xs
xsm
sm
md
lg

วธ.จัดพิธีบวงสรวง 234 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วธ. จัดพิธีบวงสรวง 234 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ - ปล่อยขบวนรถไหว้พระ 9 วัด ระบุ งานมหกรรมวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ สุดอลังการ ชม “รามายณะอาเซียน - เมืองจำลองอาเซียน”

วันนี้ (20 เม.ย.) เมื่อเวลา 06.09 น. ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีบวงสรวงเทพยดา และดวงพระวิญญาณสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในงานมหกรรมวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ “ใต้ร่มพระบารมี 234 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” โดยมีพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ เป็นผู้นำประกอบพิธี ทั้งนี้ เพื่อสร้างความสิริมงคลให้การจัดงานเฉลิมฉลองครั้งนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น

พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ กล่าวว่า การเฉลิมฉลอง 234 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ครั้งนี้นับเป็นปีแห่งเลขมงคล ซึ่งการสมโภชปีนี้ ได้เลือกจัดบริเวณจุดศูนย์กลางของมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพราะตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง ที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า พระแก้วมรกต พระบรมสารีริกธาตุ ด้านขวาเป็นมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ด้านซ้ายเป็นศาลหลักเมือง โดยตั้งปณิธานความดีระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ขอให้ทุกพระองค์ทรงปกป้องรักษาประเทศชาติให้มั่นคง ร่มเย็น โดยในการก้าวสู่ข้ามสู่วันเฉลิมฉลองสมโภชกรุง ในวันที่ 21 เม.ย. นี้ คนไทยทุกคน สามารถกันทำบุญตักบาตร และทั้งปฏิบัติศาสนกิจตามแต่ละศาสนา เพื่อสร้างสิริมงคล ส่งพลังจิตใจให้ประเทศชาติมีแต่ความสงบสุข เสริมดวงเมืองให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ต่อมาเวลา 08.30 น. นางฉวีรัตน์ พร้อมด้วย นายกฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหาร วธ. ผู้แทนกองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ร่วมพิธีเปิดกิจกรรมไหว้พระ 9 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 9 รัชกาล ปล่อยขบวนรถที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 10 คัน นางฉวีรัตน์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีฝังเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ และทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น เป็นเมืองหลวงของประเทศแห่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันครบ 234 ปี และพระมหากษัตริย์ ที่สืบพระราชสันตติวงศ์ทุกพระองค์ ทรงมีอุปการคุณต่อพสกนิกร ชาวไทยและประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์ รวมทั้งเป็นศูนย์รวมจิตใจก่อให้เกิดความรักความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ

ส่วนกิจกรรมไหว้พระ 9 วัด จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 24 เม.ย. นี้ ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม วัดราชโอรสาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และใกล้ชิดพระพุทธศาสนา สักการะขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำบุญปฏิบัติธรรม สวดมนต์ ฟังพระธรรมเทศนา สืบสานวิถีพุทธ เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน ทั้งนี้ ขสมก. ได้จัดบริการรถโดยสารปรับอากาศรับ - ส่ง ฟรีที่ท้องสนามหลวงไปยังทั้ง 9 วัดทุกวัน หรือประชาชนจะขึ้นรถ ขสมก. หน้าวัดดังกล่าวได้ ระหว่างเวลา 8.30 - 16.30 น. หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2422-8812

ทั้งนี้ ในงานมหกรรมวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ มีกิจกรรมมากมาย 1. จัดมหกรรมรามายณะอาเซียน ที่โรงละครแห่งชาติ โดยคณะนักแสดงกว่าร้อยคน จาก 8 ประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย อินเดีย 2. ยังมีการแสดงแฟชั่นโชว์ “สานต่อผ้าอาเซียนเปลี่ยนภูมิปัญญาให้ร่วมสมัย” ที่บริเวณท้องสนามหลวง 3. การจัดแสดง สาธิต และจำหน่าย “งานหัตถศิลป์ถิ่นอาเซียน” ที่บริเวณท้องสนามหลวง 4. มุมถ่ายภาพกับ “เมืองจำลองอาเซียน” ที่บริเวณท้องสนามหลวง 5. ครัวอาเซียน “ลิ้มรสอาหารอาเซียน” ที่บริเวณท้องสนามหลวง 6.นิทรรศการและสาธิต “ว่าวอาเซียน” ที่บริเวณท้องสนามหลวง 7. ภาพยนตร์คลาสิกแห่งอาเซียน ที่บริเวณท้องสนามหลวง เป็นการจัดฉายภาพยนตร์จากประเทศสมาชิกอาเซียน คัดเลือกจากภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ รวมทั้งการจัดฉายภาพยนตร์คลาสิกอมตะเป็นที่ยอมรับในวงการภาพยนตร์ ซึ่งจัดที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

8. นิทรรศการ “รากแห่งวัฒนธรรมอาเซียน” จัดแสดงศิลปวัตถุของอินโดนีเซียและกัมพูชา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และจัดแสดงถึงความหลากหลายทางมหกรรมอาเซียน 3 ห้อง ได้แก่ ห้องที่ 1 ศิลปะเอเชีย และการก่อกำเนิดรัฐโบราณในประเทศไทย ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ห้องที่ 2 ลพบุรี หรือ เขมรในประเทศไทย แสดงหลักฐานสถาปัตยกรรมและประติมากรรมทั้งที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และห้องที่ 3 ประติมากรรมศิลปะชวา แสดงศิลปะโบราณวัตถุศิลปะชวา และ 9. การสัมมนา “อัตลักษณ์ร่วมในวรรณกรรมอาเซียน” บูรณาการองค์ความรู้และแนวคิดในการปฏิบัติงานด้านภาษาและวรรณกรรมกับงานวิชาการที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับวรรณกรรมของประเทศต่าง ๆ ในประชาคมอาเซียนให้เป็นที่เข้าใจและแพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น