xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับตา “บิ๊กเบี้ยว” หัวหน้าคณะแก้ “ราคายาง” คนใหม่ จะเป็น “มายา” หรือว่า “ของจริง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 นำทัพโดย “บิ๊กเบี้ยว” พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข อดีตเสนาธิการทหารบก นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 15 (ตท.15)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -รอวันฝีแตก! สำหรับการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำสไตล์ “เดอะตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะเป็นเหมือนการแก้ไขปัญหาเฉพาะ อุดเลือดที่กำลังไหลเฉยๆ เพื่อเลี่ยงๆ ปัญหาที่กำลังรุมเร้า

เพราะในทางปฏิบัติกับมาตรการต่างๆ ที่ออกมายังมีปัญหาอยู่หลายจุด ไม่ได้เป็นมาตรการที่รัฐบาลเคาะปุ๊บ ได้ผลปั๊บ ไม่ว่าจะเป็นการรับซื้อยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 45 บาท ซึ่งยังมีปัญหาอีกเป็นกระบุง

โดยเฉพาะในส่วนของข้อติดขัดทางกฎหมาย เนื่องจากเงินที่ได้จากค่าธรรมเนียมจากการส่งออกยาง หรือ“เงินเซสส์” ตามกฎหมายยางที่จะเอามาจ่ายในครั้งนี้ ใช้ได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ จากที่มีอยู่ 8,000 ล้านบาท นั่นคือ ดึงมาได้แค่ 800 ล้านบาทเท่านั้น แต่ที่ “รัฐบาล คสช.” ประกาศว่าจะซื้อยางในปริมาณ 1 แสนตัน ที่กิโลกรัมละ 45 บาท เท่ากับว่า รัฐบาลจะต้องใช้เงินถึง 45,000 ล้านบาท

ลำพังเงินแค่ “เงินเซสส์” ที่มีอยู่แค่ 800 ล้านบาท แทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย

สุดท้ายรัฐบาลก็เลยต้องพึ่งบริการ “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กับทีมงานจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหา “ทางออกฉุกเฉิน” ซอกแซกหางบประมาณมาซื้อยางให้ได้ ซึ่งจนขณะนี้ก็ยังหาหนทาง “ปลดล็อก” ไม่สำเร็จ

“ราคายาง” โจทย์หิน คสช. “ยิ่งแก้-ยิ่งแย่”

ขณะที่ข้อสั่งการ “บิ๊กตู่” ที่ให้ 8 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์ ช่วยรับซื้อยาง ตามทฤษฎี “อัฐยายซื้อขนมยาย” ปรากฏว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ก่อนความต้องการของแต่ละกระทรวงยังน้อยไปสำหรับ “บิ๊กตู่” จึงสั่งให้ทบทวน

ทำเอา พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรวง ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขปัญหาราคายาง ต้องเรียก 8 กระทรวง นั่งถกกันที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเคาะใหม่

ทว่าความต้องการยางของแต่ละกระทรวงก็ยังมีเพียง 14,000 ตันเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแต่ละหน่วยงานแทบไม่ได้ต้องการใช้ “วัตถุดิบ” ที่มาจากยางพาราเลย

กระทั่ง “ถนน” ที่คาดหวังว่า กระทรวงคมนาคม หรือหน่วยทหาร จะปรับจากถนนลาดยางมะตอย ไปเป็นถนนลาดยางพาราหรือลาดยางแอสฟัลต์ผสมยางธรรมชาติ ก็ใช้ยางพาราไปเป็นส่วนประกอบได้ไม่มากตาม “สูตรเดิม” ที่วิจัยคิดค้นกันไว้ ไม่ว่าแบบ “พาราเคปซีล” หรือแบบ ”พาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต” ที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น

พอนักข่าวเกิดสงสัยแล้วไปถาม “นายกฯตู่” ว่าทำไมไม่ใช้ให้มากขึ้น ก็เจอตวาดกลับว่าให้ไปคิดสูตรมา และเป็นที่มาของความอึดอัดจนหลุดปากออกไปว่า “แล้วจะให้กูทำยังไงวะ ปัดโธ่!!” เหตุเพราะแต่ละหนทางในการแก้ปัญหายางพาราดูจะกุกกักไปเสียหมด เรื่องการนำมาใช้ทำถนน บางแนวคิดก็ว่าประโยชน์น้อยกว่าการใช้ยางมะตอย และบางแนวคิดก็เห็นว่าใช้งบประมาณมากกว่าการทำถนนในรูปแบบปกติ

ในความเป็นจริงเรื่องการผลักดันโครงการนำยางพารามาใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนนั้นมีการพูดถึงมาตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำ อย่างเมื่อช่วงปลายปี 2555 รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็เคยมีมติเห็นชอบมาแล้ว แต่จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นเพียง “โครงการนำร่อง” ไม่ได้มีการใช้ยางพาราทำถนนอย่างเผยหลายอย่างที่ควรจะเป็น

สาเหตุที่ลาดยางแอสฟัลต์ผสมยางธรรมชาติไม่เป็นนิยมก็เนื่องจากตามหลักวิชาการ ยังเห็นว่า ไม่เหมาะกับการนำมาทำถนนในแง่ของความทนทาน แม้จะมีผลวิจัยจาก "ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา" ที่ระบุว่า ได้ทดสอบนำยางพารามาผสมกับยางมะตอยเพื่อราดถนนมานานนับ 10 ปีแล้ว ผลปรากฏว่ามีความทนทานมากกว่าเดิมถึงเกือบ 3เท่าตัว แต่ก็ต้องใช้งบประมาณมากกว่าเดิมราว 5 เปอร์เซ็นต์

สรุปแล้วถนนที่สร้างจากยางพารามาผสมกับยางมะตอยามีความทนทานมากกว่าเดิม แต่ก็มีข้อสงสัยว่า ทำไมหน่วยงานหลักอย่างกระทรวงคมนาคมถึงไม่ยึดเป็นหลักในการสร้างถนนที่รับผิดชอบ จนถูกแซวว่า เพราะกลัวว่า หากถนนแข็งแรงทนทานขนาดนั้น จะไม่มีโอกาสเบิกงบมาเพื่อซ่อมแซมถนน

พูดง่ายๆก็กลัว “เงินทอน” จะหดหายนั่นเอง

ไม่เพียงเท่านั้น การแก้ไขปัญหาราคายางของเก่าก่อนหน้านี้ ในส่วนของโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรไร่ละ 1,500 บาท จนถึงวันนี้ก็ยังไปไม่ถึงไหน แม้ “บิ๊กตู่” พยายามจะให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า พยายามเร่งรัดไปแล้วก็ตาม แต่จนแล้วจนรอดเกษตรกรไม่รู้ว่า ตัวเองจะได้รับเงินก้อนนี้เมื่อไหร่

นอกจากเงินที่ยังไม่ถึงพื้นที่ กรณีการช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1,500 บาท ก็มีปัญหาเรื้อรังในตัวมานาน เพราะมีการตั้งข้อสังเกตเหมือนกันว่า เกาไม่ถูกที่คัน เพราะโครงการดังกล่าวไม่ครอบคลุมชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ทั้งที่ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็เป็นผู้จ่ายภาษีหรือถูกจัดเก็บ “เงินเซสส์” เช่นกัน แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครอง

จนในรายการคืนความสุขฯเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา “นายกฯตู่” ถึงกับบ่นดังๆถึงปัญหานี้ว่า ที่การจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรชาวสวนยางล่าช้า ไม่ได้เป็นเพราะ “ข้าราชการ-รัฐบาล” หากแต่เป็นเพราะ “เกษตรกร-ประชาชน” ที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ไม่ยอมไปขึ้นทะเบียนเกษตรให้เรียบร้อย ส่งผลให้ทางราชการไม่สามารถจ่ายเงินได้

เรื่องยางไปๆ มาๆ ยิ่งแก้จะกลายเป็น “ยิ่งแย่”

ตลกร้าย “ประธานบอร์ดยาง” ไม่รู้เรื่องยาง

ทันทีที่รัฐบาลจะรับซื้อยางในราคา “นำตลาด” ที่กิโลกรัมละ 45 บาท ก็มีข่าวเรื่อง “เวียนเทียนยาง” ออกมาดักทางคนบางกลุ่มที่คิดจะโกยกำไรจากมาตรการของรัฐ คล้ายกับกรณีโครงการรับจำนำข้าวยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”

น่าแปลกที่คนแรกๆที่ออกมาเตือนดันเป็น “เดอะเต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็น “ณัฐวุฒิ” คนเดียวกับที่เมื่อครั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลที่แล้ว ประกาศ “วาระแก้ปัญหาราคายาง” โดยเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 15,000 ล้านบาท สำหรับรับซื้อยางเก็บเข้าสต๊อกของรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำ พร้อมประกาศจะยกระดับราคายางให้อยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งในขณะนั้นราคาตลาดอยู่ที่ราว 60-70 บาทต่อกิโลกรัม

“การที่รัฐบาลบอกว่าแค่ประกาศจะรับซื้อ ราคายางก็ขยับขึ้นทันที่กว่า 2 บาทนั้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้มีอำนาจไม่เข้าใจการพิจารณาราคาของยาง ซึ่งจะดูเฉพาะการประมูลในท้องถิ่นนั้นไม่ได้ ต้องเทียบราคากับตลาดต่างประเทศที่มีอิทธิพลสูงด้วยทั้งนี้ที่ผ่านมาราคาตลาดต่างประเทศ แทบจะไม่ขยับตัวเลย ดังนั้น อยากให้รัฐบาลตรวจสอบสัญญาณนี้ให้ดีว่า ที่ราคาขยับขึ้นนั้นเพราะนายทุนไปกว้านซื้อมาเก็บไว้ เพื่อรอจังหวะปล่อยขายในราคารับซื้อของรัฐบาลหรือไม่” คือคำกล่าวของ “เดอะเต้น” ที่เคยใช้สูตรเดียวกับรัฐบาล คสช.มาก่อน ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ได้ผลงบประมาณ 15,000 ล้านบาทแทบไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะในวันนั้นราคายางขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย ก่อนจะร่วงลงไปหนักกว่าเดิม

ภาพในอดีตย้อนมาหลอกลวง จน “แกนนำชาวสวนยาง” ต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบคุณภาพยางในสต๊อก 3.7 ล้านตัน ก่อนนำเข้าเก็บรักษาในโกดังของทหาร ด้วยวิธีทางเทคนิค “ผ่ายางลูกขุน”เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ยังเกิดข่าวว่า มีการลักลอบส่งออกยางโดยไม่จ่ายภาษี จำนวน 5 แสนตันต่อปี ที่ด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ จ.สงขลา

เรียกว่า มีแต่เรื่องฉาวให้ตกเป็นขี้ปากชาวบ้าน ซึ่งมันจะด้วยเป็นเกมการเมืองหรือไม่ก็ตาม แต่มันก็แสดงให้เห็นว่า การแก้ปัญหาแบบ “ลุงตู่” มีรูโหว่ไม่น้อย

ที่ดูจะ “ตลกร้าย” ก็เรื่องที่ “บิ๊กตู่” วางตัว “บิ๊กเบี้ยว” พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข อดีตเสนาธิการทหารบก นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 15 (ตท.15) เพื่อน “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย “บิ๊กตู่” ให้เป็นประธานคณะกรรมการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

โดย “นายกฯตู่” ให้เหตุผลในการวางหมากตัวนี้ว่า “วันนี้สถานการณ์ไม่ปกติ ทหารจึงเข้ามา ไม่ใช่เข้ามาเพื่อผลประโยชน์ แต่ต้องช่วยขับเคลื่อน”

ขณะที่ “บิ๊กเบี้ยว” ยอมรับ "หน้าชื่น" กับนักข่าวว่า "ไม่มีความรู้เรื่องยางมาก่อน" และไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้ต้องมาแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ แบบที่ถ้าเป็นพล็อต หนังถือว่า “หักมุม” สุดๆ เพราะตามท้องเรื่องถือว่าปัญหายางพาราตอนนี้เข้าขั้น "วิกฤต" แต่ดันเอาคนไม่รู้เรื่องยาง มานั่งตำแหน่งสำคัญ แม้จะอวดอ้างว่า มีภาพความโปร่งใส บวกกับทักษะการเจรจาที่มีจิตวิทยาสูงในการพูดคุยโน้มน้าวก็เถอะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ตั้ง“นายพลทหาร” มาแล้วจะแก้ไขปัญหาเรื่องยางพาราได้

แน่นอนเรื่องยางอาจจะศึกษากันได้ แต่สถานการณ์คับขันอย่างนี้ มันไม่ใช่ “สนามซ้อม” ที่จะเอาใครมาก็ได้ ที่สำคัญ ในประเทศมีคนที่รู้เรื่องยางพาราดีกว่า “บิ๊กเบี้ยว” อีกมากมายมหาศาล หนำซ้ำ บางคนยังพูดคุยกับแกนนำชาวสวนยางรู้เรื่องกว่าทหารด้วยซ้ำไป

หรือ “บิ๊ก คสช.” จะเข็ดกับการตั้งคนที่รู้มากเข้าไปแก้ปัญหาแล้วไม่ได้เรื่อง อย่างเมื่อครั้งให้ “อำนวย ปะติเส” ที่ขึ้นชื่อเรื่องเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องสวนยางที่โอ้อวดว่าเป็น “กูรูยางพารา” ไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ทันไรก็อัปเปหิออกจากตำแหน่ง ปัญหายังไม่ทันแก้ จนวันนี้ไปนั่งจุ๊มปุ๊กเป็นที่ปรึกษา คสช.อยู่ในตอนนี้

ดูๆ ภาพรวมแล้ว มันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการทำงานของรัฐบาล คสช.ว่า กลัวๆกล้าๆ ทำงานแบบระมัดระวังตัวมากเกินไป ไว้วางใจแค่ “คนในเครื่องแบบ” มากกว่าคนนอก ทั้งที่บางเรื่องควรจะเอาคนที่รู้เรื่องจริงๆมาใช้งาน น่าจะตอบโจทย์มากกว่า

สรุปแล้วมันจึงเป็นการแก้ไขปัญหาแบบรอวัน “ฝีแตก” มากกว่าจะรักษาให้หายขาด!

“ชาวสวนยาง” ช่างมัน ขอลุย “สมุยเฟสฯ” ก่อน

ขณะที่ท่าทีจาก “ฝ่ายการเมือง” ต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ นอกเหนือจากข้อห่วงยของ “เดอะเต้น” แล้ว ในทางกลับกัน “กลุ่ม กปปส.” ภายใต้การนำของ “ทิดเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ ก็ดูจะไม่ได้เป็นเดือดเป็นร้อนอะไรกับความทุกข์ยากของ “ชาวสวนยาง” ในครั้งนี้

ทั้งที่ครั้งหนึ่งก็ “ชาวสวนยาง” นี่แหละที่เป็นกำลังสำคัญใน “ศึกปิดประเทศ” ร่วมเป็นมวลมหาประชาชนขับไล่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” และก็เป็น “สุเทพ” หรือ “ลุงกำนัน” เมื่อครั้งกระนู้นที่แหกปากแผดเสียงลั่นเวที กปปส.ว่า หากตะเพิด “รัฐบาลปู” ได้ ราคายางต้อง 120 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

แต่ในความเป็นจริงเมื่อ คสช.เข้าคุมอำนาจ ราคายางจาก 60 บาทต่อกิโลกรัมก็ดิ่งลงเรื่อยๆ เข้าขั้นวิกฤตที่“3 โลร้อย” จนชาวสวนยางเริ่มขยับหามาตรการกดดันรัฐบาล คสช. พร้อมๆกับการประกาศถามหา “คนหาย” ที่เคยใช้ปัญหาราคายางเป็น “หัวเชื้อ” เรียกร้องให้ชาวสวนยางออกมาร่วมชุมนุม

พอโดนเหน็บแนมมากเข้า “ทิดสุเทพ” ก็ต้องออกมาคอมเมนต์ในเรื่องนี้เหมือน “ไฟต์บังคับ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับ เช่นเดียวกับ แกนนำ กปปส. แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่จู่ๆก็โผล่หัวมาแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวสวนยาง

ขณะที่ข้อเรียกร้องให้ “สุเทพ” มารับบท “ลุงกำนัน” เพื่อเป็นแกนนำมวลชนกดดันรัฐบาล คสช.ถูกตีตกไปอย่างไม่ใยดี ขอทำหน้าที่เพียงให้ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาเท่านั้น โดย “เทพเทือก” ระบุว่า ราคาที่เหมาะสมในวันนี้คือ 60 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจากสมัยเรียกร้องรัฐบาลก่อนถึงครึ่งต่อครึ่ง พร้อมเตือนสติเกษตรกรชาวสวยยาง ในเรื่องการออกมาชุมนุม ว่าไม่สมควรออกมาเคลื่อนไหว เพราะรัฐบาล คสช.กำลังแก้ไขปัญหาให้อยู่

พลิกบทจาก “ผู้นำม็อบ” มาเป็น “ตัวช่วย คสช.” เกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านไม่ออกมาชุมนุมส่วนข้อเสนอราคา 60 บาทต่อกิโลกรัมนั้น ก็ถูก “นายกฯประยุทธ์” ตีตกไปทันทีเช่นกัน ปฏิเสธสั้นๆได้ใจความว่า รัฐบาลไม่เงิน

จากนั้น “ทิดสุเทพ” ก็เงียบเป็นเป่าสาก ไร้ความเคลื่อนไหวใดๆที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาให้ชาวสวนยาง ขณะเดียวกันกลับแสดงความกระตือรือร้นเชิญชวนคนไปเที่ยวงาน “SAMUI FESTIVAL : GIVERS’ RIDE AND RUN2016” ที่ตัวเองเป็น “หัวเรือใหญ่” ในวันที่ 23 - 24 มกราคมนี้ ตีฆ้องร้องป่าวว่าเป็นมหกรรมที่ยิ่งใหญ่อลังการ มีทั้งดนตรี อาหารพรั่งพร้อม

เครือข่าย กปปส.ในนาม มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ วางวัตถุประสงค์ในการจัดงาน“สมุย เฟสติวัล” เป็นงานช่วยเหลือสังคมที่จะนำรายได้ไปร่วมสร้างวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ มูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

ทั้ง “สุเทพ” รวมทั้งแกนนำ กปปส.รายอื่นๆ ช่วยกันโปรโมตสารพัดช่องทาง ตลอดจนไปถึงลงทุนซื้อสื่อโฆษณา ซึ่งคาดว่าใช้งบประมาณไปไม่น้อย ทั้งๆ ที่ปัญหาราคายางได้รับผลกระทบกันทั่วดินแดนด้ามขวาน ชาวสวนยางผูกคอตายกันไปไม่รู้กี่คน บุตรหลานชาวสวนยางหลายคนต้องออกจากโรงเรียน

แอ็กชั่นจาก “ทิดเทือก” กับเพื่อนพ้อง กปปส. กลับไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวกับฐานมวลชนที่เคยสู้เคียงบ่าเคียงไหล่บนถนนกับตัวเองเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับการโปรโมตงาน “ปาร์ตี้” ที่เกาะสมุย

ส่วนแกนนำ กปปส.บางคนที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาราคายางอย่าง “ถาวร เสนเนียม” ก็ดูออกจะไปในลักษณะ “ผิวเผิน” หรือมองผลประโยชน์ในเรื่องการเมืองมากกว่า ในการรักษาฐานมวลชนตัวเองเท่านั้น

จับอาการ กปปส.แล้วก็สรุปได้ว่า ไม่ฮือไม่อืออะไรกับรัฐบาล คสช. หนักไปทางเกรงใจไม่กล้าแตะต้องด้วยซ้ำไป

เอาเข้าจริง “ทีมงานค่ายสีฟ้า” ในซีกของ “นายหัวชวน” ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ยังดูทำงานเรื่องนี้มากกว่า “ทิดเทือก” หลายเท่า

หรือเป็นเพราะวันนี้ กปปส.เดินไปถึงปลายทางฝันแล้ว คนอื่นก็เลยหมดความหมาย

หรือเป็นเพราะ “กำนันสุเทพ” ที่ทุ่มสุดตัวไฮด์ปาร์กปลุกม็อบบนเวที กปปส. เดินตะลุยเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับมวลชนได้ตายจาก “มวลมหาประชาชน” ไปแล้ว?



กำลังโหลดความคิดเห็น