โดย : หนุ่มลุกทุ่ง
ในความทรงจำของฉัน “โลหะปราสาท” แห่ง “วัดราชนัดดารามวรวิหาร” เป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวมุมสูงที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของกรุงเทพมหานครได้อย่างกว้างไกล และ ที่นี่แห่งนี้ ยังเป็นโลหะปราสาทแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นโลหะปราสาทองค์เดียวที่ยังคงอยู่ของโลก
แต่เนื่องจากเมื่อครั้งก่อนๆ ที่ฉันมีโอกาสมาเที่ยวชมโลหะปราสาทนั้น บรรยากาศการเที่ยวชมไม่ค่อยจะสะดวกสักเท่าไหร่ เพราะบริเวณโดยรอบมีโครงเหล็กล้อมอยู่ เนื่องจากกำลังอยู่ในขั้นตอนการบูรณปฏิสังขรณ์ แต่ในตอนนี้ โลหะปราสาทได้รับการบูรณะใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยได้มีการนำเอาโครงเหล็กออกหมด จึงทำให้สามารถเห็นโลหะปราสาทได้อย่างโดดเด่น อีกทั้งยังมีหลังคาเป็นสีทองอีกด้วย ซึ่งก็เกิดเป็นคำถามในใจของฉันว่าทำไมโลหะปราสาทจึงมีหลังคาเป็นสีทอง เพราะปกติเห็นเป็นสีดำ
และวันหยุดนี้ฉันจึงมีโอกาสมาร่วมกิจกรรม “ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น” ตอน 2 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 1 -3 ที่จัดขึ้นโดย “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยได้เดินทางมายังวัดราชนัดดารามวรวิหาร เพื่อมาเที่ยวชมความสวยงามภายในบริเวณวัดและโลหะปราสาท
เมื่อมาถึง ทุกๆ คนก็พบกับ “ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์” โดยพื้นที่แห่งนี้แต่เดิมเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ที่ได้บดบังความสวยงามของโลหะปราสาทไว้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2532 มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ และได้สร้างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ขึ้นมาแทนที่ โดยเป็นที่ตั้งของ “พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งในจุดนี้เป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวที่สวยงาม ที่สามารถเห็นได้ทั้งโลหะปราสาท วัดราชนัดดาฯ, ป้อมมหากาฬ, กำแพงเมืองเดิม, สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และภูเขาทอง วัดสระเกศ
หลังจากฉันยืนชมวิวทิวทัศน์แล้ว ฉันก็มุ่งตรงเดินเข้าสู่ภายในวัดราชนัดดาฯ วัดแห่งนี้เป็นวัดที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี โดยสถาปัตยกรรมภายในวัดจะเป็นศิลปะแบบจีน ชมแล้วงดงามอย่างมาก และโบราณสถานที่เห็นโดดเด่นเป็นสง่าที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้นโลหะปราสาท
แต่ก่อนที่จะเข้าไปเที่ยวชมความสวยงามของโลหะปราสาท ฉันก็ขอแวะสักการะ "พระเสฏฐตมมุนี" องค์พระประธานภายในพระอุโบสถ โดยเป็นพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย เนื้อทองแดง สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะในครั้งนั้นพระองค์โปรดให้ขุดแร่ทองแดงที่ อ.จันทึก จ.นครราชสีมา ได้แร่เนื้อทองแดงมากจึงมีพระราชประสงค์จะใช้ทองแดงให้เป็นประโยชน์ในการเกื้อกูลพระศาสนา จึงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปเพื่อนำไปประดิษฐานในพระอารามที่วัดราชนัดดาราม
เสร็จจากการไหว้พระขอพรแล้ว ฉันก็มุ่งตรงมาที่โลหะปราสาท เพื่อมาเยี่ยมชมความสวยงามหลังได้รับการบูรณะ โดยโลหะปราสาทแห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นส่วนการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของโลหะปราสาท ซึ่งฉันก็ได้รับความรู้มาว่า
“โลหะปราสาท แห่งวัดราชนัดดาฯ เป็นโลหะปราสาทแห่งแรกและเป็นองค์เดียวของประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนการสร้างเจดีย์ อีกทั้งพระองค์ยังโปรดฯ ให้ช่างเดินทางไปดูแบบถึงยังประเทศศรีลังกา และนำเค้าเดิมนั้นมาเป็นแบบสร้าง แล้วปรับปรุงให้เป็นศิลปะแบบไทย เป็นปราสาท 3 ชั้น มียอด 37 ยอด อันหมายถึงพระโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ พื้นที่กลางปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด ที่กลางปราสาทเป็นที่ตั้งของบันไดเวียนขึ้น 67 ขั้น ที่ใช้สำหรับเดินขึ้นสู่ยอดปราสาท อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ”
และฉันก็รู้มาอีกว่า “โลหะปราสาทแห่งนี้เป็นองค์ที่ 3 ของโลก โดยโลหะปราสาทแห่งแรกตั้งอยู่ที่ประเทศอินเดีย มีชื่อว่า "มิคารมาตุปราสาท" สร้างขึ้นในสมัยพุทธกาลโดยนางวิสาขามหาอุบาสิกา บุตรีธนัญชัยเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี ที่ลืมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ อันมีค่าไว้ หลังจากเสร็จกิจการฟังธรรม โดยมีพระอานนท์เป็นผู้เก็บรักษาให้ ซึ่งนางได้ให้สาวใช้กลับไปเอาคืน และกล่าวไว้ว่าถ้าพระอานนท์เก็บรักษาไว้ก็ไม่ต้องเอาคืน แต่พระอานนท์ไม่ทรงรับ และนางกลับคิดได้ว่าเครื่องประดับนี้มีประโยชน์แก่พระเถระ นางจึงนำเครื่องประดับไปขาย และนำทรัพย์เท่าจำนวนนั้นมาสร้างวัด รวมถึงโลหะปราสาทหลังแรก ที่มียอดยอดปราสาททำด้วยทองคำ ซึ่งก็น่าเสียดายเพราะในปัจจุบัน โลหะปราสาทหลังนี้หักพังจนไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้ว”
และโลหะปราสาทองค์ที่ 2 ตั้งอยู่ที่ประเทศศรีลังกา ผู้สร้างคือพระเจ้าทุฏฐคามณี กษัตริย์แห่งกรุงอนุราชปุระ เมื่อประมาณ พ.ศ. 382 โดยเป็นปราสาทสูงถึง 9 ชั้น และมีหลังคามุงด้วยทองแดง ผนังเป็นไม้ประดับด้วยหินมีค่าและงาช้าง ซึ่งภายหลังโลหะปราสาทนี้ถูกไฟไหม้และถูกทำลาย จนเหลือเพียงซากเสาหินประมาณ 1,600 ต้น ที่ยังคงเผยให้เห็นความยิ่งใหญ่เมื่อครั้งอดีต
หลังจากฉันได้เดินชมนิทรรศการบริเวณชั้นล่างจนครบทุกซอกทุกมุมแล้ว ฉันก็ได้รู้คำตอบแล้วว่าทำไมโลหะปราสาทหลังคาจึงต้องเป็นทอง จากนั้นฉันก็เดินขึ้นไปสู่ด้านบนของโลหะปราสาทผ่านบันไดเวียนขึ้น 67 ขั้น ซึ่งฉันก็ได้ผ่านไปบริเวณชั้นสอง ที่ถูกจัดไว้ให้เป็นที่นั่งสมาธิและมีป้ายคติธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาติดที่ฝาผนังให้ได้ศึกษา
ในที่สุดฉันเดินขึ้นมาถึงยอดสูงสุดของโลหะปราสาท ซึ่งฉันมีโอกาสสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และได้ชมวิวทิวทัศน์มุมสูง ที่สามารถเห็นทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครได้อย่างกว้างไกล ในแบบ 360 องศา ไปพร้อมๆ กับในใจที่คิดว่า เป็นโชคดีจริงๆ ที่โลหะปราสาทแห่งนี้ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน ให้เหล่าคนรุ่นหลังได้มาชมและศึกษาคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่จะดำรงอยู่สืบไปตราบนานเท่านาน
******
โลหะปราสาท ตั้งอยู่ภายในวัดราชนัดดารามวรวิหาร บริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศ ด้านหลังลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ โดยสามารถชมโลหะปราสาทได้ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทาง สาย 2, 5, 12, 15, 35, 39, 503, 511, 512 หรือจะนั่งเรือโดยสาร (คลองแสนแสบ) มาลงท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ และเดินมาได้ไม่ไกลมาก
* * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com