โดย...ศิวะ ศรีชาย แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง
----------------------------------------------------------------------------------------
ความหนาแน่นของผลการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในภาคใต้ ไม่น่าเชื่อว่ามีถึง ๗๘ เปอร์เซ็นต์ มิไยว่ามีความกดดัน และอึมครึมทางสภาพแวดล้อมทางสังคมที่บีบคั้น และบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เลวร้าย ชาวภาคใต้ก็ยังให้การรับรองคณะทหาร คสช.ที่ทำการยึดอำนาจเพื่อการปฏิรูปประเทศ เมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ หรือเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว
ไม่ว่าจะสูญเสียอะไร ชาวภาคใต้ก็อดทนและเสียสละ เพื่อให้ประเทศได้รับการผ่าตัด โดยความคาดหวังว่าประเทศไทยใหม่จะกลับมาสดใสแข็งแรง เพื่ออนาคตลูกหลานของคนใต้
อาชีพหลักที่เป็นวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ชาวใต้ คือ อาชีพการทำสวนยาง ที่ถ่ายทอดกรรมพันธุ์จากรุ่นสู่รุ่น นับสามเจนเนอเรชันแล้ว ปัจจุบันมีประชากรชาวใต้ที่อาศัยอยู่ในสวนยางที่นับวันจะหดแคบเข้าไม่น้อยกว่า ๗๘ เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน นี่ไม่นับรวม “คนตัดยางหวะ (คนกรีดยาง)” ที่อาศัยอยู่ทุกมุมสวน
รางวัลชิ้นเดียวที่คณะ คสช.ได้มอบให้ชาวปักษ์ใต้ เพื่อตอบแทนการลงแรงและเสียสละอันนับค่ามิได้คือ “พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘” ถือเป็นกฎหมายเกษตรที่ก้าวหน้าฉบับหนึ่งของไทย
อันเป็นการวางอนาคตใหม่ เปิดพื้นที่ ปลดปล่อยพลังการผลิต และสร้างหลักประกันในอาชีพการทำสวนยาง นับเป็นความก้าวนำยุคของอาชีพเกษตรในประเทศไทย รางวัลจากการต่อสู้อย่างเสียสละของชาวใต้ ส่งประโยชน์ให้พี่น้องชาวสวนยางได้รับประโยชน์ทั่วถึงและเท่าเทียมทั่วประเทศ คสช.จึงได้รับการสรรเสริญแซ่ซ้อง แม้ชาวสวนยางภาคใต้ต้องอดทนภายใต้ “ราคายาง ๓ โลฯ ร้อย” ที่ผ่านมา
มีการจัดสรรเงินเก็บจากการส่งออกยางที่เรียกว่าเงินเซสส์ (cess) ออกเป็น ๖ กองคือ ๑) กองทุนบริหารจัดการ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๒) กองทุนปลูกแทน ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ๓) กองทุนวิจัย ๕ เปอร์เซ็นต์ ๔) กองทุนส่งเสริมการแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่า ๓๕ เปอร์เซ็นต์ ๕) กองทุนสวัสดิการชาวสวนยาง ๗ เปอร์เซ็นต์ และ ๖) กองทุนสร้างความเข้มแข็งสถาบันชาวสวนยาง ๓ เปอร์เซ็นต์
ในกองทุนลำดับท้ายนี้เป็นความคาดหวังของคนเล็ก คนน้อย คนชั้นล่างสุดของวงการยาง เป็นคนต้นน้ำ ต้นเรื่อง ที่เป็นคนเล็กคนน้อย อ่อนแอที่สุด แต่สำคัญเป็นลำดับค้นคือ เป็นต้นทางของภาษีเซสส์
การมองเห็นคนในสวนยาง จึงเป็นความแหลมคมที่สุดของรัฐบาล คสช.ที่มาจากการยึดอำนาจ!!
ความตื่นตัวขี้นครั้งใหญ่ในแวดวงชาวสวนยางชั้นล่าง รายย่อย ภายใต้การนำของ “พ่อกำนัน” สังเวิน ทวดห้อย กรรมการบริหารการยาง ๑ ใน ๗ ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสรรหาภาคประชาชน ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และเป็นระบบถูกหลักวิชาการ เปิดเวทีสรุปประเด็นทั้ง ๔ ภาค
ในที่สุดได้ข้อสรุปเป็น “ฉันทมติ” ให้ใช้หลักการ “ร่วมสมัครใจ-จ่ายสมทบ” โดยได้คิดค้น และนำหลักการประชาสงเคราะห์ ผสมผสานกับหลักการสวัสดิการสังคม ถอดบทเรียนทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศอย่างเหมาะสมและทันสมัย ด้วยความคาดหวังว่า “ทุนประเดิม” ที่รัฐตั้งให้สามร้อยเจ็ดสิบกว่าล้าน และสมทบเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นสมาชิกการยางแห่งประเทศไทยวันละ ๑ บาท คาดว่าภายในสิบปีกองทุนนี้จะทบทวีเป็นหมื่นล้าน สามารถสร้างหลักประกันให้ชาวสวนยางทุกครอบครัว
จึงสามารถประกาศได้ว่า “ภายใต้ฟ้าเมืองไทยใต้การนำของ คสช.ชาวสวนยางจะผูกคอตายหนีทุกข์เป็นครั้งสุดท้าย?”!!
ชาวสวนยางปักษ์ใต้จึง “มีตางค์ใต้เชี่ยน (เงินสะสมเพื่อชีวิต)” แล้ว!!
เหมือนแผ่นดินไม่สิ้นหญ้า อยุธยาไม่สิ้นพระยาจักรี!!
ความอาภัพของการยางแห่งประเทศไทย ก็เหมือนชาวสวนยางทั่วไป คือ มีคนประเภทหนึ่งตั้งตนเป็น “โจรลักขี้ยาง” คอยเก็บเล็ม และบางครั้งก็เอาซึ่งหน้า?!
ตลอดเวลา ๕๐ ปีการยางไทยตาม พ.ร.บ.เก่า พวก “โจรลักขี้ยาง” พัฒนาเข้มแข็งเป็นขบวนการมากยิ่งขึ้น จากลักเล็กขโมยน้อย กลายเป็นขบวนการโจรลักขี้ยางประจำ กยท.นั่นคือ การหากินกับปุ๋ยปลอม สต๊อกยาง ส่วนต่างราคา ฯลฯ
กลุ่มคนพวกนี้ถูกสร้าง และขุนเลี้ยงจากกลุ่มทุนผูกขาดการซื้อขายยาง ทุนนายหน้าต่างประเทศ พวกนักการเมืองเกษตรฯ พรรคการเมืองระดับกลางที่ผูกขาดยาวนานในกระทรวงเกษตร มีอิทธิพลอย่างสูงในการกำหนดคนเข้าสู่ตำแหน่งระดับสูง ทั้งในกระทรวงเกษตรและ กยท.
พวกโจรลักขี้ยางกลุ่มนี้มีอิทธิพลอย่างสูง ผูกขาดทางนโยบาย รวมถึงการได้มาของบอร์ดการยาง และผู้ว่าการยาง ทั้งอดีตและปัจจุบัน
พวกเขารังเกียจอย่างยิ่งกับการตื่นตัว และมีส่วนร่วมของชาวสวนยาง โดยเฉพาะรายเล็กรายน้อย พวกเขายึดเอาว่า การยางเป็นที่ทำกินของเขา ห้ามชาวบ้านมาเพ่นพ่านกล้ำกลาย
จากข่าวล่าสุดนั้น จินตนาการของคนเล็กคนน้อยเรื่องสวัสดิการที่ “พ่อกำนัน” สังเวิน ทวดห้อย ได้อุ้มชูไว้ ได้ถูกแย่งชิง และข่มขืนย่อยยับจาก “คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย” ที่มีอธิบดีกรมการปกครอง เป็นประธาน และมี นายประสิทธิ์ หมีดเส็น บอร์ดคณะใหญ่ อดีตรักษาการผู้อำนวยการกองทุนสวนยาง เป็นอนุกรรมการ ที่มักเป็นประธานในที่ประชุมแทน
โดยได้สลัดข้อคิดความเห็นจากการรับฟังทุกเวทีทิ้งทั้งหมด แล้วสถาปนาหลักการใหม่ ยึดคืนการมีส่วนร่วม ยึดอำนาจการบริหารจัดการมาสู่ฝ่ายประจำทั้งหมด นับเป็น “การปล้นซึ่งหน้า” อย่างท้าทาย ไม่อายฟ้า อายดิน?
นัยว่าจะนำร่างของคณะอนุฝ่ายกฎหมายที่เป็นร่างใต้ตุ่ม ซึ่งทำเก็บไว้นานแล้ว มาปัดฝุ่นเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการยางในวันที่ ๒๔ สิงหาคมนี้อย่างเร่งด่วน ในขณะที่ฝุ่นการเมืองกำลังคละคลุ้ง เพื่อสยบมิให้ชาวสวนยางผู้สูญเสียโอกาสได้เคลื่อนไหว ด้วยเกรงใจ คสช.!!
ในฐานะ “หมาใต้ถุนกงซี่” (บ้านพักกระต๊อบเล็กๆ ในสวนยาง) ยางหวะชาวขอบปักษ์ใต้ แม้ว่าจะอดโซเหนื่อยแรงสักเพียงใด แต่ในฐานะผู้ภักดีต่อคนจนและต่อ คสช. จึงจำเป็นต้องส่งเสียงเห่าหอน ร่ำร้อง ให้ยักษ์สองตน (“นายพลเอก” ที่เป็นรัฐมนตรีเกษตรฯ และ “ประธานบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย”) ที่ยักษ์ใหญ่ คสช.ส่งมาเฝ้าของขวัญให้ชาวสวนยางนั้น
บัดนี้ยักษ์ทั้งสองถูกล้วงกระเป๋า “คลำของดีเข้าให้แล้ว”?!
บัดนี้ “โจรลักยาง ลักตางค์ใต้เชี่ยน” ชาวสวนยางแล้ว...เจ้าข้าเอ้ย?!
ส่วนยักษ์ใหญ่จะตีโจรลักขี้ยาง หรือตีหมาเฝ้ากงซี่ ก็แล้วแต่จะกรุณา แต่จะขอประกาศดังๆ ว่า เราถอยไม่ได้แล้ว...ตายเป็นตาย เราจะไม่ยอม...!!!!