สุนทร รักษ์รงค์
นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้
23 ธันวาคม 2559
--------------------------------------------------------------------------------
ประเด็นร้อนกระแส “ตื่นราคายาง” ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมอย่างกว้างขวาง กล่าวคือ ในช่วงนี้ราคายางได้ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ยางแผ่นดิบชั้น ๓ ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ราคา ๕๘.๑๕ บาท และเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ ขยับสูงขึ้น ๑๙.๑๐ บาท ภายใน ๑ เดือน ส่วนยางแผ่นรมควันชั้น ๓ ราคาแตะ ๘๐ บาท เป็นครั้งแรกในรอบ ๓ ปี หลังเกิดวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ
ราคายางที่สูงขึ้นในปลายปี ๒๕๕๙ ก็เป็นไปตามการคาดการณ์ของหลายฝ่าย เพราะว่าต้นปี ๒๕๕๙ เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ ที่มีสภาพอากาศแล้งจัด อุณหภูมิสูงถึง ๔๕ องศาเซลเซียส ส่งกระทบให้ผลผลิตยางของโลกลดลง ๑ ล้านตัน ประกอบกับภาวะราคายางพาราตกต่ำในประเทศไทย ทำให้มีการโค่นต้นยางทิ้ง ลดพื้นที่การปลูก เจ้าของสวนยางแปลงใหญ่หยุดกรีดยางเพราะไม้คุ้มต้นทุน ทำให้ผลผลิตยางของไทยมีแนวโน้มลดลง ๓๐-๓๕% ยิ่งมีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมในภาคใต้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดน้อยลงมาอีก การแย่งซื้อยางของพ่อค้าก่อนปิดกรีดจึงมีผลทำให้ราคายางขยับสูงขึ้น รวมทั้งยังมีปัจจัยบวกภายนอกประเทศมาหนุนเสริม เช่น ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น สต๊อกยางที่จีนลดลงมามาก ราคายางกระดาษ หรือตลาดล่วงหน้าที่ญี่ปุ่นสูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจของโลกเริ่มฟื้นตัว เป็นต้น
จนกระทั่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ออกประกาศเพื่อเปิดประมูลสต๊อกยาง ๓.๑ แสนตัน เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ และเปิดรับสมัครผู้สนใจเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ ผลปรากฏว่า ทำให้ราคายางร่วงลงมา 3-4 บาท ในช่วง ๑๙-๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ ท่ามกลางกระแสการคัดค้านจากเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศให้ยุติการประมูลยางในช่วงนี้ และมีข้อเสนอให้ระบายยางในสต๊อกดังกล่าวในช่วงปิดกรีด คือระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ๒๕๖๐
ในกระแส “ตื่นราคายาง” รวมทั้งข้อกังวลของเกษตรกรชาวสวนยางต่อกรณีการประมูลยางในสต๊อกของ กยท. จนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง กับ กยท. บางเครือข่ายประกาศจะฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉินให้มีการยุติการประมูลยางในช่วงนี้ และมีการตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใสในการบริหารงานของการยางแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ที่เกษตรกรชาวสวนยางเคลือบแคลงให้พฤติกรรมว่า ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้นายทุนหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนสามารถวิเคราะห์ความกังวลใจของเกษตรกรชาวสวนยางได้ ๓ ประการ
ประการแรก การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) อ้างว่า ต้องระบายสต๊อกยางในช่วงยางแพง เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเช่าโกดังเดือนละ ๒๘ ล้านบาท พร้อมชี้แจ้งว่าจะค่อยๆ ทยอยขาย ไม่ขายล็อตใหญ่ ไม่ดัมป์ราคา และจะทำให้มีผลกระทบต่อราคายาง และกลไกตลาดให้น้อยที่สุด แต่ทางเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางก็โต้แย้งว่า ทำไม กยท.ต้องออกมาประกาศในวันที่ราคายางสูงสุด (๑๖ ธ.ค.๕๙) และทำไม ไม่ขาย หรือประมูลยางในช่วงปิดกรีด ซึ่งไม่มียาง จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีผลกระทบ หรือเดือดร้อนน้อยที่สุด ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ตอบโต้กันด้วยข้อมูล และเหตุผล
ทางสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง ๑๖ จังหวัดภาคใต้ ไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ เพราะเป็นสิทธิของ กยท.ที่สามารถกระทำได้ และก็เป็นสิทธิของเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นเจ้าของ กยท.ตัวจริง จะลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง และตรวจสอบการทำงานของ กยท. แต่ถ้าหากการประมูลยางในสต๊อกครั้งนี้ส่งผลกระทบให้ราคายางตกต่ำอีกครั้ง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อนโยบายที่ผิดพลาดนี้ เป็นบอร์ดการยาง หรือผู้ว่าการยาง หรือเป็นเรื่องเวรกรรมของเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องรับผิดชอบเอง
ประการที่ ๒ ในการขายยางในสต๊อกด้วยวิธีการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ระบุว่าต้องซื้อยางยกโกดัง แต่หากพบว่ามียางเสื่อมคุณภาพปะปน ก็จะลดหลั่นราคาตามหลักเกณฑ์ที่สถาบันวิจัยยางการยางแห่งประเทศไทยกำหนด อันนี้แหละครับที่เป็นประเด็นของปัญหาว่า ยางสภาพไหน คุณภาพเช่นไร และจะมีราคาเท่าไร ใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด สายตาของพนักงานใช่หรือไม่ เพราะถ้าตั้งเงื่อนไขโดยการใช้ดุลพินิจของคน หรือพนักงาน จบข่าวครับ
นั่นคือ ช่องว่างของการทุจริต เงินมันซื้อได้ทุกอย่างแหละ ไม่เว้นแม้กระทั่งคน และมหากาพย์การโกงยางในสต๊อกจะกลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไหร่ หากเราต้องเดินทางไกลเพื่อวกกลับมาสู่วังวนเดิมๆ ผู้เขียนเชื่อว่าคงไม่มีใครยอมอีกแล้ว กยท.เตรียมคำตอบไว้ให้ดีๆ ก็แล้วกัน
ประการสุดท้าย จะเกิดการประมูลยางลวงโลกหรือไม่ คือสมมติว่ามีผู้ประมูลยางได้ และซื้อยางไปในราคาเฉลี่ยที่ต่ำกว่าท้องตลาดมากๆ ซึ่งราคายางประมูลกับราคาซื้อขายจริงจะแตกต่างกัน ราคาซื้อขายจริงจะลดหลั่นตามคุณภาพ และต่ำกว่าราคาประมูล
ผู้เขียนเชื่อว่า กยท.ไม่กล้าขายยางในราคาถูกๆ เพราะสังคมจะจับตามอง และตรวจสอบ หากขายยางในราคาถูกก็จะเข้าข่ายการดัมป์ราคายาง จนทำให้การประมูลยางในครั้งนี้ก็นำไปสู่ความล้มเหลว คือ จะไม่มีใครกล้าเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง นอกเสียจากว่าจะเกิดการทุจริต กรณีมียางเสื่อมคุณภาพอยู่ในล็อตนั้นด้วย ซึ่งราคากลางจะถูกกำหนดจากราคายางถัวเฉลี่ยของตลาดกลางยางพาราทั้งประเทศ ในวันก่อนการประมูล แต่ราคานี้เป็นราคายางดี ๑๐๐% ไม่ใช่ยางในสต๊อก จึงไม่มีใครรู้สภาพ และคุณภาพยางที่แท้จริงว่ามียางผิดรูป ยางขึ้นรา ยางเสีย และยางดีในจำนวน และสัดส่วนเท่าไร แต่ถ้าหากมีการประมูลสต๊อกยางยกโกดัง โดยไม่คัดคุณภาพ ที่สำนวนชาวบ้านเรียกว่า ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ดูเหมือนจะยุติธรรม แต่ กยท.จะกล้าทำหรือ เพราะวิธีนี้ราคายางประมูลจะต่ำกว่าราคายางในตลาดมาก เป็นการชี้นำจนเกิดกระแสฉุดราคายางให้ตกต่ำในภาพรวม
กรณี กยท.ประกาศให้มีการประมูลยางในสต๊อก แต่สุดท้ายไม่สามารถทำให้เกิดการซื้อขายยางได้จริง และกลายเป็นการประมูลยางลวงโลก มันก็ไม่สำคัญเท่ากับนโยบายการประมูลยางในครั้งนี้ทำให้ราคายางตกต่ำ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางมีสิทธิตั้งข้อสงสัยกับ กยท.ว่าเป็นนโยบายที่ถูกกำหนดมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พ่อค้าหรือไม่ เพราะราคายางที่ลดลง ๑ บาท ชาวสวนยางเสียหายวันละ ๑๐ ล้านบาท ถ้าลดลงมา ๕ บาท เสียหายวันละ ๕๐ ล้านบาท เดือนละ ๑,๕๐๐ ล้านบาท ใครจะรับผิดชอบ? หากเกษตรกรชาวสวนยางจะฟ้องการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้เสียหาย ก็กรรมใครกรรมมันครับผม
แต่สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง ๑๖ จังหวัดภาคใต้ ยังคงยืนยันตามมติเดิมที่เคยยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี โดยให้รัฐบาลประกาศทำสต๊อกยาง ๓.๑ แสนล้านตันเป็น dead stock และให้รัฐบาลส่งมอบยางให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อนำยางไปราดถนน ซ่อมถนน เพราะ อบจ.มีความพร้อมทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร และงบประมาณ รวมทั้งให้ อบจ.รับยางไปเก็บเอง รับผิดชอบค่าเช่าโกดังเอง กยท.จะได้หยุดเอาเรื่องนี้มาอ้าง หรือนำยางไปให้เอกชนแปรรูป เพื่อไปทำเป็นสนามฟุตซอลให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.ทุกตำบล แค่นี้ยางในสต๊อกก็ไม่พอแล้วละครับ
หรือไม่ก็นำยางไปแปรรูปเป็นล้อรถไถ หรือรถแทรกเตอร์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีไม่สูงในการผลิต และยางเสื่อมสภาพก็ใช้เป็นวัตถุดิบได้ ถือเป็นเครื่องมือ และอุปกรณ์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศตามนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาล
ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ครับ เราขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวได้เป็นแสนๆ ล้าน หากจะยอมขาดทุนกับสต๊อกยางนี้อีกไม่กี่หมื่นล้าน ทางสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ มองว่าคุ้มนะครับ ซึ่งจะทำให้ยางล็อตนี้ถูกใช้ไปจนหมด เพื่อส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ และถือเป็นการเคลียร์สต๊อกยางเจ้าปัญหา ที่ถูกอ้างว่าเป็นต้นเหตุให้ราคายางซบเซา อีกทั้งท่านนายกฯ จะได้ทำบุญกุศลครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยการยุติมหากาพย์การโกงสต๊อกยาง ที่ทำมาหากินบนความทุกข์ และคราบน้ำตาของเกษตรกรชาวสวนยางนี้เสียที