โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ฉันมีโอกาสเดินทางมาเที่ยว “วัดสระเกศ” กับเพื่อนๆ อยู่หลายครั้งเหมือนกัน แต่ทุกครั้งที่มาก็จะมุ่งตรงไปพิชิตบันไดร้อยกว่าขึ้นเพื่อไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุและชมทิวทัศน์อันงดงามบน “ภูเขาทอง” หรือ “พระบรมบรรพต” จนลืมไปว่าภายในวัดแห่งนี้ยังมีอีกหลายๆ มุมที่สวยงามให้ได้เดินชม
ในสัปดาห์นี้ ฉันจึงได้ตัดสินใจจะไปเที่ยววัดสระเกศอีกครั้ง พร้อมกับจะเดินชมทุกๆ ส่วนภายในบริเวณวัดว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง อีกทั้งในช่วงที่ฉันจะไปเที่ยวก็ตรงกับช่วง “งานภูเขาทอง” พอดี บรรยากาศการไปเที่ยวในครั้งนี้ของฉันคงคึกคักน่าดู
แต่ก่อนที่จะเริ่มเที่ยวนั้น ฉันก็จะขอเล่าประวัติความเป็นมาของวัดให้ได้ฟังกันก่อน “วัดสระเกศ” มีชื่อเต็มว่า “วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร” เป็นวัดโบราณในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ “วัดสะแก” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดสระเกศ” ซึ่งแปลว่า “ชำระพระเกศา” เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2325
เมื่อมาถึงวัดสระเกศ ฉันก็เห็นบรรยากาศที่คลาคล่ำไปด้วยซุ้มขายสินค้าจิปาถะและอาหารมากมาย และมีชิงช้าสวรรค์ บ้านผีสิง ซุ้มปาลุกโป่ง ตั้งเรียงรายให้ได้ร่วมสนุก ซุ้มต่างๆ ที่ได้กล่าวมานี้ เป็นส่วนหนึ่งในหลากหลายกิจกรรมของ “งานภูเขาทอง” งานวัดสุดคลาสสิกกลางเมืองกรุง ที่มีการจัดขึ้นทุกปีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบัน โดยจัดขึ้นเพื่อเป็นงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประดิษฐานอยู่บนภูเขาทอง และในปีนี้ได้มีการจัดงานตั้งแต่วันที่ 18-27 พฤศจิกายน 2558
หลังจากเดินชมบรรยากาศงานภูเขาทองแล้ว ฉันก็เดินมุ่งหน้าไปที่พระอุโบสถ เพื่อไปชมความงดงามและกราบสักการะหลวงพ่อพระประธาน “พระอุโบสถวัดสระเกศ” นั้น ถูกสร้างขึ้นใหม่แทนพระอุโบสถหลังเดิมของวัดสระแก ในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระอุโบสถนั้นตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว มีพัทธสีมากำหนดเขตพระอุโบสถประดิษฐานอยู่ในซุ้มทรงกูบช้าง ประดับด้วยกระเบื้องที่สั่งมาจากเมืองจีนอย่างวิจิตรสวยงาม และที่หน้าบันพระอุโบสถทั้งด้านหน้า-หลัง สลักลายกนก ลายก้านขดประดับกระจกสี ตรงกลางประดับรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ เมื่อได้มองแล้ว ความงดงามช่างประทับใจฉันจริงๆ
และที่พระอุโบสถแห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระประธาน” พระพุทธรูปปางสมาธิที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ได้ถูกบูรณะใหม่พร้อมกับการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ในสมัยรัชกาลที่1 ด้วยการลงรักปิดทองทับองค์เดิม และเนื่องจากองค์พระประธานมีมาแต่เก่าก่อน รัชกาลที่ 1 จึงไม่ทรงพระราชทานชื่อ คนทั่วไปจึงเรียกพระประธานประจำพระอุโบสถว่า “หลวงพ่อพระประธาน” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และภายในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม ให้ได้ชมอีกด้วย โดยเป็นภาพเทพชุมนุมทั้งสองด้านซ้ายขวา และเป็นภาพทศชาติที่ระหว่างช่องหน้าต่าง และที่ด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องไตรภูมิโลกสันฐาน ที่แสดงรายละเอียดได้อย่างครบถ้วนตามที่ปรากฏหลักฐานในเรื่องไตรภูมิ นับเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามไม่แพ้วัดอื่นๆ ที่ฉันได้ไปชมมา
เสร็จจากการชื่นชมพระอุโบสถและสักการะหลวงพ่อพระประธานแล้ว ฉันก็เดินต่อมาที่ “พระวิหาร” ซึ่งภายในเป็นที่ประดิษฐาน “พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร” โดยเป็นพระพุทธรูปยืนศิลปะสมัยสุโขทัยตอนต้น อายุกว่า 700 ปี และเป็นพระพุทธรูปยืนที่มีความสูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีความสูงถึง 10.75 เมตร โดยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจาก “วัดวิหารทอง” วัดประจำพระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก มาประดิษฐานที่วิหารแห่งนี้จวบจนปัจจุบัน
หลังจากได้สักการะขอพรแล้ว ฉันก็เดินชมความสวยงามของ “หอไตร” ที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยเป็นอาคารไม้ทรงไทย หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้าใบระกา มีเฉบียงโดยรอบ ได้ยืนชื่นชมแล้วช่างงดงามยิ่งนัก และฉันก็เดินเรื่อยมาพร้อมกับแวะสักการะ “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่สันนิษฐานว่าสร้างในช่วงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสร้างไว้ให้ผู้ที่ไม่สามารถขึ้นไปบูชาบนองค์บรมบรรพตได้บูชาที่พระพุทธรูปองค์นี้แทน
ใกล้กันนั้นเป็นที่ตั้งของศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศฯ อันเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อดวงดี” หรือชื่อเต็มว่า “พระพุทธมงคลบรมบรรพต” พระพุทธรูปศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีความเชื่อว่า หากใครที่มีโอกาสสักการะจะประสบแต่ความโชคดี ขจัดเคราะห์และเกิดสิริมงคล เนื่องจากหลวงพ่อดวงดีหล่อขึ้นจากแผ่นดวงมหาโภคทรัพย์ ที่บรรจุอยู่บนยอดภูเขาทอง ณ กลางสะดือเมือง อันเป็นศูนย์กลางจักรวาลตามคติทางพระพุทธศาสนา
เมื่อฉันเดินตระเวนเที่ยวรอบบริเวณวัดเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาเดินขึ้นพิชิต “ภูเขาทอง” โดยภูเขาทองแห่งนี้ รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นไว้เป็นปูชนียสถานในพระนครเหมือนดั่งที่กรุงเก่ามีวัดภูเขาทอง แต่เนื่องจากที่ตั้งนั้นอยู่ติดน้ำจึงได้เกิดการทรุดลงเสมอ ครั้นพอถึงสมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าให้สร้างใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2406 ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นภูเขา มีพระเจดีย์อยู่ด้านบน และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอด มีบันไดเวียนขึ้นลง 2 สาย และโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อจากภูเขาทองเป็น "บรมบรรพต" แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ทำการก่อสร้างพระบรมบรรพตจนแล้วเสร็จและงดงามมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับบรรยากาศด้านบนภูเขาทองนั้น พื้นที่ตรงกลางจะเป็นที่ตั้งพระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน และด้านบนก็เป็นที่ตั้งของพระเจดีย์ใหญ่สีทอง และในช่วงงานภูเขาทองนั้นจะมีการนำผ้าแดงมาห่มองค์เจดีย์ โดยเป็นประเพณีที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 โดยมีความเชื่อว่า “จะสร้างอานุภาพแห่งการบูชาพระเจดีย์ด้วยผืนผ้าที่พระบรมสารีริกธาตุ และทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายนานาประการ” ซึ่งทางวัดก็ยังได้มีการอนุญาตให้ผู้ที่มาสักการะ สามารถจารึกชื่อ-สกุล ลงบนผืนผ้าแดงเพื่อเป็นบุญกุศลกันได้อีกด้วย
และฉันขอบอกว่า ตรงจุดนี้ก็ยังเป็นจุดที่สามารถชมวิวทิวทัศน์กรุงเทพมหานครมุมสูง ได้อย่างกว้างไกลและสวยงามมากๆ อีกด้วย และฉันขอแนะนำให้ขึ้นมาในช่วงเย็น เพราะแดดร่มลมตกกำลังพอดี มองนาฬิกาอีกทีก็ได้เวลากลับบ้านแล้ว แต่ก่อนจะกลับคงต้องแวะเดินเล่นเดินชมงานภูเขาทองอีกสักหน่อย เพราะนานๆ ที มีปีละครั้ง สุดท้ายนี้ฉันก็จะขอบอกไว้ว่า “วัดสระเกศ” เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีมนต์เสน่ห์แห่งเมืองกรุง ที่ทุกคนต้องลองมาสักครั้งหนึ่งในชีวิตแล้วจะตราตรึงใจ
*****
พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เปิดทุกวัน เวลา 8.00 น. - 17.00 น. แต่ในช่วงงานภูเขาทอง จะเปิดให้ขึ้นจนถึงเวลาประมาณ 22.00 น.
การเดินทาง : รถประจำทาง: สาย 8, 15, 37, 47, 49 ปอ. 37, 49 หรือจะนั่งเรือโดยสารคลองแสนแสบ แล้วลงท่าผ่านฟ้าลีลาศ แล้วเดินต่อไปที่วัดศระเกศไม่ไกลมาก
*********
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com