xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เจาะตลาดแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ฝ่าวิกฤตยางพาราราคาตกหนักสุดในรอบ 100 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านจากสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา อ.คนวนขนุน จ.พัทลุง พลิกวิกฤตเป็นโอกาส แปรรูปผลิตภัณฑ์ หมอนยางพารา เพิ่มรายได้ช่องทางใหม่
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ท่ามกลางวิกฤตราคายางพาราซบเซาอย่างหนัก สาหัสสากรรจ์ถึงขั้นสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย โอดครวญว่าราคาต่ำสุดในรอบ 100 ปี ทว่า การแปรรูปยางพาราเป็นประเด็นหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจนำมาแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

พิจารณาได้จากแนวทางความช่วยเหลือจากทางรัฐบาลด้วยการรับซื้อจากเกษตรกรราคาที่สูงกว่าตลาด รวมทั้งสร้างแนวทางใช้ยางแปรรูปของหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงคมนาคม ใช้ยางพารามาซ่อม-สร้างถนนเพิ่มขึ้น, กระทรวงศึกษาธิการ รับซื้อยางพารากว่า 500 ล้านบาท นำมาสร้างสนามกีฬาและสนามเด็กเล่น, กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มวงเงินการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตจากยางพารา จำนวน 1,000 ล้านบาท, กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเร่งอนุมัติเปิดโรงงาน เพิ่มปริมาณการใช้ยางในภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ

ขณะที่เกษตรกรหลายกลุ่มมีการรวมตัวสร้างวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็งขึ้น มีศักยภาพผลิตสินค้าแปรรูปจากยางพาราสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยไม่หวังพึ่งพิงเพียงรายได้จากการราคายางพาราที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินอย่างที่เป็นอยู่เพียงอย่างเดียว

ยกตัวอย่างที่เป็นข่าวครึกโครม กลุ่มอาชีพสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา อ.คนวนขนุน จ.พัทลุง ผลิต หมอนยางพารา นำไปใช้หนุนนอนดีต่อสุขภาพ จนขายแทบไม่ทัน มีออเดอร์ทั้งในประเทศและนอกประเทศยาวเหยียดเป็นหางว่าว พลิกวิกฤติเป็นโอกาสแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า

หลังพวกเขาเผชิญวิกฤติราคายางตกต่ำระยะเวลายาวนานกว่า 2 ปี กลุ่มอาชีพสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา ได้เข้าหารือกับทางสหกรณ์ จ.พัทลุง และได้รับการสนับสนุนจัดหางบประมาณก่อสร้างโรงงานแปรรูปน้ำยางพาราเป็นหมอนเพื่อสุขภาพ ใช้ระยะเวลาเพียง 5 เดือน ทดลองและพัฒนาผลิตภัณฑ์ “หมอนยางพารา” ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดีทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งไปขายยังประเทศจีนแล้วกว่าจำนวน 4,000 ใบ

ข้อสำคัญคือความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านสู้ไปด้วยกัน ส่งผลให้ผ่าวิกฤติราคายางพาราตกต่ำ สร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราจนประสบ ความสำเร็จ

สำหรับตลาดของผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูปเติบโตขึ้น ตามการเพิ่มจำนวนของประชากรโลก ซึ่งประเทศไทย มีกำลังการผลิตยางธรรมชาติปริมาณครึ่งหนึ่งของโลก สัดส่วนของยางพารา 70 เปอร์เซ็นต์ ถูกนำไปผลิตในอุตสาหกรรมล้อรถยนต์เป็นหลัก ส่วนที่เหลืออีก 30 เปอร์เซ็นต์ นำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ยกตัวอย่าง ถุงมือยางโตเร็วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้นมีความจำเป็นต้องใช้เป็นเรื่องของสุขภาพ

ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ข้อมูลว่า ท่ามกลางวิกฤตมีโอกาสเสมอ แม้ปฏิเสธไม่ได้ในเรื่องผลกระทบต่อเกษตรกร แต่การปรับลดลงของราคายางเป็นช่องทางให้ยางสามารถมาแปรรูปสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันเกษตรกรต้องสร้างร่วมแรงแข็งขันสร้างวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง ดังตัวอย่าง กลุ่มอาชีพสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา อ.คนวนขนุน จ.พัทลุง ที่ผลลิตหมอนยางพาราจำหน่าย เป็นต้น ตอนนี้เป็นช่วงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปไปยังวิสากิจชุมชน เพื่อพวกเขาจะได้พึ่งพิงราคาวัตถุดิบน้อยลง สอดคล้องกับวัตถุดิบราคาถูกนั้นเป็นสิ่งที่ดีกับการแปรรูปสร้างผลกำไรต่อผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น สามารถสร้างรายได้โดยไม่ต้องสนใจราคายางเพียงอย่างเดียว

“ประเทศไทยต้องเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพิงของราคายางซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างมาก กลับมาเสริมศักยภาพด้านการสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูป แต่ยังเป็นโจทย์ที่ยากอยู่ดีเมื่อกลุ่มเกษตรกรมีศักยภาพสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรื่องของช่องทางการจำหน่ายเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องเข้ามาให้การดูแล ทำอย่างไรชาวสวนได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในส่วนนี้เป็นโจทย์ที่ต้องการคำตอบหลายมิติ”ดร.ณัฐพงศ์ให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องการศึกษาวิจัยยางพารา มีการส่งเสริมให้ความรู้เป็นแนวทางแก่เกษตรกร เพื่อปรับตัวสร้างศักยภาพเพิ่มรายได้จากช่องทางอื่นที่ไม่ใช่เฝ้ารอรายได้จากราคาขายยางเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาคือยังมีหลายรายที่ไม่ยอมทิ้งวิถีเดิมๆ ซึ่งเป็นเวลาอันสมควรที่ต้องขับเคลื่อนในประเด็นนี้

ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีการจัดอบรมเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสวนยางเข้ามาเรียนรู้วิธีแปรรูป ดร.ณัฐพงศ์ เล่าว่าทางมหาวิทยาลัยดำเนินการมาหลายปีและคนที่มามักเป็นกลุ่มเดิม ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องเสียเวลาที่จะต้องมานั่งฟังแทนที่จะกรีดยาง ตรงนี้เป็นความคิดที่ต้องก้าวข้าม ฉะนั้น ก็ต้องรอให้คนหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งเข้ามา อยากรู้ อยากทำ อยากลอง พอไปลองทำแล้วเวิร์ค อย่างการอบรมเรื่องการแปรรูปหมอนยางพาราเป็นการอบรมที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายสิบปีแล้ว

“เกษตรกรเริ่มต้นกันทำแค่ไหน เมื่อทำแล้วขายใคร จะพึ่งให้รัฐซื้อนั้นเป็นไปไม่ได้เขาต้องหาคนมาซื้อด้วยตัวเอง บังเอิญว่าตอนนี้ตลาดท่องเที่ยวปูทางไว้ดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก ขณะที่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา เช่น หมอนยางพารา ที่นอนยางพารา ได้รับความนิยมเป็นสินค้าเรือธง สำหรับนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทย เมืองไทยผลิตยางพารา ทุกคนมาต้องหาซื้อหมอนที่นอนยางพารากลับไป ซึ่งเป็นสิ่งที่คนต่างชาติต้องซื้อกลับบ้าน เป็นผลพวงจากการตลาดตามข่าวว่าได้รับความนิยมจนผลิตแทบไม่ทัน เป็นโอกาสเป็นจังหวะที่เข้ามาพอดิบพอดีที่เกษตรกรชาวพัทลุงผลิตหมอนยางพารา ความต้องการหมอนยางนั้นสูงมาก แต่ก่อนวิสาหกิจชุมชนเหล่านี้จะเกิดไม่ได้เลยเพราะเมื่อทำเสร็จแล้วไม่รู้จะขายใคร เช่น ทำรองเท้ามาไม่รู้จะขายใคร แต่บังเอิญชาวพัทลุงทำพอดีแล้วมีคนต้องการตลอดเวลาและราคาขายปลีกไม่แพง ขายปลีกใบละ 450 บาท ขายส่งใบละ 500 บาท จากที่นักท่องเที่ยวจีนเขาเคยซื้อใบละ 4,000 ใบ เพราะโดนบวกราคา พอมาเจอนี่มันถูกมาก”

ดร.ณัฐพงศ์ให้ข้อมูลด้วยว่า สินค้าแปรรูปจากยางพาราในต่างประเทศมีราคาแพง โดยไม่ได้พิจารณาว่าวัตถุดิบถูกแต่ทำไมเอามาแปรรูปแล้วขายแพง หากให้ความสำคัญในเรื่องคุณประโยชน์ และการสร้างมูลค่าของแบรนด์ ยกตัวอย่าง กระป๋องน้ำผลิตด้วยยางพารา จากประเทศอิตาลี สามารถพับเก็บได้ ราคา 5,000 บาท หรือแบรนด์ชั้นนำต่างๆ เช่น Puma นำยางพารามาผลิตเป็นพื้นรองเท้าขายคู่ละ 10,000 บาท แบรนด์ Converse ผลิตรองเท้าหนัง ขายคู่ละ 4,000 บาท แบรนด์ Vans พื้นรองเท้าหนาผลิตจากยางพารา ครองใจสาวกทั่วโลก

ทั้งนี้ เป็นที่น่าเสียดายที่งานวิจัยแปรรูปยางพาราในประเทศไทยจำนวนมากยุติอยู่เพียงขั้นตอนการเผยแพร่ตีพิมพ์ผลงาน ไม่ได้รับการพัฒนาเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรม กล่าวคือ งานวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพารามีปริมาณมากแต่การนำไปต่อยอดเข้าสู่กระบวนการผลิตออกสู่ตลาดนั้นมีค่อนข้างน้อย เพราะต้องยอมรับว่างานวิจัยทั้งหมดทั้งมวลมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร (สคว.) พยามสร้างหน่วยงานที่เป็นยางเพื่องานวิจัยออกมาเป็นผลิตภัณฑ์และตอบโจทย์อุตสาหกรรม แต่มีจำนวนไม่มากเพราะหลงทางอยู่กับเรื่องสิทธิบัตร
ที่นอนยางพารา
ด้าน ผศ.ดร.กฤษฎา สุชีวะ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่าการแปรรูปยางพาราถือเป็นการสร้างมูลค่า โดยเฉพาะรายได้มวลรวมแก่ประเทศ แต่การนำเทคโนโลยีการแปรรูปวัตถุดิบน้ำยางเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เข้ามาเป็นแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังเผชิญภาวะราคายางตกต่ำ ยังมีโจทย์เรื่องของการตลาดอย่างเรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายที่ต้องทำการศึกษา

“การแปรรูปเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม แน่นอนมูลค่าเพิ่มไม่ได้มีผลต่อเกษตรกรโดยตรงแต่มีผลโดยรวมกับประเทศมากกว่า ถ้ามองในแง่ของการช่วยเหลือเกษตรกร ยางค้างสต๊อกอาจลดปริมาณลงเท่านั้น อย่างไรก็แล้วแต่การแปรรูปเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นเรื่องที่ควรจะทำในระยะยาว เพียงแต่ว่าไม่สามารถช่วยเกษตรกรได้ทันที เพราะว่าการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จะต้องมีเรื่องของตลาดเข้ามา เราต้องแก้ปัญหาให้มันเป็นระบบ ไม่ใช่พอมีปัญหาเรื่องราคายางตกต่ำก็มาแก้กันที่ปลายเหตุอย่างนี้ เกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนเงินก็สูญเปล่า

“ถ้าจะแก้อย่างยั้งยืนต้องทำระบบให้ถูกต้องเสียก่อน เช่น ในเรื่องการสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมปลายน้ำให้เข้มแข็งขึ้น ให้มีความสามารถทางเทคโนโลยีมากขึ้นก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำรองรับไว้ เมื่อเกิดอะไรขึ้นจะได้แก้ปัญหาได้ทันที คือภาพรวมของประเทศไทยสิ่งที่ต้องทำคือเรื่องของคุณภาพ การปรับปรุงคุณภาพทั้งคุณภาพยางดิบและผลิตภัณฑ์ อย่างยางดิบยางแท่งถ้าคุณภาพไม่ได้อีกหน่อยเขาก็ไปใช้ยางสังเคราะห์ เรื่องผลิตภัณฑ์แปรรูปต้องพัฒนาคุณภาพให้มันสูงขึ้นเพื่อที่จะขายได้แข่งกับเขาได้

“คีย์เวิร์ด คือ คุณภาพในเรื่องของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ในเรื่องประสิทธิภาพการผลิตต้องทำให้มันสูงขึ้นจะได้แข่งขันได้ ในเรื่องต้นทุนการผลิต เพื่อจะแก้ปัญหาหาอย่างยั่งยืน ส่วนที่รัฐบาลทำตอนนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าช่วยเกษตรกรก็ทำต่อไป ล่าสุด รัฐบาลรับซื้อยางก็น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกใจเกษตรกร เป็นมาตรการเฉพาะหน้า แต่ว่าต้องมองระยะยาวด้วยการวิจัยพัฒนา ยกระดับคุณภาพการผลิต ตลอดวงจร เหมือนเป็นภูมิคุ้มกันเมื่อมีปัญหาเรื่องราคายางขึ้นมาอีกก็ไม่เดือดร้อน”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีแปรรูปยางพาราแก่กลุ่มเกษตรกร ซึ่งวันนี้ท่ามกลางวิกฤติราคายางตกต่ำจะเห็นว่าวิสาหกิจชุมชุนเริ่มรวมตัวพลังปรับตัวเข้มแข็งขึ้น

“ผมคิดว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี เกษตรกรที่รวมตัวกันก็จะเข้มแข็งขึ้น อำนาจต่อรองสูงขึ้น วิสาหกิจชุมชนเกิดขึ้นและเขาเริ่มเข้าใจแล้วว่าจะมาหวังพึงราคายางอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต่อไปก็คือว่าถ้าเขาแปรรูปอะไรง่ายๆ ขึ้นมา ส่งเสริมการท่องเที่ยวขึ้นมา ที่เห็นก็เริ่มทำแล้ว หมอนยางพารา ที่พัทลุงก็รายได้ดี เกษตรกรเขาเริ่มเข้าใจแล้วว่าต้องพึงตัวเอง สร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์เท่าที่จะทำได้ เมื่อเขาเข้าใจแล้วจะเกิดพัฒนาการอย่างถาวรมากขึ้น ต่อไปปัญหาน่าจะลดลง เมื่อเกิดวิกฤติก็เป็นโอกาสทำให้เกษตรได้คิด สิ่งสำคัญเกษตรกรต้องการความรู้จากภาครัฐอย่างมาก ผลิตของชำรวยง่ายๆ ค่อยๆ พัฒนา เกษตรกรอาจจะเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปง่ายๆ เช่น ตุ๊กตา สินค้าโอทอป อย่างน้อยให้เกิดอาชีพใหม่ มีทางเลือกเพิ่ม ถ้ารัฐช่วยหาตลาดให้ก็จะยั่งยืนมากขึ้น เพื่อให้เกิดอาชีพใหม่แทนที่จะขายน้ำยางอย่างเดียว ขายผลิตภัณฑ์ด้วยแม้จะไม่มากก็ตามทำเท่าที่ทำได้ รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเรื่องของตลาดเป็นแนวทางวิจัยที่ต้องดูกันต่อไป ประเด็นตลาดเป็นสิ่งสำคัญ” ผศ.ดร.กฤษฎา กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น