xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น! คำสั่ง “ศาลปกครองกลาง” 28 ธ.ค.นี้ นัดไต่สวนมูลฟ้อง ชาวสวนยาง ร้องเพิกถอนขายยางสต๊อก 3.1 แสนตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลุ้น! คำสั่ง “ศาลปกครองกลาง” นัดไต่สวนมูลฟ้อง 28 ธ.ค. นี้ หลัง “เครือข่ายยางฯ 16 จังหวัด” ฟ้อง “การยางแห่งประเทศไทย” เพิกถอนคำสั่งให้ระงับ หรือชะลอการขายยางในสต๊อก 3.1 แสนตัน ออกไปอีก 3 เดือน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับราคายางพาราในตลาดและชาวสวนยาง

วันนี้ (27 ธ.ค.) มีรายงานจากสำนักงานศาลปกครอง ว่า ในวันที่ 28 ธันวาคม ศาลปกครองกลาง ได้นัดไต่สวนมูลฟ้องตามที่ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) พร้อมด้วย นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ และตัวแทนกลุ่มเกษตรกรสวนยาง ยื่นฟ้อง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน และขอให้ศาลปกครองออกคำสั่งให้ กยท. ระงับ หรือชะลอการขายยางในสต๊อก 3.1 แสนตันออกไปอีก 3 เดือน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับราคายางพาราในตลาด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อน

ด้าน นายวีระศักดิ์ สินธุวงศ์ ประชาสัมพันธ์ สยยท. เปิดเผยว่า ฝ่ายการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะนำโดย ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าฯ กยท. ในฐานะผู้เปิดประมูลที่จะขายยาง และ สยยท. นำโดย นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธาน สยยท. ในฐานะผู้ฟ้อง โดยไต่สวน ทั้ง 2 ฝ่ายแล้วเสร็จ ในเวลาประมาณ 14.30 น. โดยเริ่มประมาณ 10.00 น. และจะมีการฟังคำสั่งศาลปกครองกลาง ในวันที่ 28 ธันวาคม 2559

มีรายงานจาก กยท. เปิดเผยว่า การเปิดประมูลสต๊อกยาง 3.1 แสนตัน จะค่อยๆ ทยอยขายออกเพื่อไม่ให้ กระทบต่อราคาตลาด แม้ว่าที่ผ่านมา ราคายางตก แต่หลังจากนั้นก็เริ่มนิ่งแล้ว ขณะนี้มีเอกชน 28 ราย เป็นชาวต่างชาติสิงคโปร์ จีน 2 - 3 ราย ส่วนใหญ่พ่อค้าไทยให้ความสนใจ อีกทั้งแนวโน้มราคายาง น่าจะขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 100 บาท การระบายยางจึงได้มีการวางแผนไม่ให้กระทบต่อตลาด ต้องดูราคาหากลดลงไปมากจะหยุดระบายทันที ปัจจุบันความต้องการใช้ยางทั่วโลกมีปีละ12 ล้านตัน สามารถผลิตได้ 11 - 12 ล้านตัน ส่วนประเทศไทย คาดว่า ปี 2559 ผลิตได้ 4.5 ล้านตัน

เมื่อวานนี้ (26 ธ.ค.) นายอุทัย ระบุว่า การที่ กยท. ระบายยางจากสต๊อกจะเป็นการขายยางแข่งกับเกษตรกรชาวสวนยาง เพราะในช่วงเดือน ธ.ค.- ม.ค. นี้จะมีผลผลิตยางออกมาสู่ตลาดเดือนละ 5 แสนตัน หาก กยท. ระบายยาง 3.1 แสนตัน ออกมาสู่ตลาด จะทำให้มียางในตลาดกว่า 1.3 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้ราคายางลดลง ทั้งที่ในช่วงนี้เกษตรกรกำลังกรีดยางได้ขายได้ราคากิโลกรัมละ 70 - 80 บาท หลังจากเจอภาวะภัยแล้งหนัก ฝนตกหนัก น้ำท่วม ทำให้กรีดยางไม่ได้ เพิ่งมากรีดได้ต้นเดือน ธ.ค. ดังนั้น กยท. ควรที่จะชะลอการขายยางในสต๊อกออกไปอีก 3 เดือน เพราะจะเป็นฤดูปิดกรีดยาง การขายยางในสต๊อกขณะนั้นจะไม่เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร ไม่ให้กระทบตลาด เพราะในช่วงนั้นเกษตรกรไม่มียางอยู่ในมือแล้ว ทั้งนี้ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่เกษตรกรชาวสวนยางด้วย

นอกจากนี้ ได้ยื่นเรื่องต่อศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบการเปิดประมูลยางในสต๊อกของ กยท. ด้วย เพราะมีลักษณะเร่งรีบดำเนินการ และไม่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าร่วมซึ่งอาจจะมีการฮั้วราคาเกิดขึ้นในการประมูลดังกล่าว

มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น สมาคมชาวสวนยางพารา 16 จังหวัดภาคใต้ ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้มาตรา 44 อายัดยางในสต๊อกยางพารา 3.1 แสนตัน ไว้เพื่อตรวจสอบทุจริตอย่างละเอียดที่ทำเป็นกระบวนการมายาวนานหาคนผิดมาลงโทษ และนายกฯต้องออกคำสั่งให้เป็นเดตสต๊อกไม่ปล่อยออกสู่ตลาดมากดราคายางใหม่อย่างที่พวกนักปั่นราคายางต้องการให้ถูกกว่ากลไกตลาดปกติ ซึ่งยางดังกล่าวมีการเก็บซื้อเข้าสต๊อกตั้งแต่สมัย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็น รมช.เกษตรฯ มีโครงการพยุงราคายาง 2.1 แสนตัน รับซื้อราคา 80 - 100 บาทต่อ กก. ได้ระบายออกเหลือ 1.7 แสนตัน และมาสมัย นายอำนวย ปะติเส อดีต รมช.เกษตรฯ รับซื้อในโครงการมูลภัณฑ์กันชนที่ราคา 50 - 60 บาทต่อ กก. อีก 1.4 แสนตัน รวมสต๊อกทั้งหมด 3.1 แสนตัน


กำลังโหลดความคิดเห็น