนือของท้องสนามหลวงมีทางเข้า - ออก ขึ้นลงจากถนนราชดำเนินเป็นลานจอดรถ 2 ชั้น จอดรถบัสได้จำนวน 300 คัน และจอดรถยนต์ได้จำนวน 999 คัน

ซึ่งที่ผ่านมายังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และกรุงเก่า ทุกชุดที่ผ่านมาเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่เหมาะสม เพราะสนามหลวงเป็นสถานที่สำคัญในการประกอบพิธีต่าง ๆ และเกรงว่า การขุดเจาะจะมีผลกระทบต่อพระบรมหาราชวัง และสถานที่สำคัญอื่น ๆ ในพื้นที่โดยรอบ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างที่จอดรถได้ท้องสนามหลวงหากสามารถดำเนินการได้ก็จะเป็นแก้ไขปัญหารถทัวร์ที่มักจะจอดในพื้นที่ห้ามจอด ซึ่งส่งผลให้บดบังทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งจะทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกิดความสะดวกในการเดินทาง.



กำลังโหลดความคิดเห็น