บุรีรัมย์ - “กยท.” บุรีรัมย์ ชี้กระแสข่าว 2 ค่ายยางล้อรถยนต์ยักษ์ใหญ่แบนไม่รับซื้อยางพาราภาคอีสาน ส่งผลกระทบราคายางเร่งหาแนวทางแก้ไขเพื่อไม่ให้กระทบเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำหนักอยู่แล้ว ยอมรับ “กรดซัลฟิวริก” ราคาถูกกว่าเท่าตัวแต่มีผลเสียมากกว่า “กรดฟอร์มิก” พร้อมเร่งรณรงค์ให้เกษตรกรเปลี่ยนมาใช้ตรงตามความต้องการตลาด
วันนี้ (1 ก.ย.) นายดิษฐเดช วัฒนาพร รักษาการผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า 2 ค่ายยางล้อรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ทั้งมิชลิน และบริดจสโตน ประกาศไม่รับซื้อผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคอีสานของไทย หลังพบมีการใส่ “กรดซัลฟิวริก” ในน้ำยาง เพื่อช่วยให้ยางเซตตัวเร็วขึ้นแต่ส่งผลต่อคุณภาพยางล้อรถยนต์เสื่อมสภาพเร็วนั้น เป็นเพียงข้อมูลจากบริษัทที่รับซื้อยางพาราแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่ยังไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริงจาก 2 ค่ายยางรถยนต์ที่ถูกกล่าวอ้างถึง
อย่างไรก็ตาม แม้เป็นเพียงกระแสข่าวและไม่ว่าจะหวังผลอะไรก็ตามจะส่งผลกับปัจจัยเรื่องราคายางของภาคอีสานซึ่งทาง กยท.จะได้เร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเพราะปัจจุบันประสบปัญหาราคายางตกต่ำอยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าจากข้อมูลทางวิชาการซึ่งมีการทดสอบแล้ว พบว่าการใช้กรดซัลฟิวริกในขั้นตอนการผลิตยางพารา ไม่ว่าจะเป็นยางแผ่น น้ำยางดิบ หรือยางก้อนถ้วย จะมีผลเสียมากกว่า เนื่องจากกรดซัลฟัวริกสกัดจากสารเคมีเมื่อนำไปใช้จะออกฤทธิ์รุนแรง โดยเฉพาะหากใช้ในปริมาณที่เข้มข้นโดยไม่มีการนำไปผสมน้ำเพื่อเจือจางก่อนใช้จะมีผลต่อสุขภาพของผู้ใช้เอง รวมถึงเครื่องมือหรือเครื่องจักรจะสึกกร่อนเร็วขึ้น
ต่างจากการใช้กรดฟอร์มิก ในกระบวนการผลิตยางจะมีผลดีมากกว่า คือ ถนอมสุขภาพ เครื่องมือเครื่องจักร และสภาพแวดล้อม เนื่องจากกรดฟอร์มิกเป็นกรดที่สกัดจากธรรมชาติ สามารถสลายตัวในธรรมชาติได้เร็ว ซึ่งที่ผ่านมาทาง กยท.และสถาบันวิจัยยางพยายามรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรหันมาใช้สารฟอร์มิกในการผลิตยางอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีเกษตรกรยางส่วนที่ยังใช้กรดซัลฟัวริกอยู่เพราะมีราคาถูกกว่าฟอร์มิกเท่าตัว และหาซื้อได้ง่าย
นายดิษฐเดชกล่าวอีกว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นทาง กทย.จะได้เร่งรณรงค์ทั้งการให้ความรู้ ทำแผ่นพับแจกจ่ายเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรได้หันมาปรับเปลี่ยนการใช้กรดฟอร์มิกในการผลิตยางพารา เพื่อให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ทั้งจะได้หารือกับ กยท.สาขาในพื้นที่ต่างๆ เพื่อจัดหากรดฟอร์มิกให้เกษตรกรผู้ปลูกยางเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและซื้อในราคาที่ไม่สูงมาก เพราะช่วยในเรื่องต้นทุนการผลิตยางแก่เกษตรกรในอีกทางหนึ่งด้วย