xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต VS สมเด็จพระจอมเกล้าฯ คู่รัก-คู่รสพระธรรม...สวรรคตก็สิ้นสนุก!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

สมเด็จพระพุฒจารย์โต และ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงศีล
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ท่านเป็นอริยสงฆ์ผู้แตกฉานพระไตรปิฎก เทศนาด้วยคารมกล้าหาญองอาจ บทจะให้ญาติโยมสนุกสนามก็ได้ฮากันตึงๆ และชอบทำเรื่องประหลาดๆให้คนโจษขานเอาไปร่ำลือกัน ได้รับความนับถือเลื่อมใสมาตลอดจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับพระเครื่องพิมพ์สมเด็จของท่าน

ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเป็นจอมปราชญ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงผนวชอยู่ถึง ๒๗ ปีก่อนขึ้นครองราชย์ ทรงรอบรู้พระไตรปิฎกอย่างลึกซึ้งเช่นเดียวกัน

ทั้งสององค์ต่างวัย แต่ก็มีความใกล้ชิดสนิทสนม ให้ความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน มีอัธยาศัยตรงกัน แต่ก็มักจะ “ลองเชิง” กันอยู่เสมอ บางครั้งก็เล่นกันแรงจนถึงขั้นไล่ลงจากธรรมมาสน์ ซ้ำไม่ให้อยู่ในพระราชอาณาจักร แต่ไม่นานความสัมพันธ์ก็กลับคืนอย่างเดิม

มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันท์) คนรุ่นที่เคยเข้าเฝ้าสมเด็จพระจอมเกล้าฯและเคยฟังเทศน์สมเด็จโต กล่าวว่าเรื่องของสมเด็จโตนั้นมีมากมายจนเล่ากันไม่หวาดไม่ไหว มีคนเล่าไว้มาก แต่ก็ยังไม่มีใครเรียบเรียงให้เป็นเรื่องเป็นราว เป็นแต่เล่าสู่กันฟังพอสนุกสนาน ท่านจึงรวบรวมจากผู้รู้ไว้ ส่งให้เจ้านายใหญ่ๆตรวจ แล้วจึงขออนุญาตต่อสมุหกรมพระนครจัดพิมพ์ ท่านอยากจะให้มีคนเล่าเรื่องของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สืบต่อกันไป จึงขอนำเรื่องที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มาเล่าต่อ

ความสัมพันธ์ของทั้งสององค์เริ่มเมื่อ “เจ้าฟ้าใหญ่” ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดมหาธาตุเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๐ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ซึ่งตอนนั้นเป็น “พระมหาโต” เป็นพระพี่เลี้ยงและเป็นครูสอนอักขรขอม อีกทั้งเมื่อสมเด็จพระสังฆราชมีกิจ พระมหาโตก็รับหน้าที่อธิบายขยายความพระธรรมแทน เป็นเหตุให้ทรงคุ้นเคยสนิทสนมกันแต่นั้นมา

เมื่อทูลกระหม่อมเณรลาสิขาบท ก็ทรงทำสักการะแด่มหาโตยิ่งขึ้น พระมหาโตเลยดังเป็นที่รู้จักกันทั่วในราชสำนักทั้งฝ่ายในฝ่ายนอกรวมทั้งขุนนางทั้งหลาย เมื่อมีงานก็นิมนต์พระมหาโตไปไม่ขาด

ใน พ.ศ.๒๓๖๘ เจ้าฟ้าใหญ่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ก่อนพระบาทสมเด็จพระเลิศหล้านภาลัย พระราชบิดาจะสวรรคตเพียงวันเดียว ขณะนั้นพระมหาโตอายุได้ ๔๙ บวชมาได้ ๒๘ พรรษา ส่วนทูลกระหม่อมพระ พระชนมายุ ๒๑ ปี เสด็จไปประทับที่วัดสมอราย (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดราชาธิวาส) ต่อมาเสด็จมาประทับที่วัดมหาธาตุ พระมหาโตก็เป็นผู้บอกพระธรรมวินัยและพระปริยัติธรรมอีก เป็นเหตุให้ทรงคุ้นเคยกันมากยิ่งขึ้น

เมื่อครั้งที่ทูลกระหม่อมพระกลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดสมอรายและเป็นพระราชาคณะ ทรงตั้งนิกายใหม่ “ธรรมยุต” ขึ้น ได้นิมนต์พระมหาโตไปสนทนาด้วย นัยว่าจะชวนเข้าหมู่ ทรงตั้งปุจฉารับสั่งถามว่า

มีบุรุษสองคนเป็นเพื่อนเดินทางมาด้วยกัน คนทั้งสองเดินมาพบไหมเข้า คนหนึ่งจึงทิ้งปอที่แบกมา แล้วเปลี่ยนเอาไหมแบกไปแทน แต่อีกคนไม่เอาคงแบกปอต่อไป ท่านจะเห็นว่าคนแบกปอดีหรือแบกไหมดี

แทนที่จะทูลตอบ พระมหาโตกลับตั้งกระทู้ย้อนว่า

ยังมีกระต่ายสองตัว ขาวตัวหนึ่ง ดำตัวหนึ่ง เป็นเพื่อนร่วมหากินกันมาช้านาน วันหนึ่งกระต่ายขาวเห็นฝั่งตรงข้ามมีหญ้าอ่อนมาก จึงว่ายน้ำข้ามฟากไปหากิน กระต่ายดำไม่ยอมไป ทนหากินอยู่ที่เดิม กระต่ายขาวว่ายน้ำข้ามฟากไปหากินเป็นประจำ วันหนึ่งบังเกิดลมพัดแรง มีคลื่นปั่นป่วนขณะกระต่ายขาวกำลังว่ายน้ำข้ามฝั่ง จะเข้าฝั่งก็ไม่ได้ ในที่สุดเลยจมน้ำตาย ส่วนกระต่ายดำก็เที่ยวหากินอยู่ต่อไป ฝ่าธุลีพระบาทลองทำนายว่ากระต่ายตัวไหนดี

แล้วพระมหาโตก็เป็นกระต่ายดำแบกปออยู่ใน “มหานิกาย” ต่อไป

ครั้น พ.ศ.๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ทูลกระหม่อมพระ พระชนมายุ ๔๘ บวชมาได้ ๒๗ พรรษา เป็นพระราชาคณะและเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์ พระมหาโตอายุได้ ๖๔ ปี ๔๒ พรรษา เลยออกธุดงค์หนีหายไป หลายเดือนต่อมาทรงระลึกขึ้นได้ จึงรับสั่งให้หาตัวพระมหาโต แต่ก็หากันไม่พบ ทรงกริ้วสังฆการี รับสั่งว่า

“ท่านเหาะก็ไม่ได้ ดำดินก็ไม่ได้ แหกกำแพงจักรวาลหนีไปก็ยังไม่ได้”

รับสั่งให้พระญาณโพธิ วัดพระเชตุพน ออกติดตามก็ไม่พบอีก จึงรับสั่งว่า

“ฉันจะตามเอง” มีกระแสรับสั่งถึงเจ้าเมืองฝ่ายใต้ฝ่ายเหนือ ตะวันตก ตะวันออก ทั่วพระราชอาณาจักร ให้ตามตัวพระมหาโตมาให้ได้ ทั้งยังให้เจ้าคณะเหนือ ใต้ ออก ตก ออกค้นหาพระมหาโต วุ่นวายกันทั้งพุทธจักรและอาณาจักร พระสงฆ์องค์ใดแปลกหน้าก็ถูกจับไปศาลากลางหมด กล่าวกันว่าพระมหาโตใช้อาคมที่เรียกว่า “นารายณ์แปลงรูป” เปลี่ยนหน้าเป็นพระองค์อื่น จนเห็นว่าทำให้พระสงฆ์องค์เจ้าเดือดร้อนกันไปทั่ว ถูกจับไปอดข้าวเช้าข้าวเพล ท่านจึงแสดงตนให้กำนันที่บ้านไผ่นำไปศาลากลาง แล้วส่งใบบอกมายังกระทรวงธรรมการ พระญาณโพธิไปดูด้วยตัวเองแล้วนิมนต์เข้าเฝ้า มีพระราชดำรัสว่า

“เป็นสมัยของฉันปกครองแผ่นดิน ท่านต้องช่วยฉันพยุงบวรพุทธศาสนาด้วยกัน”

หลังจากนั้น ก็ทรงถวายสัญญาบัตรตาลปัตรแฉกหักทองขวางด้ามงา เป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม

เมื่ออกจากพระราชวัง ท่านก็แบกพัดยศไปบางลำพู บางขุนพรหม บอกสัปบุรุษที่เคยนับถือ แล้วกลับมาลาสงฆ์ที่วัดมหาธาตุ จากนั้นก็ลงเรือกราบสีที่ได้รับพระราชทานมาแต่รัชกาลที่ ๒ ซึ่งเป็นองค์อุปฐากท่าน ข้ามฟากไปวัดระฆังกับเด็กช้าง ผู้เป็นหลาน ท่านถือบาตร ผ้าไตร และบริขาร ไปบอกพระวัดระฆังว่า

“เจ้าชีวิตทรงตั้งฉันเป็นพระธรรมกิตติมาเฝ้าวัดระฆังวันนี้จ้ะ เปิดประตูโบสถ์รับฉันเถอะจ้า ฉันจะต้องเข้าจำวัดเฝ้าโบสถ์ จะเฝ้าวัดตามพระราชโองการรับสั่งจ้ะ”

ท่านแบกตาลปัตรพัดแฉก สะพายถุงย่ามสัญญาบัตรเก้ๆกังๆพะรุงพะรัง พระลูกวัดจะช่วยท่านก็ไม่ยอม เลยสนุกตามดูกันแน่น แห่กันเป็นขบวนเข้าไปในโบสถ์ ช่วยกันต้มน้ำ ตักน้ำถวาย บ้างก็ช่วยตำหมาก พฤติกรรมของท่านเป็นเรื่องที่โจษขานกันเกรียวกราว ผู้คนก็แห่มาเยี่ยมดู ท่านก็ทำให้ดูสนุกขบขัน กลายเป็นมหรสพโรงใหญ่ พวกที่ชอบหวยก็ตีความเอาไปแทง พอถูกท่านก็เลยขลังมากันแน่นวัด

เมื่อคนพูดกันว่าท่านขลังเรื่องให้หวย พอได้รับนิมนต์เทศน์ ตอนจบท่านเลยว่า “เอวังพังกุ้ย” บางวันก็บอก “เอวังกังสือ” บ้างก็บอก “เอวังบ้วนกิม” ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวหวยทั้งนั้น

ครั้งหนึ่งในปีชวด พ.ศ.๒๔๐๗ สมเด็จพระจอมเกล้าฯนิมนต์ไปเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง ทรงปราศรัยสัพยอกว่า

“ได้ยินเขาว่าเจ้าคุณบอกหวยเขาถูกจริงหรือ”

ขรัวโตทูลว่า

“อาตมาภาพจะขอแถลงแจ้งคำให้การแก้พระราชกระทู้โดยสัตย์ว่า ตั้งแต่อาตมาภาพได้อุปสมบทมา ไม่เคยออกวาจาว่าหวยจะออก ด กวางเหม็ง ตรงๆ เหมือนดังบอก ด กวางเหม็ง แด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าอย่างวันนี้ ไม่เคยบอกใครเลย”

ได้ฟังก็ทรงพระสรวล แต่วันนั้นหวยก็ออก ด กวางเหม็งจริงๆ

ในการไปเทศน์ครั้งนั้น เมื่อกล่าวถึงปีชวด ท่านก็ย้ำว่า “ฉศก ฉศก...” สมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ฟังท่านย้ำผิดสังเกตก็เงยพระพักตร์ขึ้นฟัง แล้วพนมหัตถ์รับว่า

“ถูกแล้ว ชอบแล้ว เจ้าคุณ”

ในสมัยนั้น ปีที่เลขศักราชลงท้ายด้วยเลข ๖ จะอ่านว่า ฉ้อศก ซึ่งไม่ถูกต้อง จากนั้นจึงรับสั่งให้กรมราชเลขาออกประกาศเป็นใบปลิวให้รู้กันทั่วราชอาณาจักรว่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป คำว่าฉ้อศกให้ใช้เสียให้ถูกต้องว่าฉศก ใครยังใช้ว่าฉ้อศกอีกจะมีความผิดที่ฝ่าฝืน

ในการเทศน์ครั้งนั้น ขรัวโตได้เทศน์เรื่องพราหมณ์ผู้หนึ่งที่คิดจะถามปัญหากับพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร พอไปถึงวิหารก็เรียกให้รู้ตัวก่อนว่า

“โภ โคตม นี่แน่ะพระโคดม...คำถามของพราหมณ์และคำเฉลยพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีอยู่ประการใด สมเด็จพระมหาบพิตรเจ้า ได้ทรงตรวจตราตริตรองแล้ว ก็ทรงทราบแล้วทุกประการ ดังรับประทานวิสัชนามา ก็สมควรแก่เวลาเพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการดังนี้ ขอถวายพระพร”

เทศน์แบบรวบรัดแบบ “ทรงรู้ดีแล้ว ไม่ต้องเทศน์อีก” แบบนี้ แทนที่จะทรงกริ้ว สมเด็จพระจอมเกล้าฯกลับทรงพระสรวล และตบพระหัตถ์ชมว่าเทศน์เก่ง

ในปีชวดนั้นเอง ก็ทรงพระมหากรุณาเลื่อนสมณศักดิ์พระธรรมกิตติ (โต) ขึ้นเป็น พระเทพกวี ราชาคณะผู้ใหญ่ และต่อมาอีกปี คือปีฉลู พ.ศ.๒๔๐๘ ก็ทรงสถาปนาพระเทพกวี ขึ้นเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ ขณะที่ท่านมีพระชนมายุ ๗๘ มีพรรษา ๕๖ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังมาได้ ๑๕ ปี

คราวมีพระราชพิธีโสกันต์เจ้านายพระองค์หนึ่ง สังการีวางฎีกาว่าย่ำรุ่งให้มาถึง เพื่อถวายพระพรชัยมงคลคาถาตามพระฤกษ์โสกันต์ ครั้นเวลาได้ย่ำรุ่งตรง สมเด็จพระพุฒาจารย์โตก็มาถึงตามกำหนด แต่พระทวารมหาปราสาทยังไม่เปิด ท่านก็นั่งลงตรงบันไดแล้วก็สวดชัยมงคลคาถา ชยันโตลั่นอยู่องค์เดียว ครบสามจบแล้วท่านก็เดินไปฉันข้าวต้มที่ทิมสงฆ์ จากนั้นก็ไปจำวัดที่โรงช้างต้น

ครั้นเวลา ๓ โมงเช้าเสด็จออกจวนพระฤกษ์ สังฆการีประจุพระราชาคณะประจำที่หมด ขาดแต่สมเด็จโตเพียงองค์เดียว สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงกริ้วที่สมเด็จโตไม่มาตามนัด ออกตามกันโกลาหล เผอิญมีผู้เห็นท่านเดินหายไปทางโรงช้างต้น จึงไปตามตัวมาได้ สมเด็จพระจอมเกล้าฯทอดพระเนตรเห็นก็ทรงแหวรับสั่งว่า

“ถอดๆ ไม่ระวังรั้วงานราชการ เป็นขุนนางไม่ได้ แฉกๆคืนๆ เร็วๆ ชยันโต”

พระสงฆ์ก็สวดชยันโต ขรัวโตก็เดินสวดชยันโตไปจนถึงอาสนสงฆ์ แล้วนั่งลงเข้าแถวสวด พอถึงสวดยถาท่านก็สวด แต่ไม่ได้ตั้งตาลปัตร สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงปฏิบัติพระราชพิธีก็ไม่ทันได้ทอดพระเนตร พอสวดเสร็จสมเด็จโตก็เดินออกจากมหาปราสาทไปลงเรือข้ามฟาก พอถึงสวดอดิเรก พระราชาคณะรองๆไม่มีใครกล้าสวด ทรงหันพระพักตร์มาเห็นอาสนสมเด็จมีแต่พัดวางอยู่ จึงรับสั่งถามว่าสมเด็จหายไปไหน มีผู้ทูลว่ากลับไปแล้ว ทรงรับสั่งว่าชะรอยจะน้อยใจจึงไม่เอาพัดไป รับสั่งให้รีบเอาพัดตามไปให้และนำตัวกลับมาถวายอดิเรกก่อน

สังฆการีออกเรือตามไปทันกลางแม่น้ำ ร้องนิมนต์ให้ท่านกลับมาเอาพัด ท่านก็บอกว่า

“พ่อจะมาตั้งสมเด็จกลางแม่น้ำได้หรือ”

สังฆการีบอกว่ารับสั่งให้เข้าเฝ้า เมื่อท่านกลับเข้ามาในมหาปราสาท สมเด็จพระจอมเกล้าฯก็รับสั่งให้ถวายอดิเรกเร็ว

“ขอถวายพระพร ถวายไม่ได้” ขรัวโตทูล

“ทำไมถวายไม่ได้” รับสั่งถาม

“ขอถวายพระพร เหตุพระราชบัญญัติตราไว้ว่า ให้พระราชาคณะถวายอดิเรก บัดนี้อาตมาภาพกลายเป็นพระอันดับแล้ว จึงไม่ควรถวายอดิเรก”

“อ้อ จริงๆ..” สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงยอมรับ “เอาสิ ตั้งกันใหม่ กรมวังออกหมายตั้งสมเด็จ บอกวิเสศเลี้ยงพระอีก สังฆการีวางฎีกา เอาพระชุดนี้ก็ได้”

จึงต้องมีพิธีตั้งสมเด็จกันอีกครั้ง

ตั้งแต่เป็นพระธรรมกิตติจนเป็นสมเด็จพุฒาจารย์ ท่านมักทำเรื่องแผลงๆต่อหน้าพระที่นั่งเสมอ แต่ก็ทรงให้อภัยทุกครั้ง ทั้งยังทรงพระราชทานรางวัลเป็นเงินอีก แต่เงินมักไม่ได้กลับถึงวัด คนนั้นล้วงบ้าง คนนี้ล้วงบ้าง จนหมดย่าม ท่านก็ได้แต่พึมพำว่าวันนี้รวยใหญ่

ครั้งหนึ่งเข้าไปฉันในพระบรมมหาราชวัง ทรงประเคนไตรแพรอย่างดี แต่ท่านเอาไตรแพรไปเช็ดปากเช็ดมือ จึงรับสั่งท้วงว่า ไตรเขาดีๆเอาไปเช็ดมือเปรอะหมด สมเด็จโตก็ทูลว่า

“อะไรก็ถวายได้ ผ้าเช็ดมือถวายไม่ได้ อาตมาก็เอาผ้าไตรของอาตมาเช็ดอาตมาเอง เป็นอันได้บริโภคของทายกแล้ว ไม่ได้เป็นสัทธาเทยยวินิบาต”

ท่านมักทำแปลกๆขำๆอยู่เสมอ แล้วก็ไม่ซ้ำมุขเก่า ตอนที่ท่านดังก็มีผู้คนไปหาไม่ขาดสายจนไม่มีเวลาว่าง ท่านจึงเอาปัสสาวะสาดกุฏิบ้าง ทาหัวตัวเองจนเหลืองบ้าง และมักจะหลบไปพักผ่อนอารมณ์อยู่ในป่าช้าวัดสระเกศ เพื่อไม่ให้คนไปรบกวน

เมื่อครั้งเป็นพระเทพกวีเป็นต้นมา สมเด็จโตมีคู่เทศน์ที่ถูกคอกันมากองค์หนึ่ง คือ พระพิมลธรรม (ถึก) วัดโพธิ์ ซึ่งเป็นคู่เทศน์ที่เผ็ดร้อนถึงอกถึงใจคนฟัง จนความทราบถึงพระกรรณสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงนิมนต์เจ้าคุณทั้งสองเข้าไปเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง ทรงติดเงินพระราชทานให้สลึงเฟื้อง พระเทพกวีไหวทัน หันไปบอกพระพิมลธรรมทันทีว่า

“เจ้าถึกจ๋าเจ้าถึก เจ้าถึกรู้หรือยัง”

“จะให้รู้อะไรหนา” พระพิมลธรรมย้อนถาม

“อ้าว ท่านเจ้าถึกยังไม่รู้ตัว โง่จริงๆแฮะ”

“จะให้รู้อะไรอีก นอกคอกเปล่าๆ”

“จะนอกคอกทำไม เรามาเทศน์กันวันนี้ในวังมิใช่หรือ”

“ในวังนั่นซี” พระพิมลธรรมรับ

“ก็ในวัง ในคอก ในกำแพงด้วยซ้ำ รู้ไหมล่ะ...จงรู้เถิด เจ้าถึกนั้นหัวล้านมีศรี ฝ่ายพระเทพกวีนั้นหัวเหลือง สมเด็จบรมบพิตรจึงทรงติดให้สลึงเฟื้องรู้ไหม”

พอสิ้นประโยคนี้ก็เรียกเสียงฮาครืนก้องพระที่นั่ง สมเด็จพระจอมเกล้าฯเลยให้รางวัลอีกองค์ละ ๑๐ บาท เลยได้ฮาอีกรอบเมื่อพระเทพกวีบอกว่า

“พ่อถึกหัวล้าน พ่อโตหัวเหลือง เป็นหัวละเฟื้องสองไพ”

พฤติกรรมของสมเด็จโตที่ดูแปลกๆ แต่ก็แฝงไว้ด้วยปรัชญาทางธรรม ที่สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเข้าพระทัยอ่านได้ทันกัน

อย่างครั้งหนึ่งในพระราชพิธีพระบวรศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จมาถึงพระทวารพระที่นั่ง พระที่สวดพระอภิธรรม ๘ รูปเกิดตกใจเกรงพระบรมเดชานุภาพ รูปหนึ่งถึงกับลุกขึ้นวิ่งหนีไปแอบอยู่ในม่านที่กั้นพระโกศ ทำให้ทรงกริ้วรับสั่งว่า

“ดูซิ ดูซิ ดูถูกข้า เห็นว่าข้าเป็นเสือเป็นยักษ์ เอาไว้ไม่ได้ ต้องสึกให้หมด”

รับสั่งแล้วก็มีพระราชหัตถเลขาสั่งให้พระธรรมเสนา (เนียม) นำไปถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์โตที่วัดระฆัง ครั้นสมเด็จโตรับพระราชหัตถเลขามาอ่านดูแล้ว ท่านก็จุดธูป ๓ ดอกจี้ไปที่กระดาษลายพระหัตถ์นั้นเป็น ๓ รู แล้วส่งให้พระธรรมเสนานำไปถวายคืน

สมเด็จพระจอมเกล้าทอดพระเนตรเห็นรูกระดาษไหม้ไม่ลามไปถึงตัวอักษร ก็ทรงทราบธรรมปริศนา รับสั่งว่า

“อ้อ ท่านให้เราดับราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นไฟ ๓ กอง งดที งดที เอาเถอะถวายท่าน”

พระธรรมเสนาจึงนำพระสงฆ์ทั้ง ๘ รูปกลับมานั่งประจำที่ แล้วทรงแนะนำสั่งสอนระเบียบจรรยาหน้าพระที่นั่ง ให้พระรู้ระเบียบรับเสด็จตั้งแต่นั้นมา

การเทศน์ของสมเด็จโตที่ทำให้สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงกริ้วขนาดหนัก ก็เมื่อครั้งยังเป็นพระเทพกวี เทศน์เรื่องการตั้งกรุงกบิลพัสดุ์และตั้งศากยวงศ์ ในปฐมสมโพธิปริจเฉทที่ ๑ กล่าวถึงสมัยกษัตริย์ในโอกกากราชวงศ์ รัชกาลที่ ๓ พระราชโอรสพระราชธิดาพี่น้อง ๙ องค์ เจ้าชาย ๔ เจ้าหญิง ๕ ได้ออกจากเมืองพระราชบิดามาตั้งราชธานีใหม่ ขนานนามว่า กรุงกบิลพัสดุ์ ตามบัญญัติของกบิลฤาษี ต่อไปก็แต่งงานอภิเษกกันเองระหว่างพี่ๆน้องๆ เห็นตามลัทธิคติพราหมณ์ที่นิยมว่าแต่งงานกันเองไม่เสียวงศ์ ถือมั่นว่าเป็นอสัมภินวงศ์ ไม่แตกพี่แตกน้องแน่นแฟ้นดี บริสุทธิ์ไม่เจือไพร่ คราวนี้เลียนอย่างมาถึงประเทศใกล้เคียงมัชฌิมประเทศ ก็พลอยเอาอย่างกันสืบๆมา จนถึงสยามประเทศก็เอาอย่าง เอาพี่เอาน้องขึ้นราชาภิเษกและสมรสกันเป็นธรรมเนียมมา

พอถึงตอนนี้สมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ทรงตะบะแตก ไล่ลงจากธรรมมาสน์ทันที และไม่ใช่แค่นั้น ยังไล่ให้ออกไปให้พ้นราชอาณาจักร พระเทพกวีก็ออกจากวังเข้าไปนอนในโบสถ์วัดระฆัง ไม่ยอมออกมาเหยียบดินอีกเลย ด้วยเกรงผิดพระบรมราชโองการ

ครั้นถึงคราวถวายพระกฐินเสด็จเข้าไปในพระอุโบสถ ทอดพระเนตรเห็นขรัวโตอยู่ที่นั่นด้วย จึงรับสั่งถามว่า

“อ้าว ไล่แล้วไม่ให้อยู่ในราชอาณาจักรสยาม ทำไมขืนอยู่อีกล่ะ”

“ถวายพระพร อาตมาไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักร อาตมาอาศัยอยู่ในพุทธจักร ตั้งแต่วันมีพระบรมราชโองการอาตมาไม่ได้ลงดินของมหาบพิตรเลย”

“แล้วกินข้าวที่ไหน ไปถานที่ไหน”

“ขอถวายพระพร บิณฑบาตในโบสถ์นี้ฉัน ถานในกระโถน เทวดาคนนำไปลอยน้ำ”

รับสั่งว่า “โบสถ์นี้ไม่ใช่อาณาจักรสยามหรือ”

“ถวายพระพร โบสถ์เป็นวิสุงคาม เป็นส่วนหนึ่งจากพระราชอาณาจักร กษัตริย์ไม่มีอำนาจขับไล่ได้ ถวายพระพร”

ลงท้ายก็ทรงขอโทษ แล้วถวายพระกฐิน เสร็จการกฐินแล้วก็รับสั่งให้อยู่ในพระราชอาณาจักรสยามได้

ครั้นถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตขณะพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา ขณะนั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์โตพระชนมายุได้ ๘๑ พรรษา เป็นสมเด็จมาได้ ๓ ปีเศษ เมื่อทราบข่าวสมเด็จพระจอมเกล้าฯสวรรคต สมเด็จโตก็เดินร้องไห้โฮรอบวัดระฆัง ปากก็พร่ำว่า

“สิ้นสนุกแล้วครั้งนี้ สิ้นสนุกแล้ว...”

ครั้นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์โตจึงทำพระพิมพ์ ๕ ชั้น ๗ ชั้น ๙ ชั้นขึ้นอีก ตั้งใจจะถวายสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่พิมพ์ไว้ครั้งก่อนแอบเอาไปบรรจุไว้ในพระเกศไชโย ที่วัดเกศไชโย อ่างทองหมด กำหนดจะพิมพ์ออกมาให้ได้ ๘๔,๐๐๐ องค์เท่าพระธรรมขันธ์ ต่อมาพระยานิกรบดินทร์ (โต) ได้ถวายทองคำเปลวมา ท่านก็ปิดพระที่จะถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้แค่ ๔๐,๐๐๐ องค์ทองก็หมด แต่พิมพ์งวดนี้จะได้ถวายหรือไม่ก็ไม่ปรากฏมีกล่าวไว้

ครั้นในปี พ.ศ.๒๔๑๕ เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลที่ ๕ สมเด็จโตไปดูงานก่อสร้างพระโตวัดบางขุนพรหมใน หรือวัดอินทรวิหารในปัจจุบัน ท่านได้ล้มป่วยด้วยโรคชรา ๑๕ วันก็มรณภาพบนศาลาใหญ่ สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๔ พรรษาบริบูรณ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังมาได้ ๒๑ ปี เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์มาได้ ๗ ปี

หลังจากได้รับพระราชทานน้ำสรงพระศพแล้ว บรรจุลงโกศไม้ ๑๒ ยกลงเรือมาวัดระฆังโดยฝีพายหลวง และมีเรือของราษฎรพายตามมาเต็มแม่น้ำ ส่วนที่วัดระฆังก็มีคนรอรับอยู่ล้มหลาม พระครูปลัดสัมภิพัฒน์ (ช้าง) ได้ตักพระพิมพ์แจกชำร่วยแก่บรรดาผู้ที่มาส่งศพ เคารพศพ คนละองค์ หมดพระไป ๑๔ กระถางมังกร ราวสามหมื่นองค์ ปัจจุบันที่ยังเหลืออยู่องค์ละเป็นล้านทั้งนั้น

ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ต้องยอมรับว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์โต เป็นอริยสงฆ์ที่มีผู้เคารพนับถือและมีเรื่องให้เล่าขานถึงมากที่สุด แต่ละเรื่องก็ล้วนน่าขบขัน น่าขบคิด และจะกล่าวถึงท่านไปอีกนานแสนนาน เช่นเดียวกับพระพิมพ์ของท่านก็ครองความนิยมเป็นอันดับ ๑ มากว่าร้อยสี่สิบปีแล้ว และยังมองไม่เห็นทางที่จะลดอันดับลงแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น