xs
xsm
sm
md
lg

น่าสงสัย! ปัญหาปุ๋ยแพง-ไม่มีกำไร “จงใจ” หรือ “ไร้ประสิทธิภาพ” คำถามที่อยากทราบจาก กยท. /ศิวะ ศรีชาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย...ศิวะ ศรีชาย
แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง

การดำเนินการจัดหาปุ๋ยให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ในไตรมาสที่ 3 (1 เมษายน-30 มิถุนายน) ให้ Business Unit (BU) เป็นผู้ดำเนินการ (ตามมติบอร์ดในคราวประชุมครั้งที่ 16/2559 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2559)

“สุรินทร์ โมเดล” จึงเกิดขึ้น

โครงการจัดหาปุ๋ยเคมีให้แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จำนวน 1,050 ตัน มีค่าดำเนินการตันละ 200 บาท สามารถทำเงินก้อนแรกให้แก่ กยท. จำนวน 210,000 บาท โดยยึดหลักสำคัญที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย คือ

1.บริษัทเอกชน มีความมั่นใจในเรื่องการชำระเงิน สามารถจะขายสินค้าเป็นล็อตใหญ่ได้ 2.เกษตรกรได้สินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานในราคาถูกกว่าท้องตลาด 3.หน่วยธุรกิจได้กำไรจากค่าจัดการ

ซึ่ง “สุรินทร์ โมเดล” ไม่ทำให้ผิดหวัง

เกษตรกรได้รับปุ๋ยดีมีคุณภาพ ในราคาถูกกว่าท้องตลาด บริษัทเอกชนได้เสนอราคา ปริมาณ และคุณภาพของสินค้าด้วยความเป็นธรรม มีความเชื่อมั่นต่อการชำระเงิน หน่วยธุรกิจสามารถทำรายได้ให้แก่ กยท. ถึง 210,000 บาท
 

 
ความหวังเรืองรองของการจัดหาปุ๋ยให้เกษตรกรในรูปแบบใหม่ของ กยท.ผุดขึ้นในหัวใจ
ของชาว กยท.และพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง (การประมูลซื้อปุ๋ยให้สถาบันเกษตรกร ของ กยท.เขตตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ใช้วิธีการยื่นซองประกวดราคา)

การเปิดประมูลปุ๋ยของ กยท.ในรอบต่อมา ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ตอนกลาง และภาคใต้ตอนล่าง ใช้วิธีการเสนอราคาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเปลี่ยนจากวิธียื่นซองประกวดราคา และไม่มีขั้นตอนการสุ่มตรวจคุณภาพตัวอย่างปุ๋ย และตัดเงินค่าดำเนินการ กก.ละ 0.20 บาท ของหน่วยธุรกิจออกไป (อ้างว่าชาวสวนยางจะออกมาโวยวาย)

แต่ค่าดำเนินการ (กก. 1-3 บาท) ตามรูปแบบเดิม (จ่ายค่าดำเนินการในการขนส่ง แจกจ่ายปุ๋ย ให้แก่สถาบันเกษตรกร เครือข่ายสถาบันเกษตรกร) ยังคงมีอยู่ ???

ซึ่งผลการประมูลที่ออกมา ชาว กยท.และชาวสวนยางส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า 1.ได้ปุ๋ยราคาแพงกว่า “สุรินทร์โมเดล” 2.กยท.สูญเสียรายได้จากค่าดำเนินการ 3.สังคมเกิดความสงสัยว่าจะมีการจัดฮั้วการประมูล และมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนโดยทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่???
 

 
ในกระบวนการเปิดประมูลซื้อปุ๋ยของ กยท.ในล็อตนี้ มีสิ่งผิดปกติ และคำถามของสังคมเกิดขึ้นในหลายประเด็น ประเด็นของเรื่องปุ๋ย ขอสรุปเป็นเบื้องต้น สั้นๆ 1.ประกาศช้า (ประกาศวันที่ 30 มีนาคม 2560 ) 2.ขายซองเร็ว (ขายซองประมูลราคาวันที่ 30 มีนาคม-3 เมษายน 2560)
ยื่นซองเร็ว (ยื่นเสนอราคาประมูลในวันที่ 7 เมษายน 2560) ระยะเวลาสั้นๆ และมีการถ่วงหรือประวิงเวลาดำเนินการโดยอ้างแก้ไขคุณสมบัติผู้ร่วมประมูล (วันที่ 31 มีนาคม 2560) จงใจให้คร่อมวันเสาร์ อาทิตย์

3.มีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยมาก และได้ชนะประมูลกันถ้วนหน้า 4.ตั้งราคากลางไว้สูงมาก และราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อย 5.แนวทางนโยบาย และวิธีปฏิบัติที่กำหนดโดยบอร์ด กยท.และ กยท.ไม่มีความชัดเจนแน่นอน กลับไปกลับมา จนดูเหมือนว่าคล้ายจะจงใจไม่รักษาประโยชน์ให้แก่ชาวสวนยางเท่าที่ควร ที่สำคัญกว่านั้นราคาดูจะสูงกว่าปกติของการประมูลทั่วไปอย่างที่ควรจะเป็น
 

 
จึงเกิดข้อสงสัย และคำถามค้างคาใจของชาวสวนยางทั่วทั้งประเทศ ว่า การเปิดประมูลทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ กยท. จะมีปัญหา มีช่องโหว่??? ในการยื่นซองประมูลเปิดโอกาสให้แต่ละรายสามารถเลือกยื่นซองเฉพาะรายการที่ตัวเองต้องการได้ เพื่อเป็นการช่วยเลี่ยงปัญหาการวางเงินค้ำประกันซอง ทำให้แต่ละรายการมีผู้เข้าร่วมยื่นประมูลกี่ราย (ไม่ใช่ยื่นประมูลทุกรายการครบทั้ง 5 ราย อย่างที่พยายามให้สังคมเข้าใจผิด)

ข้อมูลรายละเอียดตรงนี้ กยท.ควรจะต้องเปิดเผยให้ได้รับทราบว่า มีรายการใดที่มีผู้ประมูลเพียง 1 ราย 2 ราย หรือ 3 ราย ก่อนที่จะโดนกล่าวหาว่าจัดฮั้วการประมูล??? แต่ละรายการ มีผู้ซื้อซองประมูลกี่ราย และเข้ายื่นราคาประมูลจริงกี่ราย มีความแตกต่างในการเสนอราคาอย่างไร

ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ กยท.จะต้องตอบคำถามต่อสังคม และชี้แจงต่อชาวสวนยางทั้งประเทศ
---------------------------------------------------------------------------------
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

“อัปยศ” อีกแล้ว! เมื่อชาวสวนยางต้องใช้ปุ๋ยแพงกว่าชาวบ้านกระสอบละ 10 บาท! / ศิวะ ศรีชาย http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9600000041792 
 
 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น