xs
xsm
sm
md
lg

กยท.สุรินทร์ตื่น! เร่งรณรงค์เปลี่ยนใช้กรด “ฟอร์มิก” หวังกู้ภาพลักษณ์คุณภาพยางอีสาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เกษตรกรชาวสวนยาง จ.สุรินทร์และภาคอีสาน ส่วนใหญ่กว่า 99 % นิยมทำยางก้อนถ้วยขาย เนื่องจากขั้นตอนง่ายไม่ยุ่งยากเหมือนย่างแผ่น จึงมักประสบปัญหาด้านคุณภาพยาง วันนี้ ( 2 ก.ย.)
สุรินทร์- กยท.สุรินทร์ตื่น เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ชาวสวนยางเมืองช้างเปลี่ยนการใช้กรดซัลฟิวริกที่มีกำมะถันสูง หันมาใช้กรดฟอร์มิกแทน ชี้ไม่ทำลายคุณสมบัติความยืดหยุ่นของเนื้อยางพารา และสิ่งแวดล้อม หวังกู้ภาพลักษณ์และคุณภาพยางพาราอีสาน

วันนี้ (2 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีกระแสข่าว 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ผลิตยางล้อรถยนต์ระดับโลก ทั้งมิชลิน และบริดจสโตน ประกาศไม่รับซื้อผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคอีสานของไทย อ้างว่ากว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ใช้กรดซัลฟิวริกเพื่อให้น้ำยางเซตตัวเร็ว เมื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จะส่งผลต่อคุณภาพและอายุการใช้งานของยางล้อรถยนต์ให้มีอายุการใช้งานสั้นลง นอกจากนี้ กรดดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่ออายุต้นยาง จากเดิมมีอายุการกรีดนาน 30 ปี จะเหลือแค่ 15 ปี ตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้นั้น

ล่าสุดเจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่เลขที่ 425 ม.1 ต.สลักได อ.เมือง จ.สุรินทร์ ได้เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราหันมาใช้กรดฟอร์มิก หรือกรดอินทรีย์ความเข้มข้น 94% ซึ่งเป็นกรดอ่อนแทนกรดซัลฟิวริก เนื่องจากกรดฟอร์มิกไม่ทำลายคุณสมบัติของยางพารา สิ่งแวดล้อม และสามารถระเหยได้ง่ายไม่ตกค้างในดินเหมือนกรดซัลฟิวริกที่มีกำมะถันสูง ถึงแม้กรดฟอร์มิกจะมีราคาสูงกว่ากรดซัลฟิวริก 3-4 เท่าตัว โดยกรดฟอร์มิกมีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปในราคาแกลลอนละประมาณ 230-270 บาท

ทั้งนี้ เพื่อช่วยกันกู้ภาพลักษณ์และคุณภาพของยางพาราคาภาคอีสานกลับคืนมา ถึงแม้ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อราคายางพารา และยังคงมีการซื้อขายยางพารากันอย่างปกติก็ตาม

นายชัยพันธุ์ สารภี หัวหน้าแผนกพัฒนานิเทศเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ การยางแห่งประเทศไทย จ.สุรินทร์ เปิดเผยว่า สำหรับ จ.สุรินทร์ มีเกษตรกรปลูกยางพาราที่เปิดกรีดยางแล้วในปัจจุบัน จำนวน 7,732 ครัวเรือน มีพื้นที่กรีดยางพาราจำนวน 67,031 ไร่ ด้วยสภาวะภัยแล้งส่งผลให้ได้ปริมาณวัตถุดิบน้ำยางพาราเฉลี่ยไม่ถึงไร่ละ 270 กิโลกรัม/ไร่/ปี หรืออยู่ที่ประมาณ 240 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคายางก้อนถ้วยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 21-24 บาท

เกษตรกรส่วนใหญ่กว่า 99% นิยมทำเป็นยางก้อนถ้วยขายเนื่องจากขั้นตอนง่ายไม่ยุ่งยาก เหมือนการทำยางแผ่นที่ต้องใช้เวลากระบวนการรีด ล้าง และอบด้วยความร้อน ซึ่งการทำยางแผ่นจะทำให้กำมะถันหลงเหลือน้อยและไม่ตกค้างจึงทำให้ยางแผ่นมีคุณภาพมากกว่า เหมือนกับชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ที่ส่วนใหญ่ทำเป็นยางแผ่นจึงไม่เกิดปัญหาด้านคุณภาพเหมือนในภาคอีสาน

ส่วนยางก้อนถ้วยจะมีสิ่งเจือปนเยอะกว่า โดยเฉพาะเศษฝุ่นละอองและเปลือกไม้ที่เกษตรกรกรีดตกลงไปในถ้วย ไม่ได้เก็บออก และหากเกษตรกรใช้กรดซัลฟิวริกจะเกิดการตกค้างอยู่ภายในก้อนยางจึงทำให้เกิดปัญหายางไม่มีคุณภาพดังกล่าว







กำลังโหลดความคิดเห็น