xs
xsm
sm
md
lg

ส.เกษตรกรชาวสวนยาง 16 จว.ใต้ ร่วมถกประเด็นปัญหาเสนอ กยท.นำแก้ ผ่านเวที “1 ปี พ.ร.บ.การยางฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เปิดเวทีร่วมถกประเด็นปัญหาของชาวสวนยาง โดยเฉพาะการถูกละเมิดสิทธิในที่ดิน ผ่านเวที “1 ปี พ.ร.บ.การยางฯ เกษตรกรชาวสวนยาง ได้-เสียอะไร” ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา อ.เมืองสงขลา

วันนี้ (6 ก.ย.) ณ ห้องประชุมศรีเกียรติพัฒน์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา มีการจัดสัมมนาประชุม 1 ปี พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย “ผู้เสียสิทธิแสดงตน” ซึ่งเสวนาร่วมกันในหัวข้อเรื่อง “1 ปี พ.ร.บ.การยางฯ เกษตรกรชาวสวนยาง ได้-เสียอะไร” โดยมีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน
 

 
นายโสพล จริงจิต ที่ปรึกษาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย เป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้าฉบับหนึ่ง มีเป้าหมายเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงสวัสดิการ และการช่วยเหลือต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตราคายางตกต่ำ แต่ก็ยังมีปัญหาที่น่าหนักใจนั่นก็คือ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ให้ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินจดทะเบียนได้ ซึ่งพบว่า ชาวสวนยางไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินในการครอบครองเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือจากภาครัฐได้ ดังนั้น การยางแห่งประเทศไทย จึงต้องพิจารณาตนเอง และหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางต่อไป
 

 
ขณะที่ นายศุภชัย จันทร์แก้ว หัวหน้ากองแผนและวิชาการ กยท.เขตภาคใต้ตอนล่าง กล่าวว่า ประเด็นที่ว่าทำอย่างไรให้เรามีสิทธิ ประเด็นนี้ก็ต้องต่อสู้กันไป เพราะการแก้ไขปัญหาเอกสารสิทธินั้นยังมีวิธีแก้ไขได้ ส่วนเรื่องภาษีเป็นเรื่องของแผ่นดิน ซึ่งทาง กยท.จะนำมาบริหารจัดการให้แก่ชาวสวนยางพารา โดยจัดตั้งกองทุนขึ้น ส่วนประเด็นที่ว่าเราจะส่งเสริม และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวสวนยาง ณ ตอนนี้ ยังไม่สามารถใช้ได้ เพราะประกาศระเบียบยังไม่ออกมา ดังนั้น เราต้องช่วยกันแก้ไขกันต่อไปก่อน
 

 
ส่วน นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคอย่างมากในการทำให้พี่น้องลืมตาอ้าปากได้ คือ ความกลัว ทั้งเกษตรกรและ กยท. ต้องหาวิธีที่จะเดินไปด้วยกันให้ได้ ในเรื่องของเอกสารสิทธิ หากจดทะเบียนแล้วจะได้รับการสนับสนุน และส่งเสริมในด้านการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การแปรรูปยางพารา ตามวิธีการที่ กยท.กำหนด รวมถึงการได้รับสวัสดิการที่ควรจะได้รับ
 

 
จากนั้น นายพงศา ชูแนม ผู้จัดการใหญ่ธนาคารต้นไม้ ได้กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรสวนยางพารานั้น พบเจอปัญหาที่สำคัญๆ ในเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งขัดต่อหลักประชาธิปไตย มีการละเมิดสิทธิของประชาชนหลายอย่าง ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อระเบียบสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จากระเบียบที่ยังไม่ชัดเจน ไม่รับรองสิทธิของเกษตรกรได้เท่าที่ควร จึงส่งผลต่อปัญหาเรื่องที่ดินของชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ทำให้ไม่สามารถแสดงความเป็นเจ้าของ หรือเรียกร้องสิทธิเท่าที่ควรจะได้รับ จึงยังเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้เสียที

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกษตรกรชาวสวนยางต้องเผชิญจนทำให้เกิดภาวะที่ภาครัฐไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ จากประเด็นที่กล่าวมา จึงเป็นปัญหาที่ทาง กยท. จะต้องนำไปร่วมหารือเพื่อเสนอเป็นแนวทาง หรือกฎหมายในการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพมากที่สุดต่อไป
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น